HISO - สื่อข้อมูลสุขภาพ เกิดข้อผิดพลาด ไม่สามารถติดต่อฐานข้อมูลได้
  



จุดเสี่ยงของระดับเสียงที่เกินมาตรฐานในเขต กทม.








มลพิษทางเสียงเป็นมลพิษที่แตกต่างจากมลพิษอื่นๆ เนื่องจากผลกระทบที่เกิดจะแพร่กระจายอยู่ในวงจำกัด เพราะเสียงเป็นการเคลื่อนที่ของพลังงานผ่านตัวกลางใดๆ โดยสามารถเข้าสู่ร่างกายมนุษย์ผ่านทางอวัยวะรับความรู้สึก เช่น หูและร่างกาย หากได้รับเสียงดังมากเกินขีดจำกัดของร่างกาย และอยู่ในรูปแบบหรือเวลาที่ไม่เหมาะสมก็จะส่งผลกระทบต่อร่างกายและจิตใจ เช่น การทำลายอวัยวะรับการได้ยิน การทำให้เกิดความรำคาญ โรคเครียด หรืออาจเป็นสาเหตุให้เกิดโรคร้ายต่างๆ ได้

มาตรฐานระดับเสียง

เสียงที่ดังเกินไปอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ ดังนั้นเพื่อควบคุมให้มีการใช้เสียงอย่างพอเหมาะ จึงมีการกำหนดมาตรฐานของเสียงขึ้นมาเพื่อตรวจสอบระดับของเสียง โดยแบ่งออกเป็น 3 ระดับ คือ ระดับดี ควรเป็นเสียงที่ดังไม่เกิน 55 เดซิเบลเอ ระดับปานกลาง ควรเป็นเสียงที่ดังระหว่าง 55 – 70 เดซิเบลเอ และระดับที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ คือ เสียงที่มีความดังเกิน 70 เดซิเบลเอ (ดังตารางที่ 1)


ตารางที่ 1 แสดงระดับคุณภาพของเสียง

ค่าดัชนีระดับคุณภาพเสียง
< 55 dBA ดี
55 - 70 dBA ปานกลาง
> 70 dBA มีผลกระทบต่อสุขภาพ

                        ที่มา : http://gendb.pcd.go.th/NOISE/standard.jpg

ทั้งนี้ในกิจวัตรประจำวันของคนเรามีความเกี่ยวข้องกับเสียงในระดับที่แตกต่างกันออกไป ผู้เชียวชาญด้านเสียงได้จัดลำดับแหล่งกำเนิดเสียง ระดับเสียง และผลกระทบที่มีต่อมนุษย์ โดยจำแนกตามกิจกรรมที่ทำไว้ว่า ในขณะที่เราอยู่กับป่าตามธรรมชาติจะมีเสียงดังประมาณ 0-20 เดซิเบลเอ ในห้องสมุดจะมีเสียงดังประมาณ 40 เดซิเบลเอ ที่ทำงานมีเสียงดังไม่เกิน 70 เดซิเบลเอ บนท้องถนนที่มีการจราจรติดขัดจะมีเสียงดังประมาณ 80 เดซิเบลเอ ผู้ที่ทำงานขุดเจาะถนน จะต้องทนกับเสียงที่ดังถึง 100 เดซิเบลเอ และเสียงจากเครื่องบินไอพ่น มีเสียงดังรบกวนถึง 140 เดซิเบลเอ (ดังภาพที่ 2)


ภาพที่ 1 แหล่งกำเนิดเสียง ระดับเสียง และผลกระทบที่มีต่อมนุษย์



                        ที่มา : http://gendb.pcd.go.th/NOISE/standard.jpg



บริเวณพื้นที่ที่มีความเสี่ยง

จากข้อมูลการตรวจวัดระดับคุณภาพของเสียงของกรมควบคุมมลพิษแสดงให้เห็นว่า สาเหตุสำคัญของปัญหามลพิษทางเสียงโดยเฉพาะในเขตเมืองนั้นเกิดจากการคมนาคมขนส่ง เช่น เสียงจากอากาศยาน เสียงจากรถไฟ เสียงจากการจราจรทางบก และเสียงจากการเดินเรือหางยาว เฉพาะในเขตกรุงเทพฯ พบบริเวณที่เป็นจุดเสี่ยงที่มีระดับเสียงเกินมาตรฐานกว่า 70 เดซิเบลเอ จำนวน 5 แห่ง

อันดับที่ 1 คือ พุหุรัด ถ.ตรีเพชร เขต พระนคร จากการตรวจวัดระดับเสียงจำนวน 270 วัน พบระดับเสียงที่สูงเกินมาตรฐานทั้งหมด 270 วัน โดยระดับเสียงเฉลี่ยสูงสุดอยู่ที่ 85.8 เดซิเบลเอ

อันดับที่ 2 คือ สถานตำรวจนครบาลโชคชัย ถ.ลาดพร้าว เขตบางกะปิ จากการตรวจวัดระดับเสียงจำนวน 326 วัน พบระดับเสียงที่สูงเกินมาตรฐานทั้งหมด 326 วัน โดยระดับเสียงเฉลี่ยสูงสุดอยู่ที่ 73.9 เดซิเบลเอ

อันดับที่ 3 คือ ริมรั้วการเคหะชุมชนดินแดง เขตดินแดง จากการตรวจวัดระดับเสียงจำนวน 324 วัน พบระดับเสียงที่สูงเกินมาตรฐานทั้งหมด 301 วัน โดยระดับเสียงเฉลี่ยสูงสุดอยู่ที่ 81.3 เดซิเบลเอ

อันดับที่ 4 คือ วงเวียน 22 กรกฎา ถ.สันติภาพ จากการตรวจวัดระดับเสียงจำนวน 315 วัน พบระดับเสียงที่สูงเกินมาตรฐานทั้งหมด 226 วัน โดยระดับเสียงเฉลี่ยสูงสุดอยู่ที่ 81.0 เดซิเบลเอ

อันดับที่ 5 คือ สถานีรถไฟย่อย ถ.อินทรพิทักษ์ เขตธนบุรี จากการตรวจวัดระดับเสียงจำนวน 364 วัน พบระดับเสียงที่สูงเกินมาตรฐานทั้งหมด 89 วัน โดยระดับเสียงเฉลี่ยสูงสุดอยู่ที่ 74.9 เดซิเบลเอ (ดังตารางที่ 2)


ตารางที่ 2 ระดับเสียงจากสถานีตรวจวัดระดับเสียงในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ปี 2553
เดือนมกราคม-ธันวาคม บริเวณพื้นที่ริมหรือใกล้ถนน



ที่มา : ตารางแสดงระดับเสียงจากสถานีตรวจวัดระดับเสียงในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล สำนักจัดการคุณภาพอากาศและเสียง อ้างใน aqnis.pcd.go.th/webfm_send/907



เรียบเรียงโดย :  สิริกร เค้าภูไทย สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ
แหล่งที่มา : สำนักจัดการคุณภาพอากาศและเสียง กรมควบคุมมลพิษ. ตารางแสดงระดับเสียงจากสถานีตรวจวัดระดับเสียงในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล อ้างใน aqnis.pcd.go.th/webfm_send/907