Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 20/07/2564 ]
ผวาโควิดติดเชื้อ3หมื่นคน/วัน ศบค.ชี้ดีสุดวัคซีนมาตามนัด ตัวเลขไม่เกินหมื่นคน

 ศบค.ผวาผลศึกษาประเมินยอดติดเชื้อโควิด แย่สุดทะลุ 3 หมื่นรายต่อวัน กรณีไม่ทำอะไรเลย ขณะที่ดีที่สุดวัคซีนมาตามกำหนด Q4 ตัวเลขติดเชื้อไม่เกินหมื่นราย ด้าน สธ. ยันวัคซีนซิโนแวค-แอสตร้าฯ มีประสิทธิผลดี
          นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) เปิดเผยว่า วานนี้ (18 ก.ค.) มีการพยากรณ์ จากการประชุมร่วมกับผู้ที่ทำงานในแวดวงแมสมีเดีย ทั้ง ทีวี วิทยุ และออนไลน์ เพื่อคาดการณ์ความเป็นไปได้ของการติดเชื้อของประเทศไทยจะเป็นอย่างไร โดยมี 2 รูปแบบของการคาดการณ์ ดังนี้
          1.มาจากคณะสิ่งแวดล้อมและประชากรศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล โดย รศ.ดร. นวลจันทร์ สิงห์คราญ  ได้ฉายภาพโดยใช้ข้อมูลถึง ณ วันที่ 17 กรกฎาคม 2564 ซึ่งมีการคาดการณ์ว่า สถานการณ์แย่ที่สุดถ้าจะเกิดกรณีหากไม่ทำอะไร ไม่ได้ช่วยกันและปล่อยให้การติดเชื้อไปเรื่อย ๆ ค่าบนหรือการติดเชื้อสูงสุดจะอยู่ที่ 31,997 ราย/วัน  แม้ว่าหากเราทำดีที่สุด จะอยู่ที่ 9,018-12,605 ต่อวัน ส่วนค่ากลางจะอยู่ที่ 9,695–24,204 ราย/วัน
          “เรียนว่าดีที่สุดก็ยังแตะเลขหมื่น ถ้ามาตรการนี้เกิดขึ้นโดยเร็ว ทุกคนร่วมมือกัน ค่ากลางที่เป็นค่าล่างก็ยังสูงทีเดียว คือจะอยู่ที่ 9,695–24,204 ราย/วัน” นายแพทย์ทวีศิลป์ กล่าว
          อีกการศึกษาหนึ่ง เป็นการคาดการณ์ของธนาคารกรุงศรีอยุธยา ซึ่งทาง WHO ได้นำไปอ้างอิง ซึ่งใช้รูปแบบของการคาดการณ์ แล้วใช้การฉีดวัคซีนที่จะเกิดขึ้นถึงปลายปีว่า ถ้าหากเราฉีดวัคซีนได้ดี กรณีที่ดีที่สุด (Best case) จะลงไปประมาณเดือนกันยายน จากปัจจุบันจะไต่ขึ้นไป โดยจะเห็นค่าไต่ขึ้นไปประมาณหมื่นกว่าราย จะสูงเกินกว่า 15,000 ต่อวัน ในช่วงเดือนสิงหาคมต่อกันยายน แต่ถ้าแย่ที่สุดคือ 22,000 กว่าราย ในช่วงของสิงหาคม-กันยายน แล้วจะค่อย ๆ ลงมาในเดือนตุลาคม หากวัคซีนมาได้ตามที่กำหนด ในช่วงเวลาไตรมาสที่ 4
          “อันนี้เป็นภาพฉาย เป็นการคาดการณ์ ที่เราต้องรับทราบโดยทั่วกัน และต้องพยายามช่วยกันดึงกราฟ เพราะฉะนั้นดีที่สุดต้องป่วยน้อยที่สุดต่อวัน นี่คือสิ่งที่เป็นการคาดการณ์ของนักวิชาการทั้งหลาย”
          นพ.ทวีทรัพย์ ศิรประภาศิริ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค ยืนยันว่า จากผลการศึกษาวัคซีน 2 ชนิดทั้งวัคซีนซิโนแวค และวัคซีนแอสตร้าเซเนกามีประสิทธิผลในการป้องกันเชื้อโควิด-19 โดยจากการศึกษาในผู้สัมผัสเสี่ยงสูงที่จังหวัดภูเก็ตและสมุทรสาคร พบ การฉีดวัคซีน CoronaVac ครบ 2 เข็มมีประสิทธิผลสำหรับการป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ในสนามจริง 90% และจากการศึกษาในบุคลากรทางการสาธารณสุขที่เชียงรายและฐานข้อมูลทั้งประเทศ พบป้องกันได้ 74-89%
          นอกจากนี้ จากการศึกษาที่จังหวัดเชียงราย ยังพบว่า การฉีดวัคซีน CoronaVac ครบ 2 เข็ม ยังมีประสิทธิภาพในการป้องกันปอดอักเสบรุนแรง ได้ 85% และการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซเนกา 1 เข็ม เกิน 14 วันพบประสิทธิผลในการป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ได้ 84% และไม่พบปอดอักเสบจาก 5 รายที่ติดเชื้อในจำนวน 50 คนที่ได้วัคซีน
          นพ.ทวีทรัพย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการศึกษาในฐานข้อมูลของกรมควบคุมโรค ในเดือนมิ.ย.ที่เริ่มมีการระบาดของสายพันธุ์เดลต้า ยังไม่พบว่าประสิทธิผลการป้องกันการติดเชื้อของวัคซีนลดลงเมื่อเทียบกับเดือนพ.ค.
          อย่างไรก็ตาม ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เชื้อมีการกลายพันธุ์ การนำเข้าวัคซีนซิโนแวคยังคงมีความจำเป็นอยู่ เนื่องจากเป็นวัคซีนที่จัดหาได้ง่าย และวัคซีนหลักของประเทศอีกชนิดอย่างวัคซีนแอสตร้าเซเนกา เดิมมีการตกลงว่าจะนำเข้ามาเดือนละ 10 ล้านโดส แต่ขณะนี้มีการเปลี่ยนแปลงจึงคาดว่าจะสามารถนำเข้ามาได้เพียง 5 ล้านโดส/เดือนเท่านั้น
          สำหรับการฉีดวัคซีนแบบสลับชนิดจะใช้ระยะเวลาห่างกัน 3-4 สัปดาห์ โดยการฉีดวัคซีนแบบสลับชนิดสามารถนำมาใช้ได้กับทุกกลุ่มช่วงอายุ ทั้งนี้ไม่บังคับประชาชนให้ฉีดแบบสลับ แต่เป็นทางเลือกเพิ่มเติมให้ประชาชนที่มีความสมัครใจฉีด

 pageview  1205107    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved