Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 27/07/2564 ]
AZย้ำส่ง5-6ล.โดส/เดือน โมเดอร์นาเข้าQ4นี้แน่

  แอสตร้าเซนเนก้า (AZ) ร่อนหนังสือย้ำจัดส่งวัคซีนไทยได้ 5-6 ล้านโดสต่อเดือน เผยส่งมอบไปแล้ว 11.3 ล้านโดส สัปดาห์นี้ส่งอีก 2.3 ล้านโดส ส่วนองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ได้ฤกษ์จรดปากกาเซ็นนำเข้า “โมเดอร์นา” 5 ล้านโดส ทยอยเข้าไตรมาส 4/64 แน่นอน โบรกฯ คัดหุ้นปลอดภัยหลบโควิด-19 แนะ SCGP-BDMS-TVO-SAPPE-TU-NER
          นายเจมส์ ทีก ประธานบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด ทำจดหมายเปิดผนึกชี้แจงว่า สรุปได้ว่า วัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้าเป็น “ชีววัตถุ” ที่เริ่มต้นด้วยการเพาะเลี้ยงเซลล์ที่เป็นส่วนประกอบในกระบวนการผลิต จึงมีกระบวนการผลิตที่ซับซ้อน จำนวนเซลล์ที่สามารถนำไปใช้เพื่อการผลิตวัคซีนในแต่ละรอบการผลิตจึงมีความไม่แน่นอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการผลิตระยะแรกจากศูนย์การผลิตวัคซีนแห่งใหม่ ถึงแม้จะมีข้อจำกัดมากมาย แต่คาดการณ์ว่าจะสามารถจัดสรรวัคซีนให้กับประเทศไทยได้โดยเฉลี่ย 5-6 ล้านโดสต่อเดือน
          และจนถึงขณะนี้แอสตร้าเซนเนก้าได้ส่งมอบวัคซีนให้กับกระทรวงสาธารณสุขแล้ว 9 ล้านโดส และมีกำหนดส่งมอบอีก 2.3 ล้านโดสในสัปดาห์นี้ (26 ก.ค.-1 ส.ค. 2564) รวมเป็นยอดส่งมอบ 11.3 ล้านโดส ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งจากแผนการจัดหาวัคซีนจำนวน 61 ล้านโดสให้กับประเทศไทย
          “ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดรุนแรงของไวรัสสายพันธุ์เดลต้า เราพยายามอย่างสุดความสามารถและเสาะหาทุกวิถีทางที่จะเร่งการผลิตและส่งมอบวัคซีนให้ได้โดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ด้วยความร่วมมือจากพันธมิตรผู้ผลิตอย่างสยามไบโอไซเอนซ์ เราได้พยายามเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการผลิตให้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม และเรามั่นใจว่าจะสามารถส่งมอบวัคซีนได้มากขึ้นในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า” นายเจมส์ ทีก กล่าว
          นอกจากนี้ ยังได้พยายามจัดหาวัคซีนเพิ่มเติมจากศูนย์การผลิตของแอสตร้าเซนเนก้าทั่วโลกกว่า 20 แห่ง เพื่อส่งมอบวัคซีนเพิ่มเติมให้กับประเทศไทยและประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อย่างไรก็ตามทั่วโลกกำลังประสบกับภาวะขาดแคลนวัคซีนป้องกันโควิด-19 การขาดแคลนวัตถุดิบและส่วนประกอบที่จำเป็นในการผลิตวัคซีน ส่งผลให้ไม่สามารถคาดการณ์จำนวนการผลิตที่แน่นอนได้ แต่หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะสามารถนำเข้าวัคซีนเพิ่มเติมมาให้กับคนไทยได้ในเดือนต่อ ๆ ไป
          อภ.เซ็นนำเข้าโมเดอร์นา
          ทางด้านบริษัท ซิลลิค ฟาร์มา ประเทศไทย เผยว่า แซดพี เทอราพิวติกส์ (ZP Therapeutics) ซึ่งเป็นหน่วยธุรกิจภายใต้ ซิลลิค ฟาร์มา ได้ลงนามร่วมกับองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ในการจัดหาและกระจายวัคซีนโควิด-19 ของโมเดอร์นา จำนวน 5 ล้านโดส โดยจะทยอยนำเข้ามาในประเทศไทยตั้งแต่ช่วงไตรมาส 4/2564
          นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการ องค์การเภสัชฯ กล่าวว่า ทั้ง 2 หน่วยงานจะทำงานอย่างใกล้ชิดกับสมาคมโรงพยาบาลเอกชนในการขยายการเข้าถึงวัคซีนทางเลือก พร้อมวางแผนการจัดหาวัคซีนในวาระถัดไป เพื่อเร่งส่งเสริมแผนการฉีดวัคซีนของประเทศ และสนับสนุนประเทศไทยให้ก้าวผ่านวิกฤตโควิด-19
          “องค์การฯ จะประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐ สมาคมโรงพยาบาลเอกชน และแซดพี เทอราพิวติกส์ เพื่อเตรียมการจัดหาวัคซีนโควิด-19 ของโมเดอร์นาสำหรับปี 65 ต่อไป” นพ.วิฑูรย์ กล่าว
          นพ.เฉลิม หาญพาณิชย์ นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน กล่าวว่า เพื่อเร่งกระบวนการแผนการฉีดวัคซีน ส่งเสริมภูมิคุ้มกันหมู่ และต้านเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่อย่างมีประสิทธิภาพ สมาคมฯ มีความมุ่งมั่นในการจัดหาวัคซีนทางเลือกที่หลากหลายให้แก่ประชาชน โดยได้มีการประสานงานอย่างใกล้ชิดกับโรงพยาบาลเอกชนหลายแห่งทั่วประเทศ เพื่อเปิดให้ผู้ที่สนใจสามารถลงทะเบียนแจ้งความประสงค์ได้ พร้อมทั้งดำเนินการเตรียมความพร้อมสำหรับการฉีดวัคซีนแก่ประชาชน เพื่อให้เป็นไปตามข้อกำหนดของรัฐบาลและการอนุมัติใช้ในภาวะฉุกเฉิน (EUA)
          นางสุนัยนา กิจเกษตรไพศาล ผู้จัดการทั่วไป แซดพี เทอราพิวติกส์ กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทยที่ยังคงยืดเยื้อ และสร้างความท้าทายต่อระบบสาธารณสุขอย่างต่อเนื่อง การเข้าถึงวัคซีนโควิด-19 ที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างมาก
          ทั้งนี้ แซดพี เทอราพิวติกส์ ในฐานะพันธมิตรทางธุรกิจอย่างเป็นทางการของโมเดอร์นาในประเทศไทย ได้นำเอาองค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ที่โดดเด่นมาสนับสนุนการทำงานของหน่วยงานภาครัฐและสถานพยาบาลเอกชน เพื่อส่งเสริมแผนการฉีดวัคซีนโควิด-19 ของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อเตรียมสร้างเกราะป้องกันที่จำเป็นในอนาคตสำหรับสายพันธุ์ใหม่ที่น่ากังวล (Variants of Concern) เมื่อมีข้อมูลสนับสนุนจากการศึกษาทางคลินิก และได้รับการอนุมัติขึ้นทะเบียนโดยหน่วยงานภาครัฐ
          น.ส.พักตร์นลิน บูลกุล ประธานกรรมการบริหาร ซิลลิค ฟาร์มา ประเทศไทย กล่าวว่า บริษัทมีความพร้อมด้านคลังสินค้าและการจัดเก็บแบบควบคุมอุณหภูมิด้วยมาตรฐานระดับโลก โดยมีพื้นที่รวมกว่า 40,000 ตร.ม. จึงมีศักยภาพในการจัดเก็บและกระจายวัคซีนโควิด-19 โมเดอร์นาจำนวนมาก
          ไทยเข้าโคแวกซ์
          นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงเหตุผลที่ไทยเข้าโครงการโคแวกซ์ ว่า การพิจารณาของไทยไม่ได้หมายความว่าการที่ไทยไม่ได้เข้าร่วมในปีนี้ ถือว่าผิดแผน ผิดพลาด ล้มเหลว แต่ไทยตัดสินใจบนสถานการณ์จริง ที่ปี 2564 ทั่วโลกต้องการวัคซีนมากมายมหาศาล
          ทางโคแวกซ์ก็เช่นกัน ต้องประสบกับความยากลำบากในการจัดหา ซึ่งก็ปรากฏเป็นข่าวอยู่เนือง ๆ ปัจจุบันนี้ค่าเฉลี่ยการกระจายวัคซีนให้ชาติสมาชิกอยู่ที่ประเทศละ 1 ล้านโดส และในความเป็นจริง บางชาติได้รับหลักล้าน แต่บางชาติได้รับหลักหมื่น โครงการโคแวกซ์ สำหรับปี 2564 ยังมีความไม่แน่นอนอยู่สูง ดังนั้นไทยจึงไม่ได้หวังพึ่งจากโครงการนี้เป็นหลัก แต่ได้เข้าไปจัดหากับผู้ผลิตโดยตรง
          หากมองในมุมของประเทศไทยที่มีการซื้อวัคซีนตรงกับบริษัทผู้ผลิตที่ตกลงกันไว้ตั้งแต่ ก.ย. 2563 ทำให้ตั้งแต่เดือน ก.พ. 2564 จนถึงสิ้นเดือน ก.ค. 2564 ไทยมีวัคซีนรวมสะสมทั้งสิ้นประมาณ 27 ล้านโดส แบ่งเป็นแอสตร้าฯ ราว 12 ล้านโดส และซิโนแวคอีก 15 ล้านโดส และยังมีส่วนที่ได้รับการบริจาคราว 3.5 ล้านโดส เป็นวัคซีนแอสตร้าฯ 1 ล้านโดสที่ได้รับจากประเทศญี่ปุ่น วัคซีนซิโนแวค 1 ล้านโดสจากประเทศจีน และวัคซีนไฟเซอร์ 1.5 ล้านโดสที่จะเข้ามาปลายเดือนนี้
          “ย้อนกลับไปตอนที่ไทยมีแผนวัคซีน เราไม่ได้เลือกโคแวกซ์เป็นแผนหลัก เพราะตอนนั้นเราไม่อยากวางเงินซื้อ ซึ่งเรารู้ดีว่าหลังจากนั้นเราจะกำหนดอะไรไม่ได้ ทางไทยจึงกันงบไว้จัดซื้อ จัดหากับผู้ผลิตโดยตรง ที่การพูดคุยหารือยังเป็นไปได้มากกว่า”
          อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ปัจจุบันของโครงการโคแวกซ์มีแนวโน้มที่ดีขึ้น ไทยและโคแวกซ์ได้หารือกันมาตลอด มีคณะทำงานที่ตั้งขึ้นมาเพื่อพิจารณาในเรื่องนี้โดยเฉพาะ พบว่าในปี 2565 การกักตุนวัคซีนจะน้อยลง โคแวกซ์จะมีวัคซีนเข้ามามากขึ้น บริหารจัดการง่ายขึ้น ชาติสมาชิกจะมีความชัดเจนเรื่องการได้รับวัคซีน ไทยจึงเข้าร่วม เราตัดสินใจบนสถานการณ์จริง
          ขณะที่ น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กระบุไทม์ไลน์การจัดสรรวัคซีนโควิด-19 ช่วง 19 กรกฎาคม-31 สิงหาคม 2564 จำนวน 13 ล้านโดส ได้แก่ วัคซีน AstraZeneca 8 ล้านโดส และ Sinovac 5 ล้านโดส เน้นฉีดให้กับผู้สูงอายุ และผู้ป่วยโรคเรื้อรัง โดยแบ่งเป็น ฉีดพื้นที่ควบคุมสูงสุดเข้มงวด และควบคุมสูงสุดบางจังหวัด รวม 11 จังหวัด 33%
          ฉีดประชาชนในระบบประกันสังคม กลุ่มขับเคลื่อนเศรษฐกิจ 15% , ฉีดจังหวัดที่เหลือ 48 จังหวัด 15%, องค์กรภาครัฐ และสำรองตอบโต้การระบาด 12%, แอสตร้าเซนเนก้าเป็นเข็มที่ 2 คิดเป็น 12%, ฉีดพื้นที่ควบคุมสูงสุดและจังหวัดที่เตรียมเปิดการท่องเที่ยวรวม 18 จังหวัด 10% และฉีดบูสเตอร์โดส ให้บุคลากรทางการแพทย์ 3%
          แนะหุ้นปลอดภัย
          บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด ระบุว่า ดัชนีแม้จะรีบาวด์กลับขึ้นมาบ้างในช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่ยังวางใจไม่ได้ เพราะตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ยังสูงขึ้นเรื่อย ๆ และวานนี้ยังทำจุดสูงสุดต่อเกือบ 1.5 หมื่นราย ทำให้ตลาดหุ้นไทยอาจเป็นเพียง Technical Rebound ได้ และส่วนหนึ่งเกิดจากหุ้นหลายกลุ่มมีการปรับตัวลงจนเข้าเขตขายมากเกินไป (Oversold) ในช่วง 1-2 วันนี้จึงมีการดีดกลับบ้างเป็นเรื่องปกติ
          อย่างไรก็ตาม ในภาวะที่ตลาดหุ้นไทยเผชิญกับปัญหาโควิด-19 ระลอกใหม่ ฝ่ายวิจัยฯ พยายามทำการค้นหากลุ่มหุ้นที่ตลาดให้น้ำหนักว่าน่าจะปลอดภัยจากโควิด-19 โดยดูจากผลตอบแทนเป็นรายกลุ่มตั้งแต่ช่วงที่มีความกังวลโควิดสายพันธุ์เดลต้า รวมถึงการกระจายวัคซีนเริ่มเบาลง (ช่วง 15 มิ.ย.-21 ก.ค. 2564) พบว่ามีกลุ่มหุ้นที่ Outperform เด่น หรือให้ผลตอบแทนเป็นบวก คือ กลุ่มบรรจุภัณฑ์ (PKG), ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ (ETRON), การแพทย์ (HELTH), อาหาร (FOOD), เกษตร (AGRI)
          ในทางกลับกันกลุ่มหุ้นที่ Underperform ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มที่ถูกผลกระทบจากโควิดในช่วงไตรมาส 2/2563 (มีการล็อกดาวน์เหมือนกัน) จนกำไรลดลงอย่างมีนัยฯ และหลาย ๆ กลุ่มพลิกมาเป็นขาดทุนเลย คือ กลุ่มธนาคารพาณิชย์ (BANK), รับเหมาก่อสร้าง (CONS), อสังหาริมทรัพย์ (PROP) (กดดันศูนย์การค้า), ขนส่งและโลจิสติกส์ (TRANS), ท่องเที่ยว (TOURISM) และกลุ่มสื่อ (MEDIA)
          จากผลลัพธ์ดังกล่าวสรุปได้ว่า หากตัวเลขผู้ติดเชื้อยังไม่ลดลง เน้นลงทุนในกลุ่มหุ้นพื้นที่สีเขียว แต่ถ้าตัวเลขเริ่มลดลง และถ้าให้ดีคือลดลงจนต่ำกว่าผู้ที่รักษาหาย ให้กลับเข้าไปลงทุนในกลุ่มหุ้นพื้นที่สีแดง
          ขณะที่ปัจจุบันตลาดฯ ยังอยู่ในภาวะตัวเลขผู้ติดเชื้อยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แนะนำลงทุนในกลุ่มหุ้นที่ปลอดภัยจากโควิด-19 คือ กลุ่มบรรจุภัณฑ์ (ชอบบริษัท เอสซีจี แพคเกจกิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP), ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์, การแพทย์ (ชอบบริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) หรือ BDMS), อาหาร (ชอบบริษัท น้ำมันพืชไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TVO, บริษัท เซ็ปเป้ จำกัด (มหาชน) SAPPE, บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาขน) หรือ TU), เกษตร (ชอบบริษัท นอร์ทอีส รับเบอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NER)

 pageview  1205114    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved