HISO - สื่อข้อมูลสุขภาพ
เกิดข้อผิดพลาด ไม่สามารถติดต่อฐานข้อมูลได้
  



สารพัดโพลล์วันวาเลนไทน์



ทุกครั้งที่ถึงเดือนกุมภาพันธ์สำนักโพลล์ต่าง ๆ มักจะออกมาทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน โดยเฉพาะเยาวชนที่มีต่อ “วันวาเลนไทน์” นับตั้งแต่ประเด็นความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับวันวาเลนไทน์ไปจนกระทั่งถึงข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับโอกาสเสี่ยงต่อการมีเพศสัมพันธ์และการติดโรคจากการมีเพศสัมพันธ์

แม้ว่าข้อมูลเหล่านี้จะไม่มีผลกระทบต่อชีวิตของคนส่วนใหญ่มากนัก แต่ข้อมูลเหล่านี้ก็มีประเด็นที่น่าสนใจจนทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปใช้ในการรณรงค์ เพื่อสร้างค่านิยมและการแสดงความรักให้มีความเหมาะสมสอดคล้องกับวัฒธรรมไทย

วันวาเลนไทน์ คือ วันพิเศษสำหรับใครบ้าง?

จากการสำรวจในปีนี้พบว่า มีประชาชนโดยทั่วไปที่เห็นว่าวันวาเลนไทน์ไม่ใช่วันพิเศษเกินกว่าครึ่ง นั่นคือ ร้อยละ 60.4 โดยมีเพียงร้อยละ 39.5 ที่เห็นว่าวันวาเลนไทน์คือ วันที่พิเศษ (ดังภาพที่ 1 ) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่นที่มีอยู่ระหว่าง 13-17 ปี (ดังภาพที่ 2)


ภาพที่ 1 ความคิดเห็นเกี่ยวกับวันวาเลนไทน์


ที่มา : สำรวจสถานการณ์ทางเพศของเยาวชนไทยในวันวาเลนไทน์, 2554 เอแบคโพลล์


ภาพที่ 2 กลุ่มอายุที่ให้ความสำคัญกับวันวาเลยไทน์


ที่มา : “มิติใหม่” ที่ประชาชนอยากเห็นในวันวาเลนไทน์,2554 สวนดุสิตโพลล์

การเสียตัวยังคงเป็นปัญหาอันดับหนึ่งที่น่าเป็นห่วง
สิ่งที่ทำให้คนส่วนใหญ่เป็นกังวลมากที่สุดว่าอาจจะเกิดขึ้นในช่วงเทศกาลนี้ คือ การล่วงละเมิดทางเพศโดยเฉพาะการเสียตัวร้อยละ 32.7 รองลงมาคือ อบายมุขโดยเฉพาะยาเสพติด ร้อยละ 22.06 การเกิดอุบัติเหตุ ร้อยละ 13.12 ปัญหาอาชญากรรม ร้อยละ 7.73 และสิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย ร้อยละ 4.39 (ดังภาพที่ 3)


ภาพที่ 3 " ความเป็นห่วง " ต่อเยาวชนในวันวาเลนไทน์ในสายตาประชาชน


ที่มา : “มิติใหม่” ที่ประชาชนอยากเห็นในวันวาเลนไทน์,2554 สวนดุสิตโพลล์

การมีคู่นอนหลายๆ คนพร้อมกันไม่ควรทำ และเห็นด้วยกับเรื่องผู้ชายควรรับผิดชอบต่อการทำแท้ง

การสำรวจในปีนี้เยาวชนมีความเห็นว่า สิ่งที่ไม่ควรกระทำเป็นอย่างยิ่งคือ การมีคู่นอนพร้อมกันหลายๆ คน ร้อยละ 90 การเลือกเอาวันวาเลนไทน์เป็นวันที่จะมีเพศสัมพันธ์กับคนรัก ร้อยละ 85 และการสนับสนุนให้การทำแท้งเป็นเรื่องที่ถูกกฎหมาย ร้อยละ 74 (ดังภาพที่ 4)

ในทางตรงกันข้ามสิ่งที่ควรสนับสนุนให้เกิดขึ้น คือ ควรออกกฏหมายที่ระบุให้ผู้ชายรับผิดชอบต่อการทำแท้ง ร้อยละ 83 รองลงมาคือ ผู้หญิงควรรักษาพรหมจรรย์ไว้จนกว่าจะมีอายุ 18 ปี ร้อยละ 82 และห้ามเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ออกจากบ้านหลัง 22.00 น. ร้อยละ 60 (ดังภาพที่ 5)


ภาพที่ 4 ความคิดเห็นของกลุ่มเยาวชนอายุ 12-24 ปี ต่อพฤติกรรมที่ไม่ควรกระทำในวันวาเลนไทน์


ที่มา : การสำรวจเยาวชนกันวันวาเลนไทน์, 2554 กรมควบคุมโรค


ภาพที่ 5 ทัศนคติของกลุ่มเยาวชนอายุระหว่าง 12-24 ปี ที่มีต่อพฤติกรรมที่ควรกระทำ


ที่มา : การสำรวจเยาวชนกันวันวาเลนไทน์, 2554 กรมควบคุมโรค

โอกาสในการติดโรคจากการมีเพศสัมพันธ์

ผลการสำรวจของโพลล์ต่างๆ ที่ลงลึกไปถึงโอกาสในการเสียตัว และความเสี่ยงต่อการติดเชื้อจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์นั้น พบว่า ร้อยละ 25 ยอมมีเพศสัมพันธ์กับคู่รักในวันวาเลนไทน์ (ดังภาพที่ 6) ในขณะที่ร้อยละ 16.9 เลือกเอาวันวาเลนไทน์เป็นช่วงที่จะทำให้ตนเองตัดสินใจยอมที่จะมีเพศสัมพันธ์กับคู่รัก (ดังภาพที่ 7) ในจำนวนนี้เป็นกลุ่มเสี่ยงที่อาจติดเชื้อจากโรคทางเพศสัมพันธ์ เพราะไม่มีการป้องกันตนเอง ยกตัวอย่างเช่น สวมถุงยางอนามัยเป็นบางครั้ง หรือไม่สวมเลย ถึงร้อยละ 80.3 (ดังภาพที่ 8)


ภาพที่ 6 ถ้าแฟนหรือคนรักขอมีเพศสัมพันธ์ในวันวาเลนไทน์


ที่มา : การสำรวจเยาวชนกันวันวาเลนไทน์, 2554 กรมควบคุมโรค


ภาพที่ 7 โอกาสที่จะมีเพศสัมพันธ์ในวันวาเลนไทน์


ที่มา : สำรวจสถานการณ์ทางเพศของเยาวชนไทยในวันวาเลนไทน์, 2554 เอแบคโพลล์


ภาพที่ 8 โอกาสเสี่ยงจากการป่วยด้วยโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์


ที่มา : สำรวจสถานการณ์ทางเพศของเยาวชนไทยในวันวาเลนไทน์, 2554 เอแบคโพลล์

นานาทัศนะกับการมีรักอย่างสร้างสรรค์

สิ่งที่ประชาชนคาดหวังในวันวาเลนไทน์ ก็คือ การมอบความรักที่จริงใจ ลดความขัดแย้ง และสร้างความสามัคคีในสังคมไทย ร้อยละ 49.86 รองลงมาคือ ควรมอบความรักให้กับทุกคนไม่เฉพาะแต่แฟน ร้อยละ 29.15 ความรักที่บริสุทธิ์ไม่ต้องแลกมาด้วยการมีเพศสัมพันธ์ ร้อยละ 15.89 และผู้ใหญ่ ผู้บริหารบ้านเมือง ศิลปินดารา ควรเป็นตัวอย่างที่ดี ทำตัวที่แสดงถึงความรัก ความห่วงใยแก่ประชาชนและประเทศชาติ ร้อยละ 5.1 (ดังตารางที่ 1)


ตารางที่ 1 “มิติใหม่” ที่ประชาชนอยากเห็นในวันวาเลนไทน์

"มิติใหม่" ที่ประชาชนอยากเห็นในวันวาเลนไทน์ ร้อยละ
  ให้ความรักที่จริงใจ ลดความขัดแย้ง แตกแยก สร้างความสามัคคีในสังคมไทย
49.86
  ให้ความรักแก่ทุกคน ไม่จำกัดเฉพาะแฟน เช่น พ่อแม่ เพื่อน ญาติ คนที่อยู่ร่วมกัน
29.15
  ให้ความรักที่บริสุทธิ์ เห็นอกเห็นใจกับคนที่รัก ไม่มุ่งเน้นแต่เรื่องเพศสัมพันธ์เพียงอย่างเดียว
15.89
  ผู้ใหญ่ ผู้บริหารบ้านเมือง ศิลปิน ดารา จะต้องเป็นตัวอย่างที่ดี ทำตัวที่แสดงความรัก ความห่วงใยแก่ประชาชนและประเทศชาติ
5.1
ที่มา : การสำรวจ “มิติใหม่” ที่ประชาชนอยากเห็นในวันวาเลนไทน์,2554 สวนดุสิตโพลล์


ทั้งนี้หากพบว่า เพื่อนมีโอกาสที่จะถูกชักชวนให้มีเพศสัมพันธ์ คำแนะนำที่คนส่วนใหญ่คิดว่าน่าจะช่วยยับยั้งได้มากที่สุด คือ ควรรักนวลสงวนตัว ไม่ควรมีเพศสัมพันธ์ก่อนแต่งงาน ร้อยละ 36.2 รองลงมาคือ หากต้องมีเพศสัมพันธ์ก็ต้องรู้จักป้องกันตนเอง ร้อยละ 34.8 ให้ปฏิเสธและเลิกคบ ร้อยละ 7.0 และให้ปฏิเสธและคบกันเป็นเพื่อน ร้อยละ 4.0 สิ่งที่น่าตระหนัก คือ ร้อยละ 18.0 มองว่า เป็นเรื่องสิทธิส่วนบุคคล (ดูภาพที่ 9)


ภาพที่ 9 คำแนนำที่จะให้เพื่อนหากทราบว่าเพื่อนถูกแฟนชักชวนให้มีเพศสัมพันธ์ด้วย


ที่มา : สำรวจสถานการณ์ทางเพศของเยาวชนไทยในวันวาเลนไทน์, 2554 เอแบคโพลล์

ท้ายที่สุดนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านการสร้างเสริมสุขภาวะทางเพศ คุณณัฐยา บุญภักดี มีข้อนำแนะดีๆ ถึงผู้ที่มีโอกาสเสี่ยงในช่วงเทศกาลดังกล่าวไว้ 3 ขั้นตอน นั่นคือ

1. ให้ถามตัวเองว่าพร้อมมีเซ็กซ์ และพร้อมที่จะรับผลที่จะตามมาหรือไม่
2. ตั้งสติ ใช้วิธีเจราเพื่อเอาตัวรอดเฉพาะหน้า
3. อย่าคิดว่าการพกถุงยางเป็นเรื่องที่เสื่อมเสีย



เรียบเรียงโดย :  สิริกร เค้าภูไทย สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ

แหล่งที่มา :

 - World Health Organization. World Report on Road Traffic Injury Prevention, 2004. http://www.who.int/violence_injury_prevention/publications/road_traffic/world_report/en/index.html
 - ศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย. เข็มขัดช่วยชีวิตได้จริงหรือ. จำนวน 1 หน้า.อ้างใน http://www.tarc.ait.ac.th/download/article/seatbelt_th.pdf