HISO - สื่อข้อมูลสุขภาพ เกิดข้อผิดพลาด ไม่สามารถติดต่อฐานข้อมูลได้
  



ความดันโลหิตสูง...เพชฌฆาตเงียบ!!








ในอดีตอาชีพของคนไทยส่วนใหญ่ คือ เกษตรกร ซึ่งมีการดำรงชีวิตแบบเรียบง่ายกินอยู่อย่างไทย ทำให้สถิติการเกิดโรคความดันโลหิตสูงต่ำ แต่ในสภาวะปัจจุบันความเจริญทางด้านเศรษฐกิจและสังคม ทำให้คนไทยเกิดความเครียดส่งผลให้สถิติการเกิดโรคความดันโลหิตสูงเพิ่มขึ้น และยังเป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่มีการระบาดไปทั่วโลก องค์การอนามัยโลกได้ประมาณไว้ว่าจำนวนผู้ป่วยความดันโลหิตสูงทั่วโลก จาก 194 ประเทศ มีจำนวนถึง 970 ล้านคน โดย 330 ล้านคนอยู่ในประเทศพัฒนา และ 640 ล้านคนอยู่ในประเทศกำลังพัฒนา และในปี 2025 คาดว่าจะมีผู้ป่วยความดันโลหิตสูงเพิ่มขึ้นเป็น 1.56 พันล้านคน

สำหรับประเทศไทย จากข้อมูลกระทรวงสาธารณสุขคาดว่า จะมีผู้มีภาวะความดันโลหิตสูงประมาณ 10 ล้านคน ซึ่ง 70% ของคนกลุ่มนี้ไม่ทราบว่าตนเองมีภาวะดังกล่าว ทำให้ไม่ได้รับการรักษาหรือการปฏิบัติตนอย่างถูกต้องเหมาะสม อันจะนำไปสู่การเกิดโรคแทรกซ้อนมากมาย อาทิ อัมพฤกษ์ อัมพาต โรคหลอดเลือดสมองตีบ โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ซึ่งอาจร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ด้วย

ความดันโลหิต (blood pressure) หมายถึง ความดันภายในหลอดเลือดแดง ซึ่งเกิดจากการบีบตัวของหัวใจ เพื่อปั๊มเลือดนำออกซิเจนไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย ความดันภายในหลอดเลือดนี้จะมีอยู่ตลอดเวลา แม้แต่ขณะที่หัวใจกำลังคลายตัวก็ตาม เพราะจะมีการไหลเวียนของเลือดอยู่ตลอด ดังนั้นจึงเกิดความดันในหลอดเลือดตลอดเวลา โรคความดันโลหิตสูง หรือ ภาวะความดันโลหิตสูง (Hypertension หรือ High blood pressure) เป็นโรคพบได้บ่อยมากอีกโรคหนึ่งในผู้ใหญ่ พบได้สูงถึงประมาณ 25-30% ของประชากรโลกที่เป็นผู้ใหญ่ทั้งหมด โดยพบในผู้ชายบ่อยกว่าในผู้หญิง และพบได้สูงขึ้นในผู้สูงอายุ ในบางประเทศพบโรคนี้ได้สูงถึง 50% ของผู้มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ส่วนในเด็กพบโรคนี้ได้เช่นกัน แต่พบได้น้อยกว่าในผู้ใหญ่มาก ส่วนใหญ่จะสามารถควบคุมความดันโลหิตที่สูงให้กลับมาสู่ระดับปกติได้ แต่ก็มีจำนวนไม่น้อยที่มีปัญหาในการรักษา และเกิดโรคแทรกซ้อนที่รุนแรง

เป็นโรคที่มักไม่มีอาการ จากการที่เป็นโรคเรื้อรังที่รุนแรง ถ้าไม่สามารถควบคุมโรคได้ และไม่มีอาการ จึงเรียกโรคความดันโลหิตสูงว่า “เพชฌฆาตเงียบ (Silent killer)” ทั้งนี้ส่วนใหญ่ของอาการจากโรคความดันโลหิตสูง เป็นอาการจากผลข้างเคียง เช่น จากโรคหัวใจ และจากโรคหลอดเลือดในสมอง หรือ เป็นอาการจากโรคที่เป็นปัจจัยเสี่ยง เช่น อาการจากโรคเบาหวาน หรือ จากโรคอ้วน หรือเป็นอาการจากโรคที่เป็นสาเหตุ เช่น โรคเนื้องอกต่อมใต้สมอง

การป้องกันโรคความดันโลหิตสูง ที่สำคัญ คือ การปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต โดย

- กินอาหารมีประโยชน์ 5 หมู่ให้ครบทุกวัน ในปริมาณที่เหมาะสม กล่าวคือ ไม่ให้เกิดโรคอ้วน และน้ำหนักตัวเกิน และจำกัดอาหารไขมัน แป้ง น้ำตาล และอาหารเค็ม เพิ่มผัก และผลไม้ชนิดไม่หวานให้มากๆ

- ออกกำลังกายสม่ำเสมอทุกวัน ตามสุขภาพ

- พักผ่อนให้เพียงพอ

- รักษาสุขภาพจิต

- ตรวจสุขภาพประจำปี (การตรวจสุขภาพ) ซึ่งรวมถึงตรวจวัดความดันโลหิต เริ่มได้ตั้งแต่อายุ 18-20 ปี หลังจากนั้นตรวจสุขภาพบ่อยตามแพทย์ พยาบาลแนะนำ

สถานการณ์ของโรคความดันโลหิตสูง

จากกราฟแสดงอัตราผู้ป่วยจากโรคความดันโลหิตสูง จะเห็นได้ว่าอัตราผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากปี 2535-2542 ส่วนในปี 2544 มีอัตราลดลง และในปี 2545 -2553 พบว่ามีแนวโน้มอัตราผู้ป่วยสูงขึ้นกว่าปีที่ผ่านๆมา ดังภาพที่ 1


ภาพที่ 1 อัตราผู้ป่วยจากโรคความดันโลหิตสูง ( อัตราต่อแสนประชากร) พ.ศ. 2535-2553



ที่มา : อัตราผู้ป่วยในโรคความดันโลหิตสูง เครื่องมือสุขภาพ แนวโน้มสุขภาพ อ้างใน http:// http://www.healthinfo.in.th/

พบแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงการลดลงจากการตายจากโรคความดันโลหิตสูงอย่างชัดเจนระหว่างปี พ.ศ. 2546 – 2550 และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในปี พ.ศ. 2551 – 2552 ดังภาพที่ 2


ภาพที่ 2 อัตราตายจากโรคความดันโลหิตสูง (ต่อแสนประชาการ) พ.ศ. 2543-2553



ที่มา : รายงานการพยากรณ์โรคความดันโลหิตสูง คณะทำงานพยากรณ์โรคและภัยสุขภาพ สำนักโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค อ้างใน http://164.115.5.58/forecast/files/report_2012/report_2012_11_no01.pdf



สำหรับวิธีแก้ไขปัญหาดังกล่าว ปลัดกระทรวงสาธารณสุข แนะนำว่า ต้องปลูกฝังให้ประชาชนออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยวันละ 30 นาที สัปดาห์ละ 3 วัน ทานอาหารรสไม่จัด ลดอาหารเค็ม ลดอาหารหวาน อาหารไขมันสูง และเพิ่มการทานผักผลไม้ให้มากขึ้น เช่น มะละกอ ฝรั่ง ทานรวมกันให้ได้วันละไม่ต่ำกว่า 400 กรัมตามมาตรฐานโลก เพราะในผักผลไม้มีกากใย ช่วยให้ระบบขับถ่ายดี และดูดซับไขมัน นอกจากนี้ยังควรหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ และงดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ด้วย






เรียบเรียงโดย :  ธัญญรัตน์ เกิดสุวรรณ สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ
แหล่งที่มา :  - สำนักโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค รายงานการพยากรณ์โรคความดันโลหิตสูง คณะทำงานพยากรณ์โรคและภัยสุขภาพ อ้างในhttp://164.115.5.58/forecast/files/report_2012/report_2012_11_no01.pdf

 - http://www.hiso.or.th/hiso/visualize/Index.php

 - http://atcloud.com/stories/65694

 - http://hypertensiontreat.wordpress.com

 - http://www.vachiraphuket.go.th/index.php?name=knowledge&file=readknowledge&id=9

 - http://www.haamor.com