Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 27/07/2564 ]
ชี้บูสเตอร์ได้ผล-นัดไตรมาส4 ฉีดเข็ม3ปชช.

 67จว.ติดแซงโซนแดงเข้ม ปลอบกทม.กันยาฯดีขึ้น โมเดอร์นาแจ้ง'กาชาด' ปี65ส่งเจน2ให้5ล.โดส โควิด15,335คนดับ129
          สธ.คาดไตรมาส 4 เริ่มฉีดเข็ม 3 ให้ ปชช. ป่วยใหม่นิวไฮ 15,335 คน ตายอีก 129 พบมีถึง 79 รายไม่ได้ฉีดวัคซีน คาดผู้ป่วยโควิดใน ตจว.พุ่งขึ้นอีก
          ป่วยใหม่นิวไฮ15,335-ดับ129
          เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาด ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. รายงานว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 15,335 ราย เป็นผู้ติดเชื้อทั่วไปในประเทศ 14,675 ราย ติดเชื้อจากผู้เดินทางต่างประเทศ 19 ราย และติดเชื้อในเรือนจำ/ที่ต้องขัง 641 ราย ผู้ป่วยยืนยันสะสม 468,439 ราย ผู้ป่วยยืนยันสะสมตั้งแต่ปี 2563 รวม 497,302 ราย หายป่วยเพิ่ม 6,904 ราย หายป่วยสะสม 307,267 ราย หายป่วยยืนยันสะสมตั้งแต่ปี 2563 รวม 334,693 ราย มีผู้เสียชีวิต 129 คน เสียชีวิตสะสม 3,965 คน เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ปี 2563 รวม 4,059 คน
          ส่วนผู้ป่วยรักษาอยู่ 158,550 ราย แบ่งเป็นรักษาในโรงพยาบาล (รพ.) 91,049 ราย รพ.สนาม 67,501 ราย อาการหนัก 4,151 ราย และใส่เครื่องช่วยหายใจ 961 ราย ขณะที่จำนวนผู้รับวัคซีนสะสมตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์-วันที่ 24 กรกฎาคม รวม 15,869,844 โดส ใน 77 จังหวัด เป็นผู้ได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 สะสม 12,226,845 ราย และเข็มที่ 2 สะสม 3,642,999 ราย
          กทม.ยังพุ่ง-มีคลัสเตอร์ใหม่อีก
          รายงานระบุต่อว่า ผู้ติดเชื้อรายใหม่ 15,335 ราย แบ่งเป็นติดเชื้อในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล ไม่รวมเรือนจำ 6,069 ราย 4 จังหวัดภาคใต้ 805 ราย จังหวัดอื่นๆ (67 จังหวัด) 7,801 ราย และเรือนจำ/ที่ต้องขัง 641 ราย ส่วนผู้เสียชีวิต 129 ราย แบ่งเป็น ชาย 70 คน หญิง 59 คน โดยกรุงเทพฯเสียชีวิตสูงสุดถึง 66 คน ทั้งนี้ ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่มีโรคประจำตัวหรือปัจจัยเสี่ยงต่อความรุนแรง อาทิ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง โรคไต โรคหัวใจ ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ยังคงติดจากคนในครอบครัว เพื่อนร่วมงาน การเข้าไปสถานที่แออัด ส่วน ผู้ติดเชื้อที่มาจากต่างประเทศ 19 ราย แบ่งเป็นกัมพูชา 12 ราย มาเลเซีย 3 ราย ฟิลิปปินส์ 2 ราย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และสิงคโปร์ ประเทศละ 1 ราย
          รายงานระบุว่า สำหรับ 10 อันดับจังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่สูงสุด 1.กรุงเทพฯ 2,700 ราย สะสม 132,055 ราย 2.สมุทรสาคร 1,081 ราย สะสม 23,659 ราย 3.สมุทรปราการ 1,056 ราย สะสม 32,728 ราย 4.ชลบุรี 795 ราย สะสม 19,907 ราย 5.นนทบุรี 585 ราย สะสม 20,386 ราย 6.ฉะเชิงเทรา 571 ราย สะสม 7,639 ราย 7.พระนครศรีอยุธยา 379 ราย สะสม 6,537 ราย 8.ปทุมธานี 339 ราย สะสม 17,600 ราย 9.ระยอง 322 ราย สะสม 5,198 ราย 10.นครปฐม 308 ราย สะสม 9,661 ราย ทั้งนี้ พบว่ามีผู้ติดเชื้อรายใหม่ครบทุกจังหวัด นอกจากนี้ ยังมีรายงานคลัสเตอร์ที่ต้องเฝ้าระวังในพื้นที่กรุงเทพฯ 140 แห่ง โดยพบคลัสเตอร์แห่งใหม่ที่เขตทุ่งครุ ในโรงงานผลิตอะไหล่รถยนต์
          ชี้79คนเสียชีวิตไม่ได้ฉีดวัคซีน
          ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค แถลงว่า วันเดียวกันนี้มีผู้เสียชีวิตถึง 129 ราย จากการเก็บข้อมูล พบว่ามี 79 ราย ไม่เคยได้รับวัคซีน ที่เหลือ อีกกว่า 40 ราย ไม่สามารถระบุได้ ต้องติดตามข้อมูล อย่างไรก็ตาม เมื่อคิดในกลุ่มอายุ 60 ปี คิดเป็นร้อยละ 70 เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงมาก
          "น่าเสียใจตรงที่เราพบผู้เสียชีวิตเป็นหญิงตั้งครรภ์อายุครรภ์ 20 สัปดาห์ เสียชีวิตอีก 1 ราย ปัจจัยเสี่ยงสำคัญวันนี้แตกต่างจาก 3-4 สัปดาห์ก่อน ที่เป็นคนในครอบครัว เพื่อนบ้าน เพื่อนร่วมงาน แต่ตอนนี้ในพื้นที่ระบาดมีการระบาดค่อนข้างมาก เมื่อสอบสวนหลายกรณีไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าติดเชื้อจากใคร ดังนั้น การอาศัยหรืออยู่ในพื้นที่ระบาดหนักมากๆ เช่น กรุงเทพฯ และปริมณฑล เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญ เพราะเราไม่ทราบว่าคนใกล้ชิดเราติดเชื้อหรือยัง เราพบว่าผู้เสียชีวิต 65 คน อาศัยอยู่พื้นที่ระบาดและไม่สามารถค้นได้ว่าติดเชื้อจากใคร" นพ.จักรรัฐกล่าว
          นพ.จักรรัฐกล่าวว่า ข้อมูลการฉีดวัคซีนตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์-วันที่ 24 กรกฎาคม กลุ่มผู้ที่อายุ 60 ปีขึ้นไปตั้งเป้าหมาย ต้องฉีด 12.5 ล้านคน ให้ได้ภายในปีนี้ ปรากฏว่า ฉีดได้แค่ 2.5 ล้านคน ในเข็มที่ 1 คิดเป็น ร้อยละ 20 ส่วนเข็มที่ 2 ฉีดได้ ร้อยละ 1.3 หรือ 1.6 แสนคน จึงต้องขอให้ลูกหลานพาท่านไปฉีดวัคซีน รวมถึงกลุ่ม 7 โรคเรื้อรังก็ยังฉีดไม่มากเช่นกัน
          คาดอีกเดือนครึ่งกทม.ดีขึ้น
          เมื่อถามว่า ขณะนี้ตัวเลขผู้ติดเชื้อของไทยหลักหมื่นต่อเนื่อง หากควบคุมไม่ได้จะต้องใช้มาตรการอู่ฮั่นโมเดลหรือไม่ และคาดว่าไทย จะอยู่กับตัวเลขผู้ป่วยใหม่รายวันกว่าหมื่นรายอีกนานเท่าไร นพ.จักรรัฐกล่าวว่า ขณะนี้เรา พบผู้ป่วยหมื่นรายต่อวัน มาตรการสำคัญคืองดเดินทางข้ามจังหวัด งดออกจากบ้าน หากไม่จำเป็น และทำงานจากบ้านขั้นสูงสุด ซึ่งใกล้เคียงกับอูฮั่นโมเดลแล้ว โดยหลักการ คาดว่าคงจะพบผู้ติดเชื้อจำนวนมากเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในต่างจังหวัด ทั้งในครอบครัว และที่เดินทางจากกรุงเทพฯ และปริมณฑล กลับไปรักษา
          "หากดูสถานการณ์กรุงเทพฯจะต่างกับปริมณฑลบ้าง เช่น กรุงเทพฯตัวเลขเพิ่มไม่เยอะ รวมถึงฉีดวัคซีนมากพอสมควร ร้อยละ 50 ดังนั้น กรุงเทพฯจะเริ่มเห็นความคงตัวมากขึ้น และจะเห็นแนวโน้มที่ดีขึ้นใน 4-6 สัปดาห์ข้างหน้า ส่วนต่างจังหวัดจะยังพบผู้ติดเชื้อจำนวนมากต่อในระยะนี้ ฉะนั้นต้องร่วมมือกันไม่ให้เราไปถึงอู่ฮั่นโมเดล ที่ต้องปิดทุกอย่าง เราอยากให้ทุกคนกลับมาใช้ชีวิตปกติอย่างเร็วที่สุด ต้องร่วมมือกันลดการกระจายเชื้อ" นพ.จักรรัฐกล่าว
          'อนุทิน'แจงปีนี้ไม่ร่วมโคแวกซ์
          นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์กรณีที่มีการเปิดเผยตัวเลข การจัดส่งวัคซีนภายใต้โครงการโคแวกซ์ (COVAX) ในปี 2564 ซึ่งในเอเชีย อินโดนีเซียได้รับมากที่สุด 14.5 ล้านโดส เป็นวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ว่า ข้อมูล ณ วันที่ 22 กรกฎาคม 2564 โคแวกซ์ส่งมอบวัคซีนไปแล้ว 136 ล้านโดส ใน 136 ประเทศ เฉลี่ยแล้วประเทศละ 1 ล้านโดส แต่เมื่อมีข้อมูลว่าอินโดนีเซียได้รับสูงสุดที่ 14 ล้านโดส ประเทศอื่นๆ ก็จะได้น้อยกว่า 1 ล้านโดสด้วยซ้ำ เช่น มาเลเซีย 8 แสนโดสเท่านั้น
          นายอนุทินกล่าวว่า ส่วนประเทศไทยที่ซื้อวัคซีนตรงกับบริษัทผู้ผลิตที่เราตกลงกันตั้งแต่เดือนกันยายน 2563 ทำให้ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2564 จนถึงสิ้นเดือนกรกฎาคม 2564 ไทยเรามีวัคซีนรวมสะสมประมาณ 27 ล้านโดส แบ่งเป็นแอสตร้าฯ ราว 12 ล้านโดส ซิโนแวคอีก 15 ล้านโดส และยังมีที่ได้รับบริจาคอีกราว 3.5 ล้านโดส เป็นวัคซีน แอสตร้าฯ 1 ล้านโดส จากญี่ปุ่น วัคซีนซิโนแวค 1 ล้านโดส จากจีน และวัคซีนไฟเซอร์ 1.5 ล้านโดส ที่จะเข้ามาปลายเดือนนี้จากประเทศ สหรัฐ
          "ดังนั้นที่ไทยไม่เข้าร่วมโคแวกซ์ตั้งแต่ต้น เพราะการที่เราต้องนำเงินไปวางเพื่อจองวัคซีน ทั้งที่ไม่รู้ว่าจะได้เมื่อไร หรือจะได้กี่โดส อาจ ส่งผลกระทบกับแผนการจัดหาวัคซีนหลักประเทศที่เราต้องนำเงินไปวางเพื่อสั่งซื้อ เช่นกัน เราจึงต้องล็อกเป้าในการจัดหาวัคซีนหลักให้ประเทศด้วยการซื้อตรงกับผู้ผลิต เราไม่ได้หวังว่าวัคซีนจากโคแวกซ์จะเป็นแผนหลักของเรา แต่ที่สำคัญคือเราต้องดิ้นรนหาวัคซีนมาให้ได้ในปริมาณมากที่สุด เรา จึงต้องติดต่อโดยตรงกับผู้ผลิตแต่ละเจ้า" นายอนุทินกล่าว
          เข้าโคแวกซ์ปี'65-ยันไม่ผิดพลาด
          ผู้สื่อข่าวถามถึงเหตุผลที่ไทยจะเข้าร่วมโคแวกซ์ในปี 2565 เนื่องจากรู้สึกตัวช้าหรือตัดสินใจพลาดหรือไม่ นายอนุทินกล่าวว่า วันนี้มีข้อมูลเชิงประจักษ์แล้วว่าแม้แต่บางประเทศที่จองจำนวนมากหรือมีจำนวนประชากรมหาศาล ก็ไม่ได้แปลว่าจะได้รับการจัดสรรวัคซีนจำนวนมาก หากไทยจองด้วยก็ไม่ได้ยืนยันว่าเราจะได้มาก อาจได้รับ 1-2 ล้านโดส แต่แผนจัดหาวัคซีนหลักของเราหาได้ถึง 27 ล้านโดสแล้ว เราต้องอยู่กับโควิดอีกระยะหนึ่ง ยิ่งมีสายพันธุ์ใหม่ เราก็ยิ่งต้องติดต่อตรงกับผู้ผลิต เพื่อให้ได้วัคซีนรุ่นใหม่ๆ ที่เขาสามารถจัดสรรให้เราได้โดยตรง
          "เราไม่ได้รู้สึกตัวช้า เราติดต่อกับโคแวกซ์มาอย่างต่อเนื่อง มีคณะทำงานพิจารณาเรื่องนี้โดยเฉพาะ และทุกวันนี้เราก็ยังติดต่อกัน อยู่ ไม่ใช่ว่าผิดพลาดที่เราตัดสินใจไม่จองวัคซีนโคแวกซ์ และที่เราพิจารณาเข้าร่วมโคแวกซ์ในปีหน้า เพราะสถานการณ์เปลี่ยนไป เราวิเคราะห์ตามสถานการณ์จริง ที่ผู้ผลิตส่งมอบวัคซีนให้แก่ประเทศรายได้สูงที่จองไว้จนเกินพอในปีนี้ และเริ่มบริจาคออกมา เราดูสถานการณ์ปี 2565 แล้วว่า หลังจากผู้ผลิตวัคซีนส่งวัคซีนให้ประเทศรายได้สูงจนเกินพอ ต่อไปก็คาดว่าจะมีวัคซีนเข้ามาในโคแวกซ์เพื่อจัดสรรให้แต่ละประเทศได้มากขึ้น" นายอนุทินกล่าว
          คาดไตรมาส4ฉีดเข็ม3ให้ปชช.
          นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงการฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 ให้ประชาชนที่ได้รับครบ 2 เข็ม เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันว่า การฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 หรือบูสเตอร์โดส มีความเห็นตรงกันว่าต้องบูสเตอร์ แต่มีประเด็นพิจารณาคือ 1.บูสต์ด้วยวัคซีนอะไร 2.จะบูสต์เมื่อไร ต้องรอข้อมูลวิชาการ แต่จะต่างกับกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องเจอ ผู้ป่วยทุกวัน มีความเสี่ยงสูง จึงจำเป็นต้องบูสต์ให้ก่อน เพื่อป้องกันการติดเชื้อและป้องกันผลกระทบในการดูแลผู้ป่วย
          "ผลการฉีดบูสเตอร์เข็มที่ 3 เป็นวัคซีนแอสตร้าฯให้กลุ่มบุคลากรแล้ว เราเจาะเลือดตรวจแล็บ พบว่าภูมิต้านทานขึ้นสูงมาก ค่อนข้างดี ค่อนข้างมั่นใจ แต่สำหรับวัคซีนไฟเซอร์ เรายังไม่มีข้อมูลว่าการฉีดซิโนแวค 2 เข็ม แล้วตามด้วยไฟเซอร์เป็นเข็มที่ 3 ภูมิจะดีแค่ไหน ต้องรอดูผลอีกระยะหนึ่ง ดังนั้นไม่ได้แปลว่าบูสเตอร์ด้วยแอสตร้าฯ ไม่ดี ให้ผลที่ดีมาก แต่จะฉีดเมื่อไร ต้องรอดูอีกระยะหนึ่ง รวมถึงขณะนี้ยังมีประชาชนที่ยังไม่รับวัคซีนเข็มที่ 1 เราจึงต้องบริหารในส่วนนี้ด้วย แต่แนวโน้มสำหรับประชาชนทั่วไปจะบูสเตอร์แน่นอน แต่จะเมื่อไรก็ขอให้รอข้อมูลก่อน ส่วนตัวคิดว่าเข็มที่ 3 คาดว่าอาจเป็นไตรมาสที่ 4 ที่เรามีวัคซีนจำนวนมากขึ้นแล้ว รวมถึงประชาชนกลุ่มอื่นก็น่าจะได้วัคซีนเข็มที่ 1 มากเพียงพอแล้ว" นพ.โอภาสกล่าว
          จี้ตจว.เร่งฉีด'กลุ่มเสี่ยง608'
          นพ.โอภาสกล่าวว่า ตอนนี้คนต่างจังหวัดเสียสละให้คนกรุงเทพฯ มาก ทำให้กรุงเทพฯ ฉีดได้มากกว่าร้อยละ 50-60 เรามีวัคซีนฉีดแล้ว 15 ล้านโดส เป็นคนกรุงเทพฯ เกือบ 6 ล้านโดส คิดเป็น 1 ใน 3 ของจำนวน เป็นไปตามเป้าหมายที่เราจะฉีดอย่างน้อย 5-6 ล้านโดสภายในเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม ส่วนกลุ่มสูงอายุก็ฉีดได้ร้อยละ 70 แล้ว คาดว่าสัปดาห์นี้จะฉีดได้ถึงร้อยละ 80 ตามเป้าหมาย
          อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวว่า สำหรับประชาชนในต่างจังหวัดต้องเร่งฉีดให้ได้ตามกลุ่มเสี่ยง 608 คือ กลุ่มสูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ผู้มีโรคประจำตัว 7 โรค บวกกับหญิงตั้งครรภ์ ซึ่งจริงๆ ในพื้นที่ต่างจังหวัดกลุ่มนี้เข้าถึง โรงพยาบาลยาก เพราะต้องมีคนพาไป ดังนั้น สธ.จึงเน้นย้ำการฉีดในกลุ่มเป้าหมายนี้ให้สำเร็จ โดยสัปดาห์หน้าจะให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมูบ้าน (อสม.) พากลุ่มเป้าหมายไปฉีดวัคซีนให้ได้ รวมถึงขณะนี้เราได้วัคซีนค่อนข้างตามแผน แนวโน้มดีขึ้นเรื่อยๆ เช่น วัคซีน แอสตร้าฯ ก็ชัดเจนว่าจะส่งมอบวัคซีนให้ไทยเดือนละ 5-6 ล้านโดส และเปิดช่องให้เจรจาเพื่อให้ได้จำนวนที่มากขึ้น
          ผู้สื่อข่าวถามว่า พื้นที่กรุงเทพฯ ยังพบ ผู้ติดเชื้อในชุมชนจำนวนมาก นพ.โอภาสกล่าวว่า ปัญหาที่พบตอนนี้ คือ การติดเชื้อในบ้าน คนในครอบครัว และจากข้อมูลพบว่า ผู้ป่วยส่วนหนึ่งยังไม่ได้รับวัคซีนเข็มที่ 1
          "ต้องเข้าใจว่าการฉีดวัคซีนไม่ได้ป้องกัน 100% แต่อย่างน้อยทำให้อาการป่วยน้อยลง สิ่งสำคัญคือ อยู่บ้านให้มากที่สุด หรือและเมื่ออยู่บ้านหรือที่ทำงาน ต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา ล้างมือ รับประทานอาหารคนเดียว โดยเฉพาะการอยู่บ้านร่วมกับผู้สูงอายุ หรือ ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว ยิ่งต้องระมัดระวัง ต้องปฏิบัติเข้มงวดต่อไปอีก 1-2 เดือน" นพ.โอภาสกล่าว
          โมเดอร์นายันกาชาดได้1ล.โดส
          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริษัท ซิลลิค ฟาร์มา จำกัด ตัวแทนผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายวัคซีนโมเดอร์นา มีหนังสือถึงสภากาชาดไทย ผ่านทาง นพ.พิชิต ศิริวรรณ รองผู้อำนวยการสำนักงานบรรเทาทุกข์และประชานามัยพิทักษ์ สภากาชาดไทย ลงวันที่ 18 กรกฎาคม 2564 เรื่องการแจ้งยืนยันการจองวัคซีนโควิด-19 ของโมเดอร์นา ของสภากาชาดไทย ใจความระบุว่า
          ตามที่ได้รับการติดต่อจากสภากาชาดไทยตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา เพื่อขอจองวัคซีนโควิด-19 ของโมเดอร์นา จำนวน 1 ล้านโดส โดยเริ่มส่งภายในไตรมาส 4 ของปี 2564 และขอทำสัญญาซื้อขายโดยตรงกับทางบริษัท แต่เนื่องจากทางบริษัทฯยังไม่สามารถทำสัญญาโดยตรงกับสภากาชาดไทย สำหรับวัคซีนที่จะมาถึงภายในปีนี้จึงจำเป็นต้องซื้อผ่านองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ซึ่งทางบริษัทได้แจ้ง อภ.ให้ทราบแต่ต้นว่าวัคซีน 1 ล้านโดส ในปี 2564 เป็นของสภากาชาดไทย
          ปีหน้าซื้อตรงอีก5ล้านโดส
          จดหมายยังระบุว่า สำหรับความต้องการสั่งจองวัคซีนโควิด-19 ของโมเดอร์นา เพิ่มเติมจากสภากาชาดไทย จำนวน 5 ล้านโดส วัคซีนนี้จะส่งมอบภายในปี 2565 จะเป็นวัคซีนที่ครอบคลุม Variants of Concern (VOC) ทางบริษัทได้ประสานงานแจ้งการจองปริมาณดังกล่าวไปยังผู้ผลิตเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และในขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนการเตรียมการด้านเอกสารและพิจารณาข้อสัญญาในลำดับต่อไป ทั้งนี้ จะเป็นการสั่งซื้อตรงจากบริษัท โดยไม่ต้องผ่าน อภ.
          "ทางบริษัทมีความมุ่งมั่นที่จะร่วมมือในการเร่งจัดหาวัคซีนเพื่อแก้ปัญหาการระบาดใหญ่ในครั้งนี้ให้หมดไปในเร็ว เพื่อนำเศรษฐกิจและชีวิตปกติสุขกลับคืนมาโดยเร็ว ทางบริษัทขอขอบพระคุณท่านที่ได้ให้การสนับสนุน บริษัท ซิลลิค ฟาร์มา ด้วยดีเสมอมาและขอกราบขอบพระคุณล่วงหน้ามา ณ โอกาสนี้" จดหมายดังกล่าวระบุ
          'บินไทย'ขนซิโนฟาร์ม1ล.โดส
          รายงานข่าวจาก บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) แจ้งว่า บริษัทได้รับความไว้วางใจจากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ให้ปฏิบัติภารกิจขนส่งวัคซีนซิโนฟาร์มจำนวน 1 ล้านโดส จากประเทศจีนมายังประเทศไทย 2 เที่ยวบิน ได้แก่ 1.เที่ยวบินพิเศษขนส่งวัคซีน เที่ยวบินที่ ทีจี 8669 เส้นทางปักกิ่ง-กรุงเทพฯ ออกเดินทางประเทศจีน วันที่ 25 กรกฎาคม เวลา 05.41 น. (เวลาท้องถิ่น) ถึงกรุงเทพฯ เวลา 09.13 น. และ 2.เที่ยวบินขนส่งสินค้า (คาร์โก้) เที่ยวบิน ที่ ทีจี 675 เส้นทางปักกิ่ง-กรุงเทพฯ ออกเดินทางจากประเทศจีนวันที่ 25 กรกฎาคม เวลา 06.48 น. (เวลาท้องถิ่น) ถึงกรุงเทพฯ เวลา 10.28 น.
          'บิ๊กตู่'จี้กระจายชุด'เอทีเค'
          นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) เห็นความจำเป็นที่จะต้องมีการตรวจคัดกรองเชิงรุกเพื่อหาผู้ติดเชื้ออย่างรวดเร็ว และเร่งลดการแพร่ระบาด โดยเฉพาะกรณีที่เกิดจากผู้ติดเชื้อโควิด ที่ไม่แสดงอาการ และไม่ได้รับการคัดแยกหรือกักตัว ทำให้เกิดการแพร่เชื้อภายในครอบครัวและในชุมชนมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง นายกฯจึงมีนโยบายให้ดำเนินการตรวจหาเชื้อโควิดให้ครอบคลุมที่สุด ด้วยการใช้ชุดตรวจหาเชื้อโควิดแบบ Antigen Test Kit (เอทีเค) ซึ่งนายกฯเน้นย้ำต้องกระจายชุดตรวจเอทีเคอย่างทั่วถึงและโปร่งใสด้วย
          นายอนุชากล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) วาระพิเศษ เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคมที่ผ่านมาได้อนุมัติจัดซื้อชุดตรวจโควิดกว่า 8.5 ล้านชุด วงเงิน 1,014 ล้านบาท เพื่อจัดหาชุดตรวจเอทีเค ให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงใช้ตรวจเอง โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการจัดหา และกรมควบคุมโรคกำลังวางแผนกระจายชุดตรวจให้ประชาชนต่อไป ทั้งนี้ สปสช.คาดว่าจะแจกชุดตรวจเอทีเคให้ประชาชนระหว่างเดือนสิงหาคม-กันยายนนี้

 pageview  1205123    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved