Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 19/07/2564 ]
ติดโควิดพุ่งวิกฤติ วัคซีน

 คร.รับส่งมอบแอสตร้าฯสะดุด - 'อนุทิน'ยื่นซื้อไฟเซอร์เพิ่ม 50 ล้านโดส
          ยกระดับ "ล็อกดาวน์" เพิ่มเป็น13จังหวัด
          กรุงเทพธุรกิจ  สธ.วิ่งวุ่นจัดหา"วัคซีน" ต้านโควิด หลังยอดติดเชื่อรายวันทะลุหมื่นราย "อนุทิน"สั่งกรมควบคุมโรค และสถาบันวัคซีน เร่งเจรจาแอสตร้าฯ เพิ่มส่งมอบเดือนละ 10 ล้านโดส  พร้อมชง ศบค.จำกัดส่งออก  เผยสั่งซื้อไฟเซอร์เพิ่มอีก 50 ล้านโดส  ด้านคร.ยอมรับส่งมอบแอสตร้า สะดุดมาต่ำเป้า "ประยุทธ์"ประกาศยกระดับ ล็อกดาวน์มีผล 20 ก.ค.นี้ ปรับเพิ่มจังหวัด พื้นที่สีแดงเข้มเป็น 13 จังหวัด
          ความคืบหน้ากรณีที่นายสจอร์ด   ฮับเบน รองประธานฝ่ายกิจการองค์กรทั่วโลกของบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า ส่งหนังสือลับลง วันที่ 25 มิ.ย. 2564 ถึงนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และมีการส่งต่อให้กับ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรม ควบคุมโรค อ้างถึงความจำเป็นที่บริษัทต้อง ส่งส่วนแบ่งวัคซีน 2 ใน 3 ที่ผลิตจากโรงงานสยามไบโอไซน์ให้ประเทศอื่นๆ ในอาเซียน และสามารถส่งให้ไทยได้ราวเดือนละ 5-6 ล้านโดสขึ้นกับกำลังการผลิต ซึ่งเป็นปริมาณที่มากกว่าที่ไทยเจรจาเมื่อวันที่ 7 ก.ย.2563 ที่ระบุความต้องการวัคซีน 3 ล้านโดสต่อเดือนเท่านั้น
          ขณะที่หนังสือที่ นายอนุทิน ตอบกลับ แอสตร้าฯลงวันที่ 30 มิ.ย.2564 ว่า ประเทศไทยต้องการวัคซีนจำนวนมากขึ้นเพื่อที่จะรับมือกับสถานการณ์การระบาด และคาดหวังว่า จะได้รับวัคซีนของบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า มากกว่า 1 ใน 3 ของที่ตกลงไว้ หรือ จะได้วัคซีนจำนวนอย่างน้อย 10 ล้านโดส ต่อเดือนเอามาใช้ภายในประเทศไทยโดยให้กรมควบคุมโรคและสถาบันวัคซีน เร่งเจรจากับตัวแทนของแอสตร้าฯให้ เร็วที่สุด
          แจงไทม์ไลน์จัดหา-ส่งมอบแอสตร้าฯ
          วานนี้(18 กค.) นพ.โอภาส  การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค  พร้อมด้วยนพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงข่าวถึงรายละเอียดการทำสัญญากับบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า โดยนพ.โอภาส เล่าย้อนถึงไทม์ไลน์โรคโควิด 19 และการจัดหาวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า เริ่มจากช่วงเดือนม.ค.2563 ประเทศไทยพบผู้ป่วย โควิด 19 รายแรก จนถึงการออกประกาศจัดหาวัคซีนในกรณีเหตุฉุกเฉิน จนถึง วันที่ 17 พ.ย.2563 ครม.เห็นชอบโครงการจัดหาวัคซีนโดยการจองล่วงหน้ากับ แอสตร้าเซนเนก้า 26 ล้านโดส
          ต่อมาวันที่ 5 ม.ค.2564 ครม.รับทราบ มติที่ศบค. ให้สั่งซื้อเพิ่มอีก 35 ล้านโดส จึงให้แก้ไขสัญญาจองซื้อวัคซีนจาก 26 ล้านโดส เพิ่มอีก 35 ล้านโดส รวมเป็น 61 ล้านโดส ต่อมาวันที่ 4 พ.ค.2564 ได้รับสัญญาตอบกลับ จากแอสตร้าเซนเนก้าประเทศไทยและประเทศอังกฤษ หรือใช้เวลา 2 เดือนจึงได้รับ การตอบกลับ และวันที่ 1 ม.ย.2564 ครม.เห็นชอบกรอบการดำเนินงาน 61 ล้านโดส ตั้งแต่เดือนมิ.ย. - ธ.ค.2564
          นพ.โอภาส  กล่าวต่อว่า ในการส่งมอบวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้านั้น ตามกำหนดการจะเริ่มเดือนมิ.ย.2564 แต่เนื่องจากไทยมีการระบาดจึงมีการส่งมาให้ก่อน 2 ล็อต ได้แก่ วันที่ 28 ก.พ.2564 จำนวน 117,300 โดส และทยอยส่งมาต่อเนื่อง รวมทั้งหมด 12 ล็อต จำนวน 8,193,500 โดส จะเห็นว่าเมื่อผลิตและตรวจรับรองรุ่นการผลิตเสร็จก็ทยอยส่งมอบ เป็นไปตามที่กระทรวงสาธารณสุขได้แจ้งว่าจะส่งเป็นรายสัปดาห์
          จองล่วงหน้ากำหนดยอดผลิต-ส่งมอบไม่ได้
          "ช่วงทำสัญญาจองและลงนามสัญญา 3 ฝ่าย ยังไม่ได้มีการผลิตวัคซีนจริง เป็น การทำสัญญาจองล่วงหน้า จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะ บอกว่า แต่ละเดือนจะผลิตได้เท่าไร ส่งให้ เท่าไรและเมื่อไร จึงต้องมีการเจรจาแจ้งล่วงหน้า เป็นรายเดือน ซึ่งวันที่ 24 เม.ย.2564 กรมควบคุมโรคทำหนังสือแจ้งแอสตร้าเซนเนก้า ว่าต้องการวัคซีนจำนวน 6 ล้านโดส ในเดือนมิ.ย.-ก.ค.-พ.ย. 2564 เดือนละ 10 ล้านโดส และเดือนธ.ค.2564 จำนวน 5 ล้านโดส รวม 61 ล้านโดส แต่การส่งมอบวัคซีนขึ้นกับกำลังการผลิต และ ต้องเป็นการเจรจาทั้งสองฝ่ายในแต่ละเดือน และตอนทำสัญญาระบุว่าขอให้ประเทศไทยสนับสนุนและไม่ขัดขวางการส่งออกไปต่างประเทศ"นพ.โอภาส กล่าว
          ส่วนกรณีที่จดหมายมีการระบุว่า กระทรวงสาธารณสุขต้องการวัคซีนเดือนละ 3 ล้านโดสนั้น เป็นการอ้างอิงถึงการประชุม ไม่เป็นทางการเมื่อวันที่ 7 ก.ย.2563 เป็นเพียงการแลกเปลี่ยนข้อมูลความสามารถในการฉีดวัคซีนของประเทศไทย ซึ่งเคยฉีดเดือนละ 3 ล้านโดส ต่อมาแจ้งขีดความสามารถฉีดได้ถึง 10 ล้านโดส ถ้ามีวัคซีนเพียงพอ เพราะฉะนั้นจะต้องเอาความต้องการของประเทศไทย และกำลังการผลิต 2 ส่วนมาเชื่อมต่อกันจึงจะเป็นการส่งวัคซีนจริง ขณะนี้มีการส่งมาให้เรื่อยๆ บางสัปดาห์ส่งให้ 2 ครั้ง
          ส่วนประเด็นว่าจะจัดส่งวัคซีนจนถึงเดือนพ.ค.2565 นั้น ขณะนี้การผลิตของแอสตร้าเซนเนก้าในประเทศไทยพยายามจะผลิตให้ได้ประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งไม่ได้แจ้งจำนวนการผลิต มาจากการคำนวณอยู่ที่ประมาณ 15 ล้านโดสต่อเดือน ถ้าคิด 1 ใน 3 คือจำนวน 5 ล้านโดส ต่อเดือนเป็นอย่างต่ำ และการผลิตวัคซีนขึ้นกับหลายปัจจัย รวมทั้งชีววัตถุตั้งต้น จึงยากที่บริษัทจะรับปากได้ 100% แต่จำนวนวัคซีนในสัญญากับความต้องการของไทยคือ 61 ล้านโดส ภายในเดือนธ.ค.2564 โดยจะต้องมีการเจรจาเป็นรายเดือน ซึ่งแอสตร้าเซนเนก้า ไม่เคยออกมาระบุว่าจะส่งมอบถึงพ.ค.2565 เป็นแค่จำนวนประมาณการจึงต้องมีการเจรจากันต่อไป
          ฉีดวัคซีนสูตรไขว้เดือนละ10ล้านโดส
          นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า การสลับวัคซีนหรือการฉีดวัคซีนสูตรผสม (Mix And Match Vaccine) นั้น การกระจายวัคซีนอย่างน้อยฉีด 10 ล้านโดส ขณะนี้มีวัคซีน 2 ชนิดคือ ซิโนแวคและแอสตร้าฯ ส่งให้จังหวัดต่างๆ และส่งให้กลุ่มเป้าหมายหลัก โดยช่วงแรกๆ เป็นบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข เพราะมีความเสี่ยงอาจติดเชื้อจากคนไข้ ซึ่งมีการฉีดวัคซีนแล้ว
          ส่วนกลุ่มต่อมาคือผู้สูงอายุและ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ซึ่งกลุ่มนี้เมื่อติดเชื้ออาการ จะรุนแรง และเสียชีวิตสูง จากข้อมูลพบเกินร้อยละ 70 จะฉีดให้กับพื้นที่ระบาดสุด ตอนนี้คือกรุงเทพฯและปริมณฑล จะให้ใช้ สูตรนี้เป็นวัคซีนหลักในการฉีดให้คนไทย ยกเว้นบางกรณี จากการคำนวณในแต่ละเดือนใช้ซิโนแวค 4-5 ล้านโดส และแอสตร้าฯประมาณ 5-6 ล้านโดส ซึ่งก็จะสอดคล้อง กับที่หาได้ โดยการนำเข้ามาจะเป็นการสลับวัคซีน  ซึ่งเข็มแรกซิโนแวค และแอสตร้าเซนเนก้า
          เจรจาโปรตีน ซับยูนิตสหรัฐ จีน และคิวบา
          นพ.โสภณ กล่าวว่า ขณะนี้มีการเจรจา กับต่างประเทศเกี่ยวกับวัคซีนแพลตฟอร์ม อื่นๆ หรือขอแลกเปลี่ยนวัคซีนมาใช้ในประเทศไทยตลอดแต่กรณีที่ยังอยู่ระหว่างเจรจาไม่สำเร็จม่ได้เปิดเผยต่อสาธารณะ ส่วนวัคซีนชนิดโปรตีนซับยูนิต (Subunit vaccine) เป็นเทคโนโลยีที่น่าสนใจ ทั่วโลกมีอยู่ 3 ประเทศ ที่กำลังพัฒนา คือโนวาแวกซ์ สหรัฐ บริษัทที่ประเทศจีน และที่ประเทศคิวบา ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจา ทั้งการจัดซื้อวัคซีนมาใช้ในประเทศ และปกติในการเจรจาตรงนี้จะมีการเจาต่อในเรื่องของการรับถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตด้วย และมี 1 ประเทศพร้อมบริจาคปลายก.ค.
          "อนุทิน"เผยยื่นซื้อ'ไฟเซอร์'50ล้านโดส
          ด้านนายอนุทิน กล่าวว่า ได้สั่งการให้นายแพทย์ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการองค์การอาหารและยา(อย.)เชิญผู้แทนของบริษัท วัคซีน ที่ได้ขึ้นทะเบียนวัคซีนในประเทศไทยทุกราย เข้าพบในสัปดาห์หน้า เพื่อหารือถึงแนวทางที่ประเทศไทย จะได้รับวัคซีนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะวัคซีน mRNA ตามที่ประชาชนต้องการ โดยขณะนี้ผู้แทนของ โมเดอร์นา ได้ตอบรับที่จะร่วมหารือกับกระทรวงสาธารณสุขแล้ว
          รวมทั้งได้มีการยื่นข้อเสนอไปที่บริษัทไฟเซอร์ ประเทศไทย เพื่อสั่งซื้อวัคซีน เพิ่มขึ้นอีก 50 ล้านโดส ซึ่งคาดว่าจะมี การประชุมเพื่อหาแนวทางความร่วมมือกันเร็วๆ นี้
          นอกจากนี้ยังได้สั่งการนพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ เร่งจัดทำร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องการกำหนดสัดส่วนการส่งออกวัคซีนป้องกันการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ภายนอก ราชอาณาจักร เป็นการชั่วคราว เสนอให้ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาด ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.)ตัดสินใจ เพื่อเป็นอีกแนวทางหนึ่งใน การแก้ปัญหาการจัดหาวัคซีนเพิ่มเติม ของประเทศไทย
          ติดเชื้อเพิ่ม1.1หมื่น-เสียชีวิต101ราย
          ด้านศบค. รายงานพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่อีก 11,397 ราย แบ่งเป็นผู้ติดเชื้อ รายใหม่ 11,079 ราย และผู้ติดเชื้อในเรือนจำ 318 ราย ผู้ป่วยยืนยันสะสมแล้ว 403,386 ราย ผู้เสียชีวิตเพิ่มอีก 101 รายทำให้การระบาดระลอกใหม่ตั้งแต่เดือน เม.ย. 2564 มียอด ผู้เสียชีวิตสะสมสูงถึง 3,247 รายแล้ว ขณะที่ยอดสะสมของการเสียชีวิตจากสถานการณ์โควิด-19 มีผู้เสียชีวิตรวม 3,341ราย
          สรุปยอดการฉีดวัคซีนโควิด-19 สะสม ตั้งแต่ 28 ก.พ. - 16 ก.ค. 2564 รวม 14,130,489 โดสใน 77 จังหวัดแบ่งเป็น จำนวนผู้ได้รับ วัคซีน เข็มที่ 1 สะสม : 10,697,578 ราย  จำนวนผู้ได้รับวัคซีน เข็มที่ 2 สะสม : 3,432,911 ราย
          ยกระดับ"ล็อกดาวน์" 13 จังหวัด
          วานนี้(18 ก.ค.) ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ข้อกำหนด ออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 28) ซึ่งลงนามโดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อยกระดับล็อกดาวน์ เพิ่มเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดขึ้นใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ได้แก่กรุงเทพฯนครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร ฉะเชิงเทรา ชลบุรี พระนครศรีอยุธยา และจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ นราธิวาส ปัตตานี ยะลา และสงขลา รวม 13 จังหวัด ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 20 ก.ค.2564 เป็นต้นไป เว้นเฉพาะมาตรการขนส่งสาธารณะ มีผล 21 ก.ค.2564
          กพท.สั่งระงับบินจากพื้นที่สีแดง
          รายงานข่าวจากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ระบุว่า กพท.มี คำสั่งห้ามมิให้ผู้ดำเนินการเดินอากาศ ปฏิบัติการบินรับส่งผู้โดยสารเข้าหรือออก พื้นที่ที่กำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและ เข้มงวด (พื้นที่สีแดงเข้ม) ในช่วงเวลาที่มี การระบาดสูงตามข้อกำหนด เว้นแต่เป็นเที่ยวบินที่เกี่ยวข้องกับโครงการพื้นที่นำร่องเปิดประเทศ หรือเป็นกรณีอากาศยานที่ ขอลงฉุกเฉิน หรือขอลงทางเทคนิค โดยไม่มี ผู้โดยสารลงจากเครื่อง หรือมีความจำเป็น  และได้รับอนุญาตจากสำนักงานการบิน พลเรือนแห่งประเทศไทย ซึ่งจะต้องแสดง หลักฐานเพื่อแสดงความจำเป็นนั้นเพื่อ ประกอบการขออนุญาต เช่น เพื่อเข้ารับ บริการทางการแพทย์ เพื่อการรับวัคซีน เป็นต้น โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 21 ก.ค. เป็นต้นไป

 pageview  1204949    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved