HISO - สื่อข้อมูลสุขภาพ
เกิดข้อผิดพลาด ไม่สามารถติดต่อฐานข้อมูลได้
  



การแพร่กระจายของโรคบิด



โรคบิดเป็นโรคหนึ่งในบรรดาโรคที่ติดต่อจากอาหารและน้ำดื่ม แม้จะเป็นโรคที่ไม่มีความร้ายแรงเท่าโรคอื่นๆ แต่ก็สร้างความทุกข์ทรมานได้เช่นกัน เพราะผู้ป่วยจะมีอาการปวดเบ่งที่ทวารหนักคล้ายกับอาการถ่ายอุจจาระไม่สุด มีการถ่ายออกมาเป็นมูกหรือมูกปนเลือด มีไข้ ปวดท้องแบบเบ่งร่วมด้วย การติดต่อของโรคเกิดจากการรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนอุจจาระของผู้ป่วยหรือผู้ที่เป็นพาหะ การป่วยมักเกิดหลังได้รับเชื้อแม้จำนวนน้อยเพียง 10-100 ตัว ดังนั้นการติดต่อจากผู้ป่วยไปสู่ผู้อื่นจากการสัมผัสโดยตรงจึงเกิดขึ้นง่าย

ลักษณะของโรค

โรคบิดเกิดจากเชื้อบิด ซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรียหรืออมีบา สามารถติดต่อได้โดยการรับประทานอาหาร ผักดิบหรือน้ำดื่มที่มีเชื้อโรคปนเปื้อนเข้าไป โดยทั่วไปแบ่งเป็น 2 ชนิด ได้แก่ บิดชิเกลลา (shigellosis) หรือบิดไม่มีตัว และบิดอะมีบา (amebiasis) หรือบิดมีตัว

1. บิดชิเกลลา (บิดไม่มีตัว) พบในคนทุกเพศทุกวัย และเป็นสาเหตุอันดับแรกๆ ของการถ่ายเป็นมูกหรือมูกปนเลือด ส่วนมากไม่มีอันตรายร้ายแรง ส่วนน้อยอาจเป็นรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กเล็กและผู้สูงอายุ อาจทำให้เกิดภาวะขาดน้ำรุนแรงถึงตายได้ เริ่มแรกจะมีอาการปวดบิดในท้องอ่อน ภายใน 1 ชั่วโมงต่อมามีไข้ขึ้น และถ่ายเป็นน้ำ ถ้าถ่ายรุนแรงอาจทำให้อ่อนเพลีย เพราะเสียน้ำกับเกลือแร่ บางคนอาจเพียงถ่ายเหลว นอกจากนี้ยังมีอาการปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว คลื่นไส้ อาเจียน ต่อมาอาการท้องเดินจะทุเลาลง แต่จะปวดเบ่งที่ก้นและถ่ายเป็นมูก (หนองสีขาว) หรือมีมูกปนเลือดบ่อยครั้ง กลิ่นไม่เหม็นมาก ในเด็กอาจมีไข้สูง ซึมและชักได้ อาการไข้จะหายเองภายใน 2-3 วัน ส่วนอาการท้องเดินเป็นบิดจะหายเองภายใน 5-7 วัน (โดยไม่ได้กินยา) แต่บางคนอาจกลับเป็นใหม่ได้อีก

2. บิดอะมีบา (บิดมีตัว) พบได้ในคนทุกเพศทุกวัย แต่พบมากในคนอายุมากกว่า 20 ปีขึ้นได้ เกิดจากการรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่มีเชื้ออะมีบา (Ameba) ซึ่งเป็นสัตว์เซลล์เดียวหรือโปรโตซัว(protozoa) ทำให้เกิดอาการอักเสบของลำไส้ใหญ่ เชื้อที่ทำให้เกิดโรคอะมีบา มีชื่อว่า เอนตามีบา ฮิสโตไลติคา(Entamoeba histolytica) ซึ่งสามารถมองเห็นได้ด้วยกล้องจุลทรรศน์ จึงเรียกบิดมีตัว อาการเริ่มแรกถ่ายอุจจาระเหลวๆ มีเนื้ออุจจาระปน ปวดท้อง และปวดเบ่งที่ก้น ไม่มีไข้ ต่อมาจะถ่ายเป็นมูกเลือดทีละน้อย ไม่มีเนื้ออุจจาระปน แต่มีกลิ่นเหม็นเหมือนหัวกุ้งเน่า ผู้ป่วยจะถ่ายกะปริดกะปรอยวันละหลายครั้ง บางคนอาจถึง 20-50 ครั้ง แต่จะไม่อ่อนเพลีย สามารถทำงานได้

สถานการณ์ของโรค
ในพ.ศ.2553 (ค.ศ.2010) สำนักระบาดวิทยาได้รับรายงานว่า มีผู้ป่วยโรคบิดทั้งหมด 14,761 ราย หรือ23.24 ต่อประชากรแสนคน โดยไม่มีผู้เสียชีวิต สำหรับแนวโน้มผู้ป่วยตั้งแต่ปี 2546-2553 มีแนวโน้มลดลง กล่าวคือ จากอัตราป่วยสูงสุด 42.21 ต่อประชากรแสนคน ในปี 2547 ลดลงเหลือเพียง 23.24 ต่อประชากรแสนคน ในปี 2553 (ดังภาพที่ 1)


ภาพที่ 1 แนวโน้มการป่วยด้วยโรคบิดตั้งแต่ปี 2546-2553


ที่มา : ระบบเฝ้าระวังโรค (รายงาน 506) สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค อ้างใน http://www.boe.moph.go.th/boedb/surdata/disease.php?dcontent=old&ds=83


ทั้งนี้จากข้อมูล พบว่า มีการระบาดของโรคนี้ทั้งปี ส่วนใหญ่พบผู้ป่วยจำนวนมากในช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน และจะลดลงเรื่อยๆ จนต่ำสุดในเดือนธันวาคมของทุกปี (ดังภาพที่ 2)


ภาพที่ 2 แนวโน้มการป่วยด้วยโรคบิดในแต่ละเดือนของปี 2553




ในปี 2553 ภูมิภาคที่พบการกระจายของโรคมากที่สุดคือ ภาคเหนือ มีอัตราป่วยอยู่ที่ 56.57 ต่อประชากรแสนคน รองลงมาคือ ภาคตะวันออกฉียงเหนือ (23.21 ต่อประชากรแสนคน) ภาคใต้ (11.77 ต่อประชากรแสนคน) และภาคกลาง (9.68 ต่อประชากรแสนคน) จะเห็นได้ว่าภาคเหนือมีการป่วยด้วยโรคบิดมากกว่ากลางถึงเกือบ 6 เท่า ดังภาพที่ 3


ภาพที่ 3 ภาคที่มีอัตราการป่วยด้วยโรคบิดสูงสุด ในปี 2553


ที่มา : ระบบเฝ้าระวังโรค (รายงาน 506) สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค อ้างใน http://www.boe.moph.go.th/boedb/surdata/disease.php?dcontent=situation&ds=83


จังหวัดที่พบผู้ป่วยมากที่สุด 10 อันดับ ได้แก่ จังหวัดแม่ฮ่องสอนมีอัตราการป่วยมากที่สุด คือ 48.9.93 ต่อประชากรแสนคน รองลงมาคือ จังหวัดตาก (132.97 ต่อประชากรแสนคน) จังหวัดเชียงราย (113.40 ต่อประชากรแสนคน) และจังหวัดพะเยา (91.15 ต่อประชากรแสนคน) ดังภาพที่ 4


ภาพที่ 4 top 10 ของจังหวัดที่มีอัตราป่วยโรคบิดสูงสุด ในปี 2553


ที่มา : ระบบเฝ้าระวังโรค (รายงาน 506) สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค อ้างใน http://www.boe.moph.go.th/boedb/surdata/disease.php?dcontent=situation&ds=83


โรคบิดเป็นโรคที่มีการแพร่ระบาดได้ทุกภูมิภาค แต่พบมากในเขตชนบท ดังนั้นจึงควรรณรงค์ให้มีการรับประทานอาหารและดื่มน้ำที่สะอาด หลีกเลี่ยงการดื่มน้ำคลองน้ำบ่อดิบๆ และควรการกระจายสาธารณูปโภคเพื่อให้ประชาชนได้มีดื่มน้ำที่สะอาด และมีส้วมที่ถูกสุขลักษณะไว้ใช้กันอย่างทั่วถึงด้วย



เรียบเรียงโดย :  สิริกร เค้าภูไทย สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ

แหล่งที่มา :

 - สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค.ข่าวเด่นประเด็นร้อน การป้องกันโรคที่เกิดในฤดูร้อนอ้างใน http://beid.ddc.moph.go.th/th_2011/news.php?g=1&items=50

 - สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค.ระบบเฝ้าระวังโรค (รายงาน 506) อ้างใน http://www.boe.moph.go.th/boedb/surdata/disease.php?dcontent=situation&ds=83

 - โรคบิด อ้างใน http://www.pharm.chula.ac.th/osotsala/otcproject/dysentery.html