Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 20/08/2561 ]
สู้ ไข้เลือดออก งัด3เก็บ สกัดระบาด

"โรคไข้เลือดออก" กลายเป็นโรคประจำถิ่น โดยเฉพาะในช่วงหน้าฝนจะมีแอ่งน้ำขังแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย พาหะของโรคนี้ ที่ผ่านมากรมควบคุมโรค (คร.) ได้คาดการณ์ว่าช่วงหน้าฝนปีนี้จะพบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกมากกว่า 10,000 รายต่อเดือน เห็นได้จากจำนวนผู้ป่วยในเดือนมิถุนายนพบผู้ป่วย 13,233 ราย และเดือนกรกฎาคม 10,812 ราย ปัญหาคือไม่ใช่แค่ช่วงหน้าฝนที่พบการระบาด เพราะจากการแปรปรวนของอากาศก็ยังพบได้ตั้งแต่เดือนเมษายนด้วยซ้ำไป
          "ปี 2561 เราพบผู้ป่วยตั้งแต่ต้นปี จึงมีการคาดการณ์ว่าปีนี้จะระบาดแน่ๆ ซึ่งก็เป็นไปตามจริง ในส่วนของผู้ป่วยรายเดือนพบสูงกว่าค่ามัธยฐานเป็นค่าเฉลี่ย ดูจากแต่ละเดือนย้อนหลังไป 5 ปี เริ่มตั้งแต่เดือนเมษายน จริงๆ เป็นหน้าร้อน จำนวนผู้ป่วยไม่ควรจะมาก
          แต่ปรากฏว่าฝนฟ้ามีความผันแปร ทำให้พบผู้ป่วยมากขึ้นตั้งแต่เดือนเมษายน และค่อยๆ สูงในเดือนพฤษภาคม จนมากที่สุดในเดือนมิถุนายน กระทั่งปัจจุบันเดือนสิงหาคมยังเป็นเดือนที่น่ากังวล เรียกว่าตลอดช่วงฝนต้องเฝ้าระวังทั้งหมด" นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงการระบาดของโรคไข้เลือดออก
          อธิบดีกรมควบคุมโรคอธิบายอีกว่า โรคไข้เลือดออกจึงนับเป็นโรคประจำถิ่น และมีรูปแบบของการระบาดปีเว้นปี หรือปีเว้น 2 ปี มีความผันแปรไปตามฤดูกาล พบผู้ป่วยมากที่สุดช่วงฤดูฝน ตรงกับช่วงนี้พอดี
          เมื่อดูข้อมูลย้อนหลังเรามีการระบาดของโรคมากที่สุดคือ ปี 2556 หลังจากนั้นก็ลดลง และระบาดอีกทีในปี 2558 ขณะที่ปี 2561 ตัวเลขโดยรวมตั้งแต่ต้นปี จนถึงปัจจุบัน 44,422 ราย เสียชีวิต 54 ราย
          ที่ผ่านมามีการรณรงค์ผ่านโครงการอาสาปราบยุง เริ่มคิกออฟไปเมื่อกรกฎาคมที่ผ่านมา มีประชาชนทุกฝ่ายและอาสาต่างๆ มาร่วมทำ 3 เก็บ ได้ผลดีมาก ผู้ป่วยชะลอลง เพราะแค่เดือนกรกฎาคมหากไม่ทำอะไรเลย คาดว่าอาจมีผู้ป่วยเฉพาะเดือนนี้สูงถึง 15,000-20,000 รายต่อเดือน แต่จากการรณรงค์พบผู้ป่วย 10,812 ราย
          อย่างไรก็ตาม จากการดูค่าเฉลี่ยย้อนหลังหรือที่เรียกว่าค่ามัธยฐานย้อนหลัง 5 ปี จะพบผู้ป่วยมากที่สุดในช่วงเดือนสิงหาคม ถือว่ายังเป็นขาขึ้นของการระบาดอยู่ เพียงแต่เราชะลอผู้ป่วยลงจากความร่วมมือกันของทุกฝ่าย ยังจำเป็นต้องดำเนินการต่อเนื่องตลอดหน้าฝนนี้
          "แม้ภาพรวมเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม มีผู้ป่วยประมาณ 4 หมื่นกว่าราย เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2558 อยู่ที่ 5.4 หมื่นราย ขณะที่ปี 2556 ทะลุไปแสนราย แต่เราก็นิ่งนอนใจไม่ได้ ว่าสิ่งหนึ่งที่เราพบคือมีอัตราป่วยตาย และเมื่อเข้าไปดูเชิงลึกจะพบว่ากลุ่มผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่ เป็นผู้ใหญ่หรือผู้สูงอายุ ที่สำคัญทั้ง 2 กลุ่มมีโรคประจำตัว จึงจำเป็นต้องให้ความสำคัญเพิ่ม เพราะในอดีตเราเชื่อว่าไข้เลือดออกเป็นในเด็ก ทำให้ผู้ใหญ่นึกไม่ถึง รวมทั้งบุคลากรทางการแพทย์ก็นึกไม่ถึงด้วย จึงทำให้เกิดการวินิจฉัยล่าช้า และส่วนหนึ่งมักจะวินิจฉัยโรคด้วยตัวเอง ไปซื้อยากินเอง หรือไปหาคุณหมอที่คลินิก เราจึงต้องรณรงค์ให้ความรู้ทั้งคลินิกและร้านขายยา ให้สงสัยกรณีมีผู้ป่วยมาด้วยอาการไข้ ภายใน 1-2 วันไม่ดีขึ้นอย่าลืมนึกถึงโรคไข้เลือดออกด้วย"นพ.สุวรรณชัยกล่าว
          หลายคนสงสัยว่าการพบโรคในผู้ใหญ่ส่งสัญญาณการระบาดในผู้ใหญ่แล้วหรือไม่ อธิบดีกรมควบคุมโรคบอกว่า เมื่อดูจำนวนผู้ป่วยโดยรวม 4.1 หมื่นกว่ารายก็ยังพบว่า รูปแบบยังพบในกลุ่มเด็กวัยเรียน และวัยทำงานตอนต้น หรือประมาณอายุ 5-24 ปี พบมากที่สุด กลุ่มอายุต่ำกว่า 5 ขวบพบน้อยลง แต่เริ่มพบในกลุ่มผู้ใหญ่ เมื่อเปรียบเทียบย้อนหลังในกลุ่มอายุ 35 ปีขึ้นไปไม่ค่อยเจอ และผู้สูงอายุแทบจะนับได้เลย แต่ปีนี้กลับพบมากขึ้น แต่ก็ไม่ถึงระบาด
          "สภาพความอยู่เป็นเมืองมากขึ้น ประกอบกับผู้ป่วยมีโรคประจำตัว ทั้งโรคอ้วน หรือโรคไม่ติดต่อเรื้อรังต่างๆ ก็มีส่วนทำให้อาการรุนแรงเมื่อเป็นไข้เลือดออก ที่เสียชีวิตก็มาจากจุดนี้ด้วย รวมทั้งไข้เลือดออกอาการรุนแรงมาก มักเกี่ยวกับการติดเชื้อครั้งที่ 2 ไม่ใช่ครั้งแรก บางครั้งผู้ใหญ่อาจเคยเป็น แต่ไม่รุนแรง เมื่อมาติดเชื้อครั้งที่ 2 และมีภาวะเสี่ยงเพิ่มก็เป็นปัจจัย แต่จากสาเหตุจริงๆ ทางระบาดวิทยาจะร่วมกับนักวิชาการต่างๆ ศึกษาเรื่องเหล่านี้เพิ่มขึ้น" นพ.สุวรรณชัยกล่าวหากเป็นโรคไข้เลือดออก ณ ปัจจุบัน ถือว่ามีความเสี่ยงเสียชีวิตหรือไม่ อธิบดีกรมควบคุมโรคย้ำว่า จริง เนื่องจากไข้เลือดออกในปัจจุบันเกิดจากเชื้อไวรัส และอาการจะรุนแรงเมื่อติดเชื้อครั้งที่ 2 เพราะฉะนั้น โรคบางส่วนสัมพันธ์กับภูมิต้านทานของร่างกาย
          ดังนั้น หากวินิจฉัยพบโรคและรักษาแต่เนิ่นๆ ตามอาการรวมทั้งการประคับประคองจึงเป็นเรื่องสำคัญ หากรอจนมีอาการมาก มีภาวะช็อก เลือดออก หรือมีภาวะกลไกการแข็งตัวของเลือดเสียไป จนกระทั่งอวัยวะภายในล้มเหลวก็จะรักษายาก มีความเสี่ยงเสียชีวิตในที่สุด
          ดังนั้น การป้องกันสำคัญมาก อันดับแรก คือ อย่าให้ยุงกัด เราสามารถทำได้ ทั้งการทาโลชั่น มีสมุนไพรผลิตเป็นโลชั่นกันยุง บางประเภทกันได้ถึง 7 ชั่วโมง รวมไปถึงนอนกางมุ้ง หรือมีมุ้งลวด หลีกเลี่ยงไปในแหล่งยุงชุม หากเลี่ยงไม่ได้ก็ต้องช่วยกันคนละไม้ละมือในการจัดการแหล่งเพาะพันธุ์ จัดการลูกน้ำยุงลาย ยุงเต็มวัย
          ส่วนโรคไข้เลือดออก ณ ปัจจุบันพบพื้นที่ไหนมาก นพ.สุวรรณชัยกล่าวว่า รูปแบบจะสัมพันธ์กับการตกของฝน ทุกปีก็เริ่มจากภาคใต้ตอนล่าง มาภาคใต้ตอนบน และมาแถวภาคกลางตอนล่าง จนมา กทม. แต่จริงๆ พื้นที่ต่างๆ ก็มีความเสี่ยงได้ แต่หากในช่วงหน้าฝนก็จะมีรูปแบบประมาณนี้ จะสัมพันธ์กับฝนตกด้วยนั่นเอง
          สิ่งสำคัญคือวิธี "3 เก็บ" พิสูจน์แล้วทำได้ง่ายและป้องกันโรคได้ โดยมาตรการ 3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค คือ 1.เก็บบ้านให้สะอาด โปร่ง โล่ง ไม่ให้มีมุมอับทึบ เป็นที่เกาะพักของยุง 2.เก็บขยะ เศษภาชนะรอบบ้าน ทำต่อเนื่องสัปดาห์ละครั้ง ไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง และ 3.เก็บน้ำ สำรวจภาชนะใส่น้ำ ต้องปิดฝาให้มิดชิด ป้องกันยุงลายไปวางไข่ เพื่อป้องกัน 3 โรค คือ โรคไข้เลือดออก โรคติดเชื้อไวรัสซิกาและโรคไข้ปวดข้อยุงลาย
          หากเจอคนสงสัยหรือมีอาการให้รีบไปพบแพทย์ รวมทั้งแจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เพื่อตรวจสอบในพื้นที่ จะเข้าไปตัดวงจรของยุงลายเต็มวัยในรัศมี 100 เมตร กรณีนี้เป็นการควบคุมโรค

 pageview  1205014    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved