HISO - สื่อข้อมูลสุขภาพ เกิดข้อผิดพลาด ไม่สามารถติดต่อฐานข้อมูลได้
  



ยุงก้นปล่องพาหะมาลาเรีย








ไข้มาลาเรีย (Malaria) หรือ (ไข้จับสั่น ไข้ป่า ) ในสมัยเมื่อ 1,500 ปีก่อน แพทย์ชาวกรีกชื่อ Hippocrates ได้พบว่า มาลาเรียเป็นโรคชนิดหนึ่ง ที่มีสาเหตุจากการที่ผู้ป่วยใช้ชีวิตใกล้ชิดกับบริเวณที่มีน้ำนิ่ง แต่ Hippocrates ไม่รู้ว่ามันมีสาเหตุมาจากยุงโรมในอดีตเมื่อ 700 ปีก่อนที่เคยถูกคุกคามด้วยโรคมาลาเรีย จนกระทั่งแหล่งน้ำเน่าในเมืองถูกกำจัดหมด บุคคลสำคัญในสมัยนั้นที่เสียชีวิตด้วยโรคมาลาเรียได้แก่ กวี Dante และสันตะปาปา Sixtus ที่ 5 ชาวโรมัน ในสมัยนั้นจึงได้ตั้งชื่อโรคร้ายนี้ว่า มาลาเรีย (malaria) ซึ่งมาจากการสนธิคำ mal ที่แปลว่า เสีย กับคำ aria ที่แปลว่า อากาศ เพราะเขาเชื่อว่า อากาศเสียคือสาเหตุที่ทำให้คนเป็นโรคชนิดนี้ ความลึกลับเกี่ยวกับที่มาของมาลาเรียได้ถูกเปิดเผยเป็นครั้งแรก โดย Ronald Ross ผู้เป็นนักจุลชีววิทยาชาวอังกฤษ ซึ่งขณะนั้นทำงานอยู่ที่โรงพยาบาล Hyderabad ในประเทศอินเดีย เมื่อ Ross สามารถพิสูจน์ได้ว่าเชื้อพยาธิที่ Laveran เห็นนั้นมาจากการที่คนถูกยุงก้นปล่องกัด ผลการพบนี้ทำให้ Ross ได้รับรางวัลโนเบล สาขาการแพทย์ และในขณะเดียวกัน Giovanni Battista Grassi นักชีววิทยาชาว อิตาเลียน ก็ได้พบว่ายุงตัวเมีย Anopheles คือพาหะนำเชื้อมาลาเรีย


การแพร่ระบาดไข้มาลาเรีย

• การแพร่ระบาดของโรคมาลาเรียเกิดขึ้นใน 99 ประเทศทั่วโลก 51 ประเทศ ซึ่งเกินกว่าครึ่งหนึ่ง อยู่นอกเขตทวีปแอฟริกา โดยมี 20 ประเทศอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิกตะวันตก 21 ประเทศอยู่ในอเมริกาและ 10 ประเทศอยู่ในเขตเมดิเตอร์เรเนียนตะวันออกและทวีปยุโรป

• ผู้ป่วยมาลาเรียที่อยู่นอกเขตทวีปแอฟริกา มีจำนวนประมาณ 34 ล้านคน ในปี 2553 มีผู้เสียชีวิตจำนวน 46,000 คน โดยร้อยละ 88 (30 ล้านคน) ของผู้ป่วยทั้งหมด และร้อยละ 91 (42,000 คน) ของผู้เสียชีวิตอยู่ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ทำให้ภูมิภาคนี้มีจำนวนผู้ได้รับผลกระทบจากมาลาเรียมากเป็นอันดับสองของโลก

• ประเทศที่ได้รับผลกระทบจากมาลาเรียมากที่สุดในเอเชียแปซิฟิกได้แก่ อินเดีย อินโดนีเซีย ปากีสถาน พม่า และปาปัวนิวกินี

ในบ้านเรา ยังคงเป็นโรคที่พบได้บ่อย มักพบในบริเวณที่เป็นป่าเขา จึงพบได้แทบทุกภาคของประเทศ เชื้อที่ทำให้เป็นไข้มาลาเรียมีอยู่หลายชนิด แต่ที่สำคัญในบ้านเรามี 2 ชนิด คือ พลาสโมเดียม ฟาลซิพารัม (Plasmodium falciparum) กับ พลาสโมเดียม ไวแวกซ์ (Plasmodium vivax) ชนิดฟาลซิพารัม พบได้ประมาณ 70-90% มักมีปัญหาดื้อยา และมีโรคแทรกซ้อนได้มาก เช่น ดีซ่าน มาลาเรียขึ้นสมอง, ดีซ่าน, ไตวาย ฯลฯ เป็นอันตรายถึงตายได้


สถิติการป่วยโรคไข้มาลาเรีย อดีต – ปัจจุบัน

จะพบว่าในปี พ.ศ. 2542 มีผู้ที่ป่วยเป็นโรคไข้มาลาเรียสูงที่สุด และจะเห็นได้ว่ามีอัตราการป่วยลดลงอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2543-2554 ดังภาพที่ 1


ภาพที่ 1 อัตราการป่วยโรคมาลาเรีย (อัตราต่อแสนประชากร) ปี 2536-2554



ที่มา : อัตราป่วยโรคมาลาเรีย เครื่องมือสุขภาพ แนวโน้มสุขภาพ อ้างใน http:// http://www.healthinfo.in.th/

จากรายงานโรคในระบบเฝ้าระวัง 506 (Malaria) พบผู้ป่วย 294 ราย จาก 29 จังหวัด คิดเป็นอัตราป่วย 0.46 ต่อแสน ประชากร ไม่พบผู้เสียชีวิต และพบภาคที่มีอัตราป่วยสูงสุด คือ ภาคใต้ 1.34 ต่อแสนประชากร ภาคเหนือ 0.62 ต่อแสนประชากร ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 0.30 ต่อแสนประชากร และภาคกลาง 0.18 ต่อแสนประชากร ตามลำดับ ดังตารางที่ 2


ตารางที่ 2 จำนวนผู้ป่วยไข้มาลาเรีย (อัตราป่วยต่อแสนประชากร) ปี 2556 จำแนกตามภาค

ภาค อัตราป่วย (ต่อแสนประชากร)
ใต้1.34
เหนือ0.62
ตะวันออกเฉียงเหนือ0.30
กลาง0.18



ที่มา : รายงานโรคในระบบเฝ้าระวัง 506 Malaria ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2556 - 21 ม.ค. 56 โดยใช้ฐานข้อมูลจากระบบเฝ้าระวังโรค (รายงาน 506) อ้างใน http://www.boe.moph.go.th/

ในส่วนของระดับจังหวัด จังหวัดที่มีอัตราป่วยต่อแสนประชากรสูงสุด 5 อันดับแรกคือ ตาก (11.74 ต่อแสนประชากร) ระนอง (11.00 ต่อแสนประชากร) ยะลา (6.87 ต่อแสนประชากร) สุราษฎร์ธานี (4.12ต่อแสนประชากร) และชุมพร (3.08 ต่อแสนประชากร) ตามลำดับ ดังตารางที่ 3


ตารางที่ 3 แสดงลำดับจังหวัดที่พบผู้ป่วยไข้มาลาเรีย มากที่สุด ปี 2556 (อัตราป่วยต่อแสนประชากร)

ลำดับ จังหวัดป่วยมากที่สุด อัตราป่วย(ต่อแสนประชากร)
1ตาก11.74
2ระนอง11.00
3ยะลา6.87
4สุราษฎร์ธานี4.12
5ชุมพร3.08



ที่มา : รายงานโรคในระบบเฝ้าระวัง 506 Malaria ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2556 - 21 ม.ค. 56 โดยใช้ฐานข้อมูลจากระบบเฝ้าระวังโรค (รายงาน 506) อ้างใน http://www.boe.moph.go.th/


สาเหตุการเกิดโรคไข้มาลาเรีย

เกิดจากเชื้อมาลาเรีย ซึ่งเป็นสัตว์เซลล์เดียว หรือโปรโตซัว (Protozoa) เช่นเดียวกับบิดอะมีบา มียุงก้นปล่องเป็นพาหะนำโรค คือต้องถูกยุงที่มีเชื้อมาลาเรียกัดจึงจะเป็นโรค หรือไม่ก็อาจเกิดจากการได้รับเลือดจากคนที่มีเชื้ออยู่


อาการโรคไข้มาลาเรีย

อาการจะเกิดหลังจากได้รับเชื้อโดยถูกยุงก้นปล่องกัดประมาณ 10-14 วัน (แต่อาจนานหลายสัปดาห์หรือหลายเดือนก็ได้) ไข้ที่เกิดจากเชื้อ พลาสโมเดียม ฟาลซิพารัม จะเกิดทุก 2 วัน ส่วนไข้ที่เกิดจากเชื้อ พลาสโมเดียม ไวแวกซ์ จะเกิดทุก 3 วัน ใน 2-3 วันแรก อาจมีอาการปวดศีรษะ ครั่นเนื้อครั่นตัว ปวดเมื่อยตามตัวคล้าย ไข้หวัดใหญ่ ต่อมาจึงจะมีอาการไข้จับสั่นเป็นเวลา ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของมาลาเรีย


วิธีการป้องกัน

(1) ป้องกันไม่ให้ยุงกัดโดยนอนในมุ้งหรือมุ้งชุบน้ำยากันยุง หรือทาสารกันยุง

(2) ทำลายแหล่งแพร่ยุง เช่นที่น้ำขัง

(3) หลีกเลี่ยงการเข้าไปในพื้นที่มีมีการแพร่โรคสูง

(4) แรงงานหรือกลุ่มคนที่เคลื่อนย้ายมาจากประเทศเพื่อนบ้านต้องได้รับการตรวจหาเชื้อและถ้าพบต้องรักษา

ดังนั้นจึงไม่แนะนำให้กินยาป้องกันล่วงหน้า แต่แนะนำว่า ถ้าออกจากป่าแล้วมีอาการไข้ หรือมีอาการ สงสัยเป็นมาลาเรีย ให้รีบทำการตรวจรักษา หรือในกรณีที่ต้องเข้าไปอยู่ในป่าที่เป็นถิ่นที่มีเชื้อมาลาเรีย ดื้อต่อยาหลายชนิด เป็นเวลานานเกิน 2 สัปดาห์ (ระยะฟักตัวของโรค) ก็ควรพกยารักษามาลาเรีย (ได้แก่ ควินิน เมโฟลควีนหรือ อาร์ทีซูเนต) ไว้สำรองใช้ในยามฉุกเฉิน เมื่อไม่สามารถตรวจเลือดได้ โดยใช้ในขนาดที่ใช้รักษามาลาเรีย

ในปัจจุบัน กระทรวงสาธารณสุขโดยกรมควบคุมโรค ได้จัดการอบรมหลักสูตรด้านการป้องกันควบคุมโรคมาลาเรีย หรือ International Course on Malaria Prevention and Control ให้กับบุคลากรในด้านการป้องกันและรักษาโรคมาลาเรียของประเทศในภูมิภาคแอฟริกา ซึ่งการอบรมมีทั้งภาคทฤษฎีและการฝึกปฏิบัติภาคสนาม มีผู้เข้ารับการอบรมจาก 6 ประเทศในแอฟริกา ได้แก่ โกตดิวัวร์, มาลี, โมซัมบิก, เซเนกัล, อูกานดา, แซมเบีย และไทย เพื่อช่วยกันป้องกันการเกิดโรคไข้มาลาเรียในปัจจุบันให้น้อยลง







เรียบเรียงโดย :  ธัญญรัตน์ เกิดสุวรรณ สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ
แหล่งที่มา :  - สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค. ระบบเฝ้าระวังโรค (รายงาน 506) Malaria
    http://www.boe.moph.go.th/boedb/surdata/506wk/y56/d13_0156.pdf

 - www.healthinfo.in.th

 - http://www.rbm.who.int/ProgressImpactSeries/docs/Sydney-Key-Facts-th.pdf

 - http://www.mwit.ac.th/physicslab/content_01/sutut/malaria.html

 - http://www.rongreinkhongnoo.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=140108&Ntype=4