Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 09/08/2562 ]
โรคแพ้ภูมิตัวเอง

 กรณีนักเรียนหญิง ม.5 เสียชีวิตจากโรคแพ้ภูมิตัวเองนั้น นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ ให้ข้อมูลว่า โรคแพ้ภูมิตัวเอง หรือเอสแอลอี (SLE) เกิดจากภูมิต้านทานตนเองทำลายเนื้อเยื่อตัวเอง ทำให้เกิดการอักเสบเรื้อรัง อาการของโรคจะเป็นๆ หายๆ มีการกำเริบและสงบเป็นระยะ พบได้บ่อยในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย สาเหตุที่แท้จริงไม่ทราบแน่ชัด แต่มีปัจจัยทางพันธุกรรมและปัจจัยอื่นเสริมให้เกิดโรค ได้แก่ การติดเชื้อ ยา แสงแดด สารเคมีในสิ่งแวดล้อม
          อาการของโรคนี้จะแสดงความผิดปกติในร่างกายหลายระบบร่วมกัน เช่น ผื่นโรคเอสแอลอี ระบบผิวหนัง ระบบประสาท ระบบหัวใจและหลอดเลือด กล้ามเนื้อและข้อ เม็ดเลือด ไต ระบบทางเดินหายใจ ผมร่วง เป็นต้น
          ผู้ป่วยจึงมีอาการแสดงทางคลินิกที่หลากหลาย และมีความรุนแรงแตกต่างกัน เช่น มีผื่น ปวดข้อ ไปจนถึงอาการแสดงที่มีความรุนแรงถึงเสียชีวิต เช่น ไตอักเสบ ดังนั้น การดูแลรักษาผู้ป่วย แต่ละรายจึงมีความแตกต่างกัน และแม้ว่าจะเป็นโรคที่รักษาไม่หาย แต่ผู้ป่วยสามารถมีคุณภาพชีวิตใกล้เคียงกับคนปกติ
          การวินิจฉัยโรคดูจากผลเลือดและความผิดปกติอย่างน้อย 4 ใน 11 ข้อ ได้แก่ 1.ผื่นบริเวณใบหน้าและมีการกระจายเป็นรูปผีเสื้อ 2.ผื่นผิวหนังชนิดที่เรียกว่าผื่นดีสคอยด์ พบได้บ่อยบริเวณใบหน้า ใบหู ลำตัว และแขนขา 3.อาการแพ้แดด 4.แผลในปาก 5.ข้ออักเสบ 6.ไตอักเสบ โดยปริมาณโปรตีนหรือไข่ขาวในปัสสาวะมากกว่าปกติ 7.ชักหรืออาการทางระบบประสาทอื่นๆ 8.เยื่อหุ้มปอด/หัวใจ หรือเยื่อหุ้มสมองอักเสบ 9.ซีด เม็ดเลือดขาวต่ำ หรือเกล็ดเลือดต่ำ (ที่ไม่ได้เกิดจากยาหรือการติดเชื้อ) 10.ตรวจพบแอนตินิวเคลียร์แอนติบอดีในเลือด 11.ตรวจพบแอนติบอดีต่อดีเอ็นเอ หรือพบแอนติฟอสโฟไลปิดแอนติบอดี หรือตรวจเลือดพบผลบวกปลอมต่อการตรวจซิฟิลิส
          ผู้ป่วยควรทำความเข้าใจธรรมชาติและกลไกเกิดโรค ติดตามการรักษาอย่างสม่ำเสมอ โดย 1.ทำจิตใจให้สงบ ไม่เครียด 2.พักผ่อนให้เพียงพอและออกกำลังกายสม่ำเสมอ 3.กินอาหารถูกสุขลักษณะครบหมู่ กินแต่อาหารมีประโยชน์และปรุงสุก 4.หลีกเลี่ยงแสงแดดจ้า ควรใช้ครีมกันแดดที่มีค่า SPF 30 ขึ้นไป 5.อยู่ในที่อากาศถ่ายเทได้สะดวก หลีกเลี่ยงบริเวณที่มีคนหนาแน่น
          6.ไม่ควรตั้งครรภ์ขณะที่โรคยังรุนแรงหรือกำเริบ 7.กินยาสม่ำเสมอ 8.หากสงสัยว่าจะมีการติดเชื้อ เช่น มีไข้ มีแผล ฝี หนอง ไอ ปัสสาวะแสบขัด ท้องร่วง หรือต้องรับการรักษาอื่นๆ เช่น ทำฟัน เข้ารับการผ่าตัด และหากมีอาการผิดปกติที่อาจบ่งชี้ว่าโรคกำเริบ เช่น ไข้ อ่อนเพลีย ผื่นขึ้นมากกว่าเดิม ปวดข้อ ผมร่วง มีแผลในปาก เป็นต้น ควรปรึกษาแพทย์
          และ 9.ติดตามการรักษาอย่างสม่ำเสมอ และไม่ควรหยุดยาเอง

 pageview  1205009    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved