Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 29/06/2561 ]
จี้คุมอาหารเสริมผสมไซบูทรามีน

 จี้กวาดล้างอาหารเสริมผสม'ไซบูทรามีน'  เครือข่ายเภสัชกรเรียกร้องเข้มงวดอาหารเสริมลดน้ำหนัก พบยังผสมสารพิษไซบู ทรามีนขายทางออน ไลน์
          จุฬาฯ * กลุ่มเครือข่ายเภสัชกรเรียกร้องหน่วยงานภาครัฐเร่งควบคุมผลิตภัณฑ์เสริมอาหารลดน้ำหนัก พบยังมีการผสมสารพิษไซบูทรามีนที่ทำให้เสียชีวิต เผยช่วงปี 52-61 มีผู้เสียชีวิตจากผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเฉลี่ยปีละ 2 ราย แต่ปีนี้ตายแล้ว 4 ระบุช่องทางจำหน่ายสำคัญคือออนไลน์
          เมื่อวันที่ 28 มิถุนายนนี้ ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีการแถลงข่าว "ไซบูทรามีน : อันตราย สถานะทางกฎหมายและการลักลอบนำเข้า" เภสัชกรหญิงนิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา กล่าวว่า แม้ทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จะมีการประชุมเตรียมยกระดับสารไซบูทรามีนให้เป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ผู้ใดฝ่าฝืนมีโทษจำคุก 20 ปี ครอบคลุมตั้งแต่ผู้นำเข้า, ผู้ผลิต และผู้จำหน่าย แต่ก็พบว่ายังมีการฝ่าฝืนจำหน่ายในออนไลน์ และแม้ว่าข่าวจากสื่อมวลชนจะเตือนให้ระวัง หรือแจ้งว่าผลิตภัณฑ์เสริมอาหารนี้อันตรายถึงแก่ชีวิต แต่ก็ยังมีคนหลงเชื่อซื้อหามารับประทาน จากการเก็บข้อมูลตั้งแต่ปี 2552-2561 พบว่ามีผู้เสียชีวิตจากผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเฉลี่ยปีละ 2 ราย แต่ในปี 2561 เพียงแค่ครึ่งปี เสียชีวิตแล้ว 4 ราย มากที่สุด จึงอยากเรียกร้อง อย. กรมศุลกากร และกระทรวงพาณิชย์ ร่วมกันช่วยแก้ไขและเฝ้าระวัง ให้มีการตรวจสอบการนำเข้า และจับปรับร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ
          น.ส.สถาพร อารักษ์วทนะ นักวิชาการผลิต ภัณฑ์สุขภาพ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า จากการสุ่มตรวจสอบของมูลนิธิ พบผลิตภัณฑ์เสริมอาหารลดน้ำหนักในตลาดออนไลน์ ไม่มีการอัพเดตข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ที่ทาง อย.ยกเลิกตำรับ หรือห้ามจำหน่ายอย่างเด็ดขาด ทำให้ประชาชนหลงเชื่อ และอยู่ในวังวนของอันตรายจากการรับประทาน อีกทั้งเมื่อมีการตรวจสอบเลขสารระบบของ อย. พบว่าบางผลิตภัณฑ์ไม่มี เท่ากับเป็นสินค้าอันตราย จึงอยากเรียกร้องให้ตลาดออนไลน์ เว็บไซต์ชื่อดัง มีการตรวจสอบสินค้าก่อนนำมาจำหน่ายให้กับผู้บริโภค และติดตามประกาศ อย.อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากการตรวจสอบพบว่า ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารลีนที่มีผู้เสียชีวิต เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินคดี และ อย.ประกาศห้ามจำหน่าย กลับยังไม่ถูกเอาลงจากเว็บไซต์ เรื่องนี้กระทรวงดิจิทัลฯ และ กสทช.ต้องเข้ามาตรวจสอบ ควบคุม คุ้มครองประชาชน
          นพ.วินัย วนานุกูล รองผู้อำนวยการ รพ. รามาธิบดี และหัวหน้าศูนย์พิษวิทยา กล่าวว่า สารไซบูทรามีนทำให้เกิดอาการใจสั่น และมีอาการทางระบบประสาท โดยสูตรโครงสร้างของไซบูทรามีน พบว่ามีโครงสร้างทางเคมีคล้ายยาบ้า ผลข้างเคียงคือทำให้เบื่ออาหาร ปัจจุบันทางการแพทย์ได้ยกเลิกการใช้ไปแล้ว ฉะนั้นผลิตภัณฑ์ที่เห็นในท้อง ตลาดมักเขียนหรือแสดงสรรพคุณทำให้เกิดความเข้าใจผิด ข้อมูลของศูนย์พิษวิทยาในปี 2558-2560 พบอายุเฉลี่ยของผู้ได้รับอันตรายจากผลิตภัณฑ์ ลดน้ำหนักอยู่ที่ 13-48 ปี ร้อยละ 86 รองลงมาอายุ 12 ปี ร้อยละ 14 นอกจากนี้ยังพบอันตรายข้างเคียงจากการบริโภคสารไซบูทรามีนร่วมกับกลุ่มยาทางจิตเวช จะช่วยเสริมฤทธิ์ เกิดอาการทางระบบประสาท ใจสั่น ชีพจรผิดปกติ และเสียชีวิตได้
          เภสัชกรวสันต์ มีคุณ เภสัชกรโรงพยาบาลวาริชภูมิ จ.สกลนคร กล่าวว่า ปัญหายาลดน้ำหนักระบาด ซื้อหาง่าย ซึ่งเครือข่ายของเภสัชกรภาคอีสานพบว่า มีคนไข้หลายรายมาหาแพทย์ด้วยอาการใจสั่น ท้องเสีย และมีอาการระบบประสาท เป็นผลจากไซบูทรามีน หากไม่มีการซักประวัติคนไข้ให้ดีจะไม่รู้เลยและแก้ไขปัญหาไม่ตรงจุด และยังพบว่าคนไข้ส่วนใหญ่เกินครึ่งซื้อหาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารลดน้ำหนักมาจากเว็บไซต์ จึงอยากเรียกร้องให้มีการควบคุมตรวจสอบ.

 pageview  1205128    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved