Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 09/01/2562 ]
ทดลองกัญชาอีก2โรคพาร์กินสัน-อัลไซเมอร์

 ศึกษาเพิ่ม'กัญชา'ใช้รักษาโรคเพิ่มทั้ง'พาร์กินสัน- อัลไซเมอร์'
          เมื่อวันที่ 8 มกราคม นพ.โสภณ เมฆธน ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะประธานคณะกรรมการพิจารณาการนำกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ เปิดเผยภายหลังประชุมคณะกรรมการว่า ที่ประชุมมีมติให้ศึกษาเพิ่มเติมในการนำกัญชามาใช้ทางการแพทย์
          "จากเดิมจะใช้ใน 4 กลุ่มโรค คือ ลมชักในเด็ก กล้ามเนื้อแข็ง ผู้ป่วยมะเร็งที่มีอาการคลื่นไส้อาเจียนจากการได้รับยาเคมีบำบัด และปวดเรื้อรัง ซึ่งจะต้องศึกษาปริมาณความต้องการใช้เพื่อกำหนดการปลูกและผลิต ล่าสุด ที่ประชุมให้มีการดำเนินการศึกษาอีก 2 กลุ่มโรค คือ กลุ่มโรคที่น่าจะมีประโยชน์ทางการแพทย์ อาทิ โรคพาร์กินสัน อัลไซเมอร์ เครียด และการใช้ในผู้ป่วยระยะสุดท้าย ส่วนอีกหนึ่งกลุ่มคือ กลุ่มที่อาจจะมีประโยชน์ เช่น การใช้น้ำมันกัญชาในการฆ่าเซลล์มะเร็ง ซึ่งจะต้องเริ่มวิจัยตั้งแต่หลอดทดลอง และระดับคลินิกต่อไป โดยให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ไปจัดทำกรอบการดำเนินการต่อไป" นพ.โสภณกล่าว
          ด้าน นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวถึงการใช้กัญชาทางการแพทย์ว่า อยู่ระหว่าง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษประกาศใช้อย่างเป็นทางการ แต่ระหว่างนี้ อย.ได้เร่งทำกฎหมายลูก 8 ฉบับ ในจำนวนนี้มีกฎกระทรวง 2 ฉบับ ที่ต้องรอให้กฎหมายแม่ประกาศใช้ก่อน แล้วถึงจะประกาศตามได้ แต่ในส่วนของร่างประกาศรัฐมนตรีว่าการ สธ. 3 ฉบับ และประกาศคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษ 3 ฉบับ รวม 6 ฉบับนี้ ถ้าเสร็จก็ประกาศใช้ได้ทันที คาดว่าจะประกาศเร็วๆ นี้ เพราะขณะนี้คืบหน้าไปมาก
          "ในกฎหมายลูกมีการพูดถึงเรื่องการใช้กัญชาในกลุ่มที่ 2 ซึ่งน่าจะมีประโยชน์ทางการแพทย์นั้น ซึ่งเป็นยาที่ยังไม่ได้ผ่านกระบวนการวิจัยทางคลินิกก็จะให้เป็นการใช้ผ่านช่องทางพิเศษ โดยทำหลักเกณฑ์ วิธีการ ในคนไข้บางคนที่มีความต้องการใช้นั้นต้องเป็นความเห็นร่วมกันระหว่างแพทย์และคนไข้ ซึ่งเรื่องนี้จะมีการรับฟังความเห็นจากวิชาชีพที่เกี่ยวข้องต่อไป" นพ.ธเรศกล่าว
          ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะกรรมการพิจารณาการนำกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ กล่าวว่า ขณะนี้ข้อบ่งใช้ทางการแพทย์ขยายกว้างมากขึ้น ซึ่งทั้ง 4 กลุ่มโรค มีหลักฐานชัด เป็นที่ยอมรับอยู่แล้ว ส่วนกลุ่มที่ 2 จะต้องมีการทำความเข้าใจกับคนไข้ และแพทย์ ว่าไม่สามารถรักษาให้หายได้ เช่น โรคทางสมอง พาร์กินสัน อัลไซเมอร์ หรือการเจ็บปวด แต่ก็อยากให้ขยายใช้ในกลุ่มคนที่มีความจำเป็น แต่รักษาทางอื่นไม่ได้แล้ว เช่น คนสูงอายุ 80-90 ปี
          "อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เราพยายามทำกันมาทั้งหมด จะเป็นความสูญเปล่าทันที เพราะจากการตรวจสอบข้อมูล นอกจากปัญหาคำขอสิทธิบัตรกัญชาที่กรมทรัพย์สินทางปัญญายังไม่ดำเนินการยกเลิกแล้ว ยังพบว่ารัฐบาลไทยไปรับปากรัฐบาลญี่ปุ่นว่าจะแสดงความจำนงเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) ซึ่งจะครอบคลุมเรื่องการคุ้มครองพันธุ์พืชกัญชาด้วย หมายความว่าประเทศไทยไม่สามารถใช้ผลิตภัณฑ์กัญชาที่ไทยผลิตได้ หรือแม้แต่ผลิตภัณฑ์กัญชาจากประเทศอื่นที่นอกเหนือจากญี่ปุ่น หากใช้ต้องจ่ายค่าสิทธิบัตร" ศ.นพ.ธีระวัฒน์กล่าว
          ศ.นพ.ธีระวัฒน์กล่าวว่า ดังนั้นในวันที่ 11 มกราคมนี้ ตัวแทนภาคประชาสังคม ตัวแทนมหาวิทยาลัยรังสิต และสภาการแพทย์แผนไทย จะเข้าพบนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เพื่อทวงถามความชัดเจนเรื่องนี้ แต่ที่ผ่านมาจากสิ่งที่รัฐบาลชุดนี้ทำมาตั้งแต่การไม่แบนสารเคมี 3 ตัวในภาคเกษตร จนมาถึงเรื่องการใช้กัญชาทางการแพทย์ ทำให้ตัดสินใจได้อย่างชัดเจนมากว่าจะไม่เลือกพรรคพลังประชารัฐแน่นอน

 pageview  1204460    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved