Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 19/04/2564 ]
ไข้ฉี่หนู ระบาดหนักในพื้นที่ภาคใต้ 3เดือนพบป่วย219รายตายแล้ว3

 เมื่อวันที่ 17 เมษายน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เผยแพร่พยากรณ์โรคและภัยสุขภาพรายสัปดาห์ ระหว่างวันที่ 18-24 เมษายน 2564 ว่าจากการเฝ้าระวังสถานการณ์โรคไข้ฉี่หนู (เลปโตสไปโรสิส) ในปี 2564 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-3 เมษายน 2564 ล่าสุด พบผู้ป่วย 219 ราย เสียชีวิต 3 ราย ผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ภาคใต้ โดยจังหวัดที่มีอัตราป่วยต่อประชากรแสนคนสูงสุด 5 อันดับแรกคือ ระนอง ยะลา สงขลา พัทลุง และพังงา และกลุ่มอายุที่พบมากที่สุดคือ อายุ 45-54 ปี รองลงมาคือ อายุ 35-44 ปี และอายุ 55-64 ปี ตามลำดับ โดยอาชีพที่พบส่วนใหญ่คืออาชีพเกษตรกร ร้อยละ 35.6
          จากการพยากรณ์โรคคาดว่าในช่วงนี้มีโอกาสจะพบผู้ป่วยโรคไข้ฉี่หนูเพิ่มขึ้น เนื่องจากในช่วงนี้ยังมีฝนตกในหลายพื้นที่ ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมขังและสภาพพื้นดินเปียกชื้น โรคไข้ฉี่หนูเป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน เชื้อจะถูกปล่อยออกมากับปัสสาวะของสัตว์ที่ติดเชื้อ โดยเฉพาะหนู ซึ่งเชื้ออาจปนเปื้อนอยู่ตามแหล่งน้ำขัง หรือดินที่ชื้นแฉะ ทำให้ประชาชนเสี่ยงต่อการสัมผัสและได้รับเชื้อโรคดังกล่าว โดยเฉพาะในกลุ่มเกษตรกร หรือผู้ที่ มีการเดินลุยน้ำย่ำโคลนหรือแช่น้ำเป็นเวลานาน เชื้อโรคจะเข้าสู่ร่างกายทางบาดแผล รอยถลอกตามผิวหนัง เยื่อบุตา จมูก ปาก หรืออาจไชเข้าทางผิวหนังที่แช่น้ำเป็นเวลานาน นอกจากนี้ ยังอาจติดต่อได้จากการรับประทานอาหารหรือ ดื่มน้ำที่มีเชื้อปนเปื้อน
          ทั้งนี้ กรมควบคุมโรคแนะนำให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการแช่หรือลุยน้ำที่อาจมีเชื้อโรคไข้ฉี่หนูปนเปื้อนอยู่ หรือถ้าจำเป็น เช่น ทำเกษตรกรรม เลี้ยงสัตว์ หรือการทำความสะอาดบ้านหลังน้ำลด ควรสวมรองเท้าบู๊ต หรือใช้ถุงมือยางเพื่อป้องกัน แล้วรีบทำความสะอาดร่างกายด้วยน้ำสบู่และเช็ดให้แห้งหลังจากลงไปในแหล่งน้ำหรือย่ำดินโคลน รับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่และใส่ภาชนะมิดชิด ควรล้างผัก ผลไม้ ให้สะอาดก่อนนำมารับประทาน และควบคุมกำจัดหนูในบริเวณที่อยู่อาศัย สถานที่ทำงาน และแหล่ง ท่องเที่ยว สำหรับผู้ที่มีประวัติเสี่ยงแช่น้ำ ย่ำดินโคลน หรือบุคคลทั่วไป หากพบว่ามีอาการป่วยด้วยไข้เฉียบพลัน ปวดศีรษะรุนแรง หนาวสั่น ตาแดง ปวดกล้ามเนื้ออย่างรุนแรง โดยเฉพาะที่น่องและโคนขา ให้รีบไปพบแพทย์โดยเร็ว หากเข้ารับการรักษาล่าช้าอาจมีอาการตับวาย ไตวาย และทำให้เสียชีวิตได้ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422

 pageview  1204460    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved