Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 14/08/2562 ]
ความดันสูง

 โรคความดันโลหิตสูงควบคุมได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน ทั้งนี้ นพ.ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ ให้ข้อมูลว่า โรคความดันโลหิตสูง เป็นภาวะที่ค่าความดันโลหิตขณะหัวใจบีบตัวเท่ากับหรือมากกว่า 140 มิลลิเมตรปรอท และขณะหัวใจคลายตัวเท่ากับหรือมากกว่า 90 มิลลิเมตรปรอท ในระยะแรกที่โรคยังไม่รุนแรงจะไม่มีอาการผิดปกติใดๆ แต่ที่เด่นชัด อาจมีอาการเวียนศีรษะเป็นๆ หายๆ หลังจากนั้นจะมีอาการปวดศีรษะ ปวดบริเวณท้ายทอยช่วงเช้าหลังตื่นนอน คลื่นไส้ อาเจียนโดยไม่ทราบสาเหตุ หากเป็นมากจะมีเลือดกำเดาไหล หอบ นอนราบไม่ได้ และอาจมีอาการเจ็บหน้าอกร่วมด้วย
          ทั้งนี้ ความดันโลหิตสูงในผู้สูงอายุนั้น ร้อยละ 95 จะตรวจไม่พบสาเหตุ แต่มีปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ ความอ้วน ภาวะไขมันในเลือดสูง สูบบุหรี่ ดื่มสุรา ขาดการออกกำลังกาย นอกจากนี้ ยังพบใน ผู้ที่มีประวัติครอบครัวมีความดันโลหิตสูงมาก่อน ส่วนผู้ป่วยอีกร้อยละ 5 มีสาเหตุ เช่น โรคไต โรคต่อมไร้ท่อ โรคระบบประสาท การได้รับสารเคมีหรือยาบางชนิด
          นพ.สกานต์ บุนนาค ผู้อำนวยการสถาบันเวชศาสตร์สมเด็จพระสังฆราชญาณสังวรเพื่อผู้สูงอายุ กล่าวถึงการรักษาโรคความดันโลหิตสูงในผู้สูงอายุเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนว่า 1.รักษาด้วยการไม่ใช้ยา โดยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินอาหาร ไม่กินเค็ม ออกกำลังกายเป็นประจำ ลดความอ้วน งดสูบบุหรี่ ลดแอลกอฮอล์ ฝึกสมาธิ ฝึกจิตไม่ให้เครียด 2.รักษาด้วยการใช้ยา ผู้ป่วยต้องไม่หยุดยาเองเด็ดขาด เพราะมีความปลอดภัยสูง กินต่อเนื่องได้นานหรือตลอดชีวิต
          อย่างไรก็ตาม มีบางรายที่กินยาลดความดันโลหิตแล้วมีอาการไม่สบาย โดยเฉพาะมึนงง หน้ามืดเวลาลุกขึ้นยืน หากเป็นควรหยุดยาแล้วไปพบแพทย์ เพื่อปรับเปลี่ยนยาใหม่
          ทั้งนี้ ผู้สูงอายุควรปฏิบัติตัว 1.ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน ได้แก่ ควบคุมน้ำหนักร่างกายให้พอดี หากมีน้ำหนักตัวมากควรลดน้ำหนัก โดยควบคุมอาหารและหมั่นออกกำลังกาย 2.ออกกำลังกายที่เหมาะสมกับวัย เช่น เดินเร็วก้าวยาวๆ บริหารร่างกายแบบง่ายๆ ควรเริ่มต้นทีละน้อย แล้วค่อยๆ เพิ่มขึ้นจะทำให้หัวใจและปอดทำงานดีขึ้น หลีกเลี่ยงการบาดเจ็บที่ข้อต่อต่างๆ 3.ลดอาหารเค็ม ควรเลือกอาหารที่ใส่เกลือหรือน้ำปลาน้อยที่สุด งดกินผงชูรส ป้องกันอาการท้องผูก โดยกินผัก ผลไม้ให้มาก ดื่มน้ำให้พอเพียง และควรบริโภคอาหารที่มีไขมันและคอเลสเตอรอลต่ำ มีเส้นใยอาหารสูง 4.ทำจิตใจให้ผ่องใส ปล่อยวาง 5.งดสูบบุหรี่ 6.งดดื่มเหล้า 7.นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และกินยาตามแพทย์สั่งอย่างสม่ำเสมอ

 pageview  1204384    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved