HISO - สื่อข้อมูลสุขภาพ
เกิดข้อผิดพลาด ไม่สามารถติดต่อฐานข้อมูลได้
  



ยาเสพติด คือ ต้นเหตุในการก่อคดีอาชญากรรมจริงหรือไม่



เมื่อพูดถึงปัญหายาเสพติดหลายคนคงสงสัยว่ายาเสพติดเกี่ยวข้องกับการก่ออาชญากรรมหรือไม่ และยังสงสัยว่ายาเสพติด คือ ต้นเหตุที่นำไปสู่การกระทำความผิดจริงหรือไม่ นักวิจัยพยายามค้นหาคำตอบนี้และพบว่า เป็นการยากที่จะระบุว่ายาเสพติดคือ สาเหตุของการก่ออาชญากรรมอย่างแท้จริง เพราะเท็จจริงแล้วผู้ที่ติดยาเสพติดส่วนใหญ่เคยมีประวัติการกระทำผิดมาก่อน แต่ที่แน่ๆ คือ ยาเสพติดมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของอาชญากร นั่นคือ หลังจากติดยาเสพติดแล้วผู้ติดยามีแนวโน้มที่จะก่ออาชญากรรมเพิ่มมากขึ้น โดยมีข้อมูลที่แสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างยาเสพติดกับการก่ออาชญากรรมที่น่าสนใจ ดังนี้

ฤทธิ์ของยาเสพติดมีผลต่อการก่อความรุนแรง

สาเหตุที่ยาเสพติดมีอำนาจครอบงำจิตใจของผู้เสพได้ก็เพราะยาเสพติดมีสารเคมีที่เข้าทำลายระบบประสาท ทั้งความทรงจำ การควบคุมตัวเอง รวมทั้งเป็นสาเหตุของการเกิดความหวาดระแวงว่าคนจะมาทำร้าย นอกจากนี้ยาเสพติดยังได้ทำลายระบบการรับรู้ ความอดทนอดกลั้นต่อความละอายและเกรงกลัวต่อการกระทำผิด จึงอาจกล่าวได้ว่าผู้กระทำผิดหลายคนประกอบอาชญากรรมเนื่องจากฤทธิ์ของยาเสพติด โดยยาเสพติดแต่ละประเภทส่งผลให้เกิดการใช้ความรุนแรงที่แตกต่างกันดังนี้ (ดังตารางที่ 1)


ตารางที่ 1 ตารางสรุปความสัมพันธ์ระหว่างประเภทยาเสพติดและผลต่อการใช้ความรุนแรง

ประเภทยาเสพติด ผลต่อการใช้ความรุนแรง
โคเคน
  คุณสมบัติหลักคือ การกระตุ้นสมองส่วนกลาง เป็นสาเหตุให้เกิดภาวะจิตบกพร่อง หวาดระแวงว่าจะมีคนทำร้ายหรือฆ่า ในบางครั้งเมื่อยาหมดฤทธิ์ อาจทำให้เกิดความโกรธง่ายเมื่อได้รับการกระตุ้นและมีความวิตกกังวล

 
PCP ( phen – cyclidine )
  มีคุณสมบัติหลายประการ อาทิ เป็นยาหลอนประสาท ยาบรรเทาปวด และทำให้เกิดการชาเพื่อบรรเทาปวด มีคุณสมบัติหลักเช่นเดียวกับ โคเคน คือ การกระตุ้นสมองส่วนกลาง อย่างไรก็ตาม แม้ไม่มีการศึกษาที่เด่นชัด เกี่ยวกับสารเสพติดประเภทนี้ แต่ PCP เป็นยาเสพติดที่มีฤทธิ์เป็นอันดับสองรองจากเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ในการก่อให้เกิดการใช้ความรุนแรง

 
ยาบ้า
  คุณสมบัติหลักคือการกระตุ้นสมองส่วนกลาง ก่อให้เกิดภาวะจิตบกพร่อง มีความหวาดระแวงว่าจะมีคนมาทำร้าย มีความวิตกกังวล และ เกิดความผิดปกติของจิต

 
กัญชา
  ลดความต้องการใช้ความรุนแรง ทำให้เคริ้มอกเคริ้มใจ

 


นอกจากนี้ นพ.สุทธิพันธ์ ตรรกไพจิตร ผู้เชี่ยวชาญทางด้านสุขภาพจิต ยังได้แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของยาเสพติดกับการก่อเหตุความรุนแรงประเภทต่างๆ โดยพบว่า

• การฆาตกรรมที่ไต่ตรองไว้ก่อน ร้อยละ68
• การจมน้ำ ร้อยละ 68
• การทำร้ายร่างกาย ร้อยละ 62
• การข่มขืน ร้อยละ 52
• การทำร้ายคู่สมรส ร้อยละ 50
• การเกิดอุบัติเหตุจราจร ร้อยละ 50
• การจงใจฆาตกรรม ร้อยละ 49
• ทารุณกรรมเด็ก ร้อยละ 30
• การฆ่าตัวตาย ร้อยละ 20-35 (ดังภาพที่ 1)


ภาพที่ 1 คดีประทุษร้ายต่อทรัพย์และคดียาเสพติดปี พ.ศ. 2540 - 2553




ความขัดสนด้านเงินทอง

มีการศึกษาที่ยืนยันว่าผู้ที่ติดยาเสพติดที่ประสบปัญหาทางด้านเศรษฐกิจเนื่องจากไม่มีงานที่สุจริตทำ ต้องจำใจกระทำความผิดเพราะไม่มีเงินไปซื้อยา ดังเช่น การศึกษาของชวลิต ยอดมณีและคณะ (2536) พบว่าว่า ยาเสพติดมีความสัมพันธ์กับการเกิดอาชญากรรม โดยมีค่าความสัมพันธ์ (Cramer’s v) เท่ากับ 0.68 ซึ่งแสดงว่าหากจำนวนผู้ติดยาเสพติดมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นจะส่งผลให้ปัญหาอาชญากรรมเพิ่มขึ้นด้วย โดยผู้ต้องหาส่วนใหญ่จะกระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติดเท่านั้น รองลงมาคือต้องการเงินเพื่อนำไปซื้อยาเสพติด หรือใช้จ่ายอื่น ๆ โดยผู้ต้องหาที่ติดยาเสพติดส่วนใหญ่ติดยาเสพติดก่อนก่อคดีครั้งแรก

และจากผลการศึกษาของนัทธี จิตสว่าง และ คณะ พบว่า ทั้งผู้เสพยาบ้าและเฮโรอีนกลุ่มตัวอย่าง ร้อยละ 37.0 ได้เงินจากการประกอบอาชญากรรมไปซื้อยาเสพติด โดยบางคนขโมยเงินจากที่บ้านหรือจากพ่อแม่ของตน การวิ่งราวทรัพย์ การลักทรัพย์ และการปล้นทรัพย์

ความขัดแย้งของขบวนการค้ายาเสพติด

การค้ายาเสพติดเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายส่วนใหญ่ ดังนั้นวิธีที่นำมาใช้ยุติความขัดแย้งมักจบลงด้วยการฆ่า นัทธี จิตสว่าง และคณะ ได้ทำการศึกษาความสัมพันธ์ของยาเสพติดและการก่อคดีอาชญากรรมจนพบว่า ปัญหาและอุปสรรคในการค้ายาเสพติดของกลุ่มผู้ค้ารายย่อยที่อาจนำไปสู่การประกอบอาชญากรรม ได้แก่ ปัญหาการถูกหักหลังจากเพื่อน ลูกน้อง และผู้ร่วมขบวนการค้ายาเสพติด รวมทั้งปัญหาการแย่งลูกค้ากันโดยการตัดราคาเพื่อให้ยาเสพติดราคาต่ำสุด ในขณะที่ปัญหาและอุปสรรคในการค้ายาเสพติดของกลุ่มผู้ค้ารายใหญ่ที่อาจนำไปสู่การประกอบอาชญากรรมที่สำคัญ ได้แก่ ปัญหาการหักหลังกันในขบวนการค้ายาเสพติด โดยมีกลุ่มตัวอย่างรายหนึ่งยอมรับว่าถูกจับกุมเพราะลูกน้องหักหลัง จึงตอบแทนลูกน้องที่หักหลังด้วยการแลกด้วยชีวิต

ทั้งนี้ฆ่าตกรรมตัดตอนดังกล่าวเริ่มเห็นอย่างชัดเจนขึ้น เมื่อรัฐบาลประกาศสงครามยาเสพติดในพ.ศ. 2545 มีจำนวนผู้ค้ายาเสพติดที่ถูกฆาตกรรมจำนวนมาก ดังปรากฏในการนำเสนอของสื่อมวลชนซึ่งมีผู้ต้องสงสัยเกี่ยวข้องกับยาเสพติดจำนวนกว่า 2,000 รายที่ถูกฆาตรกรรม

อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลดังกล่าวข้างต้น มีนักวิชาการบางท่านได้กล่าวไว้ว่า ความสัมพันธ์ระหว่างยาเสพติดกับการก่ออาชญากรรมเป็นเรื่องที่สลับซับซ้อน เพราะยังมีตัวแปรอีกหลายตัวที่จะต้องนำมาวิเคราะห์เพิ่มเติมด้วย อาทิ ผลจากการเสพยาที่มากกว่า 1 ชนิด วิธีการเสพยาที่แตกต่างกัน ปริมาณยาที่เสพ ตลอดจนสภาพแวดล้อมทางสังคม เช่น สภาพแวดล้อมในชุมชน และการคบเพื่อน ซึ่งมีส่วนกระตุ้นให้เกิดการใช้ความรุนแรงและการประกอบอาชญากรรม จึงอาจกล่าวได้ว่า เหตุผลในการประกอบอาชญากรรม อาจไม่ได้ขึ้นอยู่กับฤทธ์ของยาเสพติดแต่เพียงอย่างเดียว และที่สำคัญคือ ไม่มีข้อมูลที่แสดงให้เห็นว่า พฤติกรรมอาชญากรรมจะไม่เกิดขึ้นอย่างแน่นอนหากผู้กระทำผิดไม่ได้ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของยาเสพติด ซึ่งผู้กระทำผิดมักใช้เป็นข้ออ้างเมื่อกระทำความผิด




เรียบเรียงโดย :  สิริกร เค้าภูไทย สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ