HISO - สื่อข้อมูลสุขภาพ เกิดข้อผิดพลาด ไม่สามารถติดต่อฐานข้อมูลได้
  



แรงงานนอกระบบในไทยมีมากถึง 24.6 ล้านคน








“อาชีพอิสระ” หรือที่ถูกเรียกว่าเป็น “แรงงานนอกระบบ” (Informal Sector) หมายถึง กลุ่มคนที่ทำงานอิสระที่ไม่ได้รับความคุ้มครองและไม่มีหลักประกันทางสังคมจากการทำงาน แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้

1. กลุ่มผู้ประกอบอาชีพอิสระทั่วไป เช่น คนขับรถรับจ้าง ผู้ทำการเกษตร หาบเร่แผงลอย ช่างเสริมสวยตัดผม ช่างซ่อม เจ้าของร้านขายของชำ ทนายความ แพทย์ วิศวกร ฯลฯ

2. กลุ่มที่ทำงานรับจ้าง มีรายได้ประจำ เช่น ผู้รับงานไปทำที่บ้าน ผู้ทำงานนอกสถานที่ ผู้รับจ้างทำของ รับจ้างตามฤดูกาล แรงงานในกิจการประมง คนรับใช้ตามบ้าน ฯลฯ


แรงงานนอกระบบของไทยในปัจจุบัน

แรงงานนอกระบบ

จากผลการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติในปี 2554 พบว่า มีจำนวนผู้มีงานทำทั้งสิ้น 39.3 ล้านคน โดยเป็นแรงงานนอกระบบ 24.6 ล้านคน หรือ ร้อยละ 62.6 ของจำนวนผู้มีงานทำทั้งหมด เมื่อพิจารณาตามเพศ พบว่า มีจำนวนไม่แตกต่างกันมาก คือ เพศชาย 13.2 ล้านคน หรือ ร้อยละ 53.8 และเพศหญิง11.4 ล้านคน หรือ ร้อยละ 46.2 ของแรงงานนอกระบบทั้งหมด

โดยแรงงานนอกระบบส่วนใหญ่ทำงานอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมากที่สุด ร้อยละ 41.5 รองลงมาเป็นภาคเหนือ ร้อยละ 21.4 ภาคกลาง ร้อยละ18.7 ภาคใต้ ร้อยละ 13.3 และกรุงเทพมหานครมีแรงงานนอกระบบน้อยที่สุด ร้อยละ 5.1 (ดังภาพที่ 1)


ภาพที่ 1 ร้อยละของแรงงานนอกระบบ จำแนกตามภาค พ.ศ. 2554




ที่มา : สรุปผลการสำรวจแรงงานนอกระบบ พ.ศ. 2554 สำนักงานสถิติแห่งชาติ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร



ระดับการศึกษาแรงงานนอกระบบ

เมื่อพิจารณาที่ระดับการศึกษาของแรงงานนอกระบบ พบว่า ส่วนใหญ่จบชั้นการศึกษาในระดับประถมศึกษาและต่ำกว่าเป็นส่วนใหญ่ ประมาณ 16.0 ล้านคน หรือ ร้อยละ 65.1 รองลงมาคือ ระดับมัธยมศึกษา 6.7 ล้านคน หรือ ร้อยละ 27.2 และระดับอุดมศึกษา 1.7 ล้านคน หรือ ร้อยละ 6.9 ตามลำดับ (ดังภาพที่ 2) สำหรับระดับการศึกษาที่สำเร็จของแรงงานนอกระบบในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา พบว่า แรงงานนอกระบบส่วนใหญ่ยังเป็นผู้ที่ไม่มีการศึกษาและต่ำกว่าประถมศึกษา รองลงมาเป็นระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษาตอนต้น มัธยมศึกษาตอนปลาย และอุดมศึกษา จะเห็นได้ว่าแรงงานนอกระบบส่วนใหญ่เป็นผู้มีการศึกษาในระดับที่ไม่สูงนัก เมื่อเทียบกับแรงงานในระบบ


ภาพที่ 2 เปรียบเทียบร้อยละของแรงงานในระบบและนอกระบบ
จำแนกตามระดับการศึกษาที่สำเร็จ พ.ศ. 2554




ที่มา : สรุปผลการสำรวจแรงงานนอกระบบ พ.ศ. 2554 สำนักงานสถิติแห่งชาติ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร



แรงงานนอกระบบมากกว่าครึ่งประกอบกิจกรรมภาคเกษตร

เมื่อพิจารณาประเภทการประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจ พบว่า แรงงานนอกระบบมากกว่าครึ่งหนึ่งทำงานอยู่ในภาคเกษตรกรรมโดยมีจำนวนถึง15.1 ล้านคน หรือ ร้อยละ 61.4 รองลงมาทำงานอยู่ในภาคการค้าและการบริการ ร้อยละ 29.7 และภาคการผลิต ร้อยละ 8.9 (ดังภาพที่ 3)


ภาพที่ 3 เปรียบเทียบร้อยละของแรงงานในระบบและนอกระบบ
จำแนกตามกลุ่มทางเศรษฐกิจ พ.ศ. 2554




ที่มา : สรุปผลการสำรวจแรงงานนอกระบบ พ.ศ. 2554 สำนักงานสถิติแห่งชาติ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร



การบาดเจ็บจากการทำงานของแรงงานนอกระบบ

หากพิจารณาแรงงานนอกระบบในปี 2554 ที่ได้รับบาดเจ็บหรืออุบัติเหตุ พบว่า มีจำนวนเฉลี่ยวันละ 10,003 คน ซึ่งมีจำนวนเพิ่มขึ้นจากปี 2553 (เฉลี่ยวันละ 9,637 คน) กลุ่มของแรงงานนอกระบบได้รับบาดเจ็บหรืออุบัติเหตุจากการทำงาน จำนวน 3.7 ล้านคน โดยลักษณะของการเกิดอุบัติเหตุและบาดเจ็บเกิดจากการถูกของมีคมบาดมากที่สุด ร้อยละ67.3 รองลงมาคือ การพลัดตกหกล้ม ร้อยละ 12.3 การชนและกระแทก ร้อยละ 8.7 ไฟไหม้หรือน้ำร้อนลวก ร้อยละ 4.8 ได้รับสารเคมี ร้อยละ 3.0 อุบัติเหตุจากยานพาหนะ ร้อยละ 2.9 และไฟฟ้าช็อต ร้อยละ 0.6 ตามลำดับ (ดังภาพที่ 4)


ภาพที่ 4 ร้อยละของแรงงานนอกระบบ
จำแนกตามการได้รับบาดเจ็บหรืออุบัติเหตุ พ.ศ. 2554




ที่มา : สรุปผลการสำรวจแรงงานนอกระบบ พ.ศ. 2554 สำนักงานสถิติแห่งชาติ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร



อิริยาบถในการทำงานเป็นปัญหาใหญ่ของแรงงานนอกระบบ

ปัญหาด้านสภาพแวดล้อมในการทำงานที่แรงงานนอกระบบประสบมากที่สุด คือ อิริยาบถในการทำงาน (ไม่ค่อยได้เปลี่ยนลักษณะท่าทางในการทำงาน) ร้อยละ 44.2 มีฝุ่น ควัน กลิ่น ร้อยละ 17.8และมีแสงสว่างไม่เพียงพอ ร้อยละ 17.0 ปัญหาด้านความไม่ปลอดภัยในการทำงาน ส่วนใหญ่ ได้รับสารเคมีเป็นพิษ ร้อยละ 65.0 เครื่องจักรเครื่องมือ ที่เป็นอันตราย ร้อยละ 21.8 และการได้รับอันตรายต่อระบบหู/ระบบตา ร้อยละ ตามลำดับ (ดังภาพที่ 5)


ภาพที่ 5 ร้อยละของแรงงานนอกระบบ จำแนกตามปัญหาที่เกิดจากการทำงาน
(ด้านการทำงาน ด้านสภาพแวดล้อม ด้านความไม่ปลอดภัย) พ.ศ.2554




ที่มา : สรุปผลการสำรวจแรงงานนอกระบบ พ.ศ. 2554 สำนักงานสถิติแห่งชาติ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร



แรงงานนอกระบบในช่วงปี 2549-2554

พบผู้ทำงานที่เป็นแรงงานนอกระบบมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2549 – 2551 แต่ปี 2552 – 2554 แรงงานนอกระบบเริ่มลดลง เมื่อเทียบกับปี 2551 (ร้อยละ 63.7) ปี 2552 (ร้อยละ63.4) ปี 2553 (ร้อยละ 62.3) และปี 2554 (ร้อยละ62.6) ตามลำดับ (ดังภาพที่ 6)


ภาพที่ 6 เปรียบเทียบร้อยละของแรงงานในและนอกระบบ พ.ศ. 2549-2554




ที่มา : สรุปผลการสำรวจแรงงานนอกระบบ พ.ศ. 2554 สำนักงานสถิติแห่งชาติ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

แรงงานนอกระบบ คือ กำลังแรงงานที่สำคัญของชาติซึ่งเสียสละตนอย่างมาก เพราะต้องทำงานหนักและต้องเผชิญกับปัญหาต่างๆ นานา อาทิเช่น ค่าตอบแทนจากการทำงานต่ำ มีงานทำไม่ต่อเนื่อง ขาดหลักประกันทางสังคม ความเสี่ยงจากการประกอบอาชีพ รวมทั้งไม่ได้รับการคุ้มครองทางกฎหมายโดยเฉพาะกฎหมายแรงงาน เป็นต้น ดังนั้นสิ่งที่กำลังท้าทายเราอยู่ในวันข้างหน้าก็คือ การหาวิธีแก้ไขปัญหาให้กับกลุ่มแรงงานนอกระบบที่นับวันจะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น



เรียบเรียงโดย :  ธัญญรัตน์ เกิดสุวรรณ สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ
แหล่งที่มา : - สำนักงานสถิติแห่งชาติ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร. สรุปผลการสำรวจแรงงานนอกระบบ พ.ศ. 2554 อ้างใน http://service.nso.go.th/nso/nsopublish/themes/theme_2-2-4.html