Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 07/01/2562 ]
นวัตกรรม ถุงน้ำยาล้างไต เพิ่มมูลค่า-สร้างรายได้ผู้ป่วย

 กรุงเทพธุรกิจ ประเทศไทยมีผู้ป่วย โรคไตเรื้อรังประมาณ 8 ล้านคน ในจำนวนนี้ ประมาณ 1 แสนคนเป็นผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายและต้องรับการบำบัดทดแทนไตด้วยการฟอกเลือดหรือล้างไตทางช่องท้อง ใช้งบประมาณในการดูแลรักษากว่า 2 หมื่นล้านบาทต่อปี และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องประมาณ 15-20% ต่อปี หากไม่มีการแก้ไขป้องกันคาดว่าในอีก 5 ปีข้างหน้าจะมีผู้ป่วยเพิ่มเป็นกว่า 2 แสนราย ต้องใช้งบประมาณปีละกว่า 4 หมื่นล้านบาท
          ในส่วนของผู้ป่วยที่ต้องล้างไตทางช่องท้อง (CAPD) ในสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือบัตรทอง ซึ่งองค์การเภสัชกรรม (อภ.) จะต้องจัดส่งน้ำยาล้างไต ทางช่องท้องถึงบ้านผู้ป่วยเดือนละ 2.1 หมื่นราย  โดยมีอัตราการใช้น้ำยาล้างไตทางช่องท้อง โดยรวมประมาณเดือนละ 2.5 ล้านถุง หรือประมาณ 25-30 ล้านถุงต่อปี หากไม่มี การดำเนินการใดๆ ถุงเหล่านี้ก็จะถูกทิ้ง กลายเป็นขยะพลาสติกโดยสูญเปล่าหรือ ขายเป็นขยะรีไซเคิล กิโลกรัมละ 4-5 บาท แต่หากทำความสะอาดแล้วกิโลกรัมละ 15 บาท จะมีราว 6 ชุดถุงต่อกิโลกรัม เพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับถุงน้ำยาล้างไตและสร้างรายได้ที่มากขึ้นให้กับผู้ป่วย อภ.และสมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทยจึงได้ร่วมมือกันคิดค้นนวัตกรรมจากถุงน้ำยาล้างไต
          นพ.โสภณ เมฆธน ประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) กล่าวว่า ถุงน้ำยาล้างไตเป็นถุงพลาสติกที่มีคุณภาพมาก ใช้พลาสติกเกรดเอในการผลิต และมีความปลอดภัยเพราะเป็นผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ที่ต้องใช้กับผู้ป่วย เมื่อผู้ป่วยใช้แล้วแทนที่จะถูกทิ้งและเผาทำลาย น่าจะนำมาใช้ประโยชน์ได้ ซึ่งเครือข่ายผู้ป่วยโรคไตได้เริ่มนำมาประดิษฐ์เป็นสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ หลายรูปแบบ อภ.จึงเห็นว่าควรที่จะสนับสนุนให้เครือข่ายผู้ป่วยถ่ายทอดองค์ความรู้ขยายออกไปในวงกว้าง เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับถุงน้ำยาล้างไตและสร้างรายได้ให้กับผู้ป่วยโรคไตหรือชุมชน อีกทั้งลดภาวะสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับนโยบาย Green&Clean ของ อภ.และกระทรวงสาธารณสุข
          ธนพล ดอกแก้ว ประธานสมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย เล่าว่าจุดเริ่มต้นของการนำถุงน้ำยาล้างไตมาตัดเย็บเป็นกระเป๋าหิ้วเพียงเพื่อให้ผู้ป่วยใช้หิ้วเมื่อไปโรงพยาบาลสำหรับใส่ของหรือใส่ยาเพื่อลดปริมาณการใช้ถุงพลาสติก ต่อมาเห็นว่าสามารถนำมาประดิษฐ์เป็นของใช้ได้หลายอย่าง จึงได้ออกแบบผลิตภัณฑ์อย่างหลากหลายมากขึ้น เช่น กระเป๋าหลากหลาย รูปแบบ ผ้ากันเปื้อน ถุงใส่สูท เสื้อกันฝน หรือหิมะ หมอนและที่นอนลม มีจำหน่ายทั้งภายในประเทศและส่งออกไปขายต่างประเทศตามจำนวนการสั่งซื้อที่เข้ามา อาทิ สหรัฐ ออสเตรเลีย เป็นต้น แต่หากเป็น ผู้ป่วยยากไร้สมาคมก็จะมอบให้ผู้ป่วยติดเตียงฟรี ช่องทางการจำหน่ายสินค้าขณะนี้ยังไม่มีหน้าร้าน แต่สามารถสั่งซื้อได้ผ่านเฟซบุ๊คเพจสมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย
          ในการตัดเย็บถุงน้ำยาล้างไตเป็นสิ่งของต่างๆ ต้องใช้เทคนิคการเย็บแบบพิเศษ เพราะถุงมีความหนาหากไม่รู้เทคนิคจะทำให้เข็มเย็บหักได้ ซึ่งสมาคมมีช่างเย็บที่เดิมเป็นช่างเย็บในโรงงานอุตสาหกรรม แต่ลูกชายเกิดประสบอุบัติเหตุกลายเป็น ผู้ป่วยติดเตียง จึงต้องออกจากงานมาดูแล ทำให้ไม่มีรายได้ สมาคมจึงชักชวนให้มาร่วมงาน ช่างก็สามารถทำงานอยู่กับบ้านดูแลลูกและมีรายได้ไปด้วย ซึ่งโดยเฉลี่ย ณ ตอนนี้ในกลุ่มที่มีการรวมตัวกันเป็นรัฐวิสาหกิจชุมชนมีรายได้รวม 1-2 แสนบาทต่อเดือน ก็จะแบ่งรายได้ระหว่าง คนทำงานและสมาคมที่จะนำเงินมาจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อผู้ป่วยโรคไต
          "ถ้าถุงน้ำยาล้างไตเป็นขยะได้กิโลกรัมละ 5-15 บาท แต่เมื่อนำมาทำเป็นสินค้าต่างๆ ราคาจะขยับขึ้นเป็นหลักร้อยบาท สิ่งเหล่านี้จะเป็นการแสดงให้เห็นว่าคำว่าไม่ไหว คำว่าเหนื่อย คำว่าท้อ จะต้องไม่มีอยู่ในพจนานุกรมผู้ป่วยโรคไตอีกต่อไป ทุกคนสามารถสร้างรายได้ให้กับตัวเองได้ มีชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรี และหากผู้ป่วยโรคไตขายถุงน้ำยาล้างไตผ่านสมาคมก็จะไม่ถูกกดราคา  ขายได้ในราคามาตรฐานตามกลไกตลาด ทั้งนี้ ผู้ที่ซื้อผลิตภัณฑ์ถุงน้ำยาล้างไต ไปใช้งานไม่ต้องกลัวว่าจะมีการปนเปื้อน เพราะเป็นส่วนของถุงน้ำยาที่สะอาด ใช้แล้ว ไม่เกิดอันตราย" ธนพล กล่าว

 pageview  1205090    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved