HISO - สื่อข้อมูลสุขภาพ
เกิดข้อผิดพลาด ไม่สามารถติดต่อฐานข้อมูลได้
  



ผลกระทบของเด็กที่อยู่ในสังคมผู้สูบบุหรี่



ในขณะที่เราเพียรพยายามและเฝ้าระวังไม่ให้เด็กและเยาวชนเข้าไปเกี่ยวข้องกับบุหรี่ แต่จากการสำรวจสุขภาพประชาชนไทยโดยการตรวจร่างกาย ครั้งที่ 4 พ.ศ.2551-2552 กลับพบว่า เด็กที่มีอายุระหว่าง 10-14 ปี ร้อยละ 3.4 เคยสูบบุหรี่ โดยเพศชายเคยสูบมากกว่าเพศหญิงอย่างชัดเจน กล่าวคือ ร้อยละ 6.5 ของเพศชายเคยสูบบุหรี่ ในขณะที่เพศหญิงมีเพียงร้อยละ 0.2 ของเพศหญิงที่เคยสูบบุหรี่ นอกจากนี้รายงานนี้ยังได้วิเคราะห์ลึกลงไปอีกว่า อายุที่เริ่มสูบบุหรี่ของเด็กชายคือ อายุ 11.4 ปี ในขณะที่เพศหญิงอยู่ที่ 12.5 ปี สำหรับภาคที่มีเด็กสูบบุหรี่มากที่สุดคือ ภาคใต้ ร้อยละ 5.7 รองลงมาคือ เด็กในกทม. ร้อยละ 4.2 ภาคเหนือ ร้อยละ 4 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 2.6 และภาคกลาง ร้อยละ 2.1

นอกจากนี้ผลการสำรวจยังชี้ให้เห็นว่ายังมีเด็กไทยอีกจำนวนไม่น้อยที่แม้จะไม่ได้สูบบุหรี่ แต่ผลพวงจากการคลุกคลีอยู่ในแวดวงของสิงห์นักสูบทั้งหลายก็ทำให้เด็กต้องสูดดมกลิ่นบุหรี่โดยไม่ตั้งใจ ซึ่งอาจจะเป็นอันตรายกว่าการสูดโดยตรงอีกด้วย


เด็กไทยกับภัยจากควันบุหรี่

1. จำนวนเด็กไทยที่ได้รับควันบุหรี่ในรอบ 1 เดือนที่ผ่านา

จากการสำรวจสุขภาพประชาชนไทยโดยการตรวจร่างกาย ครั้งที่ 4 พบว่า มีเด็กไทยที่อายุระหว่าง 10-14 ปี เคยอยู่ใกล้ หรือได้รับควันจากบุหรี่ในรอบ 1 เดือนที่ผ่านมามากถึง ร้อยละ 77.9 โดยเป็นเด็กชายร้อยละ 79.0 และเป็นเด็กหญิง ร้อยละ 76.7

จเมื่อจำแนกตามเขตการปกครองพบว่า เด็กในเขตนอกเทศบาลมีโอกาสสัมผัสกับควันบุหรี่มากกว่าในเขตเทศบาล ร้อยละ 78.2 และ ร้อยละ 76.0 ตามลำดับ

จโดยภาคที่เด็กเสี่ยงมากที่สุดได้แก่ กทม. ร้อยละ 83.4 รองลงมาคือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 80.8 ภาคใต้ ร้อยละ 79.2 ภาคเหนือ ร้อยละ 75.7 และภาคกลาง ร้อยละ 71.3 (ดังตารางที่ 1)


ภาพที่ 1 คดีประทุษร้ายต่อทรัพย์และคดียาเสพติดปี พ.ศ. 2540 - 2553



ที่มา : สุขภาพเด็ก ในรายงานการสำรวจสุขภาพประชาชนไทยโดยการตรวจร่างกาย ครั้งที่ 4 พ.ศ. 2551-2552



2. จุดเสี่ยงที่เด็กมีโอกาสได้รับกลิ่นบุหรี่มากที่สุด

การวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้สำรวจครั้งนี้ พบสิ่งที่น่าตกใจว่าบ้านซึ่งเป็นสถานที่ที่คิดว่าปลอดภัยจากอันตรายทั้งปวงกลับกลายเป็นพื้นที่เสี่ยงจากควันบุหรี่สำหรับเด็ก ๆ มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ในและนอกเขตเทศบาล หรือระดับภาคต่าง ๆ (ดังภาพที่ 2, 3 และ 4)


ภาพที่ 2 แสดงร้อยละของเด็กอายุ 10-14 ปีที่ได้รับควันบุหรี่ใน 1 เดือนที่ผ่านมาจำแนกตามสถานที่และเพศ



ที่มา : สุขภาพเด็ก ในรายงานการสำรวจสุขภาพประชาชนไทยโดยการตรวจร่างกาย ครั้งที่ 4 พ.ศ. 2551-2552


ภาพที่ 3 แสดงร้อยละของเด็กอายุ 10-14 ปีที่ได้รับควันบุหรี่ใน 1 เดือนที่ผ่านมาจำแนกตามสถานที่และเขตการปกครอง



ที่มา : สุขภาพเด็ก ในรายงานการสำรวจสุขภาพประชาชนไทยโดยการตรวจร่างกาย ครั้งที่ 4 พ.ศ. 2551-2552


ภาพที่ 4 แสดงร้อยละของเด็กอายุ 10-14 ปีที่ได้รับควันบุหรี่ใน 1 เดือนที่ผ่านมาจำแนกตามสถานที่และภาค



ที่มา : สุขภาพเด็ก ในรายงานการสำรวจสุขภาพประชาชนไทยโดยการตรวจร่างกาย ครั้งที่ 4 พ.ศ. 2551-2552


3. ความถี่จากการได้รับควันบุหรี่

จากการสอบถามเด็กถึงความถี่ที่ได้รับควันบุหรี่ทั้งในบ้านและนอกบ้าน พบว่า ร้อยละ 19.6 ได้รับควันทุกวัน ร้อยละ 22.2 ได้รับควันบุหรี่ 3-4 ครั้งต่อสัปดาห์ และร้อยละ 50.2 ได้รับควันบุหรี่ 1-2 ครั้งต่อสัปดาห์

ทั้งนี้เมื่อจำแนกความถี่ของการได้รับควันบุหรีระหว่างเด็กผู้หญิงกับเด็กผู้ชาย พบว่า โดยส่วนใหญ่เด็กผู้ชายมีโอกาสได้รับควันบุหรี่บ่อยกว่าเด็กผู้หญิง (ภาพที่ 5) ดังนี้


- ความถี่ของการได้รับควันบุหรี่ทุกวัน เพศชายได้รับมากกว่าเพศหญิง ร้อยละ 20.2 และร้อยละ 19.0 ตามลำดับ

- ความถี่ของการได้รับควันบุหรี่ประมาณ 5-6 ครั้งต่อสัปดาห์ เพศชายได้รับมากกว่าเพศหญิง ร้อยละ 8.3 และร้อยละ 7.9 ตามลำดับ

- ความถี่ของการได้รับควันบุหรี่ประมาณ 3-4 ครั้งต่อสัปดาห์ เพศชายได้รับมากกว่าเพศหญิง ร้อยละ 24.3 และร้อยละ 19.9 ตามลำดับ

- ความถี่ของการได้รับควันบุหรี่ประมาณ 1-2 ครั้งต่อสัปดาห์ เพศหญิงได้รับมากกว่าเพศชาย ร้อยละ 53.2 ตามลำดับ


ภาพที่ 5 ร้อยละของเด็กที่เคยได้รับควันบุหรี่ใน 1 เดือนที่ผ่านมา จำแนกตามความถี่ที่ได้รับและเพศ



ที่มา : สุขภาพเด็ก ในรายงานการสำรวจสุขภาพประชาชนไทยโดยการตรวจร่างกาย ครั้งที่ 4 พ.ศ. 2551-2552


อันตรายของควันบุหรี่มือสองต่อสุขภาพ

มีผลการวิจัยที่ระบุว่าเด็กที่อยู่ในครอบครัวซึ่งสมาชิกในบ้านสูบบุหรี่ เสี่ยงต่อการเกิดโรคในกลุ่มปอด โรคระบบทางเดินหายใจ และโรคหืดมากกว่าเด็กปกติ เนื่องจากเด็กจะมีภูมิคุ้มกันต่ำ คนสูบบุหรี่จึงควรเลี่ยงสูบบุหรี่ในบ้านหรือทางที่ดีเลิกสูบไปเลย

นอกจากนี้ รศ.ดร.เนาวรัตน์ เจริญค้า จากคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ยังได้กล่าวว่า ผลจากการวิจัยในการเก็บข้อมูลที่สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี พบว่า เด็กซึ่งอยู่ในครอบครัวที่สมาชิกในบ้านสูบบุหรี่จะทำให้เด็กมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคในกลุ่มปอด เช่น ปอดอักเสบ กล่องเสียงอักเสบ หลอดลมอักเสบมากถึง 4.3 เท่าของเด็กปกติ และโรคระบบทางเดินหายใจส่วนล่างเป็น 3.8 เท่าของเด็กปกติ ส่วนโรคหืดนั้นอยู่ที่ 2.9 เท่าของเด็กปกติ

ส่วนเด็กที่ได้รับควันบุหรี่นอกบ้านมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคกลุ่มปอด 3.4 เท่าของเด็กปกติ โรคระบบทางเดินหายใจส่วนล่าง 2.9 เท่าของเด็กปกติ และในขณะที่มารดาตั้งครรภ์แล้วได้รับควันบุหรี่จากผู้อื่นโดยที่ตนไม่ได้สูบส่งผลให้เด็กในครรภ์จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหืด 2.9 เท่าของเด็กปกติ



เรียบเรียงโดย :  สิริกร เค้าภูไทย สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ