HISO - สื่อข้อมูลสุขภาพ
เกิดข้อผิดพลาด ไม่สามารถติดต่อฐานข้อมูลได้
  



เตือนภัยโรคพิษสุนัขบ้า



โรคพิษสุนัขบ้าเป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คนที่เป็นอันตรายถึงตาย จากสถิติทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตด้วยโรคนี้ประมาณ 55,000 รายต่อปี สำหรับประเทศไทยในปี 2553 มีผู้เสียชีวิตด้วยโรคนี้จำนวน 14 ราย ทั้งนี้ในแต่ละปีรัฐบาลต้องใช้งบประมาณในการป้องกันโรคในคนและสัตว์ประมาณกว่า 1,000 ล้านบาท ด้วยเหตุนี้องค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (OIE) และองค์การอนามัยโลก (WHO) จึงได้กำหนดเป้าหมายว่าในปี 2563 โรคพิษสุนัขบ้าให้หมดไปจากโลกนี้

ความรุนแรงของโรคพิษสุนัขบ้า

โรคพิษสุนัขบ้าเป็นโรคที่ไม่ควรประมาท เพราะถึงแม้จะมีผู้ป่วยไม่มาก แต่ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้แทบจะไม่มีใครที่รอดพ้นจากความตายไปได้เลย จากข้อมูลอัตราป่วยและเสียชีวิตจากโรคกลัวน้ำ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2546-2553 พบว่า ผู้ป่วยด้วยโรคนี้เสียชีวิตทุกราย (ดังภาพที่ 1)


ภาพที่ 1 อัตราการป่วยและเสียชีวิตด้วยโรคพิษสุนัขบ้า ตั้งแต่ปี 2546-2553


ที่มา : ระบบเฝ้าระวังโรค (รายงาน 506) สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค อ้างใน http://www.boe.moph.go.th/boedb/surdata/disease.php?dcontent=old&ds=42

ทั้งนี้ ในปี 2552 สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ได้ประกาศให้โรคนี้เป็นโรคที่มีอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยเป็นอันดับ 1 ในบรรดาโรคที่น่ากลัวทั้งหลาย เพราะแค่ผู้ป่วยแสดงอาการของโรคกลัวน้ำออกมาก็มักจะพบว่า โอกาสที่ผู้ป่วยจะเสียชีวิตมีถึง 100 % (ดังตารางที่ 1)


ตารางที่ 1 การจัดลำดับสาเหตุการตายด้วยโรคภายใต้ระบบการเฝ้าระวังของประเทศไทย ปี พ.ศ. 2552


ที่มา : Annual Epidemiological Surveillance 2009 สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค อ้างใน http://epid.moph.go.th/Annual/Annual%202552/Main.html

จังหวัดและภาคที่มีผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตมากที่สุด

สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ได้รับการรายงานผู้ป่วย/ตามด้วยโรคพิษสุนัขบ้าจากรายงานการเฝ้าระวังโรค (รายงาน 506) ในปี 2553 พบว่า มีจำนวนผู้ป่วยและเสียชีวิต 12 ราย ลดลงจากสถิติปี 2552 เกือบเท่าตัว (มีผู้ป่วยและเสียชีวิต 24 ราย) (ดังภาพที่ 2)


ภาพที่ 2 เปรียบเทียบจำนวนผู้ป่วยและเสียชีวิตระหว่างปี 2552-2553


ที่มา : ระบบเฝ้าระวังโรค (รายงาน 506) สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค อ้างใน http://www.boe.moph.go.th/boedb/surdata/disease.php?dcontent=old&ds=42

ทั้งนี้ภาคที่มีผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตมากที่สุด ได้แก่ ภาคกลาง พบผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตจำนวน 11 คน รองลงมาคือ ภาคเหนือ พบผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตจำนวน 1 คน (ดังภาพที่ 3) ส่วนจังหวัดที่พบผู้ป่วยและเสียชีวิตมากที่สุดได้แก่ กรุงเทพฯ 6 ราย รองลงมาคือ สระบุรี สมุทรปราการ กาญจนบุรี สุพรรณบุรี ชลบุรี และตาก จังหวัดละ 1 ราย โดยเมื่อเทียบอัตราตายต่อแสนประชากร พบว่า จังหวัดตากมีอัตราการเสียชีวิตสูงสุด (0.19 ต่อแสนประชากร) รองลงมาคือ สระบุรี (0.16 ต่อแสนประชากร) กาญจนบุรีและสุพรรณบุรี (0.12ต่อแสนประชากร) (ดังภาพที่ 4)


ภาพที่ 3 เปรียบเทียบระหว่างจำนวนและอัตราป่วยตายด้วยโรคพิษสุนัขบ้า จำแนกตามภาค ในปี 2553


ที่มา : ระบบเฝ้าระวังโรค (รายงาน 506) สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค อ้างใน http://www.boe.moph.go.th/boedb/surdata/disease.php?dcontent=old&ds=42


ภาพที่ 4 เปรียบเทียบจำนวนและอัตราการป่วยตายและเสียชีวิตจำแนกตามจังหวัด ในปี 2553


ที่มา : ระบบเฝ้าระวังโรค (รายงาน 506) สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค อ้างใน http://www.boe.moph.go.th/boedb/surdata/disease.php?dcontent=old&ds=42

สาเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิต

จากการศึกษาถึงประวัติการเสียชีวิตของผู้ป่วยด้วยโรคพิษสุนัขบ้า พบว่า สาเหตุสำคัญที่นำไปสู่การละเลยต่อการป้องกันและรักษาโรค มีดังนี้

1. ผู้ป่วย/ตายไม่ตระหนักถึงความรุนแรงของโรคพิษสุนัขบ้า จึงละเลยไม่ใส่ใจต่อการฉีดวัคซีนป้องกันโรค
2. เข้าใจว่าลูกสุนัขหรือลูกสัตว์ไม่สามารถเป็นโรคพิษสุนัขบ้า ตลอดจนไม่ให้ความสนใจถ้าลูกสุนัขแสดงอาการผิดปกติ
3. ผู้ปกครองไม่พาผู้สัมผัสเชื้อไปรับวัคซีนป้องกันโรคอย่างถูกต้อง
4. เข้าใจว่าสุนัขที่เลี้ยงเองไม่สามารถเป็นโรคพิษสุนัขบ้า ตลอดจนไม่ให้ความสนใจถ้าสุนัขแสดงอาการผิดปกติ
5. ผู้ป่วย/ตายกลัวเสียค่ารักษาพยาบาล จึงไม่ไปรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรค


ในช่วงระหว่างเดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายนเป็นช่วงของการนำสัตว์เลี้ยงไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าประจำปี โดยในปีนี้กรมปศุสัตว์ได้ออกมารณรงค์ให้ประชาชนนำสัตว์เลี้ยงไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายได้ เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม -30 เมษายน 2554 หากทุกคนให้ความร่วมมือนำสัตว์เลี้ยงมาฉีดวัคซีนป้องกัน ความคาดหวังที่จะกำจัดโรคพิษสุนัขบ้าให้หมดไปจากโลกนี้ในปี 2563 ก็คงเป็นจริงขึ้นมาได้




เรียบเรียงโดย :  สิริกร เค้าภูไทย สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ

แหล่งที่มา :

 - World Health Organization. World Report on Road Traffic Injury Prevention, 2004. http://www.who.int/violence_injury_prevention/publications/road_traffic/world_report/en/index.html
 - ศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย. เข็มขัดช่วยชีวิตได้จริงหรือ. จำนวน 1 หน้า.อ้างใน http://www.tarc.ait.ac.th/download/article/seatbelt_th.pdf