Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 20/09/2562 ]
สธ.แจงรับยาที่ร้านยา ดีเดย์ 1 ต.ค. เพิ่มความสะดวกผู้ป่วย-ลดแออัด รพ.

 กระทรวงสาธารณสุข นำทีม สปสช. พร้อมสภาเภสัชกรรม เปิดเวทีประชุมโครงการนำร่องผู้ป่วยรับยาที่ร้านขายยาคุณภาพ ชี้แจงรายละเอียดหน่วยบริการ-ร้านยา ด้านรองปลัด สธ. ชูเป้าหมายพัฒนาระบบสาธารณสุขรวดเร็ว
          เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2562 กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และสภาเภสัชกรรม ร่วมกันจัดการประชุมชี้แจงแนวทางการดำเนินงานลด ความแออัดในโรงพยาบาลโดยร้านยาแผนปัจจุบัน (ข.ย.1) ตามนโยบาย ของนายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข โดยมี นพ.ประพนธ์ ตั้งศรีเกียรติกุล รองปลัด สธ. เปิดการประชุม
          นพ.ประพนธ์ กล่าวว่า ความพยายามในการลดความแออัดของโรงพยาบาล ไม่ได้มีเพียงเฉพาะเรื่องของการจ่ายยาเท่านั้น แต่ที่ผ่านมายังมีความพยายามลดจำนวนผู้รับบริการโรงพยาบาล โดยการใช้นวัตกรรมบริหารจัดการ หรือการเพิ่มจุดบริการ เช่น คลินิกหมอครอบครัว (PCC) เพื่อดูแลคนไข้ที่ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ที่อาจไม่จำเป็นต้องมา โรงพยาบาลใหญ่ เช่นเดียวกับการลดขั้นตอนรับยาที่กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ ซึ่งได้เลือกผู้ป่วยในกลุ่มโรค NCDs ที่โดยปกติมาโรงพยาบาลเพียงเพื่อรอพบหมอพูดคุย 2-3 ประโยค สุดท้ายไปรอรับยาที่ได้เหมือนเดิม ซึ่งสามารถลดขั้นตอนได้ด้วยร้านขายยา ที่เข้าถึงชุมชน เข้าถึงพื้นที่ และมีความชุกของงานน้อยกว่าห้องยาโรงพยาบาล
          "สิ่งต่างๆ จะต้องมีการเปลี่ยนแปลง ยกตัวอย่างเหมือนการทำพาสปอร์ตที่เมื่อก่อนทำยาก แต่เดี๋ยวนี้แค่ไม่กี่นาทีเสร็จ หรือธุรกรรมการเงินที่ปัจจุบันทำได้ง่ายดายผ่านสมาร์ทโฟน เราต้องคิดนำนวัตกรรมมาปรับเปลี่ยนระบบบริการสาธารณสุข" นพ.ประพนธ์ ระบุ
          นพ.ประพนธ์ กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้เป็นการปรับปรุงระบบใหม่ โดยบริหารจัดการภายใต้งบประมาณที่จำกัด แต่อาศัยทรัพยากรที่มีอยู่แล้วในระบบสาธารณสุข คือร้านยา ซึ่ง เป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน พร้อมกับประยุกต์ใช้ระบบเทคโนโลยีที่เหมาะสม หัวใจหลักของระบบคือทาง โรงพยาบาลที่จะเป็นแม่งานหลัก ในการทำข้อตกลงร่วมกันแต่ละ พื้นที่ แต่ละเครือข่าย โดยประสานกับร้านยาเพื่อกำหนดเกณฑ์ แนวทางที่เหมาะสม สอดคล้องกับบริบทของคนไข้ที่จะกระจายไป ซึ่งมองว่าร้านยาจะเพิ่มโอกาสให้ผู้ป่วยได้ซักถามเรื่องโรคหรือยาต่างๆ มากขึ้น ไม่ต้องเร่งรีบเหมือนห้องยาในโรงพยาบาล
          รองปลัด สธ. ระบุด้วยว่า การดำเนินงานของหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้อง อาทิ สธ. จะกำหนดนโยบายและแนวทางโครงการฯ สนับสนุนให้เกิดการปรับปรุงกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง, สปสช. จะสนับสนุนงบประมาณดำเนินโครงการฯ สนับสนุนเทคโนโลยีเชื่อมต่อการทำงาน, สภาเภสัชกรรม จะกำกับการปฏิบัติงานของร้านยาในภาพรวม เพื่อเพิ่มคุณภาพและความปลอดภัย และ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) จะทำการติดตามประเมินผล เพื่อจัดทำข้อเสนอแนวทางระยะต่อไป
          ด้าน พญ.กฤติยา ศรีประเสริฐ ผู้อำนวยการอาวุโสปฏิบัติหน้าที่ผู้ช่วยเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า ในส่วนของขอบเขตและเงื่อนไข การบริการร้านยา จะจ่ายยาให้กับผู้ป่วยใน 4 กลุ่มโรค คือ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หอบหืด จิตเวช หรือโรคเรื้อรังอื่นๆ ที่ไม่มีความซับซ้อนในการดูแล ซึ่งแต่ละโรงพยาบาลอาจเพิ่มเองได้ โดยการรับยาที่ร้านจะต้องเป็นความสมัครใจของผู้ป่วย ซึ่งยาที่ได้จะต้องเป็นยาเดียวกับที่ได้รับจากโรงพยาบาลเดิมที่รับอยู่ และผู้ป่วย ไม่ต้องเสียค่าบริการใดๆ เพิ่มขึ้น
          ทั้งนี้ คุณสมบัติร้านยาที่จะเข้าร่วมโครงการ ต้องเป็นร้านยาแผนปัจจุบัน (ข.ย.1) ที่มีคุณสมบัติตามประกาศ สธ. มีเภสัชกรปฏิบัติงานไม่น้อยกว่า 8 ชั่วโมงต่อวัน และมีคุณสมบัติตามเกณฑ์การตรวจประเมินเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยร่วมให้บริการด้านเภสัชกรรมของ สปสช. ส่วนแนวทางการกำหนดรูปแบบบริหารจัดการระหว่างหน่วยบริการและร้านยา จะมีใน 3 รูปแบบคือ 1. โรงพยาบาลจัดยารายบุคคลส่งให้ร้านยา 2. โรงพยาบาลจัดสำรองยาไว้ที่ร้านยา 3. ร้านยาดำเนินการจัดการด้านยาเอง ซึ่งรูปแบบไหนจะมีความเหมาะสมนั้น หน่วยบริการกับร้านยาแต่ละพื้นที่สามารถตกลงกันได้ โดยไม่จำกัดรูปแบบ
          สำหรับประชาชนที่สนใจรับยาใกล้บ้านสามารถตรวจสอบรายชื่อร้านยาที่เข้าร่วมโครงการได้ที่เว็บไซต์สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ www.nhso.go.th หรือตามลิงก์ http://bit.ly/nhso_drugstore_lists

 pageview  1204942    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved