Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 28/11/2561 ]
ปลัดสธ.หารือ 9วิชาชีพ แก้ปัญหาแบกภาระงานหวังดูแลผู้ป่วยมีคุณภาพ

 'หมอสุขุม'เชิญ 9 วิชาชีพ หารือ ปรับเวลาการทำงานให้เหมาะสม ให้บุคลากรพักผ่อนเพียงพอ ดูแล-รักษาผู้ป่วยมีคุณภาพ
          เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน นพ.สุขุม กาญจน พิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า สธ.ได้เชิญทุกวิชาชีพมาประชุมหารือและหาแนวทางในการแก้ปัญหาบุคลากร โดยเฉพาะเรื่องภาระงาน มีตัวแทน 9 วิชาชีพที่เกี่ยวข้อง คือ แพทยสภา สภาเภสัชกรรม ทันตแพทย์พยาบาล กายภาพบำบัด นักเทคนิคการแพทย์ สาธารณสุขชุมชน แพทย์แผนไทย นักวิชาการสาธารณสุข และนักรังสีเทคนิคการแพทย์เข้าร่วมหารือ เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลอย่างมีคุณภาพ มีการให้บริการที่เป็นมาตรฐาน รวมทั้งบุคลากรต้องมีเวลาทำงานที่เหมาะสม มีความสุขในการทำงาน โดยทุกวิชาชีพมีความสำคัญ มีการทำงานร่วมกันเป็นทีม และแต่ละวิชาชีพมีการทำงานหนักที่แตกต่างกัน โดยปกติการทำงานคือ 40 ชั่วโมง และในบางวิชาชีพทำงานล่วงเวลาได้ถึง 40 ชั่วโมง จึงต้องมีการปรับเวลาให้เหมาะสม
          "เบื้องต้นทุกคนมีความเห็นพ้องว่าจะร่วมกันแก้ปัญหาไปด้วยกัน โดยควรมีการจัดรูปแบบเวลาทำงานที่เหมาะสม ซึ่งจะทำให้สามารถกำหนด คำนวณจำนวนบุคลากรที่เหมาะสมได้  โดยเบื้องต้นได้ขอให้วิชาชีพต่างๆ จัดทำข้อมูลรายละเอียด และนัดหารือกันอีกครั้งใน 2 สัปดาห์ เพื่อหาทางออกร่วมกันให้ได้ โดยเมื่อได้ข้อมูลแล้วจะนำเสนอเชิงนโยบายต่อไป ซึ่งขอย้ำว่า เราจะมองทุกมิติร่วมกัน เพื่อกำหนดเป็นแผนพัฒนาบุคลากร และจะทำให้ทราบว่าโรงพยาบาล (รพ.) ในแต่ละระดับควรมีบุคลากรเท่าไร และควรจัดรูปแบบการทำงานเป็นทีมอย่างไร การกำหนดกลุ่มงานทำงานอย่างเหมาะสม เป็นต้น" ปลัด สธ.กล่าว และว่า นอกจากนี้ สธ.มองว่าหลายวิชาชีพทำงานด้วยความเสียสละ ในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุจากรถฉุกเฉินจนทำให้บุคลากรเสียชีวิต เรื่องนี้ทางกระทรวงพยายามปรับระบบ พยายามดูแลเพื่อให้บุคลากรมีความมั่นใจว่ารถพยาบาลมีความปลอดภัย และมีมาตรฐานในการส่งต่อผู้ป่วย รวมทั้งเมื่อมีเหตุการณ์เกิดขึ้นแล้ว ทางกระทรวงพร้อมจะให้การดูแลเยียวยา โดยกำลังหาทางในการช่วยเหลือให้เป็นระบบมากขึ้น
          ผู้สื่อข่าวถามว่า สำหรับภาระงานอย่างกรณีของแพทย์ จะยึดประกาศของแพทยสภาหรือไม่ นพ.สุขุมกล่าวว่า แพทยสภามีความชัดเจนอยู่ ซึ่งได้เสนอมาตรฐานแพทย์เพิ่มพูนทักษะหรือแพทย์ฝึกหัดว่าควรทำงานตามกรอบเวลาอย่างไร แต่มาเพิ่มเติมไม่ใช่แค่แพทย์ฝึกหัด แต่จะรวมแพทย์ทุกสาขา ทุกด้านให้หมด แพทยสภาก็รับปากว่าจะร่วมมือกันในการศึกษา สำรวจ ซึ่งจะใช้เวลาประมาณอีก 2 สัปดาห์ เพื่อนำข้อมูลมาเสนออีกครั้ง
          เมื่อถามว่า พยาบาลมีการเรียกร้องว่า ควงเวรทำงานเยอะมาก นพ.สุขุมกล่าวว่า สธ.มีการดูภาระงานของพยาบาลเช่นกัน โดยจะพิจารณาว่างานไหนเป็นงานของพยาบาลที่แท้จริงก็ต้องทำ อันไหนเป็นบทบาทเสริมของข้าราชการหรือเป็นการเสริมช่วยวิชาชีพอื่น ก็ต้องช่วยกันดูเพื่อให้เกิดความสมดุล ไม่ใช่ทุกอย่างต้องมาที่พยาบาลหมด ต้องเกลี่ยงานอย่างเหมาะสมด้วย
          เมื่อถามว่า ที่ผ่านมามีการกระจุกตัวของแพทย์ พยาบาล ปัญหาภาระงานต้องดูในเรื่อง ของการกระจายบุคลากร นพ.สุขุมกล่าวว่า อย่างที่เรียนว่าใน สธ.ได้มีการคำนวณค่า FTE หรืออัตรา กำลังตามภาระงานอยู่แล้ว ก็จะมีการกำหนด ว่าควรต้องทำงานที่ไหนอย่างไร แต่ปัจจุบันแพทย์ของหน่วยงานรัฐ มีทั้งแพทย์ที่สังกัด สธ. กับแพทย์ภาครัฐที่ทำงานในหน่วยงานอื่น เช่น โรงเรียนแพทย์ ซึ่งต้องอยู่ในจังหวัดใหญ่ๆ ก็อาจจะดูเหมือนแพทย์กระจุก แต่ขณะเดียวกันขึ้นอยู่กับภารกิจของแต่ละคน แต่ทั้งหมดทั้งปวง สธ.จะปรับปรุงโดยดูว่าจำนวนบุคลากรที่ต้องการเป็นอย่างไรตามบริบทปัจจุบัน
          "การที่เราจัดภาระงาน เพื่อความปลอดภัยของคนไข้ให้ได้รับบริการที่มีคุณภาพ มาตรฐานที่ดีขึ้น เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าเวลาเข้ารับบริการจะมีแพทย์ที่มีความพร้อมในการให้บริการ หากมีภาระงานมากไป บางทีแพทย์พักผ่อนไม่เพียงพอ ก็จะทำให้เสียเวลาในการดูแลคนไข้" นพ.สุขุมกล่าว
          นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ทราบดีว่าบุคลากรทางการแพทย์มีภาระงานมาก ซึ่งในกรมการแพทย์มี รพ.ในสังกัดประมาณ 31 แห่งจากทั่วประเทศ โดยเป็น รพ.เฉพาะทาง อย่างรักษาโรคมะเร็ง เป็นต้น จึงมองว่าหากจะแก้ปัญหาเรื่องภาระงาน ซึ่งหากมากจนเกินไปอาจส่งผลต่อสุขภาพผู้ปฏิบัติงาน และสุดท้ายจะส่งผลต่อการบริการประชาชนได้ ที่ผ่านมาได้มอบหมายให้ นพ.เมธี วงศ์ศิริสุวรรณ รองผู้อำนวยการสำนักกฎหมายการแพทย์ กรมการแพทย์ ช่วยรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาบุคลากรว่าในการทำงานมีอะไรบ้าง ซึ่งไม่ใช่แค่แพทย์ แต่ให้รวมวิชาชีพอื่นๆ ที่ต้องทำงานขึ้นเวรใน รพ.ทั้งหมด
          "เบื้องต้นขอให้รวบรวมข้อมูล รพ.ในสังกัดกรมการแพทย์ก่อน จากนั้นขยายไปยัง รพ.ในสังกัดสำนักงานปลัดฯ และเสนอเป็นนโยบายเพื่อแก้ปัญหาต่อไป" อธิบดีกรมการแพทย์กล่าว
          ด้าน นพ.เมธีกล่าวว่า ขณะนี้ได้ส่งแบบ สอบถามถึงปัญหาการทำงานของบุคลากรใน 5 วิชาชีพคือ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร เทคนิคการแพทย์ และรังสีเทคนิค ซึ่งเป็นกลุ่มที่พบว่ามีการทำงานเวรดึก คาดว่าจะใช้เวลา 1 เดือน แต่ทราบมาว่าทางปลัดกระทรวงให้มีการดำเนินการข้อมูลในส่วนนี้ จึงคิดว่าจะเสนอต่อทางแพทยสภาด้วย เพื่อนำข้อมูลเบื้องต้นให้ทางสำนักงานปลัดฯ ใน 2 สัปดาห์ต่อจากนี้ หากได้ข้อมูลปัญหาของบุคลากรในการทำงาน ทั้งภาระงาน ฯลฯ ก็จะทำให้ทราบความชัดเจน ว่าข้อมูลที่แท้จริงคืออะไร จะได้นำไปเพื่อหาทางออกในการแก้ปัญหา จะทำให้ทราบว่าขาดคนอีกเท่าไร ในกลุ่มวิชาชีพอะไรบ้าง

 pageview  1205009    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved