Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 06/01/2564 ]
สรุป7วันอันตรายปีใหม่392ศพ รถน้อยแต่ขับเร็วเหตุดับเพิ่ม19

โฆษกศาลเผยขับรถขณะเมาสุราข้อหาทำผิดสูงสุด 'นิพนธ์'สรุป 7 วันอันตราย แม้โควิดระบาดก็ยังตายมากกว่าปีที่แล้ว 19 ราย มีรถน้อยแต่เร็วเพิ่ม เสียชีวิตในที่เกิดเหตุมาก เล็งงัดมาตรการคุมเข้มหยุดยาวหลายช่วงปีนี้
          สรุป7วันปีใหม่ดับ392
          เมื่อวันที่ 5 มกราคม ที่ศูนย์อำนวยความปลอดภัยทางท้องถนน (ศปถ.) กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะประธานแถลงข่าวสรุปผลการดำเนินงานของศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2564 กล่าวว่า ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ.2564 โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยและความร่วมมือของหน่วยงานภาคีเครือข่าย ได้รวบรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 4 มกราคม 2564 วันสุดท้ายของการรณรงค์ ชีวิตวิถีใหม่ ขับขี่อย่างปลอดภัย ไร้อุบัติเหตุ เกิดอุบัติเหตุ 265 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 22 ราย ผู้บาดเจ็บ 271 คน สาเหตุเกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ขับรถเร็ว ร้อยละ 32.45 ตัดหน้ากระชั้นชิด ร้อยละ 25.28 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 82.55 ส่วนใหญ่เกิดบนเส้นทางตรง ร้อยละ 63.02 ถนนกรมทางหลวง ร้อยละ 45.28 ถนนใน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 27.55 ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ช่วงเวลา 16.01-20.00 น. ร้อยละ 28.68 ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุดอยู่ในช่วงอายุ 50 ปีขึ้นไป ร้อยละ 32.76 ทั้งนี้ ได้จัดตั้งจุดตรวจหลัก 1,969 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 61,996 คน เรียกตรวจยานพาหนะ 477,652 คัน มีผู้ถูกดำเนินคดี รวม 111,030 ราย มีความผิดฐานไม่สวมหมวกนิรภัย 29,963 ราย ไม่มีใบขับขี่ 27,454 ราย จังหวัดเกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี 12 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ ลพบุรี 3 ราย จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี 13 คน สรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสมในช่วง 7 วันของการรณรงค์ (29 ธันวาคม 63-4 มกราคม 64) เกิดอุบัติเหตุรวม 3,333 ครั้ง ผู้เสียชีวิตรวม 392 ราย ผู้บาดเจ็บ รวม 3,326 คน จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต ตายเป็นศูนย์ มี 7 จังหวัด ได้แก่ นครนายก นราธิวาส น่าน แม่ฮ่องสอน ระนอง อำนาจเจริญ และอุตรดิตถ์
          เชียงรายแชมป์ตาย18
          นายนิพนธ์กล่าวว่า จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ 115 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงราย 18 ราย จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ 117 คน สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ขับรถเร็ว ร้อยละ 33.60 ดื่มแล้วขับ ร้อยละ 33.06 พฤติกรรมเสี่ยงที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุทางถนนสูงสุด ได้แก่ ไม่สวมหมวกนิรภัย ร้อยละ 59.33 ดื่มแล้วขับ ร้อยละ 25.09 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 82.54 รถปิกอัพ ร้อยละ 6.19 ส่วนใหญ่เกิดบนเส้นทางตรง 65.77 ถนนกรมทางหลวง ร้อยละ 37.80 ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ช่วงเวลา 16.01-20.00 น. ร้อยละ 27.45
          ดับเพิ่มจากปีที่แล้ว19
          นายนิพนธ์กล่าวว่า จากการสรุปตัวเลขในช่วง 7 วันอันตราย พบจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุเพิ่มขึ้น แม้จะอยู่ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 มากกว่าช่วงปีใหม่เมื่อปี 63 มีผู้เสียชีวิต 373 คน ทำให้มียอดผู้เสียชีวิตสูงกว่าเดิม 19 ราย คิดเป็นร้อยละ 5 สาเหตุของการเสียชีวิตยังเป็นเรื่องการขับรถเร็ว โดยเฉพาะเมื่อถนนมีรถน้อยลงพบว่ามีการใช้ความเร็วเพิ่มขึ้น เสียชีวิตในที่เกิดเหตุมากขึ้น นอกจากนี้ เป็นการเสียชีวิตจากกรณีเมาแล้วขับสูงขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นใกล้เคียงพื้นที่ที่มีการสังสรรค์ช่วงปีใหม่และใช้ยานพาหนะ จะมีการนำยอดของผู้เสียชีวิตจากช่วง 7 วันอันตรายไปปรับและหาแนวทางเพื่อลดจำนวนผู้เสียชีวิต เพื่อนำมาตรการมาใช้ตลอดทั้งปี ส่วนจะใช้ยาแรงในช่วงสงกรานต์นี้หรือไม่นั้น ตนมองว่าไม่ใช่แค่ช่วงเทศกาลเท่านั้น เนื่องจากขณะนี้รัฐบาลกำหนดวันหยุดเพิ่มมากขึ้น เมื่อมีวันหยุดยาวและคนออกไปเที่ยวก็มักจะเกิดอุบัติเหตุ ดังนั้น ต้องมีมาตรการมาดูแลตลอดทั้งปี รวมทั้งจะต้องมี การบูรณาการร่วมกันระหว่างศูนย์โควิด-19 และด่านความมั่นคง
          มท.วิเคราะห์ลดอุบัติเหตุ
          นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ รองปลัด มท. และหัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านสาธารณภัยและพัฒนาเมือง กล่าวว่า มท.ได้เน้นย้ำให้จังหวัดจัดประชุมศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนจังหวัด เพื่อสรุปผลการดำเนินงานป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ.2564 พร้อมทั้งเร่งตรวจสอบข้อมูลผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนนในช่วงควบคุมเข้มข้น ระหว่างวันที่ 29 ธันวาคม 2563-4 มกราคม 2564 เพื่อให้ได้ข้อมูลสถิติอุบัติเหตุทางถนนที่ถูกต้อง รวมถึงวิเคราะห์สาเหตุหลักการเกิดอุบัติเหตุทางถนน ถอดบทเรียนการดำเนินงานป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนในพื้นที่ เพื่อค้นหาสาเหตุและปัจจัยเสี่ยงอุบัติเหตุทางถนนในภาพรวม จะนำไปสู่การกำหนดมาตรการในการสร้างความปลอดภัยทางถนนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ สภาพปัญหา บริบททางสังคม และรูปแบบการเดินทางของประชาชน เพื่อลดความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนนให้ได้มากที่สุด
          นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม อธิบดี ปภ. ในฐานะเลขาฯ ศปถ. กล่าวว่า แม้จะสิ้นสุดการดำเนินงานลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2564 แล้ว ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน โดยความร่วมมือของ มท.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยังคงมุ่งสร้างความปลอดภัยทางถนนอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี ปภ.จะบูรณาการทุกหน่วยงานวางแนวทางและกำหนดทิศทางการสร้างความปลอดภัยทางถนน เพื่อให้มีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการปัญหาอุบัติเหตุทางถนนและลดปัจจัยเสี่ยงอุบัติเหตุในทุกมิติ ควบคู่กับการสร้างการรับรู้ความเข้าใจ เพื่อสร้างความตระหนักและจิตสำนึกด้านความปลอดภัยแก่ประชาชนและผู้ใช้รถใช้ถนน
          โฆษกศาลเผยคดีจราจรลด
          นายสุริยัณห์ หงษ์วิไล โฆษกศาลยุติธรรม เปิดเผยยอดรวมสถิติคดีความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 เข้าสู่การพิจารณาพิพากษาของศาลชั้นต้นทั่วประเทศ ช่วง 7 วันอันตราย เทศกาลปีใหม่ 2564 (29 ธันวาคม 2563-4 มกราคม 2564) ศูนย์ข้อมูลคดี สำนักแผนงานและงบประมาณ สำนักงานศาลยุติธรรม เก็บรวบรวมข้อมูลในแต่ละวันในช่วงเวลา 08.30-16.30 น. พบว่ากลุ่มศาลอาญา ศาลจังหวัด และศาลแขวงมีจำนวนคดีขึ้นสู่การพิจารณา 9,452 คดี จำนวนคดีพิพากษาแล้วเสร็จ 9,271 คดี คิดเป็นร้อยละ 98.09 ศาลที่มีปริมาณคดีขึ้นสู่การพิจารณาสูงสุด 5 อันดับ ได้แก่ 1.ศาลแขวงนครราชสีมา 684 คดี 2.ศาลแขวงอุบลราชธานี 629 คดี 3.ศาลแขวงสุรินทร์ 500 คดี 4.ศาลจังหวัดศรีสะเกษ 449 คดี
          5.ศาลจังหวัดจันทบุรี 374 คดี ข้อหาที่มีผู้กระทำความผิดสูงสุด ได้แก่ 1.ขับรถขณะเมาสุรา 9,462 คน 2.ขับรถโดยไม่มีใบอนุญาต 498 คน 3.ขับรถขณะเสพยาเสพติด 165 คน 4.ขับรถโดยประมาท 33 คน กลุ่มศาลเยาวชนและครอบครัว มีจำนวนคำร้องที่เข้าสู่การตรวจสอบการจับทั้งสิ้น 118 คำร้อง โดยข้อหาที่เข้าสู่การตรวจสอบการจับมากที่สุด ได้แก่ 1.ขับรถขณะเมาสุรา 92 คน 2.ขับรถขณะเสพยาเสพติด 25 คน 3.ขับรถโดยไม่มีใบอนุญาต 2 คน 4.ขับรถโดยประมาท 3 คน จำนวนผู้ต้องหาเข้าสู่การตรวจจับ 122 คน เพศหญิง 2 คน และเพศชาย 120 คน ตรวจสอบการจับนั้นชอบด้วยกฎหมายทั้งหมด
          โควิดมาผิดจราจรก็ยังมาก
          นายสุริยัณห์กล่าวว่า เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบปริมาณคดีความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 เข้าสู่การพิจารณาพิพากษาของศาลชั้นต้นทั่วประเทศช่วง 7 วันอันตราย เทศกาลปีใหม่ 2563 ในกลุ่มศาลอาญา ศาลจังหวัด และศาลแขวง มีทั้งสิ้น 25,376 คดี พบว่าปริมาณคดีช่วงเทศกาลปีใหม่ 2564 นี้ ลดลง 15,924 คดี คิดเป็นร้อยละ 62.75 ส่วนในกลุ่มศาลเยาวชนและครอบครัวนั้น มีจำนวนคำร้องเข้าสู่การตรวจสอบการจับในปี 2563 ทั้งหมด 358 คำร้อง จำนวนคำร้องในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2564 นี้ ลดลง 240 คำร้อง คิดเป็นร้อยละ 67 คาดว่าอาจเนื่องมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ระบาดในระลอกใหม่ ทำให้รัฐบาลออกมาตรการคุมเข้มการเดินทางหลายพื้นที่ รวมถึงการคุมเข้มร้านค้าจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และอีกส่วนคือประชาชนอาจลดการเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ จึงทำให้สถิติคดีปีนี้ลดลง อย่างไรก็ตาม หากนำจำนวนข้อหาความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 เข้าสู่การพิจารณาพิพากษาของศาลชั้นต้นทั่วประเทศในช่วง 7 วันอันตราย เทศกาลปีใหม่ 2564 มาเปรียบเทียบกับสถิติในช่วงวันเวลาปกติของปี 2563 พบว่ามีจำนวนข้อหาเข้าสู่ศาลมากกว่าช่วงเวลาปกติประมาณ 4 เท่า จะเห็นได้ว่าแม้เป็นช่วงที่มีสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 แต่ก็ยังมีประชาชนกระทำผิดกฎหมายเกี่ยวกับการจราจรอยู่เป็นจำนวนมาก จึงอยากเน้นย้ำให้ประชาชนเคารพกฎหมายอย่างเคร่งครัด ลดปัจจัยเสี่ยงทำให้เกิดอุบัติเหตุทางถนน เพื่อความปลอดภัยของตนเองและสาธารณชน รวมทั้งคำนึงถึงผล กระทบที่จะเกิดขึ้น
          นครชัยบุรินทร์ตายเพิ่ม7
          นายสิทธิพล เสงี่ยม ผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เขต 5 นครราชสีมา กล่าวสรุปผลการดำเนินงานป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2564 หรือ 7 วันอันตราย ของกลุ่มจังหวัดนครชัยบุรินทร์ (นครราชสีมา-ชัยภูมิ-บุรีรัมย์-สุรินทร์) ของการรณรงค์ ชีวิตวิถีใหม่ ขับขี่อย่างปลอดภัย ไร้อุบัติเหตุ ของ 4 จังหวัดอีสานใต้ เกิดอุบัติเหตุ รวม 9 ครั้ง จำนวนผู้บาดเจ็บ 9 คน ไม่มีผู้เสียชีวิต นครราชสีมา เกิดอุบัติเหตุ 5 ครั้ง ผู้บาดเจ็บ 5 คน สุรินทร์ เกิดอุบัติเหตุ 4 ครั้ง บาดเจ็บ 4 คน ชัยภูมิและบุรีรัมย์ ไม่เกิดอุบัติเหตุจนทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต สรุปภาพรวมเทศกาลปีใหม่ 2564 กลุ่มจังหวัด นครชัยบุรินทร์ 7 วัน รวมเกิดอุบัติเหตุ 180 ครั้ง เปรียบเทียบกับช่วงเทศกาลปีใหม่ 2563 เกิด 170 ครั้ง เพิ่มขึ้น 10 ครั้ง คิดเป็น 5.88% บาดเจ็บ 183 คน เปรียบเทียบกับช่วงเทศกาลปีใหม่ 2563 บาดเจ็บ 176 คน เพิ่มขึ้น 7 คน คิดเป็น 3.98% เสียชีวิต 37 ราย เปรียบเทียบกับช่วงเทศกาลปีใหม่ 2563 เสียชีวิต 30 ราย เพิ่มขึ้น 7 ราย คิดเป็น 23.33% นครราชสีมา เกิดอุบัติเหตุ 88 ครั้ง ผู้บาดเจ็บ 93 คน ผู้เสียชีวิต 16 ราย ชัยภูมิ เกิดอุบัติเหตุ 11 ครั้ง ผู้บาดเจ็บ 9 คน ผู้เสียชีวิต 5 ราย บุรีรัมย์ เกิดอุบัติเหตุ 42 ครั้ง บาดเจ็บ 46 คน เสียชีวิต 9 ราย สุรินทร์ เกิดอุบัติเหตุ 39 ครั้ง บาดเจ็บ 35 คน เสียชีวิต 7 ราย สาเหตุการเกิดอุบัติเหตุมากที่สุดคือ ดื่มแล้วขับ 45.56% รองลงมาคือ ขับรถเร็วเกินกำหนด 29.44% ตัดหน้ากระชั้นชิด 15% ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุมากที่สุดคือ รถจักรยานยนต์ 87.78% รองลงมาคือ รถปิกอัพ 11.67% รถเก๋ง 3.33% ถนนที่เกิดอุบัติเหตุมากที่สุดคือ ถนนกรมทางหลวง 41.11% รองลงมาคือถนนใน อบต./หมู่บ้าน 38.33% ถนนกรมทางหลวงชนบท 11.67% ช่วงอายุของผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต มากที่สุดคือ 50 ปีขึ้นไป 24.55% รองลงมาคือ อายุ 15-19 ปี 19.55% และอายุ 40-49 ปี 13.64%
          4อำเภอนครพนมไร้อุบัติเหตุ
          ที่ศาลากลางจังหวัดนครพนม นายไกรสร กองฉลาด ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม พร้อมด้วยนายธวัชชัย รอดงาม รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม ร่วมประชุมกับคณะกรรมการ เพื่อติดตามผลการดำเนินงานในการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนในช่วง 7 วันอันตราย ระหว่างวันที่ 29 ธันวาคม 2563-4 มกราคม 2564 และปิดศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2564 จังหวัดนครพนม โดยตลอด 7 วัน จังหวัดนครพนมมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นทั้งสิ้น 30 ครั้ง มีผู้บาดเจ็บทั้งสิ้น 28 ราย ผู้เสียชีวิต 3 ราย มีอำเภอไม่เกิดอุบัติเหตุเลย 4 อำเภอ ได้แก่ นาทม วังยาง นาหว้าและเรณูนคร ส่วนอำเภอที่เกิดอุบัติเหตุมากสุด ได้แก่ เมืองนครพนม 13 ครั้ง รองลงมาคือบ้านแพง 9 ครั้ง ธาตุพนม 3 ครั้ง นาแก 2 ครั้ง ส่วนอำเภอนาหว้า ท่าอุเทน ศรีสงคราม และอำเภอโพนสวรรค์ เกิดเหตุอำเภอละ 1 ครั้ง
          สระบุรีจับขับรถเร็วมากสุด
          ที่ จ.สระบุรี นายสมภพ สมิตะสิริ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี ประธานการประชุมคณะกรรมการศูนย์ปฏิบัติการร่วมป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ ปี 2564 จังหวัดสระบุรี ครั้งที่ 6 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งปิดศูนย์ปฏิบัติการร่วมป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ.2564 จังหวัดสระบุรี
          นายสมภพ เปิดเผยว่า สรุปผลปฏิบัติงาน 7 วัน คือวันที่ 29 ธันวาคม 2563-4 มกราคม 2564 พบว่ามีอุบัติเหตุ 32 ครั้ง บาดเจ็บ 24 ราย เสียชีวิต 9 ราย มีการเรียกตรวจยานพาหนะ 46,834 คัน ดำเนินคดีตามมาตรการทั้ง 10 มาตรการ 6,198 คน มากที่สุดคือขับรถเร็วเกินกำหนด คิดเป็นร้อยละ 35% รองลงมาคือ ดื่มแล้วขับ คิดเป็นร้อยละ 33%

 pageview  1205009    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved