HISO - สื่อข้อมูลสุขภาพ
เกิดข้อผิดพลาด ไม่สามารถติดต่อฐานข้อมูลได้
  



การแพร่ระบาดของปัญหายาเสพติดในรอบ 10 ปี



“ยาเสพติดเป็นภัยต่อชีวิตเป็นพิษต่อสังคม” วลีนี้เป็นคำพูดที่คุ้นหูและเตือนให้ทุกคนระลึกถึงโทษของยาเสพติดมาช้านานแล้ว โดยมีความเชื่อว่าผู้ติดยาเสพติดมักจะประกอบอาชญากรรมเกี่ยวกับการลักทรัพย์เพื่อนำไปซื้อยาเสพ อีกทั้งฤทธิ์จากการเสพยาจะทำให้ผู้เสพมีความคลุ้มคลั่งหวาดระแวงจนทำร้ายผู้อื่น ดังจะเห็นได้จากข่าวอาชญากรรมซึ่งมีให้เห็นโดยตลอดว่าการกระทำผิดนั้นมีความเกี่ยวข้องกับยาเสพติดเสมอ ด้วยเหตุนี้ปัญหายาเสพติดจึงเป็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของประเทศชาติเป็นอย่างยิ่ง

ต้นสายปลายเหตุของยาเสพติดในประเทศไทย

ฝิ่น คือ สิ่งเสพติดที่คนไทยรู้จักเป็นครั้งแรก จากหลักฐานพบว่า ฝิ่นถือเป็นยาเสพติดให้โทษมาตั้งแต่รัชสมัยสมเด็จพระรามาธิบดี ที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) เมื่อ พ.ศ. 1903 หรือประมาณ 650 ปีล่วงมาแล้ว โดยมีกฎหมายบัญญัติการห้ามซื้อ ห้ามขาย เสพฝิ่นไว้อย่างชัดเจน แต่คงห้ามได้เฉพาะแต่ในเขตกรุงศรีอยุธยาเท่านั้น เพราะเจ้าหัวเมืองที่อยู่ห่างไกลบางแห่งก็ติดฝิ่น และผูกขาดการจำหน่ายเองอีกด้วย ด้วยเหตุนี้การแก้ไขปัญหาฝิ่นจึงไม่สามารถหมดไปจากประเทศไทยได้ ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 3 ซึ่งเป็นระยะที่ตรงกับสมัยที่อังกฤษนำฝิ่นจากอินเดียไปบังคับขายให้จีน ทำให้คนจีนติดฝิ่นมากขึ้น และในช่วงเวลานั้นคนจีนก็เข้ามาค้าขายในเมืองไทย เป็นเหตุให้ฝิ่นแพร่ระบาดมายังประเทศไทยมากยิ่งขึ้น เมื่อมาถึงสมัยรัชกาลที่ 4 ทรงเห็นว่าการปราบปรามไม่สามารถขจัดปัญหาฝิ่นลงได้และยังก่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้น จึงทรงเปลี่ยนนโยบายใหม่ โดยยอมให้คนจีนเสพฝิ่นและขายฝิ่นได้แต่ต้องเสียภาษี ปรากฎว่าการเก็บภาษีจากฝิ่นได้สร้างรายได้ให้กับประเทศสูงเป็นลำดับที่ 5 ของรายได้จากภาษีประเภทอื่นๆ จนกระทั่งถึงรัชสมัยของรัชกาลที่ 5 ทรงใช้นโยบายภาษีเช่นเดียวกันนี้ในการแก้ไขปัญหาฝิ่น แต่ทรงเลือกที่จะแก้ภาษีเพื่อให้มีการสูบฝิ่นน้อยลง และยอมให้รัฐขาดรายได้จากภาษีฝิ่น

ในปี พ.ศ. 2501 คณะปฏิวัติซึ่งปกครองประเทศไทย มีความเห็นว่าการเสพฝิ่นเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจและเป็นอันตรายต่อสุขภาพ จึงมีประกาศให้เลิกการเสพฝิ่นและจำหน่ายฝิ่นทั่วราชอาณาจักร โดยกำหนดให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จสิ้นภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2502 โดยรัฐบาลได้นำผู้ที่ติดฝิ่นเข้ารับการบำบัดรักษาและฟื้นฟู จนกระทั่งเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2502 รัฐบาลได้มีการประกาศให้การเสพและการจำหน่ายฝิ่นในประเทศไทยเป็นเรื่องสิ่งที่ผิดกฎหมาย มีการปราบปรามอย่างเด็ดขาดโดยการประหารทั้งผู้เสพและผู้ค้ายา

แต่ปัญหายาเสพติดก็ยังคงไม่หมดไปจากประเทศ เพียงแต่การซื้อขายมีการดำเนินการซ้อนเร้นและมีวิธีการที่ลึกซึ้งแยบยลมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังเปลี่ยนรูปไปเป็นยาเสพติดประเภทอื่นๆ อีกจำนวนมาก

สถานการณ์ยาเสพติดในประเทศ

ในระหว่างปี 2540-2544 ก่อนที่รัฐบาลจะมีการประกาศนโยบายเพื่อกวาดล้างยาเสพติด ปัญหายาเสพติดมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งในปี 2545 รัฐบาลได้ประกาศสงครามต่อต้านยาเสพติดอย่างจริงจัง ทำให้ปัญหายาเสพติดเริ่มลดน้อยลงแต่ก็เป็นเพียงช่วงระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้น เพราะหลังจากนั้นเพียงแค่ 2 ปี ปัญหายาเสพติดที่มีแนวโน้มว่าจะลดลงกลับทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ กล่าวคือ จากจำนวนผู้ที่กระทำความผิด 265,540 ราย ในปี 2545 ลดลงเหลือ 123,786 ราย ในปี 2546 และลดลงเหลือเพียง 74,254 ราย ในปี 2547 แต่หลังจากนั้นในปีถัดมาคดียาเสพติดเริ่มทยอยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งในปี 2553 มีผู้ที่กระทำผิดสูงถึง 266,010 ราย ซึ่งเป็นสถิติที่สูงที่สุดในรอบ 10 กว่าปีที่ผ่านมา (ดังภาพที่ 1)


ภาพที่ 1 คดีประทุษร้ายต่อทรัพย์และคดียาเสพติดปี พ.ศ. 2540 - 2553



ที่มา :สำนักงานตำรวจแห่งชาติ อ้างใน http://social.nesdb.go.th/SocialStat/StatReport_Final.aspx?reportid=157&template=1R2C&yeartype=M&subcatid=45

ทั้งนี้เมื่อเทียบกับการกระทำผิดคดีอาญาในรูปแบบอื่นๆ ก็ยิ่งพบว่า คดีการกระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติดเป็นคดีที่มีสถิติพุ่งสูงกว่าคดีอาญาในรูปแบบอื่นๆ เกือบ 3 เท่า อาทิ คดีประทุษร้ายต่อทรัพย์ คดีชีวิต ร่างกาย และเพศ เป็นต้น


พื้นที่ที่ต้องเฝ้าระวัง

ในด้านการขยายตัวทางการตลาดของธุรกิจมืดเหล่านี้ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดได้เปิดเผยข้อมูลว่า หากเปรียบเทียบจำนวนผู้ค้ายาเสพติดที่ถูกจับกุมได้ในช่วงเวลาเดียวกันกับปีที่ผ่านมา พบว่า สัดส่วนการจับกุมผู้กระทำผิดที่มากที่สุดอยู่ในพื้นที่ของภาคกลาง กล่าวคือ มีการจับกุมผู้ค้ายาได้มากถึง ร้อยละ 34.6 รองลงมาคือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 21.4 กรุงเทพฯ ร้อยละ 16.3 ภาคใต้ ร้อยละ 15.9 และภาคเหนือ ร้อยละ 11.8 ตามลำดับ (ดังภาพที่ 2)


ภาพที่ 2 สัดส่วนการจับกุมคดียาเสพติด



ที่มา :ที่มา สถานการณ์ยาเสพติดภายใต้ยุทธศาสตร์ 5 รั้วป้องกัน ระยะที่ 2 (ช่วง ตุลาคม 2552 – กันยายน 2553) สำนักงานปปส. กระทรวงยุติธรรม http://www.nccd.go.th/upload/content/suj.pdf(7).pdf


ยาเสพติดทุกชนิดเพิ่มขึ้น

ผลจากการยึดของกลางส่วนใหญ่พบว่า ประเภทของยาเสพติดแต่ละชนิดมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น โดยยาบ้าที่ยึดได้มีปริมาณเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่าจากเดิม คือ ในปี 2552 เคยยึดของกลางได้ 20,234,473 เม็ด แต่ในปี 2553 สามารถยึดยาบ้าเป็นของกลางได้ถึง 42,943,736 เม็ด ด้านยาไอซ์สามารถยึดได้มากขึ้นจากปีก่อนถึง 4 เท่า คือยึดได้ 564.1 ก.ก. จากเดิม 139.5 ก.ก. ส่วนโคเคนเพิ่มขึ้นจากเดิม 2 เท่า โดยยึดได้ 31.5 ก.ก. จากเดิม 14.4 ก.ก. สำหรับเคตามีนเพิ่มขึ้นจากเดิมถึง 7.5 เท่า โดยยึดได้ 173.1 ก.ก. จากเดิม 22.8 ก.ก. และวัตถุออกฤทธิ์ฯ ก็เพิ่มขึ้นจากเดิม 7 เท่าเช่นกัน คือ ยึดได้ 1,198.1 ก.ก. จากเดิม 165.8 ก.ก. (ดังภาพที่ 3)


ภาพที่ 3 ปริมาณยาเสพติดที่ถูกอายัด ตั้งแต่ปี 2551-2553







ที่มา :สถานการณ์ยาเสพติดภายใต้ยุทธศาสตร์ 5 รั้วป้องกัน ระยะที่ 2 (ช่วง ตุลาคม 2552 – กันยายน 2553) สำนักงานปปส. กระทรวงยุติธรรม อ้างใน http://www.nccd.go.th/upload/content/suj.pdf(7).pdf


สถานการณ์นักเสพยาหน้าใหม่

ในด้านการรักษาเยียวยารักษาผู้ติดยาเสพติดที่เข้ารับการบำบัดครั้งแรก พบว่า นับตั้งแต่ปี 2549 ผู้ที่เข้ารับการรักษาส่วนใหญ่มีอายุระหว่าง 20-24 ปี รองลงมาคือ ผู้ที่มีอายุ 15-19 ปี และ 25-29 ปี ตามลำดับ แต่ในช่วงปี 2551 พบว่า ผู้ที่เข้ารับการบำบัดเริ่มมีอายุน้อยลง โดยกลุ่มหลักได้แก่ กลุ่มอายุ 15-19 ปี รองลงมาคือ 20-24 ปี และ 25-29 ปี ตามลำดับ (ดังภาพที่ 4)


ภาพที่ 4 สัดส่วนอายุผู้เข้าบำบัดรักษาครั้งแรก



ที่มา :สถานการณ์ยาเสพติดภายใต้ยุทธศาสตร์ 5 รั้วป้องกัน ระยะที่ 2 (ช่วง ตุลาคม 2552 – กันยายน 2553) สำนักงานปปส. กระทรวงยุติธรรม อ้างใน http://www.nccd.go.th/upload/content/suj.pdf(7).pdf

ทั้งนี้เมื่อจำแนกตามอาชีพของกลุ่มคนที่เข้าทำการบำบัดรักษา พบว่า ส่วนใหญ่มีอาชีพรับจ้าง ร้อยละ 40 รองลงมาคือ ผู้ว่างงาน ร้อยละ 23 อาชีพเกษตรกร ร้อยละ 10 และนักเรียน/นักศึกษาอีก ร้อยละ 8 (ดังภาพที่ 5)


ภาพที่ 5 สัดส่วนผู้เข้ารับการบำบัดรักษาแยกตามอาชีพ



ที่มา :สถานการณ์ยาเสพติดภายใต้ยุทธศาสตร์ 5 รั้วป้องกัน ระยะที่ 2 (ช่วง ตุลาคม 2552 – กันยายน 2553) สำนักงานปปส. กระทรวงยุติธรรม อ้างใน http://www.nccd.go.th/upload/content/suj.pdf(7).pdf

โดยชนิดยาเสพติดที่ผู้เข้ารับการบำบัดครั้งแรกเสพมากที่สุดคือ ยาบ้า ร้อยละ 79-84 รองลงมาคือ กัญชา ร้อยละ 7-10 และสารระเหย ร้อยละ 4 – 5


ภาพที่ 6 สัดส่วนผู้เข้าบำบัดรักษา จำแนกตามชนิดยาเสพติด ระหว่างปี 2549 - 2551



ที่มา :สถานการณ์ยาเสพติดภายใต้ยุทธศาสตร์ 5 รั้วป้องกัน ระยะที่ 2 (ช่วง ตุลาคม 2552 – กันยายน 2553) สำนักงานปปส. กระทรวงยุติธรรม อ้างใน http://www.nccd.go.th/upload/content/suj.pdf(7).pdf


จากข้อมูลดังกล่าวข้างต้นสะท้อนให้เห็นว่าปัญหายาเสพติดกำลังทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ ผู้เสพเริ่มเป็นกลุ่มอายุน้อย นอกจากนี้พื้นที่ในภาคกลาง กทม. และเมืองหลวงของจังหวัดใหญ่ๆ ซึ่งเป็นศูนย์กลางของระบบเศรษฐกิจ และระบบการศึกษา กำลังกลายเป็นสมรภูมิการค้ายาเสพติด



เรียบเรียงโดย :  สิริกร เค้าภูไทย สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ