Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 03/08/2564 ]
ลงทุนพลังงานแรง รสก.-เอกชนชิงจังหวะสลับรุก ผลิตออกซิเจน ศก.สู้โควิด

 บรรยากาศความหดหู่ของเศรษฐกิจไทยที่ได้รับผล กระทบจากการระบาดรุนแรงของโควิด-19 ล่าสุด กระทรวงการคลังคาดการณ์จีดีพีปีนี้ระดับ 1.2% ขณะที่ กกร.มองเพียง 0-1.5% และบางหน่วยงานด้านเศรษฐกิจประเมินจีดีพีอาจติดลบ หากสถานการณ์ยังยืดเยื้อ ระบบสาธารณสุขยังเหนื่อยล้าแบบนี้
          นอกจากนี้ ผลจากการที่รัฐบาลมีมาตรการล็อกดาวน์ 13 จังหวัด ล่าสุด มีแนวโน้มต่อล็อกดาวน์ กระทรวงสาธารณสุขส่งสัญญาณเสนอต่อล็อกดาวน์อีก 2 เดือน เนื่องจากตัวเลขติดเชื้อยังคงพุ่งสูงเข้าใกล้ 2 หมื่นรายต่อวัน เสียชีวิตเข้าใกล้ 200 รายต่อวัน แต่ต้องขึ้นอยู่กับรัฐบาลโดยศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ว่าจะตัดสินใจอย่างไร
          จับตาคลัสเตอร์ รง.ภาคผลิตระส่ำ
          ล่าสุด การระบาดลามเข้าชุมชนแออัดตลอดจนโรงงานอุตสาหกรรมหลายร้อยแห่ง เกิดคลัสเตอร์โรงงานขึ้นหลายจุด ทำให้เอกชนภาคอุตสาหกรรมเริ่มกังวลว่าจะมีมาตรการปิดโรงงาน จากปัจจุบันผู้ว่าราชการจังหวัดเป็น ผู้พิจารณา จึงเดินหน้าจัดทำมาตรการบับเบิล แอนด์ ซีล เพื่อคุมสถานการณ์ พร้อมเรียกร้องวัคซีน เพราะกังวลว่าอาจกระทบต่อการผลิตเพื่อส่งออกเครื่องยนต์หลักที่เหลืออยู่ ของเศรษฐกิจไทย
          เรื่องนี้ สุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ยอมรับว่า ภาคอุตสาหกรรมรู้สึกเคว้งกับวัคซีนที่ยังไม่ได้รับการจัดสรรจากภาครัฐอย่างเต็มเม็ด เต็มหน่วย ทำให้แรงงานได้รับวัคซีนไม่ถึง 10% เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้การติดเชื้อลามอย่างรวดเร็ว
          2รัฐวิสาหกิจพลังงานลุยลงทุน2.3แสนล.ปีนี้
          ด้วยสถานการณ์ที่รุนแรง เมื่อลองควานหาเครื่องยนต์เศรษฐกิจที่ยังแข็งแกร่งอยู่ในเวลานี้มีเพียงตัวเดียวคือ การลงทุนจากภาครัฐและรัฐวิสาหกิจที่กำลังขับเคลื่อนอยู่ โดยเฉพาะรัฐวิสาหกิจที่ยังเหลือเวลาอีก 5 เดือนก่อนจะสิ้นปี
          www.facebook.com/ScoopMati 2564 เวลานี้จึงต่างรุกลงทุนเต็มสปีด โดยเฉพาะยักษ์พลังงานด้านต่างๆ ที่ซุ่มรอวันที่โควิด-19 คลี่คลาย เศรษฐกิจฟื้น รอวันที่ความต้องการใช้พลังงานจะกลับมาพุ่งพรวดอีกครั้ง
          กุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน ให้ความเห็นว่า ช่วงนี้รัฐวิสาหกิจของรัฐถือเป็นเครื่องยนต์หลักที่ยังสามารถลงทุนได้ต่อเนื่อง เพราะไม่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิดมากนัก เนื่องจากการบริโภคพลังงานยังมีอยู่ แม้จะลดลง เล็กน้อย ดังนั้น ควรถือโอกาสนี้ให้รัฐวิสาหกิจต่างๆ เดินหน้า ลงทุนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจไทยปีนี้ต่อเนื่องถึงปี 2565 โดยในส่วนของกระทรวงพลังงานนั้นดูแลรัฐวิสาหกิจ 2 แห่ง คือ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) และบริษัทในเครือ และ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)
          "กระทรวงอยู่ระหว่างเร่งรัดทั้ง 2 หน่วยงานให้เดินหน้าลงทุนตามแผนที่วางไว้เช่นกันในปีนี้ วงเงินรวมกว่า 2.3 แสนล้านบาท นอกจากนี้ ยังกระตุ้นให้มีการลงทุนในธุรกิจพลังงานสีเขียวด้วยเพื่อตอบรับเทรนด์ของโลก อย่างกรณี กฟผ.ก็ได้เร่งรัดให้ลงทุนในพลังงานสีเขียวเช่นกัน อาทิ โซลาร์ฟาร์ม โซลาร์ลอยน้ำ สายส่งไฟฟ้า" ปลัดกระทรวงพลังงานให้ข้อมูล
          ขณะเดียวกัน กระทรวงพลังงานยังอยู่ระหว่างผลักดันแผนพลังงานแห่งชาติที่รวบรวมทั้งแผนไฟฟ้า ก๊าซธรรมชาติ น้ำมันเชื้อเพลิง พลังงานทดแทน และอนุรักษ์พลังงาน ภายใต้กรอบนโยบายที่เน้นลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคพลังงาน ลงทุนพลังงานสีเขียว เพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้านพลังงาน และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรองรับการเปลี่ยนผ่านด้านเทคโนโลยี
          เบื้องต้นแผนพลังงานแห่งชาติผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) แล้วเตรียมเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เร็วๆ นี้
          นอกจากนี้ ในช่วงครึ่งปีหลังกระทรวงพลังงานยังมีภารกิจสำคัญ อาทิ ส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคา ทบทวนแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ ส่งเสริมการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติ ระยะที่ 2 ศึกษาศักยภาพปิโตรเลียมเพื่อเตรียมการเปิดให้สิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบใหม่ ส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า ผลักดันกองทุนอนุรักษ์พลังงานให้เข้าสู่เศรษฐกิจฐานราก
          เมื่อตรวจสอบข้อมูล การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานพลังงานในระยะสั้นเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ จากกลุ่ม ปตท. พบการลงทุนที่น่าสนใจ โดย ปตท.และบริษัทในเครือตั้งงบลงทุนปี 2564 รวม 2.09 แสนล้านบาท โครงการลงทุนสำคัญ อาทิ โครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือ และสถานีรับ-จ่าย ก๊าซธรรมชาติเหลวแห่งใหม่ วงเงิน 8.8 พันล้านบาท โครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติ เส้นที่ 5 วงเงิน 3.7 พันล้านบาท และโครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติ จากสถานีควบคุม ความดันก๊าซฯราชบุรี-วังน้อย ที่ 6 วงเงิน 293 ล้านบาท
          ขณะที่ กฟผ.ตั้งงบลงทุนปี 2564 ไว้ที่ 3.8 หมื่นล้านบาท แบ่งการลงทุนออกเป็น 4 ส่วน คือ โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้า โครงการก่อสร้างและปรับปรุงระบบส่งไฟฟ้า แผนระยะยาวและงบลงทุนรายปี โครงการลงทุนสำคัญ อาทิ โครงการขยายระบบส่งไฟฟ้า ระยะที่ 12 วงเงิน 5.7 พันล้านบาท โครงการปรับปรุงระบบส่งไฟฟ้าบริเวณภาคตะวันตกและภาคใต้ วงเงิน 2.8 พันล้านบาท โครงการระบบส่งไฟฟ้ารับซื้อ ไฟฟ้าจากเอกชนรายใหญ่ ระยะที่ 3 วงเงิน 2 พันล้านบาท
          บิ๊กเอกชนแห่ตั้งโรงไฟฟ้ารอโควิดสงบ
          ไม่เพียง 2 หน่วยงานรัฐวิสาหกิจด้านพลังงานที่รุกคืบการลงทุนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่กำลังเผชิญกับโรคระบาด ในส่วนของภาคเอกชนในธุรกิจพลังงานก็มีการลงทุนอย่างต่อเนื่อง โดยที่ประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบอร์ดบีโอไอ ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน นัดล่าสุด ได้อนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุนกับกิจการขนาดใหญ่ รวม 5 โครงการ รวมมูลค่าการลงทุน 49,911 ล้านบาท
          ประกอบด้วย บริษัท หินกองเพาเวอร์ จำกัด กิจการผลิตไฟฟ้าระบบโคเจนเนอเรชัน มูลค่าการลงทุน 32,464 ล้านบาท โครงการผลิตไฟฟ้าขนาด 1,540 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่ที่จังหวัดราชบุรี บริษัทนี้ถูกจับตาเพราะเป็นบริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ถือหุ้น 51% กับบริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ถือหุ้น 49% อีกบริษัทที่ได้รับการส่งเสริมลงทุน คือ บริษัท ท็อป เอสพีพี จำกัด กิจการผลิตไฟฟ้าและไอน้ำระบบโคเจนเนอเรชัน มูลค่าการลงทุน ทั้งสิ้น 4,350 ล้านบาท โครงการผลิตไฟฟ้าขนาด 120 เมกะวัตต์ และไอน้ำ 294 ตัน/ชั่วโมง ตั้งโครงการที่จังหวัดชลบุรี
          นอกจากนี้ ยังมีบริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) ก็เดินหน้า 2 โครงการรวด คือ บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ (อ่างทอง) 2 จำกัด กิจการผลิตไฟฟ้าและไอน้ำระบบ โคเจนเนอเรชัน มูลค่าการลงทุน 5,300 ล้านบาท กำลังการผลิตไฟฟ้าระบบโคเจนเนอเรชัน 145 เมกะวัตต์ ไอน้ำระบบโคเจนเนอเรชัน 30 ตัน/ชั่วโมง ตั้งโครงการอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมเวิลด์ ฟู๊ด วัลเลย์ ไทยแลนด์ จังหวัดอ่างทอง บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ (อ่างทอง) 3 จำกัด กิจการผลิตไฟฟ้าและไอน้ำระบบโคเจนเนอเรชัน มูลค่าการลงทุน 5,200 ล้านบาท กำลังการผลิตไฟฟ้าระบบโคเจนเนอเรชัน 145 เมกะวัตต์ ไอน้ำระบบโคเจนเนอเรชัน 30 ตัน/ชั่วโมง และขนส่งก๊าซธรรมชาติทางท่อ 13,914 ล้านลูกบาศก์ฟุต/ปี ตั้งโครงการในนิคมอุตสาหกรรมเวิลด์ ฟู๊ด วัลเลย์ ไทยแลนด์ จังหวัดอ่างทอง
          ภายในปีนี้ยังมีอีกการลงทุนที่จะมีความสำคัญต่อวงการพลังงานไม่แพ้กันคือ โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก (โครงการนำร่อง) 150 เมกะวัตต์ ประเภทชีวมวล และประเภทก๊าซชีวภาพ (พืชพลังงานผสมน้ำเสีย/ของเสีย) ซึ่งจะมีส่วนสำคัญในการช่วยให้เกษตรกรมีรายได้มั่นคง
          กำหนดวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2567 แม้จะไม่เห็นการลงทุนในปีนี้แต่ระหว่างที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้าชุมชน การปลูกพืชเชื้อเพลิงจะมีส่วนกระตุ้นเศรษฐกิจไทยได้ไม่แพ้กัน
          นับถอยหลังอีก 5 เดือนที่เหลือของปี การลงทุนภาคพลังงานจะผลิตออกซิเจนเศรษฐกิจให้พลิกฟื้นกลับมาได้หรือไม่ ต้องติดตาม...

 pageview  1205013    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved