Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 25/07/2561 ]
อย.คุมเข้มแหล่ง ผลิต-จำหน่าย เตรียมสุ่มผลิตภัณฑ์ ห้ามโฆษณาไขมันทรานส์0%

 

          นักโภชนาการเตือนคนไทย บริโภคไขมันอิ่มตัวอันตรายกว่าทรานส์
          กรุงเทพธุรกิจ อย.เข้มผู้ประกอบการ ห้ามโฆษณา "ไขมันทรานส์ 0%" บนผลิตภัณฑ์ หลังพบฉวยโอกาสโฆษณาปลอดทรานส์ ทั้งที่ไขมันอิ่มตัวยังสูง ชี้ฝ่าฝืนโทษทั้งจำ-ปรับ เผยเตรียมใช้มาตรการเข้มงวด เฝ้าระวังแหล่งผลิต นำเข้า ที่จำหน่าย และสุ่มตัวอย่างผลิตภัณฑ์กลุ่มเสี่ยง
          วานนี้ (24 ก.ค.) ภญ.สุภัทรา บุญเสริม ผู้อำนวยการสำนักอาหาร สำนักงาน คณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เลขที่ 388 พ.ศ. 2561 เรื่องกำหนดอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 9 ม.ค.2562 เป็นต้นไป ส่งผลให้ ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่ายน้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนและอาหารที่มีน้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจน บางส่วนเป็นส่วนประกอบ โดยก่อนหน้านี้ อย. ได้ทำความเข้าใจกับผู้ประกอบการล่วงหน้า และปัจจุบันผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์อาหารที่มีน้ำมันและไขมันเป็นส่วนประกอบได้ปรับสูตร โดยไม่ใช้น้ำมันที่ผ่านการเติมไฮโดรเจนบางส่วนแล้ว
          ดังนั้น ผลิตภัณฑ์อาหารอย่างเนยเทียม เนยขาว เบเกอรี่ เช่น เค้ก พาย คุกกี้ อาหารทอดแบบน้ำมันท่วม ครีมเทียม จึงพบไขมันทรานส์ในปริมาณที่น้อยมาก เมื่อเทียบกับการใช้น้ำมันที่ผ่านการเติมไฮโดรเจบางส่วน ซึ่งเป็นแหล่งหลักของไขมันทรานส์
          สิ่งที่ อย.ต้องจับตาและเฝ้าระวังหลังจากที่ประกาศ ฯ ฉบับนี้มีผลบังคับใช้คือ การเฝ้าระวัง ณ สถานที่ผลิต สถานที่นำเข้า สถานที่จำหน่ายอย่างเข้มงวด และอาจมีการสุ่มตัวอย่างวิเคราะห์ปริมาณไขมันทรานส์ในผลิตภัณฑ์กลุ่มเสี่ยง ผู้ที่ฝ่าฝืนประกาศฯ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 2 ปี และปรับตั้งแต่ 5,000 บาท ถึง 20,000 บาท
          "ขณะนี้มีผู้ประกอบการบางรายใช้โอกาสนี้ในการโฆษณากล่าวอ้าง ปราศจากไขมันทรานส์ หรือ ไขมันทรานส์ 0% บนผลิตภัณฑ์ ทำให้ผู้บริโภคสับสนและเข้าใจว่าปลอดไขมันทรานส์ ขณะที่ไขมันอิ่มตัวยังสูงอยู่ ดังนั้น เพื่อเป็นการให้ข้อมูลที่ถูกต้องตามข้อเท็จจริงแก่ผู้บริโภค จึงให้ใช้ข้อความ ปราศจาก/ไม่ใช้น้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน ซึ่งเป็นแหล่งหลักของไขมันทรานส์ ในการสื่อสารประชาสัมพันธ์แก่ผู้บริโภค รวมถึงแสดงปริมาณไขมันทรานส์ได้เฉพาะในฉลากโภชนาการแบบเต็มเท่านั้น โดยแสดงไว้ที่ตำแหน่งใต้ไขมันอิ่มตัว และใช้หลักเกณฑ์การปัดตัวเลขเช่นเดียวกับไขมันอิ่มตัว หากพบว่ามีการใช้ข้อความที่ห้าม จะมีการสุ่มตัวอย่างสินค้ามาตรวจวิเคราะห์ ซึ่งจะต้องไม่มีไขมัน ทรานส์จริงๆตามข้อความที่ระบุ ถ้าพบว่ายังมีไขมันทรานส์จะดำเนินการเอาผิดตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 ฐานแสดงฉลากโอ้อวดเกินจริง โทษปรับไม่เกิน 3 หมื่นบาท"ภญ.สุภัทรากล่าว
          ชี้คนไทยกินไขมันอิ่มตัวอันตรายกว่า
          นางสาววันทนีย์ เกรียงสินยศ อาจารย์สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า จากการสุ่มสำรวจการปนเปื้อนไขมันทรานส์ในผลิตอาหารจำนวน 162 ตัวอย่าง โดยพิจารณาจากปริมาณไขมันทรานส์ที่องค์การอนามัยโลก(ฮู)แนะนำคืออยู่ที่ไม่เกิน 1% ของพลังงานทั้งหมดหรือ 2 กรัมต่อวัน ส่วนไขมันอิ่มตัว ไม่เกิน 10% ของพลังงานทั้งหมดหรือ 20 กรัมต่อวัน คิดคำนวณแล้วจึงใช้เกณฑ์พิจารณาในการสำรวจว่าไขมันทรานส์มากกว่า 0.5 กรัมต่อ 1 หน่วยบริโภค และไขมันอิ่มตัวมากกว่า 5 กรัมต่อ 1 หน่วยบริโภค จะเกิดความเสี่ยงต่อผู้บริโภค
          ผลการสำรวจพบว่า 53% พบไขมันอิ่มตัวสูงกว่าเกณฑ์ ประมาณ 13% พบไขมันทรานส์สูงกว่าเกณฑ์ และประมาณ 34% ที่พบไขมันทรานส์และไขมันอิ่มตัวน้อยกว่าเกณฑ์ การสำรวจนี้พบการปนเปื้อนไขมันทรานส์น้อยกว่าเมื่อเทียบกับไขมันอิ่มตัว สะท้อนว่าการได้รับไขมันทรานส์ในวิถีชีวิตประจำวันของคนไทยน้อยกว่าความเสี่ยงในการได้รับไขมันอิ่มตัว
          อีกทั้ง ไขมันทรานส์จะพบในอาหารประเภทเบเกอรี่เป็นหลัก ซึ่งไม่ใช่อาหารหลักของคนไทย จึงมีความเป็นห่วงว่าเมื่อคนตื่นตัวกับกระแสอันตรายของไขมันทรานส์ จะละเลยอันตรายจากไขมันอิ่มตัวหรือไขมันทั้งหมดที่รับประทานในแต่ละวันจนได้รับไขมันในปริมาณที่เกิน
          "ในอนาคตโดยเฉพาะเมื่อประกาศนี้บังคับใช้ ไขมันทรานส์ไม่น่าเป็นสิ่งที่ต้องกังวล แต่ที่น่ากังวลคือไขมันทั้งหมดที่ได้รับเกินและไขมันอิ่มตัว และกรณีที่ผลิตอาหารมีการระบุที่หน้าซองว่าไขมันทรานส์ 0% เกรงว่าจะทำให้ผู้บริโภคเกิดความเข้าใจผิดว่าอาหารชนิดนั้นทานได้ ไม่ต้องกังวลเพราะไม่มีไขมันทรานส์ แต่จริงๆอาหารเหล่านั้นจะยังคงมีไขมันอิ่มตัวในปริมาณสูงไม่ควรรับประทานมากเกินอยู่ อย่างเช่น ขนมเค้ก ไม่มีไขมันทรานส์ แต่มีไขมันสูงมาก ก็ไม่ควรกินมากหรือทุกวัน เป็นต้น "รศ.ดร.วันทนีย์กล่าว
          แพทย์ชี้ลดความเสี่ยงของโรค
          นพ.ฆนัท ครุฑกุล  เครือข่ายคนไทยไร้พุง แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจและโภชนาการวิทยาคลินิก โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า ไขมันทรานส์ในธรรมชาติจะมีปริมาณไม่มากและการศึกษาทางคลินิกไม่พบว่าเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดและหัวใจและโรคมะเร็ง ส่วนไขมันทรานส์ที่เกิดจากกระบวนการทางอุตสาหกรรม มีการศึกษาพบว่าเมื่อบริโภคจะทำให้เกิดความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด เพิ่มระดับไขมันไม่ดี(LDL) ลดระดับไขมันดี(HDL) เพิ่มไตรกลีเซอไรในเลือดมากขึ้น เสี่ยงโรคความจำเสื่อม เบาหวาน มะเร็งบางชนิดและเกิดโรคอ้วนได้ง่าย ซึ่งโรคหัวใจและหลอดเลือดติดอันดับ 1 ใน 3 สาเหตุการเสียชีวิตของคนไทย
          ซึ่งเกิดจากพฤติกรรมการกิน มาตรการห้ามใช้ไขมันทรานส์จึงมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงของโรคในสังคมไทย เพราะไขมันทรานส์หากกินในปริมาณมากเกิน 0.5 กรัม ต่อหน่วยบริโภค จะเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจ ความดันและหลอดเลือด จึงไม่ควรมีไขมันทรานส์จากกระบวนการทางอุตสาหกรรมในอาหาร อย่างไรก็ตามสังคมไทยยังบริโภคไขมันอิ่มตัวในปริมาณสูง จากวัฒนธรรมการกินของทอด จึงควรจำกัดปริมาณการบริโภคไขมัน เน้นอาหารต้ม นึ่ง เมนูผัดไม่ควรใช้ความร้อนสูง
          4องค์กรร่วมทำสื่อให้ความรู้ปชช.
          นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ กล่าวว่า ขณะนี้สังคมยังมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับไขมันทรานส์ และเกิดความตื่นตระหนกในการบริโภค สสส.จึงร่วมกับ อย. สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล และเครือข่ายคนไทยไร้พุง จัดทำสื่อความรู้ที่เข้าใจง่าย และถูกต้องทางวิชาการเรื่อง "ความจริงไขมันทรานส์" เพื่อสื่อสารความเข้าใจที่ถูกต้องให้แก่ผู้บริโภค อาทิ อาหารที่มีส่วนผสมของเนยขาว เนยเทียม เป็นส่วนประกอบผู้บริโภคสามารถรับประทานได้ตามปกติในปริมาณที่เหมาะสม เพราะผู้ประกอบการได้ปรับสูตรและกระบวนการผลิตของเนยขาวและเนยเทียมที่ไม่ทำให้เกิดไขมันทรานส์แล้ว สำหรับกรณีน้ำมันทอดซ้ำก็มิใช่เป็นแหล่งไขมันทรานส์
          แต่ควรหลีกเลี่ยงเพราะทำให้เกิดสารก่อมะเร็ง รวมถึงคำแนะนำในการกินไขมันที่ปลอดภัยต่อสุขภาพ โดยเฉลี่ยต้องบริโภคไขมันไม่เกิน 2-3 ช้อนชาต่อมื้ออาหาร ซึ่งเผยแพร่ในเว็บไซต์ สสส.และ อย. นอกจากนี้ สสส. ร่วมกับภาคีเครือข่าย ทำการรณรงค์และขับเคลื่อนสังคมเพื่อลดการบริโภคไขมันของประชาชนไทย เพื่อลดความเสี่ยงต่อ การเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง(NCDs) ควบคู่ไปกับการพัฒนาวิชาการ งานนวัตกรรม และร่วมกับหน่วยงานภาครัฐเฝ้าระวังปริมาณไขมันทราน์และการกล่าวอ้างทางด้านโภชนาการของผลิตภัณฑ์อาหาร ในท้องตลาด หลังจากที่ประกาศมีผล บังคับใช้เพื่อให้ความรู้แก่ผู้บริโภคอย่าง ต่อเนื่อง
          นักโภชนาการเตือนคนไทย บริโภคไขมันอิ่มตัวอันตรายกว่าทรานส์
          กรุงเทพธุรกิจ อย.เข้มผู้ประกอบการ ห้ามโฆษณา "ไขมันทรานส์ 0%" บนผลิตภัณฑ์ หลังพบฉวยโอกาสโฆษณาปลอดทรานส์ ทั้งที่ไขมันอิ่มตัวยังสูง ชี้ฝ่าฝืนโทษทั้งจำ-ปรับ เผยเตรียมใช้มาตรการเข้มงวด เฝ้าระวังแหล่งผลิต นำเข้า ที่จำหน่าย และสุ่มตัวอย่างผลิตภัณฑ์กลุ่มเสี่ยง
          วานนี้ (24 ก.ค.) ภญ.สุภัทรา บุญเสริม ผู้อำนวยการสำนักอาหาร สำนักงาน คณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เลขที่ 388 พ.ศ. 2561 เรื่องกำหนดอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 9 ม.ค.2562 เป็นต้นไป ส่งผลให้ ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่ายน้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนและอาหารที่มีน้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจน บางส่วนเป็นส่วนประกอบ โดยก่อนหน้านี้ อย. ได้ทำความเข้าใจกับผู้ประกอบการล่วงหน้า และปัจจุบันผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์อาหารที่มีน้ำมันและไขมันเป็นส่วนประกอบได้ปรับสูตร โดยไม่ใช้น้ำมันที่ผ่านการเติมไฮโดรเจนบางส่วนแล้ว
          ดังนั้น ผลิตภัณฑ์อาหารอย่างเนยเทียม เนยขาว เบเกอรี่ เช่น เค้ก พาย คุกกี้ อาหารทอดแบบน้ำมันท่วม ครีมเทียม จึงพบไขมันทรานส์ในปริมาณที่น้อยมาก เมื่อเทียบกับการใช้น้ำมันที่ผ่านการเติมไฮโดรเจบางส่วน ซึ่งเป็นแหล่งหลักของไขมันทรานส์
          สิ่งที่ อย.ต้องจับตาและเฝ้าระวังหลังจากที่ประกาศ ฯ ฉบับนี้มีผลบังคับใช้คือ การเฝ้าระวัง ณ สถานที่ผลิต สถานที่นำเข้า สถานที่จำหน่ายอย่างเข้มงวด และอาจมีการสุ่มตัวอย่างวิเคราะห์ปริมาณไขมันทรานส์ในผลิตภัณฑ์กลุ่มเสี่ยง ผู้ที่ฝ่าฝืนประกาศฯ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 2 ปี และปรับตั้งแต่ 5,000 บาท ถึง 20,000 บาท
          "ขณะนี้มีผู้ประกอบการบางรายใช้โอกาสนี้ในการโฆษณากล่าวอ้าง ปราศจากไขมันทรานส์ หรือ ไขมันทรานส์ 0% บนผลิตภัณฑ์ ทำให้ผู้บริโภคสับสนและเข้าใจว่าปลอดไขมันทรานส์ ขณะที่ไขมันอิ่มตัวยังสูงอยู่ ดังนั้น เพื่อเป็นการให้ข้อมูลที่ถูกต้องตามข้อเท็จจริงแก่ผู้บริโภค จึงให้ใช้ข้อความ ปราศจาก/ไม่ใช้น้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน ซึ่งเป็นแหล่งหลักของไขมันทรานส์ ในการสื่อสารประชาสัมพันธ์แก่ผู้บริโภค รวมถึงแสดงปริมาณไขมันทรานส์ได้เฉพาะในฉลากโภชนาการแบบเต็มเท่านั้น โดยแสดงไว้ที่ตำแหน่งใต้ไขมันอิ่มตัว และใช้หลักเกณฑ์การปัดตัวเลขเช่นเดียวกับไขมันอิ่มตัว หากพบว่ามีการใช้ข้อความที่ห้าม จะมีการสุ่มตัวอย่างสินค้ามาตรวจวิเคราะห์ ซึ่งจะต้องไม่มีไขมัน ทรานส์จริงๆตามข้อความที่ระบุ ถ้าพบว่ายังมีไขมันทรานส์จะดำเนินการเอาผิดตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 ฐานแสดงฉลากโอ้อวดเกินจริง โทษปรับไม่เกิน 3 หมื่นบาท"ภญ.สุภัทรากล่าว
          ชี้คนไทยกินไขมันอิ่มตัวอันตรายกว่า
          นางสาววันทนีย์ เกรียงสินยศ อาจารย์สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า จากการสุ่มสำรวจการปนเปื้อนไขมันทรานส์ในผลิตอาหารจำนวน 162 ตัวอย่าง โดยพิจารณาจากปริมาณไขมันทรานส์ที่องค์การอนามัยโลก(ฮู)แนะนำคืออยู่ที่ไม่เกิน 1% ของพลังงานทั้งหมดหรือ 2 กรัมต่อวัน ส่วนไขมันอิ่มตัว ไม่เกิน 10% ของพลังงานทั้งหมดหรือ 20 กรัมต่อวัน คิดคำนวณแล้วจึงใช้เกณฑ์พิจารณาในการสำรวจว่าไขมันทรานส์มากกว่า 0.5 กรัมต่อ 1 หน่วยบริโภค และไขมันอิ่มตัวมากกว่า 5 กรัมต่อ 1 หน่วยบริโภค จะเกิดความเสี่ยงต่อผู้บริโภค
          ผลการสำรวจพบว่า 53% พบไขมันอิ่มตัวสูงกว่าเกณฑ์ ประมาณ 13% พบไขมันทรานส์สูงกว่าเกณฑ์ และประมาณ 34% ที่พบไขมันทรานส์และไขมันอิ่มตัวน้อยกว่าเกณฑ์ การสำรวจนี้พบการปนเปื้อนไขมันทรานส์น้อยกว่าเมื่อเทียบกับไขมันอิ่มตัว สะท้อนว่าการได้รับไขมันทรานส์ในวิถีชีวิตประจำวันของคนไทยน้อยกว่าความเสี่ยงในการได้รับไขมันอิ่มตัว
          อีกทั้ง ไขมันทรานส์จะพบในอาหารประเภทเบเกอรี่เป็นหลัก ซึ่งไม่ใช่อาหารหลักของคนไทย จึงมีความเป็นห่วงว่าเมื่อคนตื่นตัวกับกระแสอันตรายของไขมันทรานส์ จะละเลยอันตรายจากไขมันอิ่มตัวหรือไขมันทั้งหมดที่รับประทานในแต่ละวันจนได้รับไขมันในปริมาณที่เกิน
          "ในอนาคตโดยเฉพาะเมื่อประกาศนี้บังคับใช้ ไขมันทรานส์ไม่น่าเป็นสิ่งที่ต้องกังวล แต่ที่น่ากังวลคือไขมันทั้งหมดที่ได้รับเกินและไขมันอิ่มตัว และกรณีที่ผลิตอาหารมีการระบุที่หน้าซองว่าไขมันทรานส์ 0% เกรงว่าจะทำให้ผู้บริโภคเกิดความเข้าใจผิดว่าอาหารชนิดนั้นทานได้ ไม่ต้องกังวลเพราะไม่มีไขมันทรานส์ แต่จริงๆอาหารเหล่านั้นจะยังคงมีไขมันอิ่มตัวในปริมาณสูงไม่ควรรับประทานมากเกินอยู่ อย่างเช่น ขนมเค้ก ไม่มีไขมันทรานส์ แต่มีไขมันสูงมาก ก็ไม่ควรกินมากหรือทุกวัน เป็นต้น "รศ.ดร.วันทนีย์กล่าว
          แพทย์ชี้ลดความเสี่ยงของโรค
          นพ.ฆนัท ครุฑกุล  เครือข่ายคนไทยไร้พุง แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจและโภชนาการวิทยาคลินิก โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า ไขมันทรานส์ในธรรมชาติจะมีปริมาณไม่มากและการศึกษาทางคลินิกไม่พบว่าเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดและหัวใจและโรคมะเร็ง ส่วนไขมันทรานส์ที่เกิดจากกระบวนการทางอุตสาหกรรม มีการศึกษาพบว่าเมื่อบริโภคจะทำให้เกิดความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด เพิ่มระดับไขมันไม่ดี(LDL) ลดระดับไขมันดี(HDL) เพิ่มไตรกลีเซอไรในเลือดมากขึ้น เสี่ยงโรคความจำเสื่อม เบาหวาน มะเร็งบางชนิดและเกิดโรคอ้วนได้ง่าย ซึ่งโรคหัวใจและหลอดเลือดติดอันดับ 1 ใน 3 สาเหตุการเสียชีวิตของคนไทย
          ซึ่งเกิดจากพฤติกรรมการกิน มาตรการห้ามใช้ไขมันทรานส์จึงมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงของโรคในสังคมไทย เพราะไขมันทรานส์หากกินในปริมาณมากเกิน 0.5 กรัม ต่อหน่วยบริโภค จะเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจ ความดันและหลอดเลือด จึงไม่ควรมีไขมันทรานส์จากกระบวนการทางอุตสาหกรรมในอาหาร อย่างไรก็ตามสังคมไทยยังบริโภคไขมันอิ่มตัวในปริมาณสูง จากวัฒนธรรมการกินของทอด จึงควรจำกัดปริมาณการบริโภคไขมัน เน้นอาหารต้ม นึ่ง เมนูผัดไม่ควรใช้ความร้อนสูง
          4องค์กรร่วมทำสื่อให้ความรู้ปชช.
          นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ กล่าวว่า ขณะนี้สังคมยังมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับไขมันทรานส์ และเกิดความตื่นตระหนกในการบริโภค สสส.จึงร่วมกับ อย. สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล และเครือข่ายคนไทยไร้พุง จัดทำสื่อความรู้ที่เข้าใจง่าย และถูกต้องทางวิชาการเรื่อง "ความจริงไขมันทรานส์" เพื่อสื่อสารความเข้าใจที่ถูกต้องให้แก่ผู้บริโภค อาทิ อาหารที่มีส่วนผสมของเนยขาว เนยเทียม เป็นส่วนประกอบผู้บริโภคสามารถรับประทานได้ตามปกติในปริมาณที่เหมาะสม เพราะผู้ประกอบการได้ปรับสูตรและกระบวนการผลิตของเนยขาวและเนยเทียมที่ไม่ทำให้เกิดไขมันทรานส์แล้ว สำหรับกรณีน้ำมันทอดซ้ำก็มิใช่เป็นแหล่งไขมันทรานส์
          แต่ควรหลีกเลี่ยงเพราะทำให้เกิดสารก่อมะเร็ง รวมถึงคำแนะนำในการกินไขมันที่ปลอดภัยต่อสุขภาพ โดยเฉลี่ยต้องบริโภคไขมันไม่เกิน 2-3 ช้อนชาต่อมื้ออาหาร ซึ่งเผยแพร่ในเว็บไซต์ สสส.และ อย. นอกจากนี้ สสส. ร่วมกับภาคีเครือข่าย ทำการรณรงค์และขับเคลื่อนสังคมเพื่อลดการบริโภคไขมันของประชาชนไทย เพื่อลดความเสี่ยงต่อ การเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง(NCDs) ควบคู่ไปกับการพัฒนาวิชาการ งานนวัตกรรม และร่วมกับหน่วยงานภาครัฐเฝ้าระวังปริมาณไขมันทราน์และการกล่าวอ้างทางด้านโภชนาการของผลิตภัณฑ์อาหาร ในท้องตลาด หลังจากที่ประกาศมีผล บังคับใช้เพื่อให้ความรู้แก่ผู้บริโภคอย่าง ต่อเนื่อง

 

 pageview  1204270    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved