Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 16/05/2562 ]
สธ.ชู ปิด-ล้าง-เลี่ยง-หยุด ป้องกันไข้หวัดใหญ่หน้าฝน

 สธ.ห่วงไทยเข้าสู่ฤดูฝน อากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย หวั่น ปชช.ป่วยไข้หวัดใหญ่ แนะดูแลตัวเอง ยึดหลัก'ปิด ล้าง เลี่ยง หยุด'  
          เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม นพ.สุขุม กาญจน พิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่ จากรายงานโรคระบบเฝ้าระวัง ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-7 พฤษภาคม 2562 พบมีการแพร่ระบาดเพิ่มขึ้นรวดเร็ว มีผู้ป่วยจำนวนทั้งสิ้น 152,185 คนและมีผู้เสียชีวิตถึง 10 คน ว่าประเทศไทยกำลังจะเข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการ สภาพอากาศจะเปลี่ยนแปลงบ่อย ฝนตกมากขึ้นในหลายพื้นที่ อากาศมีความชื้นสูง ทำให้เกิดการแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่ได้ง่าย จากข้อมูลการเฝ้าระวังของสำนักระบาดวิทยา พบว่าฤดูฝนช่วงเดือนมิถุนายน ถึงกันยายน 2561 มีประชาชนป่วยด้วยไข้หวัดใหญ่ถึง 85,287 ราย เสียชีวิต 20 ราย ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้สูงอายุ มีโรคเรื้อรังประจำตัว
          นพ.สุขุมกล่าวว่า ได้กำชับให้สาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ทุกแห่ง เร่งลงพื้นที่ให้ความรู้ประชาชน รวมถึงแนะนำแนวทางการปฏิบัติตน ดูแลสุขภาพให้แข็งแรงเพื่อป้องกันโรค สามารถทำได้โดยง่าย คือ ยึดหลัก "ปิด ล้าง เลี่ยง หยุด" ปิดปากจมูกเมื่อป่วย ไอ จาม สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ ก่อนรับประทานอาหาร เลี่ยงการอยู่ใกล้ผู้มีอาการป่วยมีไข้ ไอ จาม หรืออยู่ในสถานที่คนมาอยู่รวมกันจำนวนมาก ให้หยุดงานหยุดเรียนหยุดกิจกรรมกับผู้อื่นเมื่อป่วย เพื่อให้หายป่วยเร็ว และไม่แพร่เชื้อให้คนอื่น รวมถึงต้องออกกำลังกายสม่ำเสมอ รักษาร่างกายให้อบอุ่น รับประทานอาหารที่สะอาดปรุงสุกใหม่ ครบ 5 หมู่ เพิ่มผักผลไม้ที่มีวิตามินซีสูง อาทิ พริกหวาน ผักคะน้า ปวยเล้ง ใบมะรุม บร็อกโคลี ส้ม มะขามป้อม สตรอเบอรี่ ฝรั่ง ลิ้นจี่ ดื่มน้ำสะอาดวันละ 6-8 แก้ว และนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
          "ประชาชน 7 กลุ่มเสี่ยง ได้แก่ 1.หญิงตั้งครรภ์ 2.เด็กอายุ 6 เดือน ถึง 2 ปี 3.ผู้ที่มีโรคเรื้อรัง ได้แก่ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด หัวใจ หลอดเลือดสมอง ไตวาย ผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างได้รับเคมีบำบัดและเบาหวาน 4.ผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป 5.ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ 6.ผู้ป่วยธาลัสซีมีย ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง ผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่มีอาการ 7.ผู้ที่มีโรคอ้วน น้ำหนักตัวมากกว่า 100 กิโลกรัม หรือค่าดัชนีมวลกาย (BMI) มากกว่า 35 กิโลกรัมต่อตารางเมตร สธ.จะให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ฟรี โดยขอรับบริการวัคซีนได้ที่สถานบริการสาธารณสุขของรัฐ และสถานพยาบาลเอกชนที่ร่วมโครงการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน-วันที่ 31 สิงหาคม 2562" นพ.สุขุมกล่าว
          นพ.สุขุมกล่าวว่า ไข้หวัดใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัส มีหลายสายพันธุ์ โดยเชื้อจะอยู่ในน้ำมูก น้ำลาย หรือเสมหะของผู้ป่วย ติดต่อผ่านการไอ จาม หรือติดมากับมือ อาการของผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ มักจะมีไข้สูง ตัวร้อน หนาวสั่น ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร คัดจมูก มีน้ำมูกใสๆ ไอ กลุ่มเสี่ยงหากสงสัยป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ควรพบแพทย์ทันที ผู้ป่วยทั่วไปหากอาการไม่ดีขึ้นภายใน 48 ชั่วโมง หรืออาการรุนแรงขึ้น เหนื่อยมาก ให้รีบพบแพทย์ทันที เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อน ลดอาการรุนแรง และการเสียชีวิตได้ ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร 1422
          ส่วนกรณี นพ.สรลักษณ์ มิ่งไทยสงค์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาล (รพ.) บางน้ำเปรี้ยว จ.ฉะเชิงเทรา ในฐานะประธานชมรมผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชนแห่งประเทศไทย ทำหนังสือถึงปลัดกระทรวงสาธารณสุข ขอให้ทบทวนเกณฑ์การจัดสรรแพทย์เข้าสู่โรงพยาบาลชุมชนทั่วประเทศ เนื่องจากขณะนี้ขาดแคลนแพทย์นั้น
          ที่ศูนย์การประชุมอิมแพคฟอรั่ม เมืองทองธานี ศ.นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พร้อมด้วย นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัด สธ. เปิดอบรมปฐมนิเทศ แพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร ผู้ให้สัญญาชดใช้ทุนของ สธ.ประจำปี 2562 ที่สำเร็จการศึกษาจากสถาบันการศึกษาต่างๆ จำนวน 3,025 คน ก่อนลงไปปฏิบัติงานในพื้นที่ตั้งแต่วันที่ 21 พฤษภาคมนี้เป็นต้นไป ทั้งนี้ ในจำนวนดังกล่าวแบ่งเป็นแพทย์ 2,150 คน ทันตแพทย์ 523 คน และเภสัชกร 352 คน
          ศ.นพ.ปิยะสกลกล่าวว่า สธ.ได้จัดสรรแพทย์ ทันตแพทย์ และเภสัชกร ไปปฏิบัติงานในพื้นที่ต่างๆ เพื่อดูแลประชาชนให้เข้าถึงบริการสุขภาพอย่างทั่วถึง ตามนโยบายที่ต้องการให้ประชาชนมีหมอประจำครอบครัว และทีมสหวิชาชีพดูแลใกล้ชิดเสมือนญาติ รับบริการใกล้บ้านที่คลินิกหมอครอบครัว โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ตั้งเป้าในปี 2570 ประเทศไทยมีแพทย์ให้การบริการต่อประชากร 1 ต่อ 1,200 คน ทันตแพทย์ 1 ต่อ 3,700 คน และเภสัชกร 1 ต่อ 4,000 คน ขณะนี้ มีอัตราส่วนแพทย์ต่อประชากร 1 ต่อ 1,800 คน ทันตแพทย์ 1 ต่อ 3,846 คน และเภสัชกร 1 ต่อ 7,962 คน
          "สธ.ได้เปิดให้แพทย์ ทันตแพทย์ และเภสัชกร เลือกจังหวัดที่จะไปปฏิบัติงานเพื่อชดใช้ทุน โดยแพทย์ ทันตแพทย์ใช้ทุน 3 ปี ส่วนเภสัชกรใช้ทุน 2 ปี แพทย์จบใหม่ทุกคนในปีแรกจะไปปฏิบัติงานที่โรงพยาบาลศูนย์/ทั่วไป เป็นเวลา 9 เดือน เพื่อฝึกปฏิบัติเพิ่มพูนทักษะเพิ่มเติม สร้างความชำนาญและประสบการณ์ในการดูแลรักษาผู้ป่วย หลังจากนั้นจะต้องลงปฏิบัติงานในโรงพยาบาลชุมชนจนครบ 3 ปี" ศ.นพ.ปิยะสกลกล่าว

 pageview  1205081    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved