Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 21/06/2562 ]
เฮลท์แคร์ 2019เรียนรู้ สู้โรค ซึมเศร้า-นอนกรน

  ยุคปัจจุบัน ภัยสุขภาพมักเกิดขึ้นกับคนทุกเพศทุกวัย บางอาการ บางโรค รู้จักกันดี แต่ไม่คิดว่าหากเป็นแล้วจะน่ากลัวหรือเกิดขึ้นกับตัวเรา หรือคนใกล้ตัว แต่หากเรารู้เท่าทัน หลายๆ โรค หลายๆ อาการก็สามารถป้องกัน และรักษาให้หาย หรือควบคุมอาการได้
          อย่างเช่น "โรคซึมเศร้า" ที่ นพ.กานต์ จำรูญโรจน์ ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ความรู้เบื้องต้นว่า เป็นอีกโรคที่พบว่า คนไทยเป็นมาก ซึ่งส่งผลกระทบ เช่น ต้องหยุดงาน ขาดรายได้ ต้องดูแลรักษา เสียค่าใช้จ่ายในการรักษา
          "สาเหตุของการเป็นโรคซึมเศร้าไม่ทราบชัดเจนว่าเกิดจากอะไร แต่พบว่ามีหลายปัจจัยหนุนนำให้เกิดโรค ทั้งร่างกายและชีววิทยา เช่น สารสมดุลของสมองที่เปลี่ยนแปลงไปสัมพันธ์กับการเจ็บป่วยของโรคอื่น รวมถึงปัจจัยด้านจิตสังคม เช่น การรับมือกับความเครียดยังทำได้ไม่ค่อยดี ส่งผลต่อร่างกาย สภาวะสังคมนำมาซึ่งความเครียดในชีวิตประจำวัน" นพ.กานต์กล่าวสำหรับการป้องกันโรคซึมเศร้า นพ.กานต์บอกว่า ต้องดูแลสุขภาพกายและสุขภาพจิตใจให้แข็งแรง ถ้าเรากลับมาดูแลกับสภาพความกดดัน สภาวะความเครียด และสภาวะทางอารมณ์ของตัวเอง จะเป็นอย่างหนึ่งที่ช่วยได้ ส่วนการรักษามีทั้งการใช้ยาและการรักษาด้วยวิธีอื่น โดยปกติจะใช้การรักษาควบคู่กันไป เช่น การใช้ยาต้านซึมเศร้า การรักษาโดยกระตุ้นด้วยไฟฟ้าในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการรุนแรง ส่วนการรักษาอื่นๆ เช่น การทำจิตบำบัด เป็นต้น
          เช่นเดียวกับ "อาการนอนกรน" ที่ พญ.นวรัตน์ อภิรักษ์กิตติกุล ภาควิชาโสต ศอ นาสิกวิทยา คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล บอกว่า หลายคนมีอาการดังกล่าว หรือบางคนรู้ว่าคนใกล้ตัวมีอาการ แต่ไม่สนใจทั้งๆ ที่เป็นปัญหาทั้งก่อความรำคาญให้ผู้อื่น และส่งผลเสียต่อสุขภาพของผู้ที่มีอาการ ทั้งนี้ อาการนอนกรนเกิดจากเสียงของทางเดินอวัยวะส่วนบนอุดตัน ซึ่งอาจจะเกิดจากลักษณะทางกายภาพ หรืออาจเกิดจากการหย่อน
          "ลักษณะหายใจส่วนบนเกิดจากส่วนใดนั้น บางคนอาจเกิดจากมีภาวะอ้วน น้ำหนักเกิน จะทำให้ทางเดินอวัยวะส่วนบนอุดตันหลายจุด อาทิ บริเวณช่องคอ บางคนเกิดจากเหยื่อบุจมูกบวม หรือในเด็กที่เจอบ่อยอาจเจอในเด็กที่มีต่อมทอนซิลโต หรือต่อมอะดีนอยด์โต ส่วนสาเหตุอื่น อาจเกิดจากโคนลิ้นใหญ่ ช่องคอหย่อน เป็นต้น"พญ.นวรัตน์กล่าว และว่า เมื่อทางเดินอวัยวะทางเดินหายใจส่วนบนแคบ ถ้ามีลมผ่าน จะทำให้เกิดการตีกันของอวัยวะส่วนบน กระทั่งเกิดเป็นเสียงขึ้น จึงเรียกว่าเป็น "เสียงกรน" ที่เกิดขึ้นขณะนอนหลับ
          พญ.นวรัตน์กล่าวว่า ถ้าไม่รักษาและมีอาการกรนหนักขึ้น อาจทำให้เกิดอาการหยุดหายใจขณะหลับได้ด้วย หากหยุดหายใจเกิน 10 วินาที นับเป็น 1 ครั้ง เมื่อหยุดหายใจนานเข้าจะทำให้เกิดออกซิเจนในร่างกายลดลง ส่งผลให้การนอนหลับของผู้ที่กรนไม่ดี และเสียงกรนยังส่งผลกระทบ ต่อคนที่นอนเคียงข้าง อาจนอนไม่หลับไปด้วย
          "คนส่วนใหญ่คิดว่านอนกรนเป็นเรื่องปกติ แต่ความจริงไม่ใช่เรื่องปกติ เพราะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนตามมาอีกมาก เช่น กลางวันง่วงนอน หงุดหงิด มีอารมณ์ฉุนเฉียว มีอาการหลับในที่อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุขณะขับรถได้ นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยระบุว่า อาการกรนอาจส่งผลต่อการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ หรืออาจมีอาการคล้ายโรคซึมเศร้าได้ด้วย ส่วนโรคอื่นที่ตามมา อาทิ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หัวใจเต้นผิดจังหวะ กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด โรคที่เกี่ยวกับโรคหลอดเลือดทางสมอง เป็นต้น"
          พญ.นวรัตน์กล่าวถึงการตรวจวินิจฉัยรักษาอาการนอนกรนว่า ต้องตรวจดูว่าคนไข้มีอาการอุดตันของทางเดินอวัยวะส่วนบนส่วนใด และตรวจการหย่อนของอวัยวะ ซึ่งบางคนอาจไม่ได้เกิดจากอุดตันหรือมีอวัยวะหย่อน และหากอยากรู้ถึงรายละเอียดอื่น เช่น ค่าออกซิเจน หยุดหายใจกี่ครั้งต่อชั่วโมง จะต้องตรวจการนอนหลับที่โรงพยาบาลอย่างละเอียดอีกครั้ง ส่วนการรักษามีหลายวิธี โดยหลักคือ รักษาอาการบริเวณที่อาการอุดตันของอวัยวะ ส่วนการรักษาเบื้องต้น ถ้าเกิดจากภาวะอ้วน ต้องให้ลดน้ำหนัก หรือให้นอนตะแคง ส่วนการรักษาอื่น เช่น การใส่เครื่องอัดอากาศขณะหายใจเข้า ซึ่งจะช่วยขยายทางเดินหายใจที่อุดตันให้กว้างขึ้น จะช่วยทำให้ทางเดินหายใจโล่งขึ้น รวมถึงการผ่าตัดบริเวณที่อุดตัน
          อย่างไรก็ดี พญ.นวรัตน์กล่าวว่า ปัจจุบันมีเทคโนโลยีที่จะช่วยรักษาอาการนอนกรน และเป็นส่วนหนึ่งในงานวิจัยที่ได้ทำการศึกษา ค้นคว้าวิจัยขึ้นเพื่อช่วยคนนอนกรน ล่าสุดได้อนุสิทธิบัตรแล้ว และยังไม่มีที่ใดในโลกมีสิ่งประดิษฐ์ในลักษณะนี้
          สำหรับผู้สนใจภัยสุขภาพทั้ง 2 อาการนี้ สามารถติดตามหาความรู้เพิ่มเติม ได้ที่งาน "Healthcare เรียนรู้ สู้โรค 2019" ระหว่างวันที่ 27-30 มิถุนายนนี้ ที่ฮอลล์ 5 อิมแพค เมืองทองธานี โดยเวที เฮลท์ทอล์ก หัวข้อ "รู้เท่าทัน ป้องกันโรคซึมเศร้า" เวลา 14.00-14.50 น. วันที่ 27 มิถุนายนนี้ ส่วนหน้าตา สิ่งประดิษฐ์ที่ว่าจะเป็นอย่างไรนั้น ต้องติดตามต่อในหัวข้อ "เทคโนโลยี ตรวจ-รักษา บอกลาอาการนอนกรน" วันที่ 29 มิถุนายนนี้ เวลา 15.10-16.00 น.

 pageview  1205128    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved