Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 09/07/2563 ]
ระบบ CXR เอกซเรย์ทรวงอก คัดกรองโควิด แปรผล15โรค

  การระบาดครั้งใหญ่ของโควิด-19 ทำให้มีการพัฒนาและใช้องค์ความรู้ตลอดจนเทคโนโลยีใหม่ๆ ทางด้านการแพทย์และสุขภาพ การวินิจฉัยให้ทันท่วงทีจะ นำไปสู่การรักษาและควบคุมโรคที่เหมาะสม ขณะเดียวกัน ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ถูกนำมาใช้ประโยชน์ในการวิเคราะห์ภาพเอกซเรย์ทรวงอก โรคปอดอักเสบจากเชื้อไวรัสโควิด-19 เพื่อความรวดเร็วและแม่นยำมากขึ้น
          กรุงเทพธุรกิจ แม้ประเทศไทยจะผ่านพ้นวิกฤตไปได้ แต่การระบาดของโควิด-19 ทั่วโลกยังไม่สามารถควบคุมการระบาดได้ มาตรการในการคัดกรอง ควบคุม ติดตาม ยังคงเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนและควบคุมในประเทศเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบในวงกว้าง การมองหาเทคโนโลยีเพื่อเข้ามาช่วยในการบริหารจัดการ คัดกรอง ติดตาม เฝ้าระวัง จึงถือเป็นส่วนหนึ่งที่มีความสำคัญ ทั้งนี้ หนึ่งในเทคโนโลยีที่กำลังเข้ามามีบทบาทสำคัญในด้านการแพทย์และสุขภาพ คือ ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ด้วยความสามารถในการเข้าถึงข้อมูลมหาศาล และความรวดเร็ว แม่นยำ ในการประมวลผลเชิงตรรกะ AI จึงสามารถสร้างประโยชน์ได้มากและแตกต่าง
          จากประเด็นดังกล่าว นำมาซึ่งการร่วมมือระหว่าง เครือโรงพยาบาลพญาไทและเครือโรงพยาบาลเปาโล หน่วยงานพันธมิตรภาครัฐ ภายใต้ย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี และ ภาคเอกชน ได้แก่ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (จำกัด), บริษัท เมลโลว์ อินโนเวชัน จำกัด และ JLK Inspection Korea PCL สนับสนุนทุนวิจัยโดย กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม โดยศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเซลส์ (TCELS) พัฒนาเทคโนโลยีชุด Portable Chest x-ray : CXR  ภายใต้ โครงการปัญญาประดิษฐ์ สำหรับ การวิเคราะห์ภาพเอกซเรย์ทรวงอก ในการตรวจคัดกรอง โรคปอดอักเสบจากเชื้อไวรัสโควิด-19 ช่วยลดภาระของหน่วยงานและบุคลากรทางการแพทย์ ในการดำเนินงานช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19
          สำหรับ เทคโนโลยีชุด Portable Chest x-ray : CXR  ถือเป็นเทคโนโลยีที่มีความแม่นยำ สามารถแปรผลวินิจฉัยจากวิเคราะห์ภาพเอกซเรย์ทรวงอกได้ราว 15 โรค ได้แก่ 1.วัณโรค(Tuberculosis ) 2.ปอดอักเสบ(Pneumonia ) 3.ปอดแฟบ (Atelectasis ) 4.หัวใจโต(Cardiomegaly ) 5.น้ำในช่องเยื่อหุ้มปอด (Effusion ) 6.ฝ้าขาว(Infiltration ) 7.เนื้องอก(Mass) 8. ก้อนเนื้อเดี่ยว(Nodule) 9. ภาวะปอดรั่ว(Pneumothorax) 10.เงาขาว หนาทึบ(Consolidation) 11.ปอดบวม (Edema) 12. ถุงลมโป่งพอง(Emphysema) 13. พังผืด(Fibrosis)
          14. เยื่อหุ้มปอดเป็นพังผืดหนา(Pleural thickening) และ 15. ไส้เลื่อนที่กะบังลม(Hernia) โดยใช้เวลาประมวลผลไม่ถึง 10 นาที ผ่านการรับรอง จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (FDA) จากประเทศเกาหลีใต้ โดย เอไอเอส ได้ให้การสนับสนุนการเก็บข้อมูล ในระบบคลาวด์ ทั้งนี้ ใน ระยะแรก มีการวิจัยเพื่อประเมินประสิทธิภาพความแม่นยำของ AI ในการแปลผลเมื่อเทียบกับรังสีแพทย์ โดยได้รับความร่วมมือจาก โรงพยาบาลราชวิถี พบว่า AI สามารถช่วยแพทย์แปรผลได้รวดเร็ว มีความแม่นยำราว 90%
          ขั้นตอนต่อไป คือ การเข้าสู่กระบวนการยืนยันความแม่นยำ ระยะที่ 2 ได้แก่ สแกนจากผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 200 ราย และเทียบกับผลการตรวจด้วย RT-PCR และ ระยะที่ 3 คือการตรวจคัดกรองบุคลากรทางการแพทย์ บุคคลทั่วไป ที่เป็นกลุ่มเสี่ยง และไม่เสี่ยง (กลุ่มอาสาสมัคร) โดยได้รับการสนับสนุนจาก ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล นำผลมาแปรผลเทียบกับการตรวจทางอณูชีววิทยาหาเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 และจุลชีพก่อโรค มากกว่า 25,000 สายพันธุ์ที่ได้จากการ Swab จากผู้ติดเชื้อ เพื่อทดสอบความไวของระบบเพื่อยืนยันความแม่นยำ ของเทคโนโลยี AI  คาดว่าโครงการจะแล้วเสร็จภายในปีนี้ และสามารถขยายผลสู่การใช้งานจริงเพื่อให้ประชาชนได้เข้ารับการตรวจคัดกรองโรคโควิด-19 ได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ รวมถึงขณะนี้อยู่ในกระบวนการขออนุญาตจาก สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)
          การต่อยอดในอนาคต "ดร.ประภาศรี เบญจศิริลักษณ์" ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาวิจัยและนวัตกรรมทางการแพทย์ ศูนย์เร่งรัดวิจัยและนวัตกรรมเอกชน เครือโรงพยาบาลพญาไท และเครือโรงพยาบาลเปาโล หัวหน้าโครงการวิจัย อธิบายว่า สามารถนำอุปกรณ์เหล่านี้เข้าไปช่วย ทั้งในโรงเรียน ห้างสรรพสินค้า หรืออาจจะผูกกับแพลตฟอร์มไทยชนะได้ สามารถคัดกรองได้มากขึ้น หรือในเชิงธุรกิจ ต่อไปทุกคนอาจจะสามารถ เอกซเรย์ปอดของตัวเองปริ้นซ์ ออกมาและนำผลไปโรงพยาบาล ตอบโจทย์ระบบสุขภาพในอนาคต
          ด้านโรงพยาบาลราชวิถี ซึ่งได้รับมอบหมายในการตรวจคัดกรองและรักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19 ตามแนวทางการควบคุมโรคของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข "รศ.พิเศษ นพ.สถิตย์ นิรมิตรมหาปัญญา" นายแพทย์ชำนาญการพิเศษ กลุ่มงาน อายุรกรรมและหัวหน้างานนวัตกรรมทางการแพทย์โรงพยาบาลราชวิถี ระบุว่า เนื่องจากการแพร่ระบาดที่มีผู้ป่วยจำนวนมาก รพ.ราชวิถีจึงมีความพยายามในการพัฒนานวัตกรรมทั้งด้านการบริการ และการรักษามาช่วยให้การตรวจ คัดกรอง การรักษาเป็นไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
          ดังนั้น เทคโนโลยีดังกล่าว หากสำเร็จจะสามารถช่วยลดภาระบุคลากรทางการแพทย์ เพิ่มความรวดเร็วและเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19 ได้ และเชื่อว่าโครงการดังกล่าวจะสามารถขยายผล ไปยังโรงพยาบาลที่ยังขาดแคลนอุปกรณ์ในการตรวจคัดกรองได้อีกมาก
          "ดร.นเรศ ดำรงชัย" ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยา ศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเซลส์ (TCELS) กล่าวเสริมว่า ช่วงโควิด-19 พบว่าระบบ Chest x-ray คือการเอกซเรย์ปอด ด้วยระบบ AI มีศักยภาพทำให้รู้โรคหลายชนิด เช่น ปอดบวม วัณโรค และโรคอื่นๆ ที่มีความเกี่ยวเนื่องกับปอด สามารถรู้ผลได้ภายในเวลาไม่ถึง 10 นาที ด้วยค่าใช้จ่ายต่ำ
          "ในช่วงเวลานี้เป็นช่วงการปลดล็อก เรายังอยู่ในสถานการณ์ ที่ต้องเตรียมพร้อมตลอดเวลา การวิจัย ครั้งนี้ ถือเป็นสิ่งสำคัญ เพราะจากนี้ไปเราจะเห็นผู้เดินทางเข้ามาในประเทศ นักธุรกิจ และนักท่องเที่ยว โรงเรียนเปิด หากมีเหตุการณ์แพร่ระบาดเข้ามา เชื่อเลยว่าการเตรียมการตรงนี้จะทำให้ประเทศไทยมีความพร้อม ผลจากการทำงานในครั้งนี้จะนำไปใช้ประโยชน์ได้ เมื่อเรามีความจำเป็นในการรับมือกับโควิด-19 หากเกิดขึ้นอีกครั้ง แต่หากไม่เกิดขึ้นก็สามารถประยุกต์ใช้ในโรคระบาดอื่นๆ การลงทุนในครั้งนี้เป็นการลงทุนที่ไม่มากแต่เชื่อว่าผลตอบแทนจะสูงมาก" ผอ.ทีเซลส์ กล่าว
          ศูนย์กลางการแพทย์และวิจัยย่านโยธี
          กรุงเทพธุรกิจ ย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี (Yothi Medical Innovation District : YMID) เป็นศูนย์กลางแห่งนวัตกรรมทางการแพทย์ที่สำคัญของประเทศ และเป็นต้นแบบของการพัฒนาย่านนวัตกรรมระหว่างหน่วยงานภาครัฐ และเอกชน เกิดจากความร่วมมือของ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) และศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (TCELS)
          พร้อมทั้งหน่วยงานพันธมิตรภายในย่าน ดำเนินงานภายใต้ 3 กระทรวง คือ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงศึกษาธิการ วางแผนพัฒนาพื้นที่ต้นแบบในการพัฒนา นวัตกรรม การแพทย์ของประเทศ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและเพิ่ม โอกาสใน การเข้าถึงการบริการเทคโนโลยีการแพทย์ที่ทันสมัยของประชาชน
          เป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ และวิจัย 4 ส่วน คือ ศูนย์กลางบริการทางการแพทย์ (Medical Service Center) ศูนย์กลางการวิจัยและ พัฒนาธุรกิจสตาร์ทอัพ ที่เกี่ยวข้องกับทางการแพทย์และสุขภาพ (Medical Research & Start Up) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการใช้งาน ที่หลากหลาย (Mix Use) และเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นสื่อกลางในการบริการข้อมูล (Service Platform)
          มีเป้าหมายในเชื่อมโยงนวัตกรรม 3 ด้าน ได้แก่ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อประโยชน์ต่อคนทุกกลุ่ม (Physical Assets) คือ การพัฒนาพื้นที่สำหรับการวิจัย พัฒนาและ ทดลองนวัตกรรม ถัดมา การพัฒนาสินทรัพย์ทางเศรษฐกิจ (Economic Assets) คือ การส่งเสริมมาตรการ และนโยบาย การลงทุนนวัตกรรม ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจจากการพัฒนานวัตกรรม และ การพัฒนาสินทรัพย์ ทางเครือข่าย (Networking Assets) คือ การพัฒนาฐานข้อมูลทางการแพทย์ รวมทั้งเครือข่ายความร่วมมือ ระหว่างหน่วยงาน เพื่อแบ่งปัน และถ่ายทอดองค์ความรู้งานวิจัยและ นวัตกรรม
          เชื่อมโยงภายในย่านประกอบด้วย พื้นที่สถาบันทางการแพทย์และวิจัย กว่า 1.7 ล้านตารางเมตร และมี พื้นที่พัฒนานวัตกรรม 1.7 หมื่นตารางเมตร ประกอบด้วย พื้นที่วิจัยและ พัฒนาเกี่ยวกับการแพทย์เฉพาะทาง ที่เป็นเลิศระดับโลก , พื้นที่ส่งเสริมนวัตกรรมและลงทุนนวัตกรรม ทางด้านการแพทย์และสุขภาพ และ โครงข่ายพื้นที่สาธารณะ เพื่อแลกเปลี่ยน นวัตกรรม โดยมีทางเดินเท้าและ ระบบขนส่งสาธารณะเชื่อมโยงภายในย่าน เพื่อเป็นศูนย์กลางการให้บริการทางการแพทย์ระดับโลก และสร้างคุณค่าทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

 pageview  1204269    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved