Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 07/01/2562 ]
ดันรพ.รับยุค 5G อินเทอร์เน็ตคือทุกสิ่ง

  เมกะเทรนด์ทั้งข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ปัญญาด้านเทคโนโลยีประดิษฐ์ (AI) บล็อกเชน (Blockchain)การส่งข้อมูลถึงกันด้วยอินเทอร์เน็ต (Internet of Things : IoT) และ 5จี เข้ามามีบทบาทในสังคมไทยและสังคมโลกมากขึ้น รวมถึงในวงการแพทย์และสาธารณสุข จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องหยิบยกเทคโนโลยีเหล่านี้มาใช้เสริมการทำงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการประชาชน ตามแผนปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข กำหนดให้การปฏิรูป "ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศด้านสุขภาพ" เป็นสิ่งที่จะต้องดำเนินการ
          ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า นโยบาย สธ.ให้โรงพยาบาลและหน่วยงานในสังกัด ปรับเปลี่ยนระบบการทำงานให้เข้าสู่ระบบดิจิทัล นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยพัฒนาระบบบริการและระบบบริหารจัดการให้เกิดผลเป็นรูปธรรม เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการที่มีคุณภาพ รวดเร็ว ปลอดภัย ทั่วถึง เท่าเทียม เจ้าหน้าที่มีระบบปฏิบัติงานที่ทันสมัย มีประสิทธิภาพ ไร้รอยต่อ ผู้บริหารมีระบบสารสนเทศสุขภาพที่มีคุณภาพ  ทันสถานการณ์ ซึ่ง"สมาร์ท ฮอสพิทัล"  คือ การนำเทคโนโลยีด้านสุขภาพ ระบบอิเล็กทรอนิกส์ ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ มาเพิ่มความสะดวกในระบบบริการ การจัดเก็บข้อมูลสุขภาพของ ผู้ป่วย และการบริหารจัดการ
          ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล อธิบายว่า การจัดการบิ๊กดาต้า เอไอ  และไอโอที จะทำให้สามารถวิเคราะห์ข้อมูลสุขภาพได้ลึกซึ้ง หลายแง่มุม เป็นประโยชน์ต่อการเชื่อมโยงและจัดวางระบบบริการสุขภาพที่เหมาะสมกับพื้นที่   ปัจจุบัน สธ.มีข้อมูลเป็นฐานบิ๊กดาต้าลอยอยู่ในระบบคลาวด์มากกว่า 1.4 หมื่นล้านเรคคอร์ด ซึ่งเป็นข้อมูลดิบที่เกี่ยวกับการให้บริการด้านสาธารณสุขกับประชาชนจากหน่วยบริการสาธารณสุขในสังกัดที่ครอบคลุมหน่วยบริการถึง 70% ของประเทศฐานข้อมูลนี้ นำมาใช้ในการกำหนดนโยบายของประเทศทั้งในมิติของการป้องกันและรักษา ตอบโจทย์สุขภาวะของคนในประเทศ
          อาทิ ข้อมูลการฉีดวัคซีนต่างๆ ทำให้ทราบว่าแต่ละพื้นที่มีการฉีดวัคซีนชนิดใดไปแล้วบ้าง ครอบคลุมการฉีดแล้วกี่เปอร์เซ็นต์ หากข้อมูลแสดงพื้นที่ไหนยังฉีดน้อยก็จะได้เข้าไปเร่งดำเนินการ หรือในบิ๊กดาต้าในระดับโรงพยาบาลแต่ละแห่ง ข้อมูลสุขภาพ ข้อมูลด้านสุขภาพ ระบบยา ห้องปฏิบัติการ การเงินการคลัง การพัสดุ และบุคลากร สามารถนำมาวิเคราะห์ ประมวลผล และสังเคราะห์เป็นแผนการบริหารจัดการของโรงพยาบาล
          ทั้งนี้ในการเพิ่มประสิทธิภาพระบบบริการสาธารณสุข นำบิ๊กดาต้าเชื่อมโยงระบบสารสนเทศของทุกหน่วยงานเข้าด้วยกัน ใช้เทคโนโลยี IoT เชื่อมโยงทุกอุปกรณ์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต เช่น ระบบคิว (Queue) แอพพลิเคชั่น (mHealth) ระบบเวชระเบียนอิเล็กทรอนิกส์ (EMR) เพื่อแลกเปลี่ยนเชื่อมโยงข้อมูลการรักษาพยาบาล  ผลการตรวจสุขภาพของผู้ป่วยระหว่างสถานพยาบาล
          ขณะนี้อยู่ระหว่างประเมินผลทดลองดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัยด้านข้อมูลสากล ระบบอิเล็กทรอนิกส์ (Ehealth) เพิ่มคุณภาพการรักษา อาทิ การนัดหมาย การจัดคิว การเข้าถึงข้อมูลสุขภาพของตนเอง การจัดยา การส่งต่อผู้ป่วยไปต่างโรงพยาบาล เป็นต้น เพิ่มประสิทธิภาพการตรวจวินิจฉัย การรักษา และการเข้าถึงข้อมูลผู้รับการรักษา เพื่อลดความแออัด ลดการรอคอย เพิ่มความสะดวก รวดเร็ว  มีข้อมูลที่ถูกต้องแม่นยำ
          รมว.สาธารณสุขยกตัวอย่าง รพ.ตรัง ยกเลิกการใช้บัตรผู้ป่วยแบบกระดาษ(OPD Card) เป็นการบันทึกข้อมูลผู้ป่วยด้วยระบบคอมพิวเตอร์ และจัดเก็บข้อมูลเก่าของผู้ป่วยด้วยการสแกนเอกสาร จัดเก็บข้อมูลผู้ป่วยในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์
          รวมถึง พัฒนาระบบลงทะเบียน ผู้ป่วยด้วย "ตู้อัจฉริยะ" (Kiosks)  เครื่องมือที่ถูกออกแบบให้ช่วยอำนวยความสะดวก เพื่อลดเวลาของการรอคอยการลงทะเบียน มีความแม่นยำและเชื่อมโยงกับฐานข้อมูลของโรงพยาบาล โดยลักษณะการทำงานของตู้อัจฉริยะ สามารถลงทะเบียนผู้ป่วยใหม่ รับบัตรคิวอัตโนมัติ ตรวจสอบนัด  ตรวจสอบสิทธิการรักษา และมีระบบการแจ้งเตือนหากถึงคิวการรับบริการและการรับยาผ่านแอพพลิเคชั่นไลน์โดยผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องนั่งรอ รวมถึงจะมีการเตือนล่วงหน้า 1 วันก่อนถึงวันนัด ทำให้ลดขั้นตอนการดำเนินงาน ลดระยะเวลาการรอคอย เพิ่มความสะดวก รวดเร็ว และสามารถประมวลผลให้เจ้าหน้าที่นำข้อมูลมาบริหารจัดการได้ทันเวลา
          และกรณีการใช้เอไอ สธ.กำลังร่วมวิจัยพัฒนาการนำโปรแกรมเอไอ มาช่วยแพทย์ในการวินิจฉัยโรค ดังเช่นที่ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้าน จอประสาทตา รพ.ราชวิถี ได้ร่วมงานกับ Google Research Team วิจัยความแม่นยำของ software AI ที่ใช้การถ่ายภาพจอประสาทตาระบบดิจิทัลเข้ามาช่วยตรวจตาผู้ป่วยเบาหวานและช่วยอ่านภาพจอประสาทตาของผู้ป่วยเบาหวาน ซึ่งมีความไวสูงกว่าบุคลากรที่ทำหน้าที่อ่านภาพจอประสาทตาเพื่อคัดกรองเบาหวานเข้าตา  และมีความจำเพาะใกล้เคียงกัน โดยจะมีการวิจัยต่อเนื่อง  นำเอไอ มาอ่านภาพแบบเรียลไทม์ จะช่วยลดภาระงานบุคลากร เพิ่มความแม่นยำในการค้นพบผู้ป่วย อาจทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงบริการมากขึ้น  แก้ปัญหาตาบอดจากเบาหวาน
          นอกจากนี้ ในอนาคต รพ.ราชวิถีได้วางแผนพัฒนานวัตกรรมการรักษา เช่น การผ่าตัดโดยใช้การฉายภาพ 3 มิติ (3 D Visualization) การทำเฝือกด้วย 3 D printing การลดความเจ็บปวดโดยใช้ความจริงเสมือน (Virtual reality)  มาดำเนินการในโรงพยาบาลด้วย
          ขณะที่โรงพยาบาลศิริราช ใช้ หุ่นยนต์จ่ายยาอัตโนมัติเต็มรูปแบบ รองรับผู้ป่วยที่เข้ามาใช้บริการจากห้องยาประมาณ 1 หมื่นคนต่อวัน ที่ผ่านมาใช้เวลารอนานร่วม 1 ชั่วโมงก็จะเหลือไม่เกิน 15 นาที ที่สำคัญเป็นหุ่นยนต์สัญชาติไทยและในอนาคตมีแนวคิดที่จะนำหุ่นยนต์ดินสอมาช่วยเจ้าหน้าที่พยาบาลมอนิเตอร์สัญญาณชีพ โดยเป็นการศึกษาทดลองใช้เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการบริการในอนาคตต่อไป
          ซึ่งเทคโนโลยีหุ่นยนต์ทางการแพทย์ เป็นความจำเป็นที่ผู้ประกอบการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องให้ความสำคัญ เนื่องจากระบบสุขภาพไทยในอนาคต 5-10 ปีกำลังได้รับความท้าทายจากการเข้าสู่สังคมสูงอายุ ภาคแรงงานลดลง โรคมีความซับซ้อนมากขึ้น ค่าใช้จ่ายทางการแพทย์สูงขึ้น  หุ่นยนต์จึงมีความสำคัญเพราะเข้ามาเป็นผู้ช่วยในการให้บริการ อีกทั้งไทยจึงจำเป็นต้องผลิตใช้เองแทนเทคโนโลยีนำเข้าที่มีราคาแพง
          ส่วนเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ นำเทคโนโลยี ROBODOCTOR:Remote Presence System จากสหรัฐอเมริกา มารักษาเช่น ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง(Stroke) ที่ต้องได้รับการรักษาหลังจากเกิดอาการภายใน 3 ชั่วโมง ซึ่งการสื่อสารผ่านระบบ Remote Presence System ใช้ในพื้นที่หรือโรงพยาบาลที่ไม่มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางอยู่ใน โรงพยาบาลนั้น โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ใช้หุ่นยนต์นี้เข้าไปพบคนไข้แทนแพทย์เอง ซึ่งสามารถเห็นสีหน้า อาการของ ผู้ป่วยได้โดยตรงผ่านกล้องบริเวณด้านหน้าหุ่นยนต์ ซึ่งการส่งต่อภาพและข้อมูลนี้อย่างทันที ช่วยทำให้คนไข้ได้รับการ รักษาอย่างทันท่วงที โดยเฉพาะโรคหลอดเลือดสมอง ยิ่งได้รับการรักษาที่รวดเร็วมากเท่าใด ยิ่งช่วยให้คนไข้ได้มีโอกาสฟื้นตัวและมีคุณภาพชีวิตหลังการรักษาได้เร็วขึ้น
          ส่วนที่ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ได้นำเทคโนโลยีหุ่นยนต์ ช่วยผ่าตัดเข้ามาให้บริการรักษาโรคมะเร็งต่อมลูกหมากและมะเร็งไต มาเป็นเวลา 5 ปีแล้ว รวมทั้งใช้ในการผ่าตัดรักษาผู้ป่วยเฉพาะทางอีกหลากหลายสาขา เช่น สาขาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา ศัลยศาสตร์ทั่วไป ศัลยศาสตร์ลำไส้ใหญ่และทวารหนัก โดยอยู่ภายใต้ดุลพินิจของศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
          เช่นเดียวกับที่ รพ.รามาฯ ใช้หุ่นยนต์ผ่าตัดสมอง มีความปลอดภัยสูง ลดอัตราเสี่ยง ลดภาวะแทรกซ้อนของการผ่าตัดลงได้มาก ทั้งยังมีความแม่นยำในการผ่าตัดสูงด้วย  ทำให้ศัลยแพทย์สามารถวางแผนการผ่าตัดได้เป็นอย่างดีอย่างมีขั้นตอน โดยค่าความคลาดเคลื่อนอยู่ที่ไม่เกิน 1 มม. นอกจากนี้ การผ่าตัดยังเป็นแบบแผลเล็ก โดยเปิดแผลที่ผิวหนังเพียง 1 เซนติเมตร (ซม.) และแผลที่กะโหลกที่ 3 มม. จะทำในผู้ป่วยเนื้องอกในสมอง เส้นเลือดโป่งพอง ภาวะลมชักในสมอง ภาวะพาร์กินสันที่ไม่สามารถรักษาด้วยยาได้แล้ว หุ่นยนต์มีมูลค่าประมาณ 40 ล้านบาท ในอาเซียนประเทศไทยซื้อเข้ามาเป็นประเทศที่สอง รองจากเวียดนาม
          "'สมาร์ท ฮอสพิทัล' คือ การนำเทคโนโลยีด้านสุขภาพ ระบบอิเล็กทรอนิกส์ ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ มาเพิ่มความสะดวกในระบบบริการ การจัดเก็บข้อมูลสุขภาพของผู้ป่วย และการบริหารจัดการ"

 pageview  1204268    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved