Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 16/09/2563 ]
ไฟเขียววีซ่าพิเศษดึงต่างชาติ ผ่านกักตัวเที่ยวไทยยาว270วัน

 สภาอุตฯลุ้น ศบศ.ถกวันนี้ ผลักดัน แบงก์ชาติยืดพักหนี้ภาคธุรกิจอีก 2 ปี ครม.อนุมัติวีซ่าพิเศษดึง ต่างชาติเที่ยวพักไทยยาว 270 วัน
          'บิ๊กตู่'แจงวันหยุดแค่แนวคิด
          เมื่อวันที่ 15 กันยายน ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ภายหลังประชุมหนังสือพิมพ์มติชนรายวันคณะรัฐมนตรี (ครม.) เกี่ยวกับการกำหนดวันหยุดเพิ่มเติมเพื่อช่วยกระตุ้นภาคการท่องเที่ยว ว่า "เพียงดำริไว้เฉยๆ ส่วนจะทำได้หรือไม่ได้ เมื่อไหร่ อย่างไร ต้องรอเวลา อย่าเพิ่งไปลือกันมากมาย และถ้าจะมีวันหยุดพิเศษขึ้นมาก็ต้องประกาศล่วงหน้าเพื่อให้มีแผนการท่องเที่ยว ตอนนี้ขอให้ไปดูเดือนตุลาคมที่มีวันหยุดธรรมดา วันหยุดนักขัตฤกษ์ ไปดูตรงนั้นไว้ก่อน และอย่ามาบอกว่ารัฐบาลไม่บอกก่อน เพราะไม่ใช่วันพิเศษอะไร ถ้าเป็นวันพิเศษจะบอกล่วงหน้า"
          'บิ๊กตู่'เล็งออกวีซ่าดึงนักเที่ยว
          พล.อ.ประยุทธ์ยังกล่าวถึงการออกวีซ่านักท่องเที่ยวแบบใหม่ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติพำนักระยะยาวว่า ในที่ประชุม ครม.ได้หารือเรื่องดังกล่าว และจะนำเข้าหารือในที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. อีกครั้ง นอกจากนั้นยังต้องรับฟังความคิดเห็นจากหลายส่วน สิ่งสำคัญจะต้องมีการกักตัวตามมาตรการป้องกันโควิด-19 ระยะเวลาที่กำหนด เพราะคนกลุ่มนี้อยู่ระยะยาว เนื่องจากเข้ามาในเรื่องการท่องเที่ยวและสุขภาพ สามารถอยู่ในสถานที่กักตัวทั้งในสถานที่ที่รัฐจัดให้ หรือสถานที่ที่เลือกเอง หรือในระบบโรงพยาบาล
          "ที่สำคัญการ์ดอย่าตก หลายกิจกรรมที่ผ่อนคลาย ตอนยังไม่ผ่อนคลายก็ขอร้องรัฐบาล พอคลายล็อกก็เริ่มคลายความเข้มงวดลงไป ถือว่าอันตราย ถ้าไม่สามารถทำตามมาตรการได้ก็อย่ามาโทษรัฐบาล" นายกฯกล่าว
          ครม.เคาะวีซ่าอยู่ไทยยาว
          น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.อนุมัติหลักการ แนวทางการเปิดรับนักท่องเที่ยวประเภทพิเศษ Special Tourist VISA (STV) ตามที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเสนอ โดยให้คนต่างด้าวที่มีคุณสมบัติ ดังนี้คือ 1.เป็นบุคคลต่างด้าวที่ประสงค์จะเดินทางมาพำนักระยะยาว (Long Stay) ภายในประเทศไทย 2.ยอมรับการปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุขที่ประกาศใช้ภายในประเทศไทย และตกลงยินยอมกักตัวในห้องพักจำนวน 14 วัน (ALSQ)
          3.มีหลักฐานสถานที่พักอาศัยระยะยาวภายในประเทศไทย ได้แก่ หลักฐานการชำระเงินค่าโรงแรมที่พัก หรือโรงพยาบาลที่พัก (AHQ) ภายในประเทศไทย และหลักฐานอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้ คือหลักฐานการชำระเงินค่าโรงแรมที่พัก ที่จะใช้เป็นที่พักหลังจากออกจากโรงแรมที่พักที่เป็นสถานที่กักตัว หรือโรงพยาบาลที่พัก ตามระยะเวลาที่ประสงค์จะพำนักระยะยาวภายในประเทศไทย หรือหลักฐานสำเนาโฉนดห้องชุดของที่พักอาศัยประเภทคอนโดมิเนียม ที่เป็นกรรมสิทธิ์ของบุคคลต่างด้าวหรือบุคคลในครอบครัวของบุคคลต่างด้าว หลักฐานการเช่าที่พักประเภทคอนโดมิเนียมหรือบ้านพัก หลักฐานการชำระเงินดาวน์ของบุคคลต่างด้าวในการซื้อหรือเช่า ที่พักอาศัยประเภทคอนโดมิเนียมที่บุคคลต่างด้าวสามารถซื้อได้ตามกฎหมาย
          ได้สิทธิพักอาศัยถึง270วัน
          น.ส.ไตรศุลีกล่าวต่อว่า ทั้งนี้ บุคคลต่างด้าวตามเกณฑ์ข้างต้น และผ่านการดำเนินการตามการควบคุมโควิด-19 มีสิทธิขอรับการตรวจลงตราประเภทนักท่องเที่ยวเป็นพิเศษ Special Tourist Visa (STV) โดยเสียค่าธรรมเนียมการตรวจลงตราครั้งละ 2,000 บาท ได้รับอนุญาตให้อยู่ในไทยเป็นเวลา 90 วัน เมื่อครบกำหนด 90 วันแล้ว เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองมีอำนาจอนุญาตให้อยู่ต่อไปได้อีก 2 ครั้ง ครั้งละ 90 วัน โดยให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศจนถึงวันที่ 30 กันยายน 2564
          น.ส.ไตรศุลีกล่าวว่า สำหรับแนวทางการเปิดรับนักท่องเที่ยวประเภทพิเศษนี้ เพื่อต้องการนำนักท่องเที่ยวที่มีศักยภาพเดินทางเข้ามาในประเทศไทย ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและธุรกิจเกี่ยวเนื่อง ซึ่งจากการที่ประเทศไทยสามารถบริหารจัดการและควบคุมการแพร่ระบาดของโรค จนได้รับการจัดอันดับประเทศที่มีความปลอดภัยเป็นอันดับ 1 ทำให้คนต่างชาติกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูงและมีศักยภาพจากทุกประเทศทั่วโลกต้องการเดินทางเข้ามาพร้อม ครอบครัวเพื่อมาพำนักระยะยาว (Long Stay) ภายในประเทศไทย
          ให้ลาอีก2วันกระตุ้นท่องเที่ยว
          นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุม ครม.ว่า กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาขอความเห็นชอบในการปรับปรุงรายละเอียดโครงการ เราเที่ยวด้วยกัน ซึ่งมีระยะเวลาในการดำเนินงานตั้งแต่เดือนกรกฎาคม-ตุลาคม โดยครั้งนี้เป็นการให้ข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้าง พนักงานรัฐวิสาหกิจ สามารถลาพักร้อนในวันธรรมดาเพิ่มได้อีก 2 วัน โดยถือไม่เป็นวันลา เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวช่วงวันธรรมดาดึงกลุ่มที่มีกำลังซื้อให้ออกเดินทางท่องเที่ยว เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
          หอการค้าฯตามทวงผลข้อเสนอ
          นายกลินท์ สารสิน ประธานหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ในการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบศ. วันที่ 16 กันยายนนั้น จะต้องดูวาระในการประชุมอีกครั้งว่าทางศูนย์จะมีการอัพเดตข้อมูลในประเด็นใดบ้าง เนื่องจากทางภาคเอกชนได้เสนอเรื่องไปในที่ประชุม ศบศ. หลายประเด็นแล้ว แต่ดูเหมือนว่าจะยังไม่มีความคืบหน้าที่ชัดเจน
          "การประชุมของ ศบศ. จะมีการประชุมติดตามผลทุกๆ 2 สัปดาห์ ซึ่งการประชุมในครั้งนี้ ทางภาคเอกชนจะมีการติดตามผลถึงข้อเสนอที่ได้เสนอไปโดยเฉพาะมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และรื่องการช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและประชาชน ในเรื่องของการลดค่าน้ำ ค่าไฟ เพื่อช่วยเหลือในการลดค่าใช้จ่าย ถึงแม้ว่ามาตรการนี้จะเคยดำเนินการไปแล้ว แต่ภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้เห็นควรที่จะนำมาพิจารณาอีกครั้ง" นายกลินท์กล่าว
          นายกลินท์กล่าวว่า ส่วนข้อเสนอแนะเพิ่มเติมต้องดูก่อนว่าที่ประชุมจะหยิบยกวาระใดขึ้นมาพิจารณา หากเป็นวาระที่มีความเกี่ยวข้องกับภาคเอกชนจะนำกลับมา เพื่อหาข้อสรุปร่วมกับเอกชนรายอื่นๆ ก่อนที่จะนำกลับไปเสนอที่ประชุม ศบศ.อีกครั้ง แต่อย่างไรก็ตาม อยากให้ข้อเสนอที่เอกชนเสนอไปรอบแรกมีความคืบหน้าก่อนที่จะมีมาตรการใหม่ๆ ออกมา
          ส.อ.ท.ลุ้นยืดพักชำระหนี้ 2ปี
          นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า วันที่ 16 กันยายนนี้ ในการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบศ. ทาง ส.อ.ท.ในฐานะกรรมการตัวแทนภาคเอกชนจะเสนอ ศบศ. ผลักดันให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พิจารณายืดมาตรการพักชำระหนี้ให้กับภาคธุรกิจต่ออีก 2 ปี เนื่องจากประเทศทั่วโลกยังคงเผชิญกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 อยู่ ส่งผลให้สภาพเศรษฐกิจไทยยังคงต้องอาศัยเวลาในการฟื้นตัว สำหรับแนวทางที่จะเสนอคือ ให้ ธปท.พักชำระเงินต้นต่ออีก 2 ปี แต่จะขอชำระดอกเบี้ย 6 เดือนแรกเพียง 10% ของดอกเบี้ยที่มีอยู่ และปีต่อไปจ่ายเป็นขั้นบันได
          "หลายประเทศยังต้องเผชิญกับการติดเชื้อและบางประเทศเริ่มกลับมาระบาดรอบใหม่ ดังนั้นแม้ว่าไทยจะควบคุมโควิด-19 ได้ดี แต่สภาพเศรษฐกิจไทยและโลกยังต้องอาศัยเวลาฟื้นตัว ทำให้ผู้ประกอบการเองยังคงประสบปัญหาสภาพคล่อง" นายสุพันธุ์กล่าว
          นายเกรียงไกร เธียรนุกูล รองประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า ภาคเอกชนมองว่าโควิด-19 จะอยู่ไปอีก 1-2 ปีจนกว่าจะมีวัคซีนออกมา ดังนั้นระหว่างนี้จึงต้องการให้ ธปท.พิจารณาแนวทางการยืดมาตรการการพักชำระหนี้ให้กับธุรกิจต่ออีก 2 ปี เพื่อให้ธุรกิจสามารถดำเนินธุรกิจและจ้างงานต่อไปได้ ไม่เกิดปัญหาหนี้เสีย ขณะเดียวกันจะเสนอให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ขยายสัดส่วนการค้ำประกันสูงสุด จาก 30% เป็น 50% ที่ธนาคารพาณิชย์ปล่อยกู้ตามวงเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) 5 แสนล้านบาท เพื่อจูงใจให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยสินเชื่อให้ผู้ประกอบการง่ายขึ้น
          'สันติ'จับมือบสย.หนุนค้ำเอสเอ็มอี
          นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยภายหลังเป็นประธานพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) และ 18 ธนาคารพันธมิตร "โครงการค้ำประกันสินเชื่อ ซอฟต์โลน พลัส" วงเงิน 57,000 ล้านบาทมี นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน ร่วมเป็นสักขีพยาน ว่าตั้งเป้าหมายช่วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ต้องการเสริมสภาพคล่องทางธุรกิจให้สามารถเข้าถึงสินเชื่อ 34,000 ราย ก่อให้เกิดสินเชื่อในระบบเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 57,000 ล้านบาท ช่วยลดปัญหาการว่างงานโดยสามารถรักษาการจ้างงานได้กว่า 360,000 ตำแหน่ง
          นายสันติกล่าวว่า นอกจากนี้ ได้มอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ไปพิจารณารายละเอียดเกี่ยวกับการใช้เงินจากพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท วงเงิน 6 หมื่นล้านบาท ให้ บสย.ใช้ค้ำประกันให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เพื่อขอกู้เงินจากโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) วงเงิน 5 แสนล้านบาท ที่ปัจจุบันปล่อยกู้ไปได้เพียง 1 แสนล้านบาท ทำให้มีวงเงินเหลืออีก 4 แสนล้านบาท
          "มองว่าการค้ำประกันอีก 6 หมื่นล้านบาท จะช่วยทำให้เกิดสินเชื่อในระบบอีก 3.6 แสนล้านบาท ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับระบบเศรษฐกิจในปัจจุบัน โดย บสย.จะค้ำประกันสินเชื่อต่อเนื่องจากโครงการซอฟต์โลนของ ธปท.ไปอีกเป็นระยะเวลา 8 ปี เริ่มค้ำประกันตั้งแต่ปีที่ 3 จนถึงปีที่ 10" นายสันติกล่าว
          ยันฐานคงคลังยังแข็งปั๋งบาทแข็งค่า
          นายสันติกล่าวว่า ทั้งนี้ ยืนยันฐานะการเงินการคลังของไทยมีความเข้มแข็งมาก เห็นได้จากค่าเงินบาทที่แข็งค่า สะท้อนความเชื่อมั่นเงินทุนต่างชาติไหลเข้า แม้จะมีการบริหารจัดการให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมก็เป็นเรื่องยากลำบากมาก ที่สำคัญไทยยังมีวินัยการเงินการคลังที่เข้มงวด แต่ยอมรับว่าการใช้จ่ายในประเทศลดลง เพราะประชาชนระมัดระวังเรื่องการจับจ่ายใช้สอย ทำให้เศรษฐกิจในประเทศชะลอตัว จึงจำเป็นต้องกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากให้มากขึ้น
          นายสันติกล่าวว่า ส่วนกรณีที่หลายฝ่ายเป็นห่วงการพิจารณาและเบิกจ่ายงบประมาณประจำปี 2564 มีความล่าช้านั้น กระทรวงการคลังยืนยันทุกอย่างยังเป็นไปตามกรอบเวลา หากมีความล่าช้าไปประมาณ 1-4 สัปดาห์ก็ยังถือว่าอยู่ในวิสัยปกติ และยังสามารถเบิกจ่ายงบประมาณได้ภายใต้เกณฑ์การพิจารณางบประมาณของปี 2563 ได้ไปพลางก่อน ไม่กระทบการเบิกจ่ายของหน่วยงานต่างๆ ในภาพรวม

 pageview  1204505    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved