Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 13/02/2562 ]
ฟ้าหญิงฯ ทรงนำสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ผลิตยา รักษาโรคมะเร็งเต้านม

ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารีองค์ประธานสถาบัน วิจัยจุฬาภรณ์ เจ้าฟ้านักวิทยาศาสตร์ไทย ทรงมุ่งมั่นและทรงให้ความสำคัญต่อการพัฒนาด้านการแพทย์และการสาธารณสุขของประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ด้วยทรงตระหนักถึงความยากลำบากของประชาชนที่ไม่สามารถเข้าถึงยาชีววัตถุที่มีประสิทธิภาพในการรักษาโรคซึ่งมีราคาแพง
          โดยเฉพาะ "โรคมะเร็ง" จึงทรงริเริ่มและทรงวางรากฐานในการพัฒนายาชีววัตถุภายในประเทศ ภายใต้โครงการ "ศูนย์วิจัยและพัฒนายาชีววัตถุ" โดยโปรดให้นักวิจัยของสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ คิดค้นและพัฒนายาชีววัตถุให้ได้มาตรฐานสากล และสามารถนำไปใช้ในผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพ
          จนกระทั่งเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม พุทธศักราช 2561 ทีมนักวิจัยจากสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ภายใต้การนำของ ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ได้ประสบความสำเร็จในการพัฒนายาชีววัตถุคล้ายคลึง "Trastuzumab" (ทราสทูซูแมบ) ที่ใช้ รักษาโรคมะเร็งเต้านมได้เป็นผลสำเร็จ ซึ่งถือว่าเป็นนวัตกรรมชิ้นแรกของประเทศไทย ที่ทำการวิจัยและพัฒนาตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำโดยคนไทย เริ่มตั้งแต่การตัดต่อดีเอ็นเอและพัฒนาเป็นเซลล์ต้นแบบ โดยไม่ใช้การถ่ายทอดเทคโนโลยีจากต่างประเทศ
          ซึ่งได้ลงพระนาม และลงนามข้อตกลงความร่วมมือการวิจัยและพัฒนายาชีววัตถุ ระหว่าง สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) นับเป็น ความสำเร็จในการนำยาชีววัตถุคล้ายคลึงที่สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ได้วิจัยและพัฒนาขึ้นเข้าสู่กระบวนการการผลิต ซึ่ง มจธ.มีโรงงานต้นแบบผลิตยาชีววัตถุแห่งชาติ (National Biopharmaceutical Facility : NBF) เพื่อให้ได้ ยาในปริมาณที่มากเพียงพอต่อการนำไปศึกษาความปลอดภัยของยาเพื่อนำไปขึ้นทะเบียนตำรับ ยาต่อไป
          องค์ความรู้ใหม่ๆ นี้ทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสเข้าถึงยาที่มีคุณภาพระดับสากลได้ในราคาที่ไม่แพง และประเทศไทยจะมีขีดความสามารถในการศึกษาวิจัย พัฒนา และผลิตยาชีววัตถุที่ใช้รักษาโรคมะเร็งหรือโรคร้ายแรงอื่นๆ ได้เอง อันจะนำมาซึ่งความมั่นคงด้านสุขภาพ และการแพทย์ รวมทั้งด้านเศรษฐกิจของประเทศ
          ขณะนี้ เพียง 6 เดือนต่อมา ทีมนักวิจัยสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ประสบความสำเร็จในการพัฒนาต่อยอดนวัตกรรมชิ้นนี้ จากห้องปฏิบัติการ ขยายสู่กระบวนการผลิตในระดับโรงงานต้นแบบ (Pilot Scale) ในถังปฏิกรณ์ ขนาด 50 ลิตร ตามแนวพระนโยบายที่มุ่งสู่ความสำเร็จได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ซึ่งสามารถผลิตยาชีววัตถุได้มากเพียงพอสำหรับการตรวจวิเคราะห์คุณภาพยาชีววัตถุทางกายภาพ และเพื่อการทดสอบประสิทธิภาพและความปลอดภัยในสัตว์ทดลอง เพื่อพิสูจน์ว่ายาชีววัตถุชนิดนี้ สามารถนำไปใช้ศึกษาในผู้ป่วย (Clinical Trial) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และความปลอดภัยต่อไป
          นับเป็นการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากต้นน้ำสู่ปลายน้ำ จากการวิจัยสู่การผลิตยาชีววัตถุที่จะสำเร็จเป็นรูปธรรมในระยะเวลาอันใกล้
          นอกจากนี้ ด้วยประสบการณ์และองค์ความรู้ที่สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ได้พัฒนาขึ้น และเพื่อให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาศักยภาพและกำลังคนของประเทศตามยุทธศาสตร์ Thailand 4.0 ได้นำไปสู่การดำเนินงานร่วมกับทีมงาน จากมหาวิทยาลัย Massachusetts Institute of Technology (MIT) ในการก่อตั้ง แอสเทรลลา เทคโนโลยีส์ (Astrella Technologies) เพื่อการคิดค้นและพัฒนาสารชีววัตถุ เพิ่มศักยภาพในการวิจัย และลดต้นทุนการนำเข้าสารชีววัตถุของประเทศไทย อันจะนำไปสู่การพัฒนากระบวนการผลิตยาในระดับอุตสาหกรรมของประเทศ ตลอดจนการวิจัยและพัฒนาระดับ สูงอื่นๆ ได้ในราคาที่ลดลง ตามนโยบายขับเคลื่อนการปฏิรูปเศรษฐกิจกระแสใหม่
          โดยการนำเทคโนโลยีทันสมัยมาใช้ ทำให้สามารถเข้าสู่เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) ตามกรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ ระยะ 20 ปี 2560-2579 ที่รัฐบาลต้องการส่งเสริมอุตสาหกรรมการแพทย์และการสาธารณสุขของประเทศ อันจะเป็นพลังขับเคลื่อนให้ประเทศไทยเข้าสู่การเป็นประเทศที่มีความมั่นคงทางสุขภาพและเศรษฐกิจบนพื้นฐานของ "การวิจัยและพัฒนานวัตกรรม" เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน
          บทสรุปความสำเร็จของการวิจัยและพัฒนายาชีววัตถุคล้ายคลึง Trastuzumab ของสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ครั้งนี้ เริ่มจากการตัดต่อดีเอ็นเอซึ่งถือเป็นขั้นตอนแรกของการพัฒนายาชีววัตถุ จนพร้อมที่จะนำเข้าสู่กระบวนการ การพัฒนาการผลิตตามแนวพระนโยบายของศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี นับเป็นนวัตกรรมด้านยาชีววัตถุชิ้นแรกของประเทศไทย โดยคนไทย เพื่อคนไทย ที่ไม่ได้อาศัยการถ่ายทอด หรือซื้อเทคโนโลยีจากต่างประเทศ เป็นการเพิ่มขีดความสามารถของประเทศไทยในการแข่งขันในเวทีสากล ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยงบประมาณและนักวิจัยที่มีความรู้ความสามารถหลากหลายสาขาทำงานร่วมกัน
          โดยคำนึงถึงคุณภาพของยาเป็นหลัก มิใช่มุ่งหวังเพียงผลประโยชน์จากการลงทุน ซึ่งขั้นตอนต่อไปคือการศึกษา เพื่อพิสูจน์ว่ายาชีววัตถุชนิดนี้สามารถนำไปใช้ศึกษาในผู้ป่วย (Clinical Trial) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีความปลอดภัย
          จากนั้นจึงนำยาขึ้นทะเบียนตำรับยา ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนทั้งเชิงนโยบาย และงบประมาณอย่างเพียงพอและต่อเนื่องจากภาครัฐ นับเป็นการลงทุนเพื่อสร้างพื้นฐานสำคัญให้แก่ประเทศอันนำไปสู่ความมั่นคงและความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจอย่างคุ้มค่าต่อไปในอนาคต

 pageview  1204954    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved