Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 19/07/2564 ]
บูสเตอร์โดส วัคซีนโควิด19 คนทั่วไปต้องคำนึง 5 ปัจจัย

 เป็นเรื่องเข้าใจคลาดเคลื่อนว่า "องค์การอนามัยโลก" เตือนไม่ให้มีการสลับชนิดวัคซีนโควิด-19 แต่ในความจริงเป็นการเตือนระดับบุคคลที่คิดจะผสมสูตรหรือสลับฉีดเอง ทว่า หากดำเนินการโดยหน่วยงานด้านสาธารณสุข บนฐานของข้อมูลวิชาการนั้น สามารถดำเนินการได้
          กรุงเทพธุรกิจ   สำหรับประเทศไทย ศบค.เห็นชอบให้การฉีดวัคซีนสลับชนิด ในคนไทย โดยใช้ซิโนแวคเป็นเข็มที่ 1 และแอสตร้าเซนเนก้าเป็นเข็มที่ 2 ส่วนคนที่รับ เข็ม 1 เป็นแอสตร้าฯให้รับเข็ม 2 เป็นแอสตร้าฯ เช่นเดิม และบูสเตอร์โดสให้บุคลากร ทางการแพทย์ด่านหน้าด้วยวัคซีนชนิดไวรัลแว็กเตอร์(แอสตร้าเซนเนก้า) หรือ ชนิด  mRNA ส่วนคนทั่วไป"ยังไม่แนะนำ"
          นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) อธิบายถึงเหตุผลการพิจารณาดังกล่าวว่า การให้วัคซีนโควิดสลับชนิดกันเพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันได้สูง ซึ่งจาก การศึกษาได้ฉีดเข็มแรกเป็นซิโนแวค อีก 3-4 สัปดาห์ ฉีดเข็ม 2 เป็นแอสตร้าเซนเนกา  กระตุ้นภูมิคุ้มกันสูงขึ้น เป็นตัวเลขในห้องปฏิบัติการได้ชัดเจน
          เชื่อว่าสามารถต่อต้านสายพันธุ์เดลตาได้ดีขึ้น เนื่องจากภูมิขึ้นสูงเร็ว ใกล้เคียงกับได้รับแอสตร้าฯ 2 เข็ม แต่ใช้เวลาสร้างภูมิฯสั้นกว่า เดิม ฉดแอสตร้าฯ ต้องใช้เวลาเข็ม1ห่างจากเข็ม 2 ที่ 12 สัปดาห์ แต่ถ้าใช้วิธีนี้จะร่นเวลาสร้างภูมิคุ้มกันทำให้เร็วขึ้น ส่วนกรณีฉีดแอสตร้าฯ เข็มที่ 1 ข้อแนะนำยังให้ฉีดแอสตร้าเป็นเข็ม 2 ไม่มีการสลับชนิด และการฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็ม 3 สำหรับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้า ถึงแม้ว่าวัคซีนที่บุคลากรส่วนใหญ่ฉีดไป คือ ซิโนแวค 2 เข็ม มีประสิทธิภาพในการลด การติดเชื้อ เช่น ที่ภูเก็ต 90% เชียงราย 80-90%
          รวมถึงภาพรวมของประเทศไทยในบุคลากรการแพทย์ที่ฉีดซิโนแวค 2 เข็ม ประสิทธิภาพในการลดการติดเชื้อได้ 70% และลดป่วยหนักและเสียชีวิตได้มาก แม้ไม่ 100% ซึ่งเป็นเหมือนกับทุกวัคซีนในโลกนี้ที่ยังไม่สามารถลดการติดเชื้อได้ 100% ไม่มีวัคซีนตัวไหนลดการเสียชีวิตได้ 100% ขณะที่ เชื้อมีการกลายพันธุ์ตลอดเวลา สายพันธุ์ใหม่ๆ ก็อาจจะทำให้วัคซีนที่ใช้มีประสิทธิภาพลดน้อยลงตามเวลา แนวคิดจึงให้บูสเตอร์โดส ห่างจากเข็ม 2 ประมาณ 3-4 สัปดาห์ สอดคล้องกับผลารทดลองที่พบว่ากระตุ้น ภุมิคุ้มกันได้สูง
          ขณะที่ ศ.เกียรติคุณ นพ.อมร ลีลารัศมี นายกแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย และแพทย์เฉพาะทางโรคติดเชื้อ ให้ความเห็นเรื่องการสลับชนิดวัคซีนในประเทศไทยว่า การฉีดวัคซีนโควิด19 แบบผสมเข็มแรก เป็นซิโนแวค เข็มที่ 2 เป็น แอสตร้าฯ ห่างกัน  3 สัปดาห์ เป็นทางออกที่ดีในขณะนี้ (นอกจากการฉีดซิโนแวค 2 เข็มห่างกัน 3 สัปดาห์หรือฉีดแอสตร้าฯ 2 เข็มแต่ต้องฉีดห่างกัน  12 สัปดาห์)
          ซึ่งการฉีดแบบผสมนี้วัตถุประสงค์ อย่างเดียว คือ ต้องการเร่งสร้างภูมิคุ้มกันให้สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เพื่อลดจำนวนผู้ติดเชื้อที่ป่วยหนัก จนต้องใช้เตียงในโรงพยาบาล ไม่ได้ออกแบบมา เพื่อลดการติดเชื้อนะครับ แต่เพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าที่รุมเร้าจำนวนเตียง และภาระงานของหมอในเขตกทม.และปริมณฑลในขณะนี้
          การฉีดวัคซีนโควิด19 เข็มแรกเป็น ซิโนแวค เข็มที่ 2 เป็นแอสตร้าฯห่างกัน 3 สัปดาห์ เป็นขนาดของวัคซีนที่ส่วนตัวยอมรับได้ (แม้ยังมีข้อมูลน้อย) คือ ขนาดของวัคซีนยังไม่มากเกินไป จนอาจจะทำให้เกิดผลข้างเคียง หรือการแพ้ที่รุนแรงมากขึ้นกว่าการฉีดวัคซีนอื่นๆตามวิธีปกติได้ เหมือนกับการกินยาพาราเซตามอล 2 เม็ด ซึ่งอยู่ในขนาดยาที่เหมาะสม แต่ได้ยามาจากคนละบริษัท
          ฉีดแบบผสมนี้กระตุ้นภูมิคุ้มกันได้สูงและเร็วกว่าการฉีดแบบปกติที่มีอยู่ ได้ภูมิคุ้มกันในระดับใกล้เคียงกับการฉีดแอสตร้าฯ  2 เข็มหรือต่ำกว่าเล็กน้อย การแพ้วัคซีนชนิดที่รุนแรงและคุกคามถึงชีวิตไม่น่าจะมีมากกว่าการฉีดแอสตร้าฯ 2 เข็ม จึงเป็นทางเลือกที่เหมาะสมในสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสเดลตาในขณะนี้ ผมจึงสรุปว่าใช้ได้ไม่น่าจะขัดแย้งกับคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก(ฮู:WHO)หรือของใครนะครับ
          ส่วนบูสเตอร์โดสหรือฉีดเข็มที่ 3 สำหรับ ประชาชนทั่วไป" ศ.เกียรติคุณ นพ.อมร" บอกว่า อยากฉีดวัคซีนที่คิดว่าดีที่สุด คำว่าดีที่สุดนั้น คือ เขาบอกกันมา หรือตัวเลขป้องกันโรคของวัคซีนยี่ห้อนี้สูงดี เช่น 95 % หรือว่ายี่ห้อนี้ได้ภูมิคุ้มกันตัวเลขสูงมากที่สุด หรือว่าเมื่อวัดภูมิคุ้มกันในผู้ที่ฉีดวัคซีนยี่ห้อนี้ ป้องกันเชื้อกลายพันธุ์ในหลอดทดลองได้ผลดีกว่า เป็นต้น แล้วก็คิดหรือเข้าใจว่า วัคซีนที่ฉีดมาแล้ว ไม่ค่อยดี ไม่ได้ผล จึงจะหาฉีดเป็นเข็มที่ 3 แทนที่จะมุ่งประเด็นว่า ฉีดเพื่อป้องกันตนเองจากการเจ็บป่วยรุนแรงหรือถึงตายก่อน ซึ่งได้รับผลดีข้อนี้แน่นอนอยู่แล้วถึง 90%ขึ้นไปจากการฉีดวัคซีนชนิดใดก็ได้ แต่ไม่ว่าชนิดใดก็ป้องกันการติดเชื้อไม่ได้ ยังไม่ชัดว่าต้องใช้ภูมิคุ้มกันสูงถึงระดับใดจึงจะไม่ติดเชื้อ
          ขอให้รออีก 3-6 เดือนเพราะยังมีความไม่แน่นอนอีก 5 ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อกลายพันธุ์และการจองวัคซีนสำหรับคนที่ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว คือ
          1.เชื้อกลายพันธุ์ที่จะระบาดในปีหน้า จะเป็นเชื้อเดลตาตัวนี้อีกหรือไม่ หรือเป็นเชื้อกลายพันธุ์ที่ใหม่กว่าอีก อาจจะต้องปรับวัคซีนให้ตรงกับเชื้อมากขึ้น แต่ถ้าควบคุมการระบาดได้ ความต้องการวัคซีนจะลดลง
          2.วัคซีนในปีหน้า นอกจากปรับวัคซีนให้ตรงกับเชื้อที่น่าจะระบาดแล้ว อาจจะมีวิธีบริหารที่สะดวก เช่น ให้สูดดมแทนการฉีด หากจองและสั่งซื้อวัคซีนตอนนี้ ก็ได้วัคซีนของเชื้อปัจจุบันหรืออดีต การฉีดวัคซีนป้องกันสายพันธุ์เดิม อาจจะไม่ได้ประโยชน์เพิ่มขึ้นมากเท่าไหร่ หรืออาจจะมีผลข้างเคียงมากขึ้น
          3.การแพ้วัคซีน ผลข้างเคียงต่างๆ จากการฉีดวัคซีนในปัจจุบันจะมีข้อมูลเพิ่มมากขึ้น เพราะฉีดไปจำนวนมากแล้ว อาจจะนำมาสู่การผลิตวัคซีนรุ่นใหม่ที่มีการแพ้หรือผลข้างเคียงลดลงอีก
          4.ระหว่างรอจนถึงปีใหม่ เนื่องจากเชื้อเดลตาที่แพร่กระจายเก่งมาก อาจจะติดเชื้อชนิดนี้โดยไม่คาดคิด แต่ถ้าเป็นคนระวังตัวดีอยู่แล้ว การพลาดพลั้งไปรับเชื้อจะเป็นการรับเชื้อจำนวนน้อย หากสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง ฯลฯ ถ้าฉีดวัคซีนครบ 2 โดสแล้ว การติดเชื้อจำนวนน้อยหลังฉีดวัคซีนครบจะกลับกลายเป็นการรับวัคซีนเข็มที่ 3 จากการติดเชื้อตามธรรมชาติ ทำให้ภูมิคุ้มกันสูงลิ่วขึ้นไปอีก  จะมีอาการน้อยหรือแทบไม่มีเลยหรือไม่รู้ตัวว่ารับวัคซีนเข็มที่ 3 ไปแล้ว
          5.ถึงปลายปีหรือต้นปีหน้า วัคซีนทั้งรุ่นใหม่และรุ่นเก่าจะล้นตลาด เลือกจองได้และราคาน่าจะถูกลงกว่านี้อีก ให้คอยได้เลยถ้ายังอยากจะฉีด
          "ตอนนี้ต้องช่วยให้ทุกคนได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 และ 2 ให้ครบอย่างเร่งด่วน ฉีดให้ได้จำนวนมากที่สุด แข่งกับเวลาตามศักยภาพที่แต่ละแห่งจะฉีดได้ ถ้าใครได้วัคซีนเข็มที่ 3 มาตอนนี้ รีบนำไปฉีดให้คนอื่นที่ยังไม่ได้เข็มที่ 1 หรือ 2 เถิด ใครที่ฉีด วัคซีนแอสตร้าฯมาครบ 2 เข็ม อย่าไป ฉีดแอสตร้าฯซ้ำอีกเป็นเข็มที่ 3 ประชาชนอย่างเราปล่อยวาง ให้นักวิทยาศาสตร์และแพทย์ไปศึกษาประโยชน์ของการฉีดเข็มที่ 3 จากข้อมูลทางระบาดวิทยาของไทยและต่างประเทศใน 3 เดือนข้างหน้า และข้อมูลวิชาการที่จะเกิด อย่างมากมาย จนได้ข้อสรุปที่ชัดเจนก่อน แล้วค่อยมาบอกประชาชนว่า จะให้ปฏิบัติอย่างไร ตอนนี้แนะนำให้ประชาชนฟัง ติดตาม และอยู่เฉยๆ กับเข็มที่ 3 ก่อน" ศ.เกียรติคุณ นพ.อมรกล่าว

 pageview  1205009    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved