Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 26/08/2562 ]
ปวดประจำเดือนบ่อย เสี่ยง ถุงน้ำในรังไข่

หนึ่งในอาการที่ผู้หญิงหลายๆ คนต้องประสบพบเจอเป็นประจำในทุกๆเดือน ก็คืออาการปวดประจำเดือน ซึ่งมีความรุนแรงที่แตกต่างกันไป บางคนก็มีอาการให้รู้สึกรำคาญและไม่สบายตัวเท่านั้น แต่ในบางรายก็มีอาการรุนแรงถึงขั้นนอนซม เป็นลม ต้องลางาน หยุดเรียนกันเลยทีเดียว ซึ่งอาการเหล่านี้มักจะดีขึ้นหลังจากหมดประจำเดือน ทำให้ผู้หญิงหลายๆ คนมองข้าม ความผิดปกติที่อาจแฝงอยู่ในอาการประท้วงของร่างกายเหล่านี้
          วันนี้เราจะพาไปรู้จักกับโรค "ถุงน้ำในรังไข่" โรคฮิตที่พบได้บ่อยในสาวๆ ยุคปัจจุบัน เกิดจากการทำงานที่ผิดปกติของตัวรังไข่ อาทิ การแบ่งตัวของเซลล์บริเวณรังไข่ที่มีการพัฒนามากขึ้นกลายเป็นถุงน้ำรังไข่ หรือเนื้อผิวปกติมีการยุบตัวเข้าไปทำให้เยื่อบุมดลูกเจริญผิดที่ เป็นต้น รวมทั้งพันธุกรรม ฮอร์โมน และความอ้วน ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคได้ ซึ่งโดยปกติในแต่ละรอบเดือน จะสามารถเกิดถุงน้ำที่รังไข่ขึ้นได้ตามการกระตุ้นของฮอร์โมนที่ทำให้เกิดการตกไข่ และจะสามารถหายได้เองโดยไม่ต้องทำการรักษา แต่ในถุงน้ำชนิดที่ผิดปกติ มักจะมีการขยายใหญ่ขึ้น จนอาจส่งผลให้เกิดการบิดเกลียวของปีกมดลูก จนทำให้เกิดอาการปวดท้องรุนแรงแบบเฉียบพลัน
          สำรวจตัวเอง
          ตามปกติถุงน้ำในรังไข่จะไม่แสดงอาการ แต่หากคุณเริ่มมีอาการเหล่านี้ อาจเป็นสัญญาณเตือนให้รีบพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยอย่างตรงจุด
          * ปวดบริเวณท้องส่วนล่างข้างที่เกิดถุงน้ำในรังไข่ แบบเป็นๆ หายๆ
          * ปวดท้องน้อยก่อนหรือในระหว่างที่มีรอบเดือน * ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ* รู้สึกเจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์* ท้องผูก ท้องอืด คลื่นไส้และอาเจียนโดยการวินิจฉัยอาการ สามารถทำได้โดยการตรวจภายใน การอัลตราซาวน์เพื่อตรวจหาบริเวณและขนาดของถุงน้ำ และการตรวจเลือด เพื่อตรวจหาระดับฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับการเกิดถุงน้ำอย่างเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรน
          ถุงน้ำ 3 ประเภท
          ถุงน้ำในรังไข่ แบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ 1. ฟังค์ชั่นนัล ซีสต์ (Functional Cyst) คือ ถุงน้ำรังไข่ที่เกิดจากการทำงานตามปกติของรังไข่ จะเป็นถุงน้ำที่โตขึ้นแล้วแตกทำให้เซลล์ไข่ไหลออกมา หลังจากนั้นถุงน้ำนี้ก็จะค่อยๆ ยุบตัวไปเอง
          2. เนื้องอกถุงน้ำรังไข่ (Ovarian Tumor หรือ Ovarian Cyst)คือ เนื้องอกรังไข่ชนิดที่มีของเหลวภายใน โดยส่วนมากแต่ละชนิดมักจะมีลักษณะเฉพาะที่สามารถวินิจฉัยได้ค่อนข้างชัดเจน
          3. ถุงน้ำที่คล้ายเนื้องอก (Tumor like condition) คือ ถุงน้ำที่เกิดจากเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ ที่เกิดขึ้นที่รังไข่ เมื่อมีรอบเดือนเยื่อบุโพรงมดลูกนี้ก็จะมีเลือดซึมออกมาสะสมในถุงน้ำนี้เรื่อยๆ จนเป็นเลือดเก่าๆ ข้นๆ สีคล้ายช็อกโกแลต จึงถูกเรียกว่า ช็อกโกแลตซีสต์ (Chocolate Cyst) นั่นเอง
          การรักษา
          เมื่อพบว่ามีอาการส่วนใหญ่แพทย์จะนัดตรวจร่างกายซ้ำเพื่อดูว่าถุงน้ำมีขนาดเล็กลงหรือหายไปหรือไม่ หากพบว่าถุงน้ำไม่หายไปเอง ก็สามารถทำการรักษาได้ด้วยการใช้กลุ่มยาที่เกี่ยวข้องกับฮอร์โมน เพื่อลดโอกาสในการเกิดถุงน้ำซ้ำ และหากอาการยังไม่ทุเลา อาจต้องทำการผ่าตัดเป็นกรณีไป โดยส่วนใหญ่มักผ่าตัดกับก้อนที่มีขนาดใหญ่ ทั้งชนิดที่ไม่ใช่มะเร็งและชนิดที่เป็นมะเร็ง ส่วนจะมีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำหรือไม่นั้น ก็ขึ้นอยู่กับชนิดของถุงน้ำ ถ้าเป็นชนิดของถุงน้ำทั่วไปและไม่ใช่มะเร็ง มีโอกาสรักษาให้หายขาดได้
          ยิ่งอ้วน ยิ่งเสี่ยงพ
          รศ.นพ.สุเทพ อุดมแสวงทรัพย์ ศัลยแพทย์ส่องกล้องและการผ่าตัดโรคอ้วน ศูนย์ผ่าตัดและรักษาโรคอ้วน โรงพยาบาลกรุงเทพ ให้ข้อมูลว่า ความอ้วนเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ฮอร์โมนในร่างกายผิดปกติ เพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ (polycystic ovary syndrome-PCOS) ในผู้หญิง
          "การมีน้ำหนักเกินเกณฑ์ไม่ใช่เรื่องดี โดยเฉพาะผู้หญิง หากตกอยู่ในภาวะอ้วนอาจส่งผลให้มีรอบเดือนผิดปกติ เพราะความอ้วนมีส่วนทำให้ร่างกายผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจนผิดปกติ โดยเฉพาะการอ้วนลงพุง เนื่องจากฮอร์โมนเอสโตรเจนผลิตจากไขมัน เมื่อมีไขมันมากไป การสร้างฮอร์โมนเอสโตรเจนที่ควบคุมการตกไข่ในเพศหญิงอาจผิดปกติ ส่งผลให้ไม่มีการตกไข่ เกิดถุงน้ำรังไข่ ประจำเดือนมาน้อยแบบกะปริดกะปรอย หรือประจำเดือนขาดหาย ทำให้มีบุตรยาก ภาวะนี้มักพบในวัยเจริญพันธุ์ อายุประมาณ 25-35 ปี หากไม่รีบรักษาอาจทำให้มีบุตรยาก เสี่ยงต่อการมีเยื่อบุโพรงมดลูกหนาผิดปกติ และมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกได้ในอนาคต"
          อย่างที่กล่าวไปแล้วว่า อาการถุงน้ำรังไข่ระยะแรกๆมักไม่แสดงอาการ แต่จะเริ่มมีอาการก็ต่อเมื่อก้อนใหญ่และเกิดภาวะแทรกซ้อนไปแล้ว ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยคุณสุภาพสตรีควรตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี เพราะการที่ยิ่งรู้เร็ว ก็ยิ่งมีโอกาสรักษาหาย อย่ามั่วแต่ชะล่าใจ จนปล่อยให้สายเกินไป

 pageview  1204950    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved