Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 27/07/2564 ]
โควิดในไทยยังนิวไฮติดเชื้อ15,376

 นิวไฮอีก ไทยติดเชื้อโควิดใหม่ 15,376 ราย เสียชีวิต 87 ราย เผย ตจว.อัตราติดเชื้อแซง
          กทม.-ปริมณฑล เสนอ ผวจ.เตรียมแผนกักตัวชุมชน-บ้าน กรณีเตียงล้น เล็งถกไฟเขียวผลบวก จาก ATK เข้าระบบ ไม่ต้องรอ PCR เพื่อลดคนตายที่บ้าน ประวิตร มอบหมาย ธรรมนัส เร่งดูแลประชาชนลดค่าครองชีพสู้โควิด ทบ.ปรับ รพ.ค่าย ทุกแห่งเป็น รพ.สนาม ดูแลผู้ป่วยโควิดในจังหวัดรองรับได้ 3,600 เตียง
          ติดเชื้อนิวไฮ15,376ราย
          พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติด  เชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) แถลงรายงานสถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิต-19 ว่า มีตัวเลข ผู้ติดเชื้อรายใหม่ 15,376 ราย ติดเชื้อในประเทศ 14,321 ราย ติดเชื้อจากต่างประเทศ 14 ราย และจากเรือนจำที่ต้องขัง 1,041 ราย ผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 87 ราย มาจาก กทม. 40 ราย ปทุมธานี 6 ราย นครปฐม 6 ราย สมุทรสาคร 2 ราย นนทบุรี 1 ราย สมุทรปราการ 1 ราย ปัตตานี 6 ราย สงขลา 1 ราย  กระบี่ 2 ราย นครศรีธรรมราช 1 ราย นครราชสีมา 2 ราย อุบลราชธานี 2 ราย กาฬสินธุ์ 1 ราย อุดรธานี 1 ราย ฉะเชิงเทรา 2 ราย ตราด 2 ราย ชลบุรี 1 ราย ระยอง 1 ราย สระแก้ว 1 ราย ตาก 2 ราย กำแพงเพชร 1 ราย สุโขทัย 1 ราย สุพรรณบุรี 2 ราย เพชรบุรี 1 ราย และพระนครศรีอยุธยา 1 ราย รวมเสียชีวิตสะสม 4,052 ราย
          ติดเชื้อทั่วโลก 194,802,077 ราย เสียชีวิต 4,174,876 ราย รักษาหาย 176,750,694 ราย ประเทศที่ติดเชื้อสูงที่สุด 5 อันดับแรก สหรัฐอเมริกา35,199,465 ราย, อินเดีย 31,409,639 ราย,บราซิล 19,688,663 ราย, รัสเซีย 6,126,541 ราย,ฝรั่งเศส 5,993,937 ราย
          ตัวเลขเสียชีวิตกระจายทั่วประเทศ
          พญ.อภิสมัย กล่าวว่า จะเห็นว่าการเสียชีวิตค่อนข้างกระจายทั่วประเทศ ไม่ได้จำกัดเฉพาะ กทม.และปริมณฑล หรือเฉพาะจังหวัดที่อยู่ในกลุ่มสีแดงเข้ม ที่สำคัญยังคงอยู่ในกลุ่มผู้สูงอายุและมีโรคประจำตัว ในจำนวนวันนอนเตียง ที่มีอัตราการครองเตียงที่นาน และมีผู้เสียชีวิตที่บ้าน 5 ราย อย่างไรก็ตาม ถ้าเทียบกับตัวเลขรวมของทั้งประเทศจะเห็นว่าตอนนี้อัตราส่วนของ กทม.และปริมณฑลเป็น 41% ส่วนต่างจังหวัด 71 จังหวัด ได้แซงหน้า กทม. และปริมณฑลไปแล้วอยู่ที่ 59%
          พญ.อภิสมัยกล่าวอีกว่า เมื่อแบ่งตามเขตกลุ่มสุขภาพจากกราฟที่สูงขึ้นคือ การติดเชื้อนำเข้า หมายความว่าในจังหวัดนั้นๆ มีผู้ติดเชื้อค่อนข้างน้อย แต่มีผู้เดินทางจาก กทม.และปริมณฑลเข้าไปเขต 1 จะเน้นที่ จ.น่าน พะเยา แพร่ เขต 2 คือ จ.อุตรดิตถ์ เขต 3 คือ จ.นครสวรรค์ กำแพงเพชร พิจิตร อุทัยธานี และชัยนาท เขต 7 คือ จ.ขอนแก่น เขต 9 คือ จ.นครราชสีมา เขต 10 คือ จ.มุกดาหาร อำนาจเจริญ ศรีสะเกษ ยโสธร อุบลราชธานี โดย นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค.ได้ลงพื้นที่และสะท้อนภาพให้เห็นว่าการจัดการในพื้นที่หลายหลายจังหวัด ทั้งในส่วนของภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคใต้ ที่พบว่าติดเชื้อเป็นผู้ที่เดินทางกลับจากพื้นที่สีแดงเข้ม จึงต้องเรียนย้ำให้จังหวัดเหล่านี้ต้องเฝ้าระวัง เพราะจากการรายงานพบว่าแต่ละจังหวัดมีศักยภาพทางสาธารณสุขเริ่มจะตึง และบางพื้นที่มีอัตราการครองเตียงถึง 70% ของเตียงที่มีอยู่ และมีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น
          “นอกจากนี้ บางจังหวัดที่มีนโยบายรับผู้ป่วยจาก กทม.และปริมณฑล กลับไปรักษาตัว ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัด จะต้องเน้นย้ำให้มีการคัดกรองประชาชนอย่างเคร่งครัด และอาจจะต้องใช้ระบบการรักษาเหมือนกับ กทม. และปริมณฑลคือการเปิดการแยกกักในชุมชน และการแยกกักที่บ้าน คอยรองรับ” พญ.อภิสมัยกล่าว
          ยอดติดเชื้อกทม.ยังสูง
          พญ.อภิสมัยกล่าวว่า ยอดติดเชื้อใน กทม.วันนี้เป็นตัวเลขที่สูงพอสมควรคือ 2,573 ราย สมุทรสาคร 1,074 ราย สมุทรปราการ 970 ราย ชลบุรี 867 ราย นนทบุรี 719 ราย ระยอง 411 ราย ฉะเชิงเทรา 320 ราย นครปฐม 311 ราย ปทุมธานี 301 ราย และพระนครศรีอยุธยา 290 ราย อย่างไรก็ตาม ทาง กทม.รายงานว่า ในจำนวนผู้ป่วยทั้งหมดที่มีการติดเชื้อส่วนใหญ่เกือบ 80% ยังจัดอยู่ในกลุ่มอาการสีเขียว คือ กลุ่มที่มีอายุน้อย และวัยแรงงาน จึงเน้นย้ำอยู่เสมอว่ากลุ่มที่ได้รับผลยืนยันเป็นผู้ติดเชื้อและอยู่ในระดับสีเขียว ขอให้รักษาตัวอยู่ที่บ้าน
          “ขณะนี้หลายหน่วยงานหลายโรงพยาบาลสามารถที่จะให้บริการการแยกกักตัวที่บ้าน สามารถติดต่อได้ที่เลขหมาย 1330 กด 14 หรือสามารถสแกนคิวอาร์โค้ดและเว็บไซต์ หรือแอพพลิเคชั่นของภาครัฐและมหาวิทยาลัย โดยกระทรวงสาธารณสุขได้ทำคู่มือให้ประชาชนเพื่อศึกษาและเข้าใจ ทำให้หลายหน่วยงานสามารถให้ความช่วยเหลือผู้ติดเชื้อและนำเข้าสู่การกักตัวที่บ้านได้
          “ทีมป้องกันและแก้ไขปัญหาโควิด-19 เชิงรุกในชุมชน (Bangkok Comprehensive COVID-19 Response Team-CCRT) วันนี้ได้ลงพื้นที่ใน 57 ชุมชน มีผู้รับบริการทั้งสิ้น 5,325 ราย ในจำนวนนี้ทีมที่ลงไปในแต่ละชุมชนจะมีการตรวจ ATK และนำมาซักประวัติให้แต่ละบ้าน หากไม่มีผลเป็นบวกก็จะให้บริการฉีดวัคซีนด้วย ซึ่งในจำนวนนี้มีผู้ได้รับวัคซีนไปทั้งสิ้น 3,897 ราย
          “เป็นผู้สูงอายุ 1,982 ราย มีโรคประจำตัว 1,903 ราย และเป็นหญิงตั้งครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ 12 ราย โดยทีม CCRT ได้ฉีดวัคซีนสะสมคือ 45,977 ราย ทาง กทม.จะลงชุมชนในทุกๆ วัน ตกวันละเกือบ 100 ชุมชน ซึ่งจะระบุแผนไว้ที่เว็บไซต์ของ กทม.ว่าจะลงพื้นที่ไหนบ้าง ขอให้พี่น้องประชาชนติดตามในรายละเอียดเพราะทีมนี้เข้าถึงประชาชน ทำให้ตรวจค้นหาผู้ติดเชื้อที่ยังไม่มีอาการ เพื่อให้ได้รับการดูแลอย่างเร็วที่สุดและไม่เกิดการแพร่เชื้อไปในครอบครัวและชุมชนที่เกี่ยวข้อง” พญ.อภิสมัยกล่าว
          สั่งธรรมนัสเร่งดูแลประชาชน
          ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.)ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานสถานการณ์ฉุกเฉิน พรรคพลังประชารัฐ หรือ ศปฉ.พปชร. ได้รับมอบหมายจาก พล.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ในฐานะหัวหน้าพรรคมีความห่วงใยประชาชน เร่งดูแลประชาชน ล่าสุดจึงมอบหมาย ส.ส.จีรเดช ศรีวิราชสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรเขต 3 จ.พะเยา พปชร. นำถุงยังชีพจากการได้รับการสนับสนุนจากผู้ประกอบการ และร้านค้า มอบให้ผู้นำท้องท้องถิ่น จำนวน12 ตำบล 125 หมู่บ้าน ในอำเภอดอกคำใต้ จ.พะเยา เพื่อนำไปมอบให้ประชาชนได้นำไปใช้ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ต่อไป
          ทั้งนี้ จากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่นี้ พบว่ามีหลายพื้นที่ได้รับผลกระทบการแพร่ระบาดในวงกว้าง พล.อ.ประวิตรมีความห่วงใยประชาชน จึงมอบหมายให้ ส.ส.ในพื้นที่ต่างๆ เร่งอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนเพื่อเข้าถึงการรักษาในระบบสาธารณสุขอย่างทั่วถึง หากประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนสามารถแจ้งความประสงค์มาที่ ศปฉ.พปชร.ผ่านสายด่วน Call Center 02-939-1111 จำนวน 30 คู่สาย หรือ Inbox มาในเพจ Facebook ของพรรคได้ที่ https://www.facebook.com/PPRPThailand/ ซึ่งทางพรรคพร้อมดำเนินการช่วยเหลือต่อไป
          ทบ.ปรับรพ.ค่ายเป็นรพ.สนาม
          พล.ท.สันติพงศ์ ธรรมปิยะ โฆษกกองทัพบก เปิดเผยว่า จากสถานการณ์โควิด-19 ล่าสุด ซึ่งทุกส่วนกำลังช่วยกันนำผู้ติดเชื้อเข้าสู่กระบวนการรักษา โดยนายกรัฐมนตรี มีบัญชาให้หน่วยงานภาครัฐจัดชุดเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจคัดกรองช่วยเหลือ และรับผู้ติดเชื้อเข้าสู่โรงพยาบาล การจัดเตรียมพื้นที่เพิ่มเติมเพื่อคัดแยก พักคอย ก่อนส่งเข้าสถานพยาบาล พร้อมกับให้ดำเนินการปรับสโมสรทหารและใช้สถานที่ของหน่วยทหารจัดทำเป็นพื้นที่พักคอย รวมทั้งการเพิ่มโรงพยาบาลสนามโดยใช้ศักยภาพของโรงพยาบาลค่ายของเหล่าทัพดำเนินการนั้น
          ทั้งนี้ พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ได้สั่งการให้ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 กองทัพบก กรมแพทย์ทหารบก และทุกกองทัพภาค เร่งดำเนินการตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี ทันที โดยเฉพาะการปรับการบริหารจัดการโรงพยาบาลค่ายทุกแห่งและโรงพยาบาลสนามเดิมที่เตรียมไว้ทั้งหมดให้เป็นโรงพยาบาลสนามกองทัพบกประจำพื้นที่หรือจังหวัด เป็นโรงพยาบาลรองรับการให้บริการผู้ป่วยติดเชื้อในจังหวัดอย่างเต็มรูปแบบ โดยทำงานร่วมกับสาธารณสุขจังหวัดในการรับและรักษาผู้ติดเชื้อ เพื่อให้การบริการประชาชนในสถานการณ์โควิดในแต่ละจังหวัดได้เต็มศักยภาพและทันต่อการแพร่ระบาดที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ โดยใช้บุคลากรทางการแพทย์ของกองทัพบกร่วมกับสาธารณสุขประจำพื้นที่ดูแลผู้ป่วยและผู้ติดเชื้อ ทั้งนี้โรงพยาบาลกองทัพบก 37 แห่งมีความพร้อมสามารถรองรับผู้ป่วยโควิดได้ถึง 3,600 เตียง อีกทั้ง ในปัจจุบันโรงพยาบาลค่ายของกองทัพบกยังรับหน้าที่เป็นสถานพยาบาลที่ดูแลให้คำปรึกษาแก่ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่แยกกักตัวที่บ้าน Home isolation ในแต่ละจังหวัดอีกด้วย
          นอกจากนี้ กองทัพบกกำลังเร่งปรับและเตรียมสถานที่ สโมสรทหารบก เพื่อจัดตั้งศูนย์ สำหรับคัดแยกผู้ติดเชื้อและพักรอ ก่อนที่จะส่งตัวเข้ารับการรักษาที่ รพ.สนามกองทัพบก และ รพ.สนามในพื้นที่ กทม.ต่อไป
          สำหรับโรงพยาบาลค่ายของกองทัพบกทุกแห่ง ที่ได้ปรับเป็นโรงพยาบาลสนามกองทัพบกประจำจังหวัด ล่าสุดเปิดรับดูแลผู้ติดเชื้อโควิดแล้ว 17 แห่ง มีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาแล้ว 1,466 คน (24 กรกฎาคม 64) โดยในพื้นที่ กทม. มีโรงพยาบาลสนามกองทัพบก เปิดรับการรักษาดูแลผู้ป่วย 2 แห่ง ได้แก่ รพ.สนามกรมทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานที่ 1 (300 เตียง), รพ.สนามมณฑลทหารบกที่ 11 (178 เตียง)
          ส่วนในพื้นที่ภาคกลาง กองทัพภาคที่ 1 เปิดรับดูแลจำนวน 7 แห่ง (รพ.สนามกรมพลาธิการทหารบก จ.นนทบุรี, รพ.สนามศูนย์การทหารราบ จ.ประจวบคีรีขันธ์, รพ.สนามกองพันเสนารักษ์ที่1 จ.ลพบุรี, รพ.สนามมณฑลทหารบกที่ 19 จ.สระแก้ว, รพ.สนามกรมการทหารช่าง จ.ราชบุรี, รพ.สนามมณฑลทหารบกที่17 จ.กาญจนบุรี, รพ.สนามมณฑลทหารบกที่ 18 จ.สระบุรี), #ภาคอีสาน กองทัพภาคที่ 2จำนวน 4 แห่ง (รพ.สนามมณฑลทหารบกที่ 28 จ.เลย, รพ.สนามกองพันเสนารักษ์ที่ 6 จ.ร้อยเอ็ด, รพ.สนามหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 26 จ.บุรีรัมย์, รพ.สนาม กองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 16 จ.ยโสธร), #ภาคเหนือ กองทัพภาคที่ 3 รับผู้ป่วยแล้ว 2 แห่ง (รพ.สนามมณฑลทหารบกที่ 310 จ.ตาก, รพ.สนาม มณฑลทหารบกที่ 35 จ.อุตรดิตถ์), #ภาคใต้ กองทัพภาคที่ 4 รับผู้ป่วยแล้ว รวม 5 แห่ง (รพ.สนามกองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 5 จ.สงขลา, รพ.สนามกรมสนับสนุนกองพลทหารราบที่ 15 จ.สงขลา, รพ.สนามกองพลพัฒนาที่ 4 จ.สงขลา, รพ.สนามกองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 25 จ.ระนอง, รพ.สนามกองพันทหารราบที่ 1 กรมทหารราบที่ 15 จ.กระบี่

 pageview  1204509    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved