Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 11/02/2563 ]
เปิดปฏิบัติการ ทีมวิกฤติสุขภาพจิต แก้ปมฝังลึก โศกนาฏกรรมโคราช เยียวยาบาดแผลทางใจ

   โศกนาฏกรรมเพียงชั่วข้ามคืน ที่สร้างความหวาดผวาและบาดแผลฝังลึก ทั้งสภาพทางร่างกายและจิตใจต่อสังคมไทย จากเหตุการณ์ความอุกอาจและเหิมเกริมที่ไม่ต่างจากความบ้าคลั่งบุกกราดยิงประชาชนผู้บริสุทธิ์ใจกลางเมืองโคราช ตั้งแต่ช่วงบ่ายวันเสาร์ที่ 8 ก.พ.และต่อเนื่องข้ามคืนจนถึงเช้าวันที่ 9 ก.พ.2563  ส่งผลให้ 30 ชีวิตต้องสังเวยความโหดเหี้ยมพร้อม 1 ชีวิตของผู้ก่อเหตุก็ต้องจบลงเช่นกัน ขณะที่มีผู้บาดเจ็บถึง 58 คน ข้อมูลเมื่อเวลา 18.00 น.วันที่ 9 ก.พ.2563
          แน่นอนเมื่อเกิดความสูญเสียใหญ่ๆขึ้นครั้งใด นอกเหนือจากการรักษาอาการทางร่างกายแล้ว การเยียวยาสภาพทางจิตใจก็ถือเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน
          และนั่นคือที่มาของ ทีมวิกฤติสุขภาพจิต หรือ ทีมช่วยเหลือเยียวยาจิตใจผู้ประสบภาวะวิกฤติ(Mental Health Crisis Assessment  and Treatment Team; MCATT)ซึ่งเป็นทีมสหวิชาชีพ ประกอบด้วย แพทย์ พยาบาล เภสัชกร นักจิตวิทยาคลินิก/นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ นักวิชาการสาธารณสุข ผู้รับผิดชอบงานด้านสุขภาพจิตและผู้ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งถือเป็นด่านหน้าที่จะให้การช่วยเหลือทางด้านจิตใจกับผู้ประสบภาวะวิกฤติต่างๆทั้งวิกฤติจากภัยทางสังคม วาตภัย ภัยแล้ง ภาวะสุขภาพ ภัยพิบัติ อุบัติเหตุหมู่ โดยกลุ่มเหล่านี้หากไม่ได้รับการดูแลช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนและต่อเนื่อง ก็จะทำให้เกิดปัญหาสุขภาพจิตตามมาได้ เช่น ภาวะเครียดภายหลังเหตุการณ์สะเทือนขวัญ ตื่นตระหนก ซึ่งอาจมีผลพวงถึงภาวะซึมเศร้า เป็นต้น
          นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต เล่าถึง ทีมวิกฤติสุขภาพจิต ที่ส่งลงไปดูแลจิตใจประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากกรณีเหตุกราดยิงที่ จ.นครราชสีมา ว่า ในอดีตการจะลงพื้นที่จะเป็นภายหลังจากที่เกิดเหตุ 2-3 วัน แต่ทีมวิกฤติสุขภาพจิต ซึ่งตั้งขึ้นในช่วงที่เกิดสึนามิได้บทเรียนจากครั้งนั้นว่าเราควรเข้าไปเยียวยาสภาพจิตใจและให้การรักษาโดยเร็วที่สุดเพราะจะช่วยให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบต่างๆ ไม่เกิดปัญหาด้านสภาพจิตใจในระยะยาว ซึ่งก็ตรงกับข้อมูลของต่างประเทศด้วย สำหรับการลงพื้นที่ในครั้งนี้ได้มีการส่งทีมจากส่วนกลางลงไปร่วมกับทีมภูมิภาคซึ่งกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุขได้มีการอบรมทีมไว้ทั่วประเทศ ประกอบด้วย ทีมจากโรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ ศูนย์สุขภาพจิตที่ 9 โรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมาร่วมบูรณาการกับทีม MCATT ในพื้นที่
          "การทำงานจะแบ่งหน้าที่เป็น 3 ส่วน คือ สนับสนุนด้านวิชาการเป็นที่ปรึกษาในการดำเนินงานและลงพื้นที่เพื่อปฏิบัติงาน ซึ่งหากมีผู้ได้รับผลกระทบมากขึ้น กรมสุขภาพจิตยังได้ทำการเตรียมทีม MCATT สำรองสำหรับการดูแลผู้ป่วยทั่วไปอีก 8 ทีม และดูแลเด็กและเยาวชน 3 ทีม หากมีอาการรุนแรงก็อาจมีการให้ยา เช่น ในรายที่มีอาการตระหนก วิตกกังวล นอนไม่หลับ โดยเฉพาะการดูแลในกลุ่มเด็กเพราะเคยมีข้อมูลในต่างประเทศระบุว่าหากเด็กได้รับความรุนแรงทางจิตใจและไม่ได้รับการเยียวยาในระยะยาวหรือเมื่อเป็นผู้ใหญ่จะทำให้เกิดโรคซึมเศร้าได้ ซึ่งที่ผ่านมาไทยมีการดูแลเยียวยาอย่างรวดเร็วทำให้เกิดบาดแผลทางจิตใจน้อยลง "อธิบดีกรมสุขภาพจิต เปิดเผยถึงผลดีของการดูแลประชาชนอย่างรวดเร็ว
          นพ.เกียรติภูมิ ยังขยายภาพถึงแผนการเยียวยาสภาพจิตใจผู้ได้รับผลกระทบ ว่า มีการวางแผนเยียวยาจิตใจ 4 ระยะ ได้แก่ 1.ระยะฉุกเฉิน 72 ชั่วโมงแรก ซึ่งประชาชนที่ได้รับผลกระทบอาจเกิดภาวะเครียด วิตกกังวล สับสน มีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทีม MCATT ก็จะเข้าไปประเมินประชาชนคัดกรองและให้ความช่วยเหลือเป็นการเร่งด่วน โดยเฉพาะกลุ่มที่ได้รับความสูญเสียโดยตรง 2.ระยะสั้น 2สัปดาห์แรก ผู้ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม อาจเริ่มมีปัญหาด้านสุขภาพจิต เช่น เบื่อหน่าย ซึมเศร้า ท้อแท้ ไม่สามารถปรับตัวได้ ประชาชนอาจมีความวิตกกังวลในการกลับไปใช้ชีวิตประจำวัน ทีม MCATT  ก็จะมีการบำบัดรักษาในรายที่จำเป็น โดยเริ่มทำกิจกรรมต่างๆกับพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ เพื่อให้เกิดความผ่อนคลาย เกิดพลังใจทางบวก และติดตามผู้ได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง 3. ระยะกลาง 6 เดือน ในกลุ่มที่ยังมีความเสี่ยงด้านสุขภาพจิตอยู่จะทำการติดตามต่อเนื่องทุกเดือน เพื่อติดตามปัญหาด้านสุขภาพจิตที่อาจเกิดตามมาในภายหลังได้ เช่น โรคเครียดหลังเหตุการณ์สะเทือนใจ และ 4. ระยะยาว จะยังคงติดตามเยียวยาผู้ได้รับบาดเจ็บ รวมไปถึงครอบครัวของผู้ได้รับบาดเจ็บและสูญเสียให้กลับมาใช้ชีวิตได้ปกติที่สุด
          นพ.เกียรติภูมิ กล่าวด้วยว่า สำหรับแนวทางการดูแลตัวเองและคนใกล้ชิดมี 6 แนวทาง ได้แก่ 1.ดูแลสุขภาพกาย และใจของตัวเอง เพื่อเตรียมการดูแลจิตใจคนรอบข้าง 2.ให้ความสำคัญกับอารมณ์ของตัวเอง 3.สังเกตการเปลี่ยนแปลงของอารมณ์และความรู้สึกตัวเอง 4.หลีกเลี่ยงการรับข่าวที่มากเกินไป เพราะอาจกระตุ้นให้เกิดภาวะเครียด 5.พยายามติดต่อกับเพื่อนและครอบครัว และ 6.เพิ่มการพูดคุยและติดต่อกับผู้อื่น เพื่อระบายความรู้สึก
          ทีมข่าวสาธารณสุข มองว่าการที่กรมสุขภาพจิต ส่งทีมวิกฤติสุขภาพจิต หรือ MCATT ลงไปเยียวยารักษาผู้ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมอย่างรวดเร็ว น่าจะเป็นตัวช่วยสำคัญเพราะถือเป็นที่พึ่งทั้งทางร่างกายและจิตใจที่ดีที่สุด ในการช่วยเยียวยาบาดแผลทางจิตใจให้ทุเลาลงโดยเร็ว
          แต่สิ่งหนึ่งที่เราอยากขอฝากคือ การจัดการดูแลเยียวยารักษาต้องมีความต่อเนื่อง จริงจังและจริงใจเพราะหากระดมทำกันเฉพาะช่วงที่เกิดเหตุการณ์ช่วงแรกๆ แล้วที่สุดกลับทิ้งไว้กลางทางไม่มีการดูแลอย่างต่อเนื่อง
          อาจส่งผลร้ายชนิดที่เกินจะคาดคิดเพราะบาดแผลที่ฝังลึกในจิตใจ แต่ก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่อาจรุนแรงและเลวร้ายถึงขั้นสังเวยชีวิตทีเดียว.

 pageview  1204953    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved