Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 15/10/2563 ]
อนามัยโลกถอดบทเรียนไทย สกัด โควิด แพร่ระบาดรอบ2

กรุงเทพธุรกิจ  อนามัยโลกร่วมกับสธ.ถอด บทเรียนโควิด19 ในไทย หลังพบ 9 เดือนรับมือการแพร่ระบาดประสบความสำเร็จ ชู 6 จุดเด่น  6 ข้อเสนอปรับใช้กับทั่วโลก หวังรับมือ การระบาดระลอกต่อไป  "อนุทิน"ลั่นถึงเวลา ไทยรุกกลับโควิด ยันอีก 1-2 สัปดาห์ เคาะลด วันกักตัวเหลือ 10 วัน
          วานนี้ (14 ต.ค.) ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มีการแถลงข่าวการถอดบทเรียนร่วมระหว่าง กระทรวงสาธารณสุขและองค์การอนามัยโลก (ดับเบิลยูเอชโอ) ในการปฏิบัติงานด้านสาธารณสุขเพื่อตอบสนองต่อสถานการณ์โรคโควิด-19 ในประเทศไทย โดยนพ.แดเนียล เคอร์เทสซ์ ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย กล่าวว่า การถอดบทเรียนนี้เนื่องจากประเทศไทยรับมือ กับ สถานการณ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพในช่วง 9 เดือนแรก ของการระบาดของโรคโควิด 19  สามารถจำกัด การแพร่ระบาดในระดับชุมชนได้และลดผลกระทบต่อบริการสุขภาพที่จำเป็น
          การถอดบทเรียนใช้เครื่องมือมาตรฐานพัฒนาโดยดับเบิลยูเอชโอให้ทุกประเทศนำไปใช้ ดำเนินการ ถอดบทเรียนเมื่อวันที่ 20-24 ก.ค.2563 โดย ผู้ประเมินภายนอกจากองค์การอนามัยโลก หน่วยงาน ขององค์การสหประชาชาติและมหาวิทยาลัยต่างๆ ผู้ให้สัมภาษณ์ ประกอบด้วยผู้กำหนดนโยบาย ผู้เชี่ยวชาญทางวิชาการและบุคลากรทางการแพทย์พบว่า ปัจจัยหลักแห่งความสำเร็จในการบริหารจัดการสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยมี 6 ข้อได้แก่ 1.ภาวะผู้นำที่เข้มแข็ง ได้รับข้อมูลและหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ดีที่สุด 2.ระบบบริหาร ที่ประยุกต์ได้ตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง 3.ระบบการแพทย์และการสาธารณสุข ที่แข็งแกร่งมีทรัพยากรพร้อมและทุกคน เข้าถึงได้ 4.ประสบการณ์รับมือการระบาดของโรคติดเชื้อ อาทิ โรคซาร์ส ไข้หวัดนกและไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ชนิดเอช1เอ็น1 5.การสื่อสารสม่ำเสมอและโปร่งใสนำไปสู่การให้ความร่วมมือของภาคประชาชนกับมาตรการป้องกันต่างๆ และ 6. วิธีการแบบบูรณาการทุกภาคส่วนซึ่งรวมถึงการมีส่วนร่วม ของภาควิชาการและเอกชน
          อย่างไรก็ตาม ดับเบิลยูเอชโอมี 6 ข้อเสนอแนะหลักประกอบด้วย 1.ข้อมูลที่นำไปสู่การปฏิบัติ ควรมีระบบฐานข้อมูลดิจิทัลใหม่ เพื่อบูรณาการข้อมูลระบาดวิทยา ข้อมูลห้องปฏิบัติการ ข้อมูลทางการแพทย์และการขนส่ง 2.ปกป้องบุคลากรทาง การแพทย์และผู้ป่วย จัดตั้งหน่วยงานระดับประเทศด้านการป้องกันและควบคุมการ ติดเชื้อ 3.ปรับปรุงการค้นหาผู้ป่วย โดยขยายการเฝ้าระวังโรคโควิด-19 เพื่อหนุนเสริมการค้นหาผู้ป่วยและเพื่อติดตาม ผลกระทบจากโรคระบาด
          4.เสริมกำลังคนโดยทบทวนทรัพยากรบุคคลที่ทำงานด้านโรคโควิด 19 เพื่อ เทียบเคียงกับความต้องการจริงและ รับมือกับการขาดแคลน 5.การกักกันที่ดีระดับโลก จัดตั้งหน่วยงานระดับประเทศที่มีอำนาจในการกักกันโรค เพื่อเพิ่มพูนศักยภาพและอำนวยการประสานงานระหว่างภาคส่วนต่างๆให้เป็นไปได้สะดวกขึ้นและ 6. เสริมการประสานงาน เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินเพื่อเสริมความแข็งแกร่งของการตอบสนองต่อสถานการณ์โรคโควิด 19
          "ข้อเสนอแนะจากถอดบทเรียน เน้นเรื่องการเสริมสร้างการประสานความร่วมมือ การพัฒนาระบบเฝ้าระวังและฐานข้อมูล และการเสริมสร้างและปกป้องบุคลากรทางการแพทย์ การนำข้อเสนอแนะเหล่านี้ ไปปรับใช้อย่างรวดเร็วจะช่วยให้การรับมือกับสถานการณ์การระบาดในระลอกต่อไปมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น"นพ.แดเนียลกล่าว
          "อนุทิน"ลั่นถึงเวลาไทยรุกกลับโควิด
          นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมว.สธ.) กล่าวว่า สิ่งสำคัญคือประเทศไทยไม่เคยปิดข้อมูลใดๆ ตั้งแต่ที่พบผู้ติดเชื้อนอกประเทศจีน รายแรกจากนี้ถึงเวลาที่ประเทศไทยจะเป็นฝ่ายรุกกลับโควิด-19 คือรู้ว่าโควิด-19 มีจุดแข็ง จุดอ่อนอย่างไร แพร่เชื้อและคุกคามสุขภาพคนได้อย่างไร ก็หาวิธีการป้องกันตรงจุดนั้น
          นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รักษาการอธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) กล่าวว่า ในการเสนอศบค.จะเสนอลดวันกักตัว ลงเหลือ 10 วัน โดยเริ่มในกลุ่มประเทศ เสี่ยงต่ำ เช่น จีน ไต้หวัน นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย เป็นต้น เนื่องจากพบว่า การกักตัว 14 วันและ 10 วัน โอกาสที่ ผู้ติดเชื้อจะหลุดรอดมาไม่แตกต่างกัน
          ต่างประเทศยังแพร่ระบาดไม่หยุด
          ส่วนสถานการณ์ในต่างประเทศ โควิด-19 ยังแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว ทั่วโลก ติดเชื้อกว่า 37 ล้านคน เสียชีวิตเกิน 1 ล้านคน หลายประเทศที่ควบคุมการระบาดรอบแรกได้ตอนนี้ต้องเจอกับรอบ 2 แล้ว โดยที่เนเธอร์แลนด์ออกคำสั่งล็อกดาวน์ บางส่วน ควบคุมการติดเชื้อเพิ่มสูงสุด จุดหนึ่งของยุโรป สั่งปิดบาร์ คาเฟ่ และ ร้านอาหารทุกแห่ง ผู้ที่มีอายุ 13 ปีขึ้นไป ต้องสวมหน้ากากเมื่ออยู่ในสถานที่ปิด
          ส่วนฝรั่งเศสประกาศมาตรการควบคุมที่เข้มงวดขึ้นและการตรวจหาเชื้ออย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น ชาวเน็ตเก็งกันว่า ปารีส และอีกหลายๆ เมืองห้ามออกนอกเคหสถานในยามวิกาล ขณะที่อิตาลี ออกระเบียบใหม่ที่เข้มงวดยิ่งขึ้น ควบคุมไม่ให้โควิด กลับมาอีกรอบ เช่น ห้ามจัดปาร์ตี้ งด การแข่งขันฟุตบอลสมัครเล่น ห้าม รับประทานอาหารในบาร์ยามค่ำคืน
          ด้านนายเคียร์ สตาร์เมอร์ หัวหน้าพรรคฝ่ายค้าน "แรงงาน" อังกฤษ เรียกร้อง ให้ล็อกดาวน์ตัดวงจรการระบาด 2-3 สัปดาห์เพื่อชะลออัตราการติดเชื้อ พร้อมกล่าวหาว่ารัฐบาลไม่สนใจมาตรการฉุกเฉิน ที่ผู้เชี่ยวชาญแนะนำไว้เมื่อวันที่ 21 ก.ย. อย่างไรก็ตาม  นายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน  ยังไม่ใช้มาตรการล็อกดาวน์เต็มรูปแบบ ทั่วประเทศ แม้จะมีเสียงเรียกร้องจากหัวหน้าพรรคแรงงาน
          ส่วนจีนมีคำสั่งสั่งตรวจหาเชื้อประชากรทุกคนในเมืองชิงเต่า หลังพบผู้ติดเชื้อจำนวนหนึ่งเมื่อวันอาทิตย์ (11 ต.ค.) ถึงวานนี้ (14 ต.ค.) ตรวจแล้วกว่า 4 ล้านคน นับถึงบ่ายวันอังคาร  (13 ต.ค.) ทราบผลแล้ว 1.9 ล้านคน ทางการเผยว่า ยังไม่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มเติม ทั้งนี้ จีนตั้งใจตรวจเชื้อทั้งชิงเต่า ที่มีประชากรราว 9.4 ล้านคนให้เสร็จสิ้นภายในวันพฤหัสบดี (15 ต.ค.)
          บริษัทยามะกันเบรกพัฒนาวัคซีน
          ส่วนความหวังที่จะได้วัคซีนอย่างรวดเร็วต้องอ่อนแรงลงเล็กน้อยเมื่อบริษัทยาสหรัฐ "เอลี ลิลลี" เผยว่า ระงับการทดลองรักษาด้วยแอนติบอดีระยะ 3 เนื่องจากมีความกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัย นับเป็นบริษัทที่ 2 ในรอบไม่ถึง 24 ชั่วโมง หลังจากจอห์นสันแอนด์จอห์นสันประสบปัญหาคล้ายๆ กันจากการทดลองวัคซีนเฟสสุดท้าย
          แม้การทดลองวัคซีนต้องหยุดชะงัก ลงไปบ้าง ธนาคารโลกยังอนุมัติเงิน 1.2 หมื่นล้านดอลลาร์ให้ประเทศกำลังพัฒนาใช้ซื้อและแจกจ่ายวัคซีน ตรวจหาเชื้อ และการรักษา
          ความเคลื่อนไหวของธนาคารโลก เกิดขึ้นหลังจากองค์กรการกุศล "ออกซ์แฟม" เตือนให้ระวัง "ความอดอยากจากโควิด" เนื่องจากประชาคมโลกแก้ปัญหาความไม่มั่นคง ด้านอาหารของโลกน้อยมาก
          ด้านกองทุนการเงินระหว่างประเทศกล่าวว่า แม้เศรษฐกิจถดถอยผลพวง จากโควิดรุนแรงน้อยกว่าที่กลัวกัน ตอนแรก แต่จีดีพีโลกยังคงหดตัว 4.4% การฟื้นตัวต้องใช้เวลาอีกนาน เป็น การฟื้นตัวแบบไม่เท่าเทียมกัน และ ความไม่แน่นอนสูง

 pageview  1205114    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved