HISO - สื่อข้อมูลสุขภาพ
เกิดข้อผิดพลาด ไม่สามารถติดต่อฐานข้อมูลได้
  



ความสมดุลระหว่างโครงสร้างประชากรและตลาดแรงงานในอนาคต



ประเทศไทยพบกับวิกฤตเศรษฐกิจมาหลังครั้ง ล่าสุดในปี พ.ศ. 2550 เป็นต้นมา ประเทศไทยต้องประสบกับปัญหาเศรษฐกิจซึ่งเป็นผลพวงมาจากวิกฤตเศรษฐกิจโลก ทำให้เรื่องการว่างงานเป็นเรื่องที่ได้รับความสนใจจากทุกคน โดยเฉพาะในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2549 ถึงกลางปี พ.ศ. 2552 ประเทศไทยมีอัตราการว่างงานประมาณร้อยละ 1-2 ของกำลังแรงงาน ซึ่งถือว่าเป็นอัตราที่ต่ำมากเมื่อเทียบกับประเทศในแถบตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิค ที่มีอัตราการว่างงานเฉลี่ยในปี พ.ศ. 2551 ร้อยละ 5.1 แต่เมื่อย่างเข้าปี พ.ศ. 2554 อัตราการว่างงานในประเทศไทยก็เริ่มน้อยลง

มีนักวิชาการหลายภาคส่วนได้พยายามวิเคราะห์ลึกลงไปถึงโครงสร้างของตลาดแรงงาน พวกเขาเหล่านั้นค้นพบสาเหตุที่สำคัญหลายประการ ซึ่งข้อมูลทั้งหมดมีทั้งข้อมูลที่ได้มีการรวบรวมมาจากปัญหาในปัจจุบัน และการคำนวณเพื่อพยากรณ์กับสิ่งที่กำลังจะเกิดในอีก 20 ปีข้างหน้า

สถานการณ์การมีงานทำในปี พ.ศ. 2554

1. อัตราการว่างงานลดลง

สำนักงานสถิติแห่งชาติได้รายงานผลการสำรวจประชากรที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป ของเดือนมีนาคม พ.ศ. 2554 พบว่า จำนวนประชากรที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป 53.85 ล้านคน เป็นผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงานประมาณ 38.43 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 71.4 ของประชากร เป็นผู้ที่อยู่นอกกำลังแรงงาน 15.42 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 28.6

ในจำนวนผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงาน 38 ล้านคนเศษ มีผู้ที่มีงานทำจำนวน 37.81 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 98.4 ของผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงาน เป็นผู้ที่ว่างงานอีกจำนวน 2.76 แสนคน หรือคิดเป็นสัดส่วนการว่างงานร้อยละ 0.7 และที่เหลือเป็นผู้ที่รอฤดูกาลทำงาน เนื่องจากจะรอทำงานในฤดูกาลต่อไปอีกจำนวน 3.47 แสนคน คิดเป็นร้อยละ 9 (ดังตารางที่ 1)


ตารางที่ 1 อัตราการบาดเจ็บรุนแรงจากอุบัติเหตุจราจรของผู้ขับขี่และผู้โดยสารที่ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย
ระหว่างปี พ.ศ. 2543 – 2550


ที่มา : สรุปผลภาวะการทำงานของประชากร เดือนมีนาคม พ.ศ.2554 สำนักงานสถิติแห่งชาติ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร


เมื่อเปรียบเทียบสัดส่วนการว่างงานในช่วงเวลาเดียวกันระหว่างเดือนมีนาคม ปี พ.ศ. 2553 กับปี พ.ศ. 2554 พบว่า สัดส่วนการว่างงานน้อยลงจากร้อยละ 1 ใน พ.ศ. 2553 เหลือเพียง ร้อยละ 0.7 ในปี พ.ศ. 2554 (ดังภาพที่ 1)


ภาพที่ 1 เปรียบเทียบจำนวนและอัตราผู้ว่างงาน จำแนกตามภาค เดือนมีนาคม พ.ศ.2553 กับ 2554


ที่มา : สรุปผลภาวะการทำงานของประชากร เดือนมีนาคม พ.ศ.2554 สำนักงานสถิติแห่งชาติ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

2. ระดับการศึกษาของผู้ว่างงานอยู่ในระดับปริญญาตรีเป็นส่วนใหญ่

เมื่อเปรียบเทียบระดับการว่างงานระหว่างปี พ.ศ. 2553 และปี พ.ศ. 2554 พบว่า แนวโน้มการว่างงานของระดับการศึกษานั้นไม่เปลี่ยนแปลงไปมากนัก โดยในปี พ.ศ. 2554 ผู้ที่สำเร็จการศึกษาระดับอุดมศึกษายังคงมีจำนวนคนว่างงานมากที่สุด คือ ร้อยละ 1.5 รองลงมาคือ ระดับมัธยมปลายและมัธยมต้นเท่ากัน คือ ร้อยละ 0.9 ระดับประถมศึกษา ร้อยละ 0.6 และไม่มีหรือต่ำกว่าฯ ร้อยละ 0.2 (ดังภาพที่ 2)


ภาพที่ 2 เปรียบเทียบจำนวนและอัตราผู้ว่างงาน จำแนกตามภาค เดือนมีนาคม พ.ศ.2553 กับ 2554


ที่มา : สรุปผลภาวะการทำงานของประชากร เดือนมีนาคม พ.ศ.2554 สำนักงานสถิติแห่งชาติ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร


3. สาขาอาชีพที่มีคนทำงานอยู่นอกภาคการเกษตรเป็นส่วนใหญ่

เมื่อพิจารณาถึงลักษณะการทำงานของประชากรเดือนมีนาคม พ.ศ. 2554 พบว่า จากจำนวนผู้มีงานทำทั้งสิ้น 37.81 ล้านคน เป็นผู้ที่ทำงานภาคเกษตรกรรม 13.07 ล้านคน หรือ ร้อยละ 34.6 ของผู้มีงานทำ และทำงานนอกภาคเกษตรกรรม 24.74 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 65.4 ของผู้มีงานทำ

เมื่อนำผลการสำรวจระหว่างเดือนมีนาคมของ พ.ศ. 2553 มาเทียบกับเดือนมีนาคมของ พ.ศ. 2554 พบว่า มีสาขาอาชีพที่มีคนทำงานมากขึ้น และมีบางสาขาอาชีพที่มีคนทำงานน้อยลง (ดังภาพที่ 3) ดังนี้

สาขาอาชีพที่มีผู้ทำงานมากขึ้น ได้แก่
- ภาคเกษตรกรรมมีจำนวนผู้ทำงานเพิ่มขึ้น 1 หมื่นคน (เพิ่มขึ้นตาก 13.06 ล้านคน เป็น 13.07 ล้านคน)
- ส่วนนอกภาคเกษตรกรรมมีผู้ทำงานมากขึ้น 2 แสนคน (เพิ่มขึ้นจาก 24.54 ล้านคน เป็น 24.74 ล้านคน)

• สาขาการก่อสร้าง เพิ่มขึ้น 2.2 แสนคน
• สาขากิจกรรมบริการด้านอื่น ๆ เช่น กิจกรรมบริการเพื่อเสริมสร้างสุขภาพร่างกาย การบริการซักรีดและซักแห้ง การซ่อมเครื่องใช้ในครัวเรือน เป็นต้น เพิ่มขึ้น 1.9 แสนคน
• สาขาผลิต เพิ่มขึ้น 1.5 แสนคน
• สาขาการบริหารราชการ การป้องกันประเทศ และการประกันสังคมภาคบังคับ เพิ่มขึ้น 1.2 แสนคน
• สาขาการศึกษา เพิ่มขึ้น 2 หมื่นคน
• สาขากิจกรรมอสังหาริมทรัพย์ เพิ่มขึ้น 1 หมื่นคน


สาขาอาชีพที่มีผู้ทำงานลดลง ได้แก่
- สาขาการขายส่ง การขายปลีก การซ่อมยานยนต์ฯ ลดลง 3.4 แสนคน
- สาขาการขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า ลดลง 2.3 แสนคน
- สาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหาร ลดลง 6 หมื่นคน
- สาขากิจกรรมด้านสุขภาพและงานสังคมสงเคราะห์ ลดลด 4 หมื่นคน
- สาขากิจกรรมทางการเงิน และการประกันภัย จำนวนผู้ที่มีงานทำไม่เปลี่ยนแปลงไปจากช่วงเวลาเดียวกันกับปีที่ผ่านมา


ภาพที่ 2 เปรียบเทียบจำนวนผู้มีงานทำ จำแนกตามอุตสาหกรรมที่สำคัญ เดือนมีนาคม พ.ศ.2553 กับ เดือนมีนาคม พ.ศ. 2554


ที่มา : สรุปผลภาวะการทำงานของประชากร เดือนมีนาคม พ.ศ.2554 สำนักงานสถิติแห่งชาติ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

4. อุตสาหกรรมการผลิต คือ สาขาที่ตลาดแรงงานต้องการเพิ่มขึ้น

จากสถิติที่กรมการจัดหางานได้รับแจ้งความต้องการแรงงานจากนายจ้างเมื่อเดือนมกราคม 2554 จำนวน 216,706 อัตรา พบว่า อุตสาหกรรมที่มีความต้องการแรงงานมากที่สุด ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิต 95,016 อัตรา รองลงมาคือ การขายส่ง ขายปลีก ซ่อมแซมยานยนต์ 46,334 อัตรา บริการด้านอสังหาริมทรัพย์ การให้เช่าและบริการทางธุรกิจ 27,545 อัตรา โรงแรมและภัตตาคาร 17,404 อัตรา การก่อสร้าง 7,006 อัตรา เป็นต้น (ดังภาพที่ 4) โดยอาชีพที่มีความต้องการแรงงานมากที่สุด คือ อาชีพงานพื้นฐาน (แรงงานด้านการประกอบ แรงงานบรรจุผลิตภัณฑ์) 59,134 อัตรา รองลงมาคือ พนักงานบริการ พนักงานขาย 43,801 อัตรา เสมียน เจ้าหน้าที่ 27,421 อัตรา ผู้ปฏิบัติงานโดยใช้ฝีมือ 25,198 อัตรา ผู้ปฏิบัติงานในโรงงาน 23,015 อัตรา


ภาพที่ 4 เปรียบเทียบความต้องการแรงงาน จำแนกตามอุตสาหกรรม เดือนมกราคม ปี 2553 และปี 2554


ที่มา : วารสารสถานการณ์ตลาดแรงงาน ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2554 กองวิจัยตลาดแรงงาน กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน

5. ปวช.-ปวส./อนุปริญญาเป็นระดับการศึกษาที่ผู้ประกอบการต้องการ

เมื่อเปรียบเทียบความต้องการแรงงานกับผู้สมัครงานจำแนกตามระดับการศึกษา พบว่า ความต้องการแรงงานที่มีการศึกษาระดับปวช.-ปวส./อนุปริญญา มีจำนวนมากกว่าผู้สมัครงานประมาณ 16 เท่า ในขณะที่ความต้องการแรงงานในระดับประถมศึกษาและต่ำกว่า ระดับมัธยมศึกษา ระดับปริญญาตรี และสูงกว่า มีจำนวนมากกว่าผู้สมัครงานประมาณ 3-5 เท่า (ดังภาพที่ 5)

เมื่อพิจารณาระหว่างการบรรจุงานกับต่ำแหน่งงานว่าง พบว่า ตำแหน่งงานที่ยังไม่ได้รับการบรรจุมีจำนวน 193,390 อัตรา ส่วนใหญ่เป็นตำแหน่งที่ต้องการผู้สำเร็จการศึกษาระดับปวช.-ปวส./อนุปริญญา โดยต่ำแหน่งที่ไม่ได้รับการบรรจุ ได้แก่ แรงงานด้านการประกอบ แรงงานบรรจุผลิตภัณฑ์ และพนักงานขาย


ภาพที่ 5  เปรียบเทียบความต้องการแรงงาน และผู้สมัครงาน จำแนกตามระดับการศึกษา เดือนมกราคม 2554


ที่มา : วารสารสถานการณ์ตลาดแรงงาน ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2554 กองวิจัยตลาดแรงงาน กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน

แม้ว่าสถานการณ์การจ้างงานและการมีงานทำในช่วงปี 2554 จะเริ่มดีขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่ดีต่อแรงงานทั้งหลาย แต่สำหรับผู้จ้างแล้วปัญหาของแรงงานยังคงไม่หมดไป เพราะคุณสมบัติของแรงงานกับคุณสมบัติที่นายจ้างต้องการนั้นไม่ตรงกัน นี่จึงเป็นอีกสาเหตุสำคัญของปัญหาแรงงานไทยในอนาคต

โครงสร้างของประชากรไทยกับอัตราส่วนของแรงงานไทย

นักประชากรศาสตร์จากสถาบันวิจัยประชากรและสังคม ม.มหาวิทยาลัยมหิดล ได้คาดประมาณจำนวนประชากรในอนาคตโดยใช้ประชากรในปี พ.ศ. 2548 เป็นฐาน และได้คาดการณ์ไปจนถึงปี พ.ศ. 2578 พบว่า ในอนาคตประเทศไทยจะเป็นสังคมผู้สูงวัย และมีจำนวนแรงงานลดน้อยลง โดยประชากรที่เป็นผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป จะเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มคนอื่นๆ โดยในปี พ.ศ. 2548 ที่มีประชากรสูงอายุอยู่ 6 ล้านคนเศษ (ร้อยละ 10) เมื่อถึงปี พ.ศ. 2578 จำนวนผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นเป็น 16 ล้านคน (ร้อยละ 25 ) เท่ากับเพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่าตัวในเวลาราวๆ 30 ปีเท่านั้น (ภาพที่ 6)

ฉะนั้นในอนาคตสิ่งที่จะเกิดขึ้นและมีผลกับคนในวัยแรงงาน คือ ความสามารถในการดูแลผู้สูงอายุจะมีอัตราส่วนที่ลดลง โดยคาดว่าเมื่อถึงปี พ.ศ. 2578 ผู้สูงอายุแต่ละคนจะมีคนวัยแรงงานที่จะสามารถให้การดูแลเอาใจใส่เหลือเพียง 2 คน ซึ่งถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับอัตรากำลังแรงงานที่มีความสามารถในการดูแลผู้สูงอายุเมื่อประมาณ 50 กว่าปีก่อน ดังเช่นในปี พ.ศ. 2503 พบว่า มีคนวัยแรงงานถึง 12 คนที่ช่วยกันดูแลผู้สูงอายุ 1 คน (ดังภาพที่ 7)


ภาพที่ 6 จำนวนประชากรวัยต่างๆ พ.ศ. 2548- 2578


ที่มา : ประชากรไทยในอนาคต ปัทมา ว่าพัฒนวงศ์ และปราโมทย์ ประสาทกุล สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล


ภาพที่ 7 อัตราส่วนค้ำจุนผู้สูงอายุของประเทศไทย พ.ศ. 2503 – 2578


ที่มา : ประชากรไทยในอนาคต ปัทมา ว่าพัฒนวงศ์ และปราโมทย์ ประสาทกุล สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล

จากจำนวนประชากรในวัยแรงงานที่มีแนวโน้มลดลงในอนาคต จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งพัฒนาศักยภาพของแรงงานไทย ซึ่งมีส่วนสำคัญต่อการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศที่กำลังมีการขยายตัวเพิ่มมากขึ้น อีกด้านหนึ่งความต้องการแรงงานในระบบเศรษฐกิจของประเทศก็มีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ “การนำเข้า” แรงงานจากต่างประเทศอาจเป็นสิ่งที่จำเป็น ดังนั้นการจัดการแรงงานข้ามชาติให้เป็นระบบที่ดีจึงเป็นเรื่องที่ควรได้รับความสนใจอย่างยิ่ง






 
เรียบเรียงโดย :  สิริกร เค้าภูไทย สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ