Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 08/08/2561 ]
นักระบาดวิทยา ซีลคุมโรค ผู้ปิดทองหลังพระ ถ้ำหลวง

   เหตุการณ์ทีมหมูป่า 13 คนติดอยู่ภายในถ้ำหลวง จ.เชียงราย ภารกิจสำคัญไม่ได้มีเพียงช่วยชีวิตผู้ประสบภัยออกจากภายในถ้ำ และรักษาพยาบาลอาการเจ็บป่วยจนสามารถใช้ชีวิตตามปกติเท่านั้น แต่ในมุมหนึ่งภารกิจเฝ้าระวังโรคติดต่ออุบัติใหม่ก็สำคัญไม่แพ้กัน เพราะพื้นที่ถ้ำดังกล่าวมีค้างคาวแหล่งรังโรคสำคัญอาศัยอยู่ด้วย มีความเสี่ยงที่จะเกิดการติดโรคจากสัตว์สู่คน จนกลายเป็น การระบาดของโรคสู่บุคคลอื่นๆ ซึ่งผู้อยู่เบื้องหลังคือ "ทีมระบาดวิทยา" ที่เปรียบประหนึ่งหน่วยซีล (SEALs) ในการควบคุมโรค
          ณ วินาทีที่ทราบข่าวการประสบภัยของทั้ง 13 คน การวางแผนเตรียมความพร้อมเฝ้าระวังโรคก็เกิดขึ้นแทบจะพร้อมๆกับการวางแผนกู้ภัยช่วยชีวิต เมื่อนายสัตวแพทย์ได้ลงพื้นที่ถ้ำหลวงแล้วพบว่าบริเวณถ้ำดังกล่าวมีค้างคาวอาศัยอยู่ด้วย จึงประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เพื่อวางมาตรการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรค เนื่องจากไม่เพียงแต่ทีมหมูป่า 13 คนเท่านั้นที่ถือเป็นกลุ่มเสี่ยงติดโรค แต่ยังรวมถึงผู้ที่เข้าไปช่วยเหลือด้วย
          นพ.โรม บัวทอง นายแพทย์เชี่ยวชาญ สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค สธ.เล่าว่า ความสำคัญอย่างยิ่งของการที่จะต้องมีการเฝ้าระวังโรคจากภารกิจครั้งนี้ เนื่องจากในภาวะปกติหากมนุษย์จะเข้าไปในถ้ำต้องใส่ชุดป้องกันตนเอง เช่น ใส่หมวก แว่นและหน้ากากอนามัย แต่ในการเข้าไปช่วยชีวิตผู้ที่ติดในถ้ำอาจทำให้การป้องกันตัวเองไม่สมบูรณ์ การเฝ้าระวังอาการเจ็บป่วยในผู้ประสบภัยและกลุ่ม เจ้าหน้าที่ที่เข้าไปในถ้ำจะเป็นการช่วยวินิจฉัย รักษา และป้องกันโรคได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
          ก่อนเริ่มปฏิบัติภารกิจมีการหารือและวางแผนร่วมกันเป็นอย่างมาก เนื่องจากเชื้อโรคในถ้ำที่จะติดต่อมาสู่คนเป็นโรคติดต่ออุบัติใหม่นั้นมีจำนวนมาก ทั้งโรคที่รู้จักอยู่แล้วและโรคที่ยังไม่รู้จัก รวมถึง ระยะเวลาในการเฝ้าระวังโรคที่มีตั้งแต่ 7, 14 และ 21 วัน หรือมากกว่า ตามระยะฟักตัวของโรค ที่สุดทีมทำงานได้พิจารณาว่า "เชื้อโคโรน่าไวรัส" ก่อให้เกิดโรคเมอร์ส น่าจะเป็นเชื้อโรคที่มีโอกาสก่อโรคอุบัติใหม่ในครั้งนี้มากที่สุด เนื่องจากค้างคาวที่อยู่ในถ้ำนี้เป็นค้างคาวกินแมลงที่นำเชื้อชนิดนี้ จึงกำหนดระยะเฝ้าระวังโรคที่ 14 วันตามระยะฟักตัวของเชื้อโคโรน่าไวรัส รวมถึงการเฝ้าระวังโรคทั่วไปที่รู้อยู่แล้ว เช่น   ฉี่หนู, ไทฟัส, ลิชมาเนียซิส เป็นต้น
          ในการเฝ้าระวังครั้งนี้ แยกเป็น 2 กลุ่มเสี่ยง คือ 1.กลุ่มเสี่ยงสูง ได้แก่  ผู้ประสบภัย เจ้าหน้าที่ที่ดำน้ำเข้าไปภายในถ้ำ และทีมสำรวจปล่องโพรงถ้ำซึ่งจะเป็นบริเวณที่สัมผัสค้างคาว และ 2.กลุ่มเสี่ยงต่ำ เช่น เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติภารกิจในพื้นที่แต่ไม่ได้เข้าไปภายในถ้ำ ผู้สื่อข่าว หรืออาสาสมัครต่างๆ กลุ่มนี้จะแจกบัตรเฝ้าระวังโรคที่ระบุอาการป่วยอาจจะเกิดขึ้นภายใน 14 วัน พร้อมคำแนะนำให้รีบไปพบแพทย์
          สำหรับทีมกลุ่มเสี่ยงสูง ในส่วนของ ผู้ประสบภัยและหน่วยซีลที่เข้าไปอยู่กับเด็กภายในถ้ำ  เมื่อเข้าพักรักษาตัวใน โรงพยาบาล ทีมนักระบาดวิทยาได้เข้าไปเก็บตัวอย่างจาก 5 ส่วนของร่างกายเพื่อส่งตรวจหาเชื้อ ได้แก่ 1.น้ำลายจากบริเวณกระพุ้งแก้ม เพราะเก็บจากต่อมน้ำลายไม่ได้ จากการที่มีภาวะน้ำลายแห้งเมื่อไม่ได้อาหารเป็นเวลานาน 2.สารคัดหลั่งบริเวณระหว่างโพรงจมูกและลำคอ 3.เลือด 4.อุจจาระ และ 5.ปัสสาวะ ซึ่งจะต้องเข้าไปเก็บครั้งเดียวให้ได้ตัวอย่างเพียงพอในการตรวจ เพื่อไม่ให้เป็นการรบกวนผู้ป่วยมากเกินไป โดยบรรจุตัวอย่างที่เก็บได้ลงในกล่องชนิดพิเศษที่ป้องกันการแพร่เชื้อตามมาตรฐานสากลในการส่งตรวจโรคอันตราย และนำเชื้อจากเชียงรายมาส่งยังกรุงเทพฯ ถึงราวตี 4
          "เมื่อส่งเชื่อให้ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ จุฬาฯ แล้ว เราก็ต้องบินกลับไปเชียงรายเพื่อเก็บตัวอย่างทีมหมูป่ากลุ่มใหม่ในวันที่ 2 วนเวียนทำงานแบบนี้ตลอด 3 วัน และผลการเฝ้าระวังจนถึงตอนนี้พูดได้ว่าโรคอุบัติใหม่จากเหตุการณ์ถ้ำหลวงเคลียร์ ไม่มีผู้ติดเชื้อ ทั้งนี้ บางคนตั้งคำถามว่าเราใช้งบประมาณในการเฝ้าระวังการระบาดของโรคอุบัติใหม่ในครั้งนี้มากไปหรือไม่ อยากจะบอกว่าการป้องกันโรค ไม่สามารถบอกได้ว่าป้องกันโรค หรือป้องกันการสูญเสียได้เท่าไหร่ แต่บอกได้ว่าเมื่อไหร่ที่พลาดจนเกิดการระบาดของโรคอุบัติใหม่ครั้งใหญ่ขึ้น ผลเสียหายที่เกิดขึ้นกลับไปกู้ยากมาก" นพ.โรมกล่าว
          ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยให้ข้อมูลว่า ภายหลังจากได้รับตัวอย่างเชื้อจากทีมนักระบาดวิทยา ศูนย์ได้พิจารณาว่าจะส่งตัวอย่างไปตรวจที่หน่วยงานใดบ้าง เพราะในการตรวจมีทั้งตรวจหาเชื้อไวรัส แบคทีเรีย ปรสิต และเชื้อรา จึงมีการจัดแบ่งตัวอย่างไปตรวจยังหน่วยงานต่างๆ ที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องนั้นเป็นการเฉพาะ ก่อนแจ้งผลมายังศูนย์ ซึ่งแต่ละหน่วยงานต้องทำงานแข่งกับเวลาอย่างมาก เพราะจะต้องตอบผลเบื้องต้นให้ได้ภายใน 24 ชั่วโมงว่าพบเชื้อใดหรือไม่ โดยเฉพาะเชื้อโรคอุบัติใหม่
          โดยศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ฯ ตรวจโรคอุบัติใหม่(ติดต่อจากถ้ำ) โรคเขตร้อนและโรคระบบทางเดินหายใจ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ตรวจโรคจากแมลง หน่วยปรสิต คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ตรวจโรคจากปรสิต หน่วยจุลชีววิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ตรวจโรคจากหนู และเชื้อรา สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์ทหารของไทย ตรวจโรคจากเห็บและหมัด  และสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์ทหารของสหรัฐอเมริกา ตรวจโรคจากแมลง
          ศ.นพ.ธีระวัฒน์ อธิบายเพิ่มเติมว่า ในระยะเวลา 18 ปีที่ผ่านมามีการติดตามไวรัสจากสัตว์ป่าโดยเฉพาะค้างคาวในประเทศไทยจากความร่วมมือของหน่วยงานต่างๆ ทำให้ทราบถึงสถานะพิเศษที่สัตว์ป่าสามารถเป็นตัวเพาะบ่มเชื้อโรคโดยไม่แสดงอาการ แต่สามารถแพร่ออกมาในรูปของสิ่งคัดหลั่ง ฉี่ มูล น้ำลายโดยตรง หรือเกาะติดตามพื้นและผนังถ้ำ ซึ่ง ขั้นตอนของการติดเชื้อจากสัตว์สู่คนจะต้องมีการสมยอมของคนในการรับเชื้อเข้าร่างกายก่อน จากนั้นกลไกจะนำไปสู่การเกิดอาการหรือไม่ อาการน้อยหรือรุนแรง และเกิดขึ้นจำเพาะที่ระบบเดียว เช่น สมอง ปอด ตับ และในระบบเลือดหรือเกิดในหลายระบบพร้อมกัน เชื้อ ดังกล่าวเช่น ไวรัสตระกูลเมอร์ส ซาร์ส  อีโบลา นิปาห์ แบคทีเรีย และพาราสิต ที่มาจากเห็บ ยุง ไร ริ้น กระบวนการเกิดโรคอาจปรากฏในลักษณะของเฉียบพลัน หรือทอดเวลายาวออกไปจึงจะเกิดอาการเนื่องจากมีการซ่อนเร้นอยู่ในระบบใดระบบหนึ่งของร่างกาย
          ขณะที่ ศ.นพ.สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ  ผู้อำนวยการ รพ.จุฬาลงกรณ์ สภา กาชาดไทย และคณบดีคณะแพทย ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การเตรียมพร้อมในการรับมือโรคอุบัติใหม่มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะหากไม่มีการเตรียมการเฝ้าระวังจะทำให้ประชากรทั้งคนและสิ่งมีชีวิตต่างๆ ที่จะได้รับผล กระทบจากการระบาดมีจำนวนมาก แต่หากมีการเตรียมการจะส่งผลให้เกิดการวินิจฉัยและควบคุมโรคได้เร็ว ช่วยลดขนาดการระบาดและจำนวนประชาชน ที่ได้รับผลกระทบ
          โรคที่พบบ่อยในสัตว์รังโรคในถ้ำ
          1. ค้างคาว เขตตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ ไวรัสโคโรน่า และไวรัสนิปปาห์  ส่วนในแอฟริกา ได้แก่ ไวรัสมาร์เบอร์ก และไวรัสอีโบลา ขณะที่มูลค้างคาวมีเชื้อราฮิสโตพลาสมา(Histoplasma) ก่อให้เกิดโรคในคน
          2. สัตว์ฟันแทะ เช่น หนู ซึ่งเป็นแหล่งรังโรคของเชื้อเลปโตสไปรา(Leptospira) สาเหตุของโรคฉี่หนูหรือเลปโตสไปโรซิส ส่วนหมัดหนู เป็นแหล่งโรคไทฟัส
          3. แมลงต่างๆ ที่เป็นแมลงนำโรค เช่น ยุงก้นปล่องนำเชื้อมาลาเรีย ริ้นฝอยทราย นำโรคลิชมาเนียซิส(Leishmaniasis เป็นต้น
          4. สิ่งแวดล้อม เช่น ดิน หรือน้ำ ที่เป็นแหล่งโรคของแบคทีเรีย โปรโตซัว  และเชื้อราต่างๆ เช่น เมลิออยโดสิส เป็นต้น
          ที่มา : ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคติดต่ออุบัติใหม่
          รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย

 pageview  1204945    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved