Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 16/05/2562 ]
ร้านยาชุมชนอบอุ่น ด่านหน้าดูแลสุขภาพประชาชน

 เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้นำร่องเปิดช่องทางการเข้าถึงบริการสุขภาพให้กับประชาชน ด้วย "โครงการร้านยาชุมชนอบอุ่น" ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร ถือเป็นหน่วยบริการด้านยาในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง)
          นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า ผลสำรวจความพึงพอใจประชาชนต่อระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปี 2561 ระบุว่าในจำนวนประชาชนที่ไม่ใช้สิทธิกว่าร้อยละ 51 มีสาเหตุจากรอรับบริการนาน สอดคล้องกับข้อมูลสำรวจปี 2560 ที่ระบุว่ามีประชาชนร้อยละ 17.6 ที่เจ็บป่วยในรอบ 1 เดือน และเลือกซื้อยากินเอง ทั้งยังพบปัญหายาเหลือใช้ในบ้านผู้ป่วย โดยรายงานปี 2555 พบผู้ป่วยครอบครองยาเกินจำเป็น มีมูลค่าความสูญเสียทางการคลังถึง 2,350 ล้านบาท ที่เกิดจากการกินยาไม่ครบ ปัญหาการใช้ยาไม่เหมาะสม เหล่านี้สะท้อนถึงปัญหาการเข้าถึงบริการและการดูแลสุขภาพของประชาชน
          นพ.จเด็จกล่าวว่า ล่าสุด สปสช.ได้พัฒนาร้านขายยาแผนปัจจุบัน (ข.ย.1) เป็นหน่วยบริการสร้างเสริมสุขภาพ และป้องกันโรคภายใต้ระบบบัตรทอง เพื่อเป็นหนึ่งในแนวทางแก้ไขปัญหา ซึ่งได้มีการนำเสนอผ่านเวทีการรับฟังความคิดเห็นทั่วไป ปี 2560 และถูกจัดเป็นอันดับที่ 3 ของข้อเสนอที่สำคัญและต้องดำเนินการ โดยคณะอนุกรรมการกำหนดมาตรฐานการให้บริการสาธารณสุขฯ ภายใต้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) และคณะอนุกรรมการกำกับคุณภาพฯ ภายใต้คณะกรรมการควบคุมคุณภาพฯ
          "ภายหลังจากบอร์ด สปสช.เห็นชอบให้ร้านขายยา ข.ย.1 เป็นสถานบริการสาธารณสุขอื่นที่คณะกรรมการกำหนดเพิ่มเติมตามมาตรา 3 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2562 และให้นำร่องในพื้นที่กรุงเทพฯ สปสช.เขต 13 กทม.จึงดำเนินการรับสมัครร้านขายยา ข.ย.1 เพื่อขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในระบบบัตรทอง ภายใต้ชื่อร้านยาชุมชนอบอุ่น ผ่านเว็บไซต์ https://bkk.nhso.go.th/BKKregister/ เฉพาะพื้นที่ดำเนินการคลินิกหมอครอบครัว 11 เขต ได้แก่ เขตจอมทอง เขตบางกอกน้อย เขตลาดพร้าว เขตดอนเมือง เขตคันนายาว เขตบางแค เขตบางคอแหลม เขตบางขุนเทียน เขตจตุจักร เขตดุสิต เขตสวนหลวง และโอสถศาลา คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย" นพ.จเด็จกล่าว นพ.จเด็จกล่าวว่า ร้านขายยา ข.ย.1 ที่จะร่วมเป็นร้านยาชุมชนอบอุ่นได้ นอกจากมีคุณสมบัติครบถ้วนตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องการกำหนดเกี่ยวกับสถานที่ อุปกรณ์ และวิธีปฏิบัติทางเภสัชกรรมชุมชน ในสถานที่ขายยาแผนปัจจุบันตามกฎหมายว่าด้วยยา พ.ศ.2557 และประกาศสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่อง เกณฑ์การตรวจประเมินเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2561 ยังต้องเปิดบริการอย่างน้อย 8 ชั่วโมงต่อวัน มีเภสัชกรปฏิบัติงานตลอดเวลาที่เปิดบริการ และมีเภสัชกรผู้ให้บริการที่มีความพร้อมและสมัครใจเข้าร่วมเป็นหน่วยบริการร่วมให้บริการ เพื่อดำเนินกิจกรรมบริการสุขภาพ อาทิ คัดกรองความเสี่ยงในกลุ่มภาวะโรคเมตาบอลิก, ให้สุขศึกษา ความรู้ แนะนำด้านสุขภาพและการใช้ยาอย่างสมเหตุผล, ร่วมกับสหสาขาวิชาชีพอื่นในการบริการดูแลสุขภาพผู้ป่วยที่บ้าน โดยทำงานเป็นเครือข่ายร่วมกับหน่วยบริการประจำในพื้นที่ คลินิกหมอครอบครัว และดำเนินกิจกรรมอื่น เช่น บริการคลินิกอดบุหรี่ บริการยาเม็ดคุมกำเนิด เป็นต้น
          นพ.จเด็จกล่าวว่า รูปแบบร้านยาชุมชนอบอุ่นนับเป็นช่องทางการเข้าถึงบริการสุขภาพเบื้องต้นให้กับประชาชนในด้านส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค รวมถึงติดตามผู้ป่วยที่บ้านที่มีปัญหาการใช้ยา เพราะจากปี 2547-2559 ที่ได้มีการทดลองนำร่องจัดบริการร้านยาคุณภาพ 300 แห่ง ด้วยความร่วมมือของสมาคมเภสัชกรรมชุมชน (ประเทศไทย) สภาเภสัชกรรม กระทรวงสาธารณสุข และ สปสช. ที่ได้จัดบริการสุขภาพในร้านยา เช่น คัดกรองความเสี่ยงโรคเรื้อรัง ให้ความรู้เพื่อการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค รวมถึงการใช้ยาอย่างสมเหตุผล เป็นต้น พบว่าร้านยาคุณภาพช่วยให้ประชาชนเข้าถึงบริการด้านยาที่มีคุณภาพได้มากขึ้น ดังนั้น เชื่อว่าร้านยาชุมชนอบอุ่นจะเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลสุขภาพประชาชน รวมถึงช่วยสนับสนุนระบบสุขภาพของประเทศให้เข้มแข็งได้
          ด้านนพ.วีระพันธ์ ลีธนะกุล ผู้อำนวยการ สปสช. เขต 13 กทม. กล่าวว่า ขณะนี้มีร้านขายยา ข.ย.1 สมัครเข้าร่วมเป็นร้านยาชุมชนอบอุ่นแล้ว 46 แห่ง
          "ในปี 2560 พบว่าในจำนวนประชาชนที่เจ็บป่วยในรอบ 1 เดือนเกือบร้อยละ 18 ไม่ใช้สิทธิแต่จะเลือกวิธีซื้อยากินเอง สาเหตุมาจากรองรับบริการนาน นอกจากนี้ ยังพบว่ามีในจำนวนผู้ป่วยที่รับยาจากโรงพยาบาล มียาเหลือใช้จำนวนมาก มูลค่าสูงถึง 2,000-3,000 ล้านบาทต่อปี ดังนั้นหากร้านยา ข.ย.1 ร่วมเป็นหน่วยบริการสุขภาพประชาชนก็จะช่วยลดปัญหาเหล่านี้ลงได้" นพ.วีระพันธ์กล่าวและว่า ใน กทม. มีร้านยา ข.ย.1 จำนวนมาก หากเข้าร่วมเป็นร้านยาชุมชนอบอุ่นภายใต้ระบบบัตรทอง จะทำให้ประชาชนคนไทยทุกสิทธิเข้าถึงบริการเพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกัน ยังเพิ่มศักยภาพให้กับร้านขายยา ไม่เพียงแต่ทำหน้าที่ขายยาเช่นในอดีต แต่เป็นหน่วยบริการที่เชื่อมต่อกับระบบสุขภาพของประเทศ เพื่อดูแลสุขภาพประชาชน
          นพ.วีระพันธ์กล่าวว่า สำหรับบริการสุขภาพในร้านยาชุมชนอบอุ่น จะเน้นการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค อาทิ การคัดกรองความเสี่ยงในกลุ่มภาวะโรคเมตาบอลิก, ให้สุขศึกษา ความรู้ แนะนำด้านสุขภาพและการใช้ยาอย่างสมเหตุผล เป็นต้น นอกจากนี้ ยังร่วมกับสหสาขาวิชาชีพอื่นให้บริการดูแลสุขภาพผู้ป่วยที่บ้าน โดยทำงานเป็นเครือข่ายร่วมกับหน่วยบริการประจำในพื้นที่ คลินิกหมอครอบครัว และดำเนินกิจกรรมอื่นที่ อปสข. กำหนด เช่น บริการคลินิกอดบุหรี่ บริการยาเม็ดคุมกำเนิด เป็นต้น
          ขณะที่ ภญ.ศิริรัตน์ ตันปิชาติ นายกสมาคมเภสัชกรรมชุมชน (ประเทศไทย) กล่าวว่า โดยปกติร้านยาจะให้บริการประชาชนอยู่แล้ว จึงได้ร่วมมือกับ สปสช. เปิดบทบาทให้ร้านยาเป็นหน่วยบริการสนับสนุนงานด้านสาธารณสุขในเรื่องของการบริการคัดกรองโรคเรื้อรังกลุ่มภาวะเมตาบอลิก อาทิ โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคอ้วนลงพุง ด้วย
          "ร้านยาชุมชนอบอุ่นจะมีบทบาทคัดกรองโรคตามมาตรฐานการดูแลผู้ป่วยตามกลุ่มโรค ซึ่งหากพบว่าผู้ใดมีความเสี่ยงก็จะเสนอแนะให้ไปรับบริการต่อที่โรงพยาบาลตามสิทธิประกันสุขภาพ จากนั้นเภสัชกรก็จะทำหน้าที่ติดตามผู้ป่วยว่าเข้าถึงการบริการหรือไม่ และหากถูกวินิจฉัยจากโรงพยาบาลว่าเป็นผู้ป่วยด้วยโรคเรื้อรังจริง เภสัชกรก็จะติดตามการใช้ยาอย่างต่อเนื่อง" ภญ.ศิริรัตน์กล่าว นอกจากนี้ ภญ.ศิริรัตน์กล่าวว่า ร้านยาชุมชนอบอุ่นจะให้ความรู้เกี่ยวกับสุขภาพ เช่น ความรู้ในการบริโภคที่ถูกต้องของประชาชนทุกกลุ่มโรค ให้ความรู้เพื่อลดความเสี่ยงในการติดโรคติดต่อที่อาจมีการแพร่กระจายในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง รวมถึงการให้ความรู้ การปฏิบัติตัว และติดตามผู้เสพติดบุหรี่ ตลอดจนการออกเยี่ยมบ้านผู้ป่วยในบางกลุ่มโรคด้วย
          "การให้บริการคัดกรองโรค และการให้ความรู้ต่างๆ จะให้บริการกับประชาชนที่ร้านยา เรียกได้ว่าเป็นด่านหน้าที่สะดวก เนื่องจากร้านยาจะเปิดตั้งแต่เช้าและปิดค่ำ เช่น 08.00-20.00 น. หมายความว่าประชาชนสะดวกเมื่อใดก็สามารถเข้ามาใช้บริการได้" ภญ.ศิริรัตน์กล่าว และว่า นอกจากนี้ การทำงานของร้านยาไม่ได้ทำอย่างโดดๆ หากแต่มีการเชื่อมโยงข้อมูลและส่งต่อข้อมูลระหว่างหน่วยบริการตามสิทธิที่ประชาชนใช้บริการอยู่ ซึ่งระยะแรกจะใช้รูปแบบการเขียนข้อมูลทางเอกสารแล้วให้ประชาชนถือกลับไป แต่ในอนาคตจะมีการพัฒนาระบบข้อมูล เพื่อให้ข้อมูลสุขภาพของ ผู้ป่วยอยู่ติดตัวผู้ป่วยไปทุกที่
          "โครงการร้านยาชุมชนอบอุ่นถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนที่จะนำภาคเอกชนมาสนับสนุนการทำงานของภาครัฐ แต่ภาระงานไม่ได้เพิ่มขึ้น ส่วนงบประมาณ สปสช.ได้ช่วยเหลือค่าบริการบางส่วนแก่ร้านยา เช่น ครั้งละ 50-100 บาท เนื่องจากร้านยาก็มีต้นทุนของอุปกรณ์ต่างๆ ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องที่ดีมาก" ภญ.ศิริรัตน์กล่าว และว่า ในต่างประเทศจะใช้ร้านยาเป็นฐานในการส่งเสริมและป้องกันโรคทั้งหมด เช่น ประเทศออสเตรเลีย ให้ร้านยาเป็นจุดบริการดูแลจัดการโรคเบาหวาน โดยร้านยาจะทำหน้าที่ติดตามการบริโภคยาและอาหารของผู้ป่วย สหรัฐอเมริกาให้เภสัชกรในร้านยาเป็นผู้ให้วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ และในโซนพื้นที่ต่างๆ ก็ให้ร้านยาทำหน้าที่โทรถามบริษัทที่มีพนักงาน 50 คนขึ้นไป และให้เภสัชกรร้านยาไปให้บริการที่บริษัทด้วย ส่วนประเทศไทยอาจยังไม่ต้องถึงขนาดนั้น เพราะมีพยาบาลวิชาชีพที่สามารถช่วยได้ แต่ร้านยาจะเป็นหน่วยที่เฝ้าระวังโรคได้ ซึ่งที่ผ่านมา มีการรณรงค์ เช่น โรคมือเท้าปาก ไข้เลือดออก ฯลฯ ร้านยาเป็นผู้แจ้งข่าวไปยังสำนักอนามัย สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) เพื่อดำเนินการให้ทันต่อสถานการณ์
          ปัจจุบันร้านขายยา ข.ย.1 ทั่วประเทศ 15,359 แห่ง และ กทม. 4,895 แห่ง หลังจากนี้ร้านขายยาใดที่สนใจเป็นร้านยาชุมชนอบอุ่น สามารถสมัครเพิ่มเติมได้ ดูรายละเอียดและสมัครได้ที่ https://bkk.nhso.go.th หรือ https://bkk.nhso.go.th/BKKregister หรือโทร 0-2412-0933, 06-1418-7051

 pageview  1204512    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved