HISO - สื่อข้อมูลสุขภาพ เกิดข้อผิดพลาด ไม่สามารถติดต่อฐานข้อมูลได้
  



ภัยเงียบ ! ! ไวรัสตับอักเสบซี (Hepatitis C)








ในบรรดาโรคร้ายที่คุกคามร่างกายเราได้ อย่างเงียบเชียบ ไวรัสตับอักเสบซีถือเป็นโรคที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดโรคหนึ่งทั้งนี้เพราะในบรรดาโรคไวรัสตับอักเสบซึ่งเกิดจากการติดเชื้อไวรัสที่มีอยู่ ถึง 5 ชนิด คือ A, B, C, D และ E ไวรัสที่พบมากที่สุดคือไวรัสตับอักเสบชนิดซี เพราะสามารถเป็นเรื้อรังได้บ่อย ไม่ติดต่อทางอาหาร และผู้ป่วยมักไม่ทราบว่าตัวเองติดเชื้อ ที่ร้ายกว่านั้นคือ ไวรัสตับอักเสบซี เป็นอีกสาเหตุสำคัญของมะเร็งตับ

ไวรัสตับอักเสบซี ถูกค้นพบครั้งแรกในปี พ.ศ. 2532 เป็นไวรัสตับอักเสบชนิดหนึ่งที่ทำให้เกิดการอักเสบในตับ สามารถทำให้เกิดการตับอักเสบทั้งชนิดเฉียบพลันและเรื้อรังตลอดจนตับแข็งและมะเร็งตับ ความรุนแรงของไวรัสชนิดนี้คือ เป็นตับอักเสบเรื้อรังมากกว่าชนิดอื่น และยังไม่มีวัคซีนป้องกันการติดเชื้อ ทำได้ก็เพียงการให้ยาลดไวรัสและป้องกันการเกิดมะเร็งตับเท่านั้น

ปัจจัยเสี่ยงและการติดต่อ
ไวรัสตับอักเสบซี ติดต่อทางเลือด การใช้เข็มฉีดยาร่วมกันแต่มีผู้ป่วยบางท่านได้รับเชื้อโดยไม่ทราบแหล่งที่มาปัจจัยเสี่ยงได้แก่

• ผู้ที่เคยได้รับเลือด และ สารเลือดก่อนปี ค.ศ. 1992 เนื่องจากยังไม่มีการตรวจหาเชื้อไวรัสตับอักเสบ ซี

• เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ที่ได้รับอุบัติเหตุถูกเข็มตำ

• ผู้ป่วยติดยาเสพติดใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน

• ทารกที่เกิดจากแม่ที่มีเชื้อ ไวรัสตับอักเสบซี พบได้ร้อยละ 5

• ผู้ที่สำส่อนทางเพศ หรือ รักร่วมเพศ

• ไดรับเชื้อจากการสักตามตัว

อาการของโรคไวรัสตับอักเสบซี
อาการของตับอักเสบเฉียบพลันจาก ไวรัสตับอักเสบซี

1. ไม่มีอาการ

2. อาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ มีไข้ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน น้ำหนักลดและลงท้ายด้วยตัวเหลืองตาเหลือง ซึ่งอาการตัวเหลืองตาเหลืองพบได้เพียง 10-15% เท่านั้น ที่เหลือไม่พบ จึงทำให้ยากต่อการวินิจฉัย

อาการตับอักเสบเรื้อรังจาก ไวรัสตับอักเสบซี ส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีอาการ บางรายอาจมีอาการเหนื่อยเพลีย ไม่มีแรง มึนงง สมองไม่สั่งงานและเมื่อตับอักเสบไปเรื่อยๆ จึงพบอาการตับแข็ง นอกจากนั้นอาจพบอาการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิต้านทานผิดปกติ เช่น โรคไต โรคผิวหนังผื่นตามผิวหนัง เป็นต้น

การรักษาโรค ไวรัสตับอักเสบซี
ตับอักเสบเฉียบพลัน เนื่องจากผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบเฉียบพลันมักไม่ค่อยมีอาการ จึงไม่มีการรักษาใดๆ เป็นเพียงการดูแลรักษาตามอาการเท่านั้น เช่น ถ้าอ่อนเพลียก็ให้พักผ่อนเยอะๆ ไม่นอนดึก หลีกเลี่ยงอาหารมัก เป็นต้น

ตับอักเสบเรื้อรัง ผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี ส่วนใหญ่จะกลายเป็นโรคเรื้อรังและมีการดำเนินของโรคไปเรื่อยๆ จนถึงสภาพตับเสื่อมและตับวายในที่สุด ปัจจุบันยาที่ใช้เป็นมาตรฐาน ในการรักษาคือ การให้ยา 2 ตัวร่วมกัน คือ ยาฉีดในกลุ่มอินเตอร์เฟอรอนร่วมกับยาไรบาไวริน ซึ่งเป็นยารับประทาน ยาทั้งสองจะให้ผลดีคือกำจัดไวรัสให้หมดไปและไปเป็นซ้ำอีกหลังหยุดยาซึ่งให้ผลเฉลี่ยมากกว่า 50%

การป้องกันไวรัสตับอักเสบซี
ไวรัสตับอักเสบซี เป็นไวรัสที่ทำให้เกิดความรุนแรงต่อตับ ตั้งแต่การติดเชื้อเรื้อรัง ตับอักเสบเรื้อรัง ตับแข็งและมะเร็งตับ แม้ว่าการคัดกรองเลือดในปัจจุบันจะมีความแม่นยำมากขึ้น ร่วมกับการรณรงค์เรื่องการใช้เข็มฉีดยายาเสพติด ทำให้การติดเชื้อจากแหล่งเหล่านี้ลดลง แต่มีแนวโน้มจะติดเชื้อเพิ่มขึ้นจากการกระทำบางอย่าง เช่น ห้ามใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน สวมถุงมือถ้าต้องสัมผัสเลือด ห้ามใช้มีดโกนหนวด แปรงสีฟันร่วมกัน ห้ามใช้อุปกรณ์ในการสัก การเจาะ ร่วมกัน ใช้ถุงยางอนามัยหากมีเพศสัมพันธ์หลายคน และเนื่องจากวัคซีนสำหรับการป้องกันยังไม่ค้นพบ ดังนั้น การป้องกันการติดเชื้อจึงถือว่าดีที่สุด

สถานการณ์โรคไวรัสตับอักเสบซีในอดีต
ปี พ.ศ.2550 มีรายงานผู้ป่วยรวม 1,140 ราย (ร้อยละ 11.42 ของผู้ป่วยตับอักเสบรวม) อัตราป่วย 1.81 ต่อประชากรแสนคน ไม่มีผู้เสียชีวิต (ตารางที่ 1) พบผู้ป่วยเพศชายมากกว่าเพศหญิง เพศชาย 726 ราย เพศหญิง 414 ราย อัตราส่วนเพศชายต่อเพศหญิง เท่ากับ 1.7 : 1 กลุ่มอายุที่พบสูงสุด คือกลุ่มอายุ 45 - 54 ปี รองลงมา คือ กลุ่มอายุ 55 - 64 ปี และ 35 - 44 ปี อัตราป่วย 4.26, 3.43 และ 2.55 ต่อประชากรแสนคน ตามลำดับ พบผู้ป่วยใหม่ในทุกเดือนโดยพบสูงสุดในเดือน ตุลาคมจำนวนผู้ป่วย เท่ากับ 130 ราย และต่ำสุดในเดือน ธันวาคม และ สิงหาคม เท่ากับ 77 ราย โดยในปี พ.ศ.2550 พบผู้ป่วยใหม่สูงกว่าค่ามัธยฐานย้อนหลัง 5 ปีในทุกเดือน (รูปที่ 1)


ตารางที่ 1 ผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตด้วยโรคตับอักเสบ จำแนกตามชนิดของเชื้อก่อโรค ปี 2550



ที่มา : ระบบเฝ้าระวังทางระบาดวิทยา สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข


ภาพที่ 1 อัตราผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบซี (ต่อประชากรแสนคน) จำแนกตามเดือน ปี 2550



ที่มา : ระบบเฝ้าระวังทางระบาดวิทยา สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข


สถานการณ์โรคไวรัสตับอักเสบซีในปัจจุบัน
จากรายงานโรคในระบบเฝ้าระวัง 506 (Hepatitis C) พบภาคที่มีอัตราป่วยสูงสุด คือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 1.58 ต่อแสนประชากร ภาคเหนือ 1.51 ต่อแสนประชากร ภาคกลาง 1.24 ต่อแสนประชากร และภาคใต้ 0.68 ต่อแสนประชากร ตามลำดับ ดังตารางที่ 2


ตารางที่ 2 จำนวนผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบซี (อัตราป่วยต่อแสนประชากร) ปี 2555 จำแนกตามภาค

ภาค อัตราป่วย(ต่อแสนประชากร)
ตะวันออกเฉียงเหนือ 1.58
เหนือ 1.51
กลาง 1.24
ใต้ 0.68



ที่มา : รายงานโรคในระบบเฝ้าระวัง 506 Hepatitis C โดยใช้ฐานข้อมูลจากระบบเฝ้าระวังโรค (รายงาน 506) อ้างใน http://www.boe.moph.go.th/



ในส่วนของระดับจังหวัด จังหวัดที่มีอัตราป่วยต่อแสนประชากรสูงสุด 5 อันดับแรกคือ กาฬสินธุ์ (14.49 ต่อแสนประชากร) เพชรบูรณ์ (6.53ต่อแสนประชากร) มหาสารคาม (5.32 ต่อแสนประชากร) ตราด (4.09 ต่อแสนประชากร) บุรีรัมย์ (3.36 ต่อแสนประชากร ตามลำดับ ดังตารางที่ 3


ตารางที่ 3 แสดงลำดับจังหวัดที่พบผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบซี มากที่สุด ปี 2555 (อัตราป่วยต่อแสนประชากร)

ลำดับ จังหวัดป่วยมากที่สุด อัตราป่วย (ต่อแสนประชากร)
1 กาฬสินธุ์14.49
2 เพชรบูรณ์6.53
3 มหาสารคาม5.32
4 ตราด4.09
5 บุรีรัมย์3.36



ที่มา : รายงานโรคในระบบเฝ้าระวัง 506 Hepatitis C โดยใช้ฐานข้อมูลจากระบบเฝ้าระวังโรค (รายงาน 506) อ้างใน http://www.boe.moph.go.th/

การดูแลตัวเองให้ห่างไกลจากโรคไวรัสตับอักเสบซี แนะนำให้ทานวิตามินบำรุง ทำตัวให้แข็งแรง ไม่ดื่มสุรา ดูแลสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ ระมัดระวังไม่ให้ตัวเองเข้าไปอยู่ในกลุ่มเสี่ยง และบอกต่อบุคคลที่รู้จักที่ฮิตรอยสักต่างๆ ให้ไปตรวจเลือดเพื่อตรวจหาไวรัสตับอักเสบซี เพราะโรคไวรัสตับอักเสบซี ส่วนใหญ่กว่าจะรู้ตัวก็ลุกลาม รักษาไม่ทัน ฉะนั้นใครที่รู้ตัวว่าอยู่ในกลุ่มเสี่ยง ไปพบแพทย์เพื่อตรวจคัดกรองโรค หาแนวทางป้องกัน ส่วนผู้ที่ไม่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงก็ควรหลีกเลี่ยงพฤติกรรมต่างๆ ที่จะนำไปสู่โรคร้าย







เรียบเรียงโดย :  ธัญญรัตน์ เกิดสุวรรณ สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ
แหล่งที่มา :  - สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค. ระบบเฝ้าระวังโรค (รายงาน 506) Hepatitis C
   อ้างใน http://www.boe.moph.go.th/boedb/surdata/506wk/y56/d13_0156.pdf

 - http://www.srinagarind.md.kku.ac.th/index.php?option=com_content
   &view=article&id=167:2011-06-22-03-48-32&catid=54:2011-02-24-05-47-11&Itemid=61)

 - http://www.hiso.or.th/hiso5/healthy/news.php?names=13&news_id=2403

 - http://www.adamslove.org/d.php?id=164