Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 08/10/2564 ]
อนามัยโลกแนะใช้วัคซีนต้านมาลาเรียในเด็ก

 เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม องค์การอนามัยโลก (ดับเบิลยูเอชโอ) ออกมาสนับสนุนให้ใช้วัคซีนมาลาเรีย RTS,S/AS01 ซึ่งเป็นวัคซีนป้องกันมาลาเรียอย่างเป็นทางการตัวแรกของโลก ที่คร่าชีวิตผู้คนไปในแต่ละปีมากกว่า 4 แสนราย ส่วนใหญ่เป็นเด็กในแอฟริกา หลังจากที่มีการทดลองฉีดวัคซีนนี้มากกว่า 2 ล้านโดสในประเทศกานา เคนยา และมาลาวี ตั้งแต่ปี 2019
          โดยหลังจากที่มีการทบทวนข้อมูลจากการทดลองในประเทศดังกล่าว ดร.ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการ ดับเบิลยูเอชโอ ได้แนะนำให้ใช้วัคซีนป้องกันมาลาเรียชนิดนี้ อย่างแพร่หลาย โดยแนะนำให้เด็กที่อยู่แถบทางใต้ของทะเลทรายซาฮาราและในภูมิภาคอื่นๆ ที่มีการแพร่ระบาดของมาลาเรียในระดับปานกลางถึงสูง เข้ารับวัคซีนจำนวน 4 โดส จนถึงอายุ 2 ปี
          นางเคท โอไบรอัน ผู้อำนวยการแผนกการสร้างภูมิคุ้มกัน วัคซีน และชีววิทยาของดับเบิลยูเอชโอ กล่าวว่า จากการทดสอบพบว่าวัคซีนมาลาเรียนี้สามารถลดอาการรุนแรงที่อาจอันตรายถึงชีวิตได้ 30% โดยวัคซีนนี้พร้อมสำหรับการแจกจ่ายแล้ว และจะเป็นประโยชน์กับเด็กมากถึง 2 ใน 3 ที่ไม่ได้นอนในมุ้งในประเทศเหล่านั้น
          นายเปโดร อลองโซ ผู้อำนวยการโครงการมาลาเรียโลก กล่าวว่า วัคซีน RTS,S/AS01 เป็นวัคซีนรุ่นแรก ซึ่งมี ความสำคัญยิ่ง และเราหวังว่ามันจะไปกระตุ้นให้บริษัทต่างๆ พัฒนาวัคซีนชนิดอื่นเพื่อให้มีประสิทธิภาพดีกว่าวัคซีนตัวนี้
          ปัจจุบันมีวัคซีนต้านเชื้อไวรัสและแบคทีเรียหลายตัว แต่นี่เป็นครั้งแรกที่ดับเบิลยูเอชโอแนะนำให้ใช้วัคซีนต้านปรสิตในมนุษย์อย่างแพร่หลาย โดยวัคซีนมาลาเรียนี้ เริ่มผลิตครั้งแรกโดยบริษัทยา จีเอสเค เมื่อปี 1987 และมีประสิทธิภาพในการต่อต้านพลาสโมเดียมฟัลชิปารัม ซึ่งเป็น 1 ใน 5 ปรสิตที่อยู่ในเชื้อมาลาเรียและทำให้คนเสียชีวิตได้มากที่สุด
          ทั้งนี้ โรคมาลาเรีย ซึ่งมียุงเป็นพาหะ ผู้ป่วยจะมีอาการเป็นไข้ ปวดหัว  ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ  มีอาการหนาวสั่น เป็นไข้และเหงื่อออก โรคดังกล่าวได้คร่าชีวิตผู้คนมากกว่า 400,000 คนต่อปี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็กในแอฟริกา หรือ คิดเป็นทุกๆ 2 นาที จะมีเด็กเสียชีวิตจากมาลาเรีย 1 ราย โดยมากกว่าครึ่งของจำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคมาลาเรีย ทั่วโลกอยู่ใน 6 ประเทศแถบทางใต้ของทะเลทรายซาฮารา และเกือบ 1 ใน 4 ของผู้เสียชีวิตทั้งหมดอยู่ในประเทศไนจีเรีย อ้างอิงจากข้อมูลของดับเบิลยูเอชโอ (เอเอฟพี)

 pageview  1205067    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved