Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 24/03/2563 ]
แจ้งผวจ.-กัก14วัน คนกทม.กลับตจว.

สกัด'โควิด'ระบาดทั่วปท. ยอดติดเชื้อพุ่งอีก188ราย 'บิ๊กตู่'ถกยกระดับคุมเข้ม หญิงไทยป่วยดับที่มะกัน
          ไทยติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มวันเดียว 188 ราย โคม่า 7 คน กรมควบคุมโรคเตือนคนหยุดงานงดกลับภูมิลำเนา
          นายกฯเข้าทำเนียบเกาะติดโควิด
          เมื่อเวลา 10.00 น.วันที่ 22 มีนาคม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะประธานศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 เดินทางเข้าทำเนียบรัฐบาล โดยขึ้นห้องทำงานตึกไทยคู่ฟ้า ต่อมาเวลา 10.30 น. ได้เรียก นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ขึ้นหารือที่ห้องทำงาน จากนั้นเวลา 11.15 น. พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เดินทางมาถึงและเข้าร่วมหารือด้วย ทั้งนี้ หลังหารือนายกฯจะลงมาตรวจเยี่ยมติดตามการทำงานของเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 และมอบนโยบาย
          อย่างไรก็ตาม คาดว่าหลังการประชุม นายกฯจะเป็นผู้แถลงความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 รวมถึงมาตรต่างๆ ที่จะมีการประกาศเพิ่มเติมออกมาในการรับมือ หลัง กทม.และ 5 จังหวัดปริมณฑล ประกาศปิดสถานที่เสี่ยงแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 รวมถึงมาตรการเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบด้านต่างๆ
          'อนุทิน'ย้ำอยู่บ้าน-งดสังสรรค์
          นายอนุทิน ชาญวีรกูล ให้สัมภาษณ์หลังเข้าประชุมร่วมกับนายกฯว่า มารายงานสถานการณ์หลังจากมีการประชุมชุดใหญ่ร่วมกับคณะบดีแพทยศาสตร์ ซึ่งขณะนี้พบว่าผู้ป่วยโควิด-19 ส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพฯ ขณะที่โรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขมี 3-4 แห่ง โดยโรงพยาบาลส่วนใหญ่ ขึ้นอยู่กับคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยต่างๆ เช่น รามา ศิริราช ฯลฯ ดังนั้น ต้องเชิญคณบดีจากโรงพยาบาลเหล่านี้มาหารือกันว่าจะร่วมทำงานกันอย่างไร ขาดอะไร และต้องการให้กระทรวงสาธารณสุขสนับสนุนด้านใดเพิ่มเติม เพราะขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขเป็นคนคุมสต๊อกทั้งยาและเวชภัณฑ์ ไปจนถึงชุดถุงมือ และหน้ากากให้แพทย์ เพราะต้องใช้องค์การเภสัชกรรมเป็นผู้ซื้อ ซึ่งส่วนใหญ่ซื้อมาจากประเทศจีน จึงง่ายหากให้หน่วยงานรัฐบาลเป็นผู้ติดต่อ ดังนั้นจึงนำรายละเอียดมารายงานนายกฯ ว่าการประชุมระหว่างกระทรวงสาธารณสุขและแพทย์เป็นไปด้วยดี มีการแบ่งว่าให้กรมการแพทย์เป็นศูนย์กลางในการประสานงานกับคณะแพทย์ทุกโรงพยาบาล และคณะแพทยศาสตร์ทุกคณะใน กทม. เพื่อรับผู้ป่วย รวมถึงส่งยาและเวชภัณฑ์ต่างๆ
          เมื่อถามว่าตัวเลขที่เพิ่มขึ้น นายกฯได้แสดงความกังวลหรือมีการเสนอให้มีการใช้มาตรการที่เข้มข้นกว่านี้อีกหรือไม่ นายอนุทินกล่าวว่า ขณะนี้มาตรการต่างๆ ก็ใช้เต็มที่แล้ว เหลืออย่างเดียว ต่อให้เป็นกฎหมายออกมาอย่างไรก็สู้ความร่วมมือไม่ได้ ทุกคนต้องให้ความร่วมมือในการอยู่บ้าน หรือโซเชียลดิสแทนซิ่ง งดการสังสรรค์ แค่เพียง 2-3 สัปดาห์ ซึ่งองค์การอนามัยโลก หรือฮู ได้ย้ำเรื่องนี้ให้ประชาชนได้ยินทุกวันว่าให้แยกตัว และดูแลตัวเองให้ดี เป็นวิธีที่จะป้องกันเชื้อโควิด-19 ได้ดีกว่าทุกมาตรการ
          ขอทุกคนมีสำนึกรับผิดชอบ
          เมื่อถามว่า ในช่วงประกาศงดออกจากบ้านนี้ ปรากฏว่ามีประชาชนเดินทางกลับต่างจังหวัดเนื่องจากสถานประกอบการต่างๆ ปิด นายอนุทินกล่าวว่า ถ้าเข้าใจว่าทำไมถึงออกมาตรการแบบนี้มา ก็เพื่อต้องการให้ทุกคนอยู่นิ่ง โรคนี้ใช้ระยะเวลาฟักตัว 14 วัน ถ้าผู้คนอยู่นิ่งได้ถึง 14 วัน ก็เท่ากับโรคนี้จะไม่มีการกระจาย จะเหลือเพียงผู้ป่วย แล้วก็ไปรักษาผู้ป่วย ส่วนการควบคุมไม่ไห้คนเดินทางกลับนั้น ต้องควบคุมด้วยกฎหมาย แต่ที่สำคัญที่สุดคือความร่วมมือ ถ้ายังเดินทางกันอีก โดยที่สภาพตัวเองไม่พร้อม ก็ต้องระมัดระวังตัวเอง แต่ที่สำคัญที่สุด ถ้าไม่จำเป็นก็ไม่ต้องเดินทาง ซึ่งการประกาศให้หยุดก็ไม่ใช่ให้หยุดทุกอย่าง มีบางส่วนที่ทำงานได้ หรือทำงานที่บ้านตามปกติ แต่ถ้าจำเป็นต้องกลับบ้านจริงๆ ก็ต้องป้องกันตัวเองสูงสุด ทุกคนมีอิสระ เสรี แต่ต้องมีสำนึกรับผิดชอบ และเมื่อกลับถึงภูมิลำเนาแล้วควรเก็บตัว ซึ่ง กทม.ประกาศ 3 สัปดาห์ แต่โรคใช้ระยะฟักตัว 14 วัน หากทุกคนเก็บตัวได้ครบ แล้วไม่ปรากฏอาการก็จะได้สบายใจระดับหนึ่ง
          เมื่อถามถึงความเป็นไปได้ในการประกาศเคอร์ฟิว นายอนุทินถอนหายใจ ก่อนกล่าวว่า ทางกระทรวงสาธารณสุข ภายใต้ พ.ร.บ.โรคติดต่อไม่มีอำนาจ บังคับอะไรมากไม่ได้ มีเพียงคำแนะนำว่าประชาชนควรปฏิบัติตัวอย่างไร
          บิ๊กตู่นัดถกมาตรการโควิดต่อ
          รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลแจ้งว่า พล.อ.ประยุทธ์จะเป็นประธานการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล ในวันที่ 23 มีนาคม เวลา 14.00 น. โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเข้าร่วมประชุม ซึ่งจะมีวาระรับทราบรายงานผลการดำเนินงาน 6 ด้านที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้แก่ 1.ด้านสาธาณสุข 2.ด้านการต่างประเทศ 3.ด้านเวชภัณฑ์ป้องกัน 4.ด้านมาตรการป้องกัน 5.ด้านมาตรการให้ความช่วยเหลือเยียวยา 6.ด้านข้อมูลการชี้แจงและการรับเรื่องร้องเรียน ว่าผลเป็นอย่างไร มีปัญหาอุปสรรค หรือจะต้องทำอะไรเพิ่มอีกในแต่ละด้านอีกหรือไม่ ส่วนจะมีการออกมาตรการเพิ่มในภาพรวมหรือไม่ ต้องรอดูการหารือในที่ประชุมอีกครั้ง
          แถลงไทยติดเชื้อเพิ่มอีก188ราย
          ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน สาธารณสุขนิเทศก์ เขตสุขภาพที่ 10 พร้อมด้วย นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป แถลงความคืบหน้าของสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ว่า ในวันที่ 22 มีนาคม ประเทศไทยพบผู้ป่วยติดเชื้อเพิ่มขึ้นอีก 188 ราย รวมผู้ป่วยสะสมทั้งสิ้น 599 ราย
          นพ.ทวีศิลป์แถลงว่า สำหรับผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่ 188 ราย นับเป็นรายที่ 412-599 ราย แบ่งเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้ กลุ่มที่ 1 เป็นผู้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยยืนยันเดิมและเกี่ยวข้องกับสถานที่ที่พบผู้ป่วยก่อนหน้านี้ 65 ราย ได้แก่ 1.เกี่ยวข้องกับสนามมวย 21 ราย ได้แก่ นักมวย เซียนมวย ผู้ปล่อยแถวนักมวย ผู้ชมจากกรุงเทพมหานคร จ.เลย จ.หนองบัวลำภู จ.ปทุมธานี จ.อุดรธานี จ.ชลบุรี จ.นนทบุรี จ.พัทลุง จ.แพร่ และ จ.สมุทรปราการ 2.เกี่ยวข้องกับสถานบันเทิง 5 ราย ได้แก่ พนักงานร้านอาหาร พนักงานเสิร์ฟ พนักงานต้อนรับ พบผู้ป่วยที่ จ.อุดรธานี และ จ.เพชรบูรณ์ มีประวัติทำงานในสถานที่ท่องเที่ยวย่านทองหล่อ 3.เกี่ยวข้องกับผู้ที่เข้าร่วมกิจกรรมทางศาสนาในประเทศมาเลเซีย 2 ราย ซึ่งอยู่ใน จ.นราธิวาส และ จ.ยะลา
          "4.ผู้ป่วยที่สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่มีการรายงานมาก่อนหน้านี้ 37 ราย กระจายที่กรุงเทพฯ จ.สมุทรปราการ จ.สุโขทัย จ.นนทบุรี จ.ชลบุรี จ.ปัตตานี จ.สงขลา จ.ขอนแก่น จ.ปราจีนบุรี จ.อุดรธานี และสัมผัสกับผู้ป่วยยืนยันในสนามมวย สถานบันเทิง ผู้ที่เดินทางกลับจากปอยเปตที่ประเทศกัมพูชา" นพ.ทวีศิลป์กล่าว
          นพ.ทวีศิลป์กล่าวอีกว่า กลุ่มที่ 2 ผู้ป่วยรายใหม่ มี 15 ราย ได้แก่ 1.ผู้ที่เดินทางกลับจากต่างประเทศ 8 ราย เป็นชาวไทยที่ทำงานในผับปอยเปต ประเทศกัมพูชา 6 ราย นักเรียนชาวสวิตเซอร์แลนด์และอเมริกันกลับจากอิหร่าน 2 ราย ซึ่งหลายรายมีประวัติเดินทางกลับจากการท่องเที่ยวในสถานบันเทิงในต่างประเทศ เช่น ปอยเปต 2.ผู้ที่ทำงานหรืออาศัยอยู่ในพื้นที่แออัดที่จะต้องใกล้ชิดกับคนจำนวนมาก หรือเกี่ยวข้องกับชาวต่างชาติ 7 ราย ได้แก่ คนขายลอตเตอรี่ ค้าขายแถวสนามมวย 3.ผู้ป่วยกลุ่มที่ยืนยันทางห้องปฏิบัติการ (แล็บ) แล้วแต่ต้องรอการสอบสวนโรคและประวัติเสียงเพิ่มเติม 108 ราย
          พบผู้ป่วยแล้ว599โคม่า7ราย
          นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า สถานการณ์ในประเทศไทย ขณะนี้มีผู้ป่วยหายกลับบ้านเพิ่ม 1 ราย จากสถาบันบำราศนราดูร สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการหนักมี 7 ราย โดยรักษาตัวอยู่ที่สถาบันบำราศนราดูร รพ.เพชรบูรณ์ รพ.จุฬาลงกรณ์ รพ.ศิริราช รพ.ราชวิถี และ รพ.เอกชน ทุกรายใส่เครื่องช่วยหายใจ ซึ่งทีมแพทย์จะต้องเข้าไปดูแลอย่างใกล้ชิด สรุปภาพรวมประเทศไทยพบผู้ป่วยยืนยัน 599 ราย กลับบ้านแล้ว 45 ราย และรักษาอยู่ในโรงพยาบาล 553 ราย มีผู้ป่วยอาการหนัก 7 ราย และเสียชีวิต 1 ราย
          ยืดนัดคนไข้'โรคเรื้อรัง-ผ่าตัด'
          นพ.มานัส โพธาภรณ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยถึงการเฝ้าสังเกตอาการการติดเชื้อโควิด-19 ด้วยตนเองก่อนไปพบแพทย์ว่า อาการของผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จะเริ่มจากระบบทางเดินหายใจส่วนต้น โดยอาการไข้ ระคายเคืองทางเดินหายใจ เช่น จมูกและลำคอ มีอาการไอ ซึ่งเป็นสัญญาณของการติดเชื้อเช่นเดียวกับโรคไข้หวัด ทั้งนี้ หากมีอาการดังกล่าวควรจะไปพบแพทย์ทันที แต่หากมีอาการเพียงอย่างใดอย่างหนึ่งเล็กน้อย ควรจะดูแลตัวเองอยู่ที่บ้านก่อน
          "สิ่งที่สำคัญตอนนี้คือ หากไม่มีความจำเป็นไม่ควรที่จะเข้าโรงพยาบาล เพื่อลดความแออัด และขณะนี้มีหลายที่ที่พยายามลดการเยี่ยมคนไข้ โดยใช้อุปกรณ์สื่อสารอย่างอื่นแทน ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ขณะนี้มีนโยบายยืดระยะเวลาการนัดให้นานมากขึ้น รวมถึงการผ่าตัดที่ไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนก็อาจจะถูกเลื่อนออกไป ซึ่งจะต้องจัดลำดับความสำคัญสำหรับผู้ป่วยระบบทางเดินหายใจก่อน" นพ.มานัสกล่าว
          แจงแนวทางรพ.เอกชนค่ารักษา
          ขณะที่ นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ให้สัมภาษณ์ว่า การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ตั้งแต่ต้นเดือนมกราคม ถือเป็นภัยสุขภาพที่มีความรุนแรงและส่งผลกระทบต่อประชาชนทั่วทุกมุมโลกในรอบหลายสิบปี การที่ประเทศไทยจะผ่านพ้นวิกฤตการระบาดของโรคในครั้งนี้ไปได้นั้น ทุกภาคส่วนจะต้องร่วมมือกันอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะสถานพยาบาลเอกชน ซึ่งถือเป็นด่านหน้าในการป้องกันและควบคุมมิให้เกิดการระบาดของโรค จะต้องดำเนินการบนมาตรฐานเดียวกัน
          นพ.ธเรศกล่าวว่า ที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข จึงได้ร่วมพิจารณาประเด็นการรักษาพยาบาลของผู้ป่วยโรคติดเชื้อโควิด และได้กำหนดหลักการจ่ายค่าใช้จ่ายในการรับบริการจากสถานพยาบาลเอกชน เพื่อให้ประชาชนทุกกลุ่มเข้าถึงการรักษาพยาบาล โดยไม่ต้องกังวลต่อภาระค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด ประกอบด้วย 1.ให้ผู้ที่มีอาการป่วย เข้ารับสิทธิการรักษาในสถานพยาบาลตามสิทธิรักษาของตนเองก่อน 2.กำหนดเงื่อนไขค่าใช้จ่าย ดังนี้ 2.1 กรณีผู้ป่วยชาวต่างชาติ ให้ใช้สิทธิการรักษาประกันสุขภาพเอกชนส่วนตัวที่มีอยู่ 2.2 กรณีผู้ป่วยชาวไทยที่มีประกันสุขภาพเอกชนส่วนตัว ให้ใช้สิทธิประกันสุขภาพส่วนตัว 2.3 กรณีผู้ป่วยชาวไทยที่ไม่มีประกันสุขภาพเอกชนส่วนตัว ให้ใช้กลไกการจ่ายในแนวทางผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต จาก 3 กองทุน เป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย
          ด้าน ทพ.อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดี สบส. กล่าวต่อว่า ขณะนี้ สบส.ได้จัดส่งหนังสือแจ้งหลักการจ่ายค่าใช้จ่ายของสถานพยาบาลเอกชนกรณีการรักษาพยาบาลผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ถึงสถานพยาบาลเอกชนทั่วประเทศเพื่อให้รับทราบถึงแนวทางการปฏิบัติเป็นที่เรียบร้อย จึงขอกำชับให้สถานพยาบาลเอกชนทุกแห่ง ยึดหลักคุณธรรม และมนุษยธรรมเป็นสำคัญ ให้การรักษาพยาบาลผู้ป่วยอย่างเต็มความสามารถโดยไม่เอาค่าใช้จ่ายมาเป็นเงื่อนไข ห้ามเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลจากผู้ป่วยหรือญาติโดยเด็ดขาด และให้จัดเก็บเอกสารหลักฐานค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการรักษาพยาบาลของผู้ป่วย เพื่อนำมาประกอบการเบิกจ่ายตามหลักเกณฑ์ที่กระทรวงสาธารณสุขประกาศกำหนดต่อไป
          กรมคุมโรคเตือนงดกลับตจว.
          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 21 มีนาคมที่ผ่านมา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ลงนามโดย นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค ได้ออกหนังสือด่วนที่สุด เรื่อง ขอความร่วมมือจัดทำแผนปฏิบัติการค้นหา เฝ้าระวัง และป้องกันโรค ระดับอำเภอและหมู่บ้าน กรณีผู้เดินทางกลับจากกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ ในฐานะประธานกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ให้เฝ้าระวังและมีมาตรการรับมือกับผู้ที่เดินทางจากกรุงเทพฯ และปริมณฑล พร้อมเตือนคนทำงานในสถานประกอบการที่ถูกสั่งปิดตามประกาศกรุงเทพมหานคร งดเดินทางกลับภูมิลำเนา หรือเดินทางไปในพื้นที่อื่นๆ เนื่องจากหวั่นเกรงว่าจะนำเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ระยะฟักตัวกลับไปแพร่ระบาดในต่างจังหวัด และมีโอกาสเสี่ยงสูงที่จะส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยในชีวิตของผู้สูงอายุในครอบครัว
          ขอผู้ว่าฯทั่วปท.รับมือคนกรุง
          สำหรับหนังสือด่วนถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดนั้น ได้ขอให้มีมาตรการรับมือผู้เดินทางกลับจากกรุงเทพฯ และปริมณฑล เช่น ทำฐานข้อมูลผู้เดินทางกลับจากกรุงเทพฯ และปริมณฑล, ให้ผู้กลับจากกรุงเทพฯ แยกตัวสังเกตอาการ หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดผู้อื่นเป็นเวลา 14 วัน พร้อมให้ปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะหลีกเลี่ยงการใกล้ชิดผู้สูงอายุและผู้ป่วยเรื้อรัง เป็นต้น ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวมีลักษณะใกล้เคียงกับผู้ที่เดินทางกลับจากประเทศเสี่ยงที่ได้เคยใช้ปฏิบัติก่อนหน้านี้ พร้อมกันนี้ กรมควบคุมโรคยังได้ออกหนังสือถึงกรมการขนส่งทางบก, การรถไฟแห่งประเทศไทย, สายการบิน ให้จัดทำทะเบียนรายชื่อผู้โดยสารทุกที่นั่ง พร้อมมาตรการอื่นๆ เข้มงวด
          สธ.จี้ผวจ.ทั่วปท.เข้มคนกรุง
          นพ.ทวีศิลป์กล่าวอีกว่า ขณะนี้สถานการณ์โรคโควิด-19 ทั่วโลกแพร่ระบาดใน 186 ประเทศ 2 เขตบริหารพิเศษ และ 1 เรือสำราญ พบผู้ป่วยยืนยันสะสม 306,677 ราย ผู้ป่วยวิกฤต 9,382 ราย รักษาหาย 94,798 รายเสียชีวิต 13,017 ราย
          นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า จากการคัดกรองในประเทศไทยทุกด่าน สะสม 5,954,621 รายพบผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระจายตัวทั่วประเทศไทยเพิ่มสูงขึ้น โดยเป็นการเพิ่มขึ้นในต่างจังหวัด 127 ราย ซึ่งเพิ่มขึ้นจากเดิมเกือบเท่าตัว เมื่อวันที่ 21 มีนาคม มีคำสั่งจากกรุงเทพมหานคร (กทม.) ในลักษณะของการปิดสถานบริการต่างๆ และมีแนวโน้มว่าประชาชนที่เป็นแรงงานในกรุงเทพมหานคร จะเคลื่อนย้ายออกไปยังส่วนภูมิภาคซึ่งอาจจะส่งผลให้มีการแพร่กระจายโรคที่มากขึ้น ทั้งนี้ นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค ทำหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ขอความร่วมมือจัดทำแผนปฏิบัติการค้นหา เฝ้าระวัง และป้องกันโรคระดับอำเภอและหมู่บ้าน ให้ความรู้และสร้างความเข้าใจให้แก่ผู้เดินทางกลับมาจากกรุงเทพฯ และปริมณฑล เพื่อแยกตัวสังเกตอาการไข้และอาการทางเดินหายใจทุกวัน และหลีกเลี่ยงการใกล้ชิดผู้อื่นในที่พำนักหรือที่พักอาศัยจนครบ 14 วัน นับจากวันที่เดินทางมาถึงภูมิลำเนา
          วอนหยุดเพื่ออยู่บ้านห้ามเดินทาง
          นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า ขอให้ประชาชนที่ไม่ใช่กลุ่มเสี่ยงหรือยังไม่มีอาการป่วยในระบบทางเดินหายใจ เฝ้าระวังสังเกตตนเองอยู่ที่บ้าน เนื่องจากขณะนี้มีการตรวจทางห้องปฏิบัติการ (แล็บ) กว่า 1 หมื่นราย แต่พบผู้ป่วยที่ผลเป็นบวกเพียงร้อยละ 4 และสำหรับผู้ที่ตรวจแล้วมีผลเป็นลบ ก็ควรจะปฏิบัติตามคำแนะนำของ สธ.
          "โดยส่วนใหญ่ผู้ป่วยยืนยันพบมากในกรุงเทพมหานคร เป็นวัยหนุ่มสาว และวัยทำงานโดยมีอาการเพียงเล็กน้อยเท่านั้น จึงทำให้ผู้ป่วยยังมีกิจกรรมร่วมกันในสังคม จึงเกิดเป็นผู้สัมผัสจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม ต้องขอความร่วมมือจากประชาชนให้อยู่ที่บ้านอย่าเดินทางกลับไปยังภูมิลำเนาเด็ดขาด เนื่องจากรัฐบาลมีมาตรการนี้มาเพื่อหยุดการเคลื่อนย้าย เมื่อหยุดงานแล้วควรจะพักอยู่ที่บ้านอย่ากลับไปภูมิลำเนาเด็ดขาด เนื่องจากมีกลุ่มเสี่ยงคือเด็กและผู้สูงอายุ" นพ.ทวีศิลป์กล่าว
          นพ.ชิโนรส ลี้สวัสดิ์ รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ที่สธ.มีคำแนะนำว่าห้ามเดินทางไป ดังนั้นสถานการณ์การแพร่ระบาดใน กทม.ขณะนี้ จึงต้องจำกัดการเดินทาง ผู้ที่อยู่ในกรุงเทพฯ ไม่ควรเดินทางออกต่างจังหวัดและผู้ที่อยู่ต่างจังหวัด ไม่ควรเข้ามากรุงเทพฯ หากไม่มีติดธุระจำเป็น
          ชี้รบ.หยุด3สัปดาห์ไม่ให้แพร่เชื้อ
          ด้าน นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการ กองโรคติดต่อทั่วไป กล่าวว่า เดิมพบว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพฯ และขณะนี้มีผู้ป่วยมากขึ้นในต่างจังหวัด ดังนั้นสิ่งที่รัฐบาลดำเนินมาตรการให้ หยุดทำงาน 3 สัปดาห์ เพื่อให้หยุดอยู่บ้านและไม่ไปแพร่เชื้อให้กับผู้อื่น รวมไปถึงผู้ที่มีอาการป่วยเล็กน้อยภายใน 14 วันจะได้ดูแลตนเองให้หายป่วย ซึ่งเป็นช่วงเวลาสำคัญที่ทำให้กรุงเทพฯ ปลอดเชื้อ แต่หากมีผู้ที่ไม่กระทำตามก็จะเป็นการแพร่เชื้อ
          ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีของศิลปิน น.ส.แพรวา ณิชาภัทร มีการสอบสวนโรคอย่างไรบ้าง นพ.โสภณกล่าวว่า ข้อมูลในขณะนี้ไม่สามารถระบุข้อมูลระดับบุคคลได้ว่าติดจากใครเนื่องจากมีการป่วยต่อเนื่องในพื้นที่กรุงเทพฯ ดังนั้นอาจจะมีโอกาสสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้านี้หรือสถานที่ที่พบผู้ป่วย การมุ่งหาต้นเหตุของการป่วยอาจจะมีความสำคัญน้อยลง เนื่องจากสิ่งที่สำคัญกว่าคือ จะต้องป้องกันไม่ให้ผู้ที่กำลังป่วยหรือเริ่มป่วยแพร่เชื้อไปยังผู้อื่น
          'อัศวิน'ออกประกาศฉบับ3เข้ม
          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 22 มีนาคม พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ลงนามประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง สั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว (ฉบับที่ 3) แก้ไขข้อความในข้อ 1 และข้อ 2 ของประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง สั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว ลงวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ.2563 ซึ่งเป็นในส่วนของ ร้านอาหาร และห้างสรรพสินค้า เพื่อให้ความหมายของสถานที่ที่จะปิดเป็นการชั่วคราวตามประกาศดังกล่าวมีความเข้าใจที่ตรงกัน และเจ้าของสถานที่พร้อมให้ความร่วมมือในการลดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ระหว่างวันที่ 22 มีนาคม ถึงวันที่ 12 เมษายน 2563
          นอกจากนี้ พล.ต.อ.อัศวินยังได้โพสต์ข้อความในเพจเฟซบุ๊ก "ผู้ว่าฯอัศวิน" ชี้แจงกรณีกรุงเทพมหานคร (กทม.) ออกคำสั่งปิดสถานที่เพื่อลดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19
          คุม'รถเข็น-แผงลอย-ศูนย์การค้า'
          ทั้งนี้ ข้อความดังกล่าวระบุว่า "ผมขอออกคำสั่งอธิบายเพิ่มเติม สาระสำคัญคือ 1.ห้างสรรพสินค้า รวมถึงห้างสรรพสินค้าทุกประเภท (ไม่ว่าจะเป็นศูนย์การค้าหรือคอมมูนิตี้ มอลล์) ต้องดำเนินการตามคำสั่งที่ออกไป 2.ธนาคาร ในและนอกห้างเปิดได้ 3.ร้านอาหาร รวมถึงร้านอาหารในคูหา รถเข็น และแผงลอยจำหน่ายอาหาร ต้องจำหน่ายแบบซื้อกลับบ้านเท่านั้น 4.ร้านอาหารในสนามบินเปิดให้นั่งรับประทานได้ (แต่ต้องมีมาตรการการเว้นระยะ) การสื่อสารในช่วงเวลาวิกฤตเป็นสิ่งที่สำคัญ ขอให้ทุกท่าน ฟังข้อมูลข่าวสารจาก กทม.เท่านั้น"
          ถกก.บ.ศ.ออกมาตรการทุกศาล
          นายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม เปิดเผยกรณีที่หน่วยงานในสังกัดศาลยุติธรรมหรือศาลในพื้นที่ต่างๆ มีคำสั่งเกี่ยวกับมาตรการป้องกันไวรัสโควิด-19 ในแต่ละพื้นที่เขตอำนาจศาลว่า สำนักงานศาลยุติธรรมได้แจ้งข้อมูลไปยังศาลต่างๆ ทั่วประเทศว่าในวันจันทร์ที่ 23 มีนาคม ที่ประชุม ก.บ.ศ.จะพิจารณาแนวทางการบริหารราชการศาลยุติธรรมทั่วประเทศภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ในทุกมิติ ดังนั้น เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความสับสนแก่ประชาชน จึงขอให้ศาลต่างๆ รอมติจากที่ประชุม ก.บ.ศ.ก่อน เพื่อใช้เป็นแนวทางการบริหารราชการให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันต่อไป
          นายสราวุธกล่าวต่อว่า ส่วนที่ศาลจังหวัดสว่างแดนดินออกประกาศเลื่อนการพิจารณาคดีทั้งหมดที่มีกำหนดนัดวันที่ 23 มีนาคมเป็นต้นไป ไปเป็นวันที่ 1 มิถุนายนนั้นทั้งศาลจังหวัด สว่างแดนดินได้มีคำสั่งยกเลิกคำสั่งเลื่อนดังกล่าวแล้ว แล้วโดยจะให้รอมติ ก.บ.ศ.วันที่ 23 มีนาคม โดยหลังประชุม ก.บ.ศ.เสร็จ ทางสำนักงานศาลยุติธรรมจะแจ้งให้ศาลทั่วประเทศได้ทราบว่าจะมีขั้นตอนการดำเนินการอย่างไร
          อิตาลีตายพุ่งวันเดียว793ราย
          สำนักข่าวเอพี เอเอฟพี และรอยเตอร์ รายงานสถานการณ์ความคืบหน้าเกี่ยวกับไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือโควิด-19 ว่า สถานการณ์ในประเทศอิตาลียังคงไม่ดีขึ้น โดยจำนวนผู้เสียชีวิตในรอบ 24 ชั่วโมง พุ่งสูงทำสถิติใหม่อีกครั้ง โดยพบการเพิ่มขึ้นของผู้เสียชีวิตสูงถึง 793 ราย ทำให้ยอดผู้เสียชีวิตรวมของอิตาลีขณะนี้อยู่ที่ 4,825 ราย ขณะที่ยอดผู้ติดเชื้อภายในประเทศอิตาลีเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 53,578 คน จาก 47,021 คน จากหนึ่งวันก่อนหน้า โดยในจำนวนนี้มีผู้ที่อยู่ในห้องฉุกเฉินสำหรับผู้ป่วยหนัก 2,857 คนเพิ่มขึ้นจาก 2,655 คนก่อนหน้านี้
          การเพิ่มขึ้นอย่างไม่หยุดของผู้เสียชีวิตและผู้ติดเชื้อในอิตาลีส่งผลให้แคว้นลอมบาร์เดีย ทางตอนเหนือของประเทศ ซึ่งเป็นต้นต่อการแพร่ระบาดในอิตาลี มีการประกาศเพิ่มมาตรการคุมเข้มเพิ่มขึ้น โดยขอให้ธุรกิจทุกอย่าง ซึ่งรวมถึงกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการผลิตสินค้าที่จำเป็นจนส่งไปถึงมือผู้บริโภคยุติการดำเนินการ และให้ยุติการก่อสร้างในทุกจุด เว้นแต่การสร้างโรงพยาบาล ถนน และรางรถไฟเท่านั้น
          ภายใต้มาตรการใหม่นี้การทำกิจกรรมต่างๆ ซึ่งรวมถึงการเล่นกีฬานอกบ้าน แม้จะเป็นการดำเนินการเพียงลำพังถูกสั่งห้ามทั้งหมด รวมถึงการห้ามใช้เครื่องขายสินค้าอัตโนมัติ เช่นเดียวกับตลาดที่เปิดขายสินค้ากลางแจ้งในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ที่ต้องระงับการขาย
          ด้านยอดผู้เสียชีวิตทั่วโลกขณะนี้อยู่ที่ 12,973 คน พบผู้เสียชีวิตมากที่สุด 3 อันดับแรกในอิตาลี จีน และอิหร่าน ส่วนผู้ติดเชื้ออยู่ที่ 304,528 คน โดยจีนยังคงเป็นประเทศที่มีผู้ติดเชื้อมากที่สุด ขณะที่อิตาลีตามมาเป็นอันดับสองที่ 53,578 สหรัฐ 25,493 สเปน 25,374 เยอรมนี 22,213 อิหร่าน 20,610 และฝรั่งเศส 14,308 ส่วนผู้ติดเชื้อซึ่งได้รับการรักษาจนหายแล้วทั่วโลกอยู่ที่ 91,678 คน
          จีนพบผู้ป่วยเพิ่ม46ราย
          สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า เมื่อวันที่ 22 มีนาคม ทางการจีนแจ้งว่า พบผู้ป่วยโควิด-19 รายใหม่ของประเทศ 46 ราย ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยในประเทศด้วย 1 ราย ซึ่งถือเป็นรายแรกที่ติดเชื้อในประเทศในรอบ 4 วัน หลังจากที่ผ่านมาพบแต่ผู้ติดเชื้อไวรัสจากต่างประเทศ โดยผู้ติดเชื้อในประเทศอยู่ที่มณฑลกวางตุ้ง และมีความเชื่อมโยงกับผู้ป่วยที่มาจากต่างประเทศ
          สถานการณ์สถานทูตคลี่คลาย
          หลังเกิดความโกลาหลวุ่นวายที่หน้าสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากคนไทยที่ต้องการเดินทางกลับประเทศต้องมาขอเอกสารรับรองจากสถานทูต รวมถึงหาใบรับประกันสุขภาพว่าพร้อมสำหรับการเดินทาง ซึ่งสถานทูตได้จัดทีมแพทย์ไทยมาคอยอำนวยความสะดวกให้ จนกระทั่งสถานเอกอัครราชทูตไทยได้เปิดให้บริการเป็นกรณีพิเศษในวันเสาร์อาทิตย์ที่ 21-22 มีนาคมนี้
          ล่าสุดผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังเปิดให้มีการจองคิวเข้ารับบริการการมา

 pageview  1204505    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved