HISO - สื่อข้อมูลสุขภาพ
เกิดข้อผิดพลาด ไม่สามารถติดต่อฐานข้อมูลได้
  



โรคระบาดในพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดน้ำท่วม



ในแต่ละปีประเทศไทยต้องประสบกับภัยพิบัติทางธรรมชาติมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น อุทกภัย วาตภัย ภัยแล้ง รวมไปถึงแผ่นดินไหวและสึนามิซึ่งเริ่มมีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ นับตั้งแต่มีการบันทึกเหตุการณ์ภัยพิบัติร้ายแรงในไทย โดยเฉพาะไม่กี่สิบปีที่ผ่านมานี้ ความสูญเสียในรูปแบบต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นมีมากมายมหาศาล แม้ภัยพิบัติจากธรรมชาติดังกล่าวจะเป็นเหตุการณ์ที่ยากต่อการหลีกเลี่ยง แต่ถ้าหากมีการให้ความรู้กับประชาชน และเตรียมความพร้อมในการป้องกันภัยในพื้นที่เสี่ยงได้อย่างทันท่วงที ก็อาจจะช่วยลดความเสียหายต่อทรัพย์สินทั้งยังช่วยชีวิตของผู้คนได้มากขึ้น

เหตุการณ์น้ำท่วมที่สำคัญในประเทศไทย

ย้อนหลังไปเกือบครึ่งศตวรรษ ประเทศไทยเคยประสบกับเหตุการณ์น้ำท่วมหลายต่อหลายครั้ง แต่ในปี พ.ศ. 2485 เป็นเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ครั้งสำคัญที่ทำให้ถนนและบ้านเรือนในกรุงเทพมหานครต้องจมอยู่ในน้ำ ประชาชนต่างหาเรือมาเดินทางแทนการขับรถบนท้องถนน มาจนถึงทศวรรษนี้น้ำท่วมก็ยังเป็นปัญหาที่สร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินและชีวิตของประชาชนในอีกหลายพื้นที่

• อุทกภัยในกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2526 ซึ่งเกิดน้ำท่วมขังในกรุงเทพมหานครถึง 4 เดือน รวมไปถึงในปี พ.ศ. 2538 และ 2545

• ภัยพิบัติที่ ต.กะทูน อ.พิปูน จ.นครศรีธรรมราช ในวันที่ 22 พฤศจิกายน 2531 ทำให้ชาวบ้านกว่า 700 คนต้องเสียชีวิตไปในเหตุการณ์นี้ และเกิดพายุต่าง ๆ และอุทกภัยรุนแรงเกือบทุกครั้ง โดยเฉพาะในปีนี้ (พ.ศ. 2554)

• น้ำท่วมใน อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ถึงสามครั้งในปี พ.ศ. 2543 2548 และ 2553 เกิดความสูญเสียเป็นจำนวนมาก ในปี พ.ศ. 2543 มีผู้เสียชีวิต 26 ราย และมูลค่าความเสียหายเกือบ 2,000 ล้านบาท

• อุทกภัยจากพายุอีรา ที่ จ.อุบลราชธานี เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2533 เกิดความเสียหายประมาณ 6,000 ล้านบาท

• อุทกภัยในประเทศไทย พ.ศ. 2553 ระยะเวลายาวนานถึง 3 เดือน (10 ตุลาคม – 14 ธันวาคม) มีผู้เสียชีวิตทั่วประเทศ 180 ราย มีพื้นที่ที่ประสบภัยถึง 39 จังหวัด ประชาชนได้รับความเดือดร้อนกว่า 7 ล้านคน

• อุทกภัยใน 10 จังหวัดภาคใต้ พ.ศ. 2554 มีพื้นที่ได้รับความเสียหาย 100 อำเภอ 651 ตำบล 5430 หมู่บ้าน มีประชากรที่ได้รับความเดือดร้อน 628,998 ครัวเรือน 2,094,595 คน ได้แก่ จังหวัดนครศรีธรรมราช พัทลุง สุราษฎร์ธานี ตรัง ชุมพร สงขลา กระบี่ พังงา นราธิวาส และจังหวัดสตูล ข้อมูลเบื้องต้น บ้านเรือนราษฎรได้รับความเสียหายทั้งหลัง 813 หลัง บางส่วน 16,664 หลัง ถนน 6,013 สาย ท่อระบายน้ำ 922 แห่ง ฝาย/ทำนบ 227 แห่ง สะพาน/คอสะพาน 748 แห่ง วัด/โรงเรียน/มัสยิส 694 แห่ง มีผู้เสียชีวิต 64 ราย

เหตุการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นในแต่ละครั้ง นอกจากผู้ประสบภัยจะสูญเสียทรัพย์สินและญาติพี่น้องแล้ว สิ่งที่คอยซ้ำเติมอีกระรอก คือ การเตรียมรับมือกับโรคระบาดที่จะเกิดขึ้นหลังจากน้ำท้วม

โรคระบาดหลังน้ำท่วม

น้ำ คือ สิ่งที่ช่วยชำระล้างสิ่งสกปรก แต่น้ำท่วมกลับเป็นตัวนำพาสิ่งสกปรกที่เคยถูกเก็บอย่างมิดชิดให้แพร่กระจายออกเป็นวงกว้าง อีกทั้งยังทำลายที่อยู่อาศัยของสัตว์ และแมลง จนทำให้ต้องออกมาอยู่ปะปนกับผู้คน โดยโรคที่พบบ่อยหลังน้ำลดมักจะได้แก่ โรคผิวหนัง โรคจากระบบทางเดินอาหาร โรคตาแดง ไข้หวัด ไข้เลือดออก และโรคฉี่หนู (เลปโตสไปโรซิส) เป็นต้น

โดยในปี พ.ศ. 2549 มีจังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากอุกทกภัย 47 จังหวัด มีผู้ประสบภัยที่มารับการรักษาจากสถานพยาบาลด้วยโรคตาแดง 9,138 ราย รองลงมาคือ อุจจาระร่วง 5,218 ราย ไข้หวัดใหญ่ 2,212 ราย งูและสัตว์มีพิษกัด 686 ราย อาหารเป็นพิษ 203 ราย บิด 175 ราย ตับอักเสบ 38 ราย ไข้เลือดออก 72 ราย เลปโตสไปโรซิส 38 ราย และไข้ทัยฟอยด์ 2 ราย ตามลำดับ (ดังภาพที่ 1)


ภาพที่ 1 จำนวนผู้ป่วยโรคต่างๆ หลังสภาวะน้ำท่วมจากการใหเบริการของสถานบริการสุขภาพ ปี 2549


ที่มา : การเฝ้าระวังโรคและภัยจากภาวะอุทกภัย สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข อ้างใน http://203.157.15.4/disaster/flood/index.php

นอกจากนี้จากข้อมูลการให้บริการของหน่วยแพทย์เคลื่อนที่พบผู้ป่วยโรคผิวหนังและบาดแผล 52,529 ราย กลุ่มโรคทางเดินหายใจ 52,083 ราย กลุ่มผื่นและมีไข้ 30,192 ราย ตาแดง 8,856 ราย กลุ่มอาการโรคระบบทางเดินอาหาร 9,265 ราย และกลุ่มเป็นไข้และอาการทางระบบประสาท 662 ราย (ดังภาพที่ 2)


ภาพที่ 2 จำนวนผู้ป่วยโรคต่างๆ หลังสภาวะน้ำท่วมจากการใหเบริการของหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ ปี 2549


ที่มา : การเฝ้าระวังโรคและภัยจากภาวะอุทกภัย สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข อ้างใน http://203.157.15.4/disaster/flood/index.php

ล่าสุดในปี 2554 หลังเหตุการณ์น้ำท่วมดินโคลนถล่มใน 10 จังหวัดภาคใต้ กระทรวงสาธารณสุขได้ส่งหน่วยแพทย์เคลื่อนให้บริการกับประชาชนจำนวน 1,365 ครั้ง มีผู้มารับบริการจำนวน 29,414 ราย พบผู้ประสบภัยป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจ ร้อยละ 48.7 น้ำกัดเท้า ร้อยละ 31.9 ปวดเมื่อย ร้อยละ 12.0 ผิวหนังอักเสบ ร้อยละ 1.84 และผื่นคัน ร้อยละ 1.77 (ดังภาพที่ 3)


ภาพที่ 3 จำนวนผู้ป่วยโรคต่างๆ หลังสภาวะน้ำท่วมจากการใหเบริการของหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ ปี 2554


ที่มา : บทสรุปผู้บริหารประจำวันที่ 4 เมษายน 2554 ศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาสาธารณภัยด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีอุทกภัยภาคใต้ อ้างใน http://emc.moph.go.th/index.php?option=com_phocadownload&view= category &id =5&Itemid=75

แม้น้ำท่วมจะเป็นภัยธรรมชาติที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ แต่หากมีสิ่งที่ช่วยเตือนภัยล่วงหน้าก็อาจจะทำให้การเตรียมการรับมือกับความเสียหายที่กำลังจะเกิดขึ้นมีประสิทธิภาพและรวดเร็วมากกว่าเดิม โดยเฉพาะพื้นที่ที่อยู่ในจุดเสี่ยงอันตราย

เตือนภัยจุดเสี่ยงอันตราย

โครงการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การผลิตที่ยั่งยืน สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้จัดทำแผนที่จุดเสี่ยงที่มักจะประสบภัยน้ำท่วมขึ้น โดยพบว่า พื้นที่ที่เสี่ยงต่อน้ำท่วมอยู่ในเขตลุ่มแม่น้ำต่าง ๆ โดยเฉพาะลุ่มแม่น้ำยม บริเวณจังหวัดสุโขทัย พิจิตร พิษณุโลก และนครสวรรค์ (พื้นที่สีแดง) รวมไปถึงที่ลุ่มบริเวณภาคกลาง และพื้นที่ลาดเชิงซ้อน (สีชมพู) นั้นเป็นพื้นที่ซึ่งเสี่ยงต่อภาวะดินถล่ม ดังภาพที่ 4


ภาพที่ 4 แผนที่แสดงพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดน้ำท่วมของไทย


ที่มา : โครงการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การผลิตที่ยั่งยืน, 2552

ปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้นในแต่ละครั้งนอกจากจะทำให้ผู้ประสบภัยต้องสูญเสียที่อยู่อาศัย พื้นที่ทำกิน ตลอดจนสูญเสียญาติมิตรแล้ว แม้หลังจากน้ำลดแล้วพื้นที่ที่มีน้ำขังก็ยังเป็นแหล่งแพร่ของโรคระบาดทั้งในมนุษย์ พืชและสัตว์อีกด้วย ดังนั้นการให้ความสำคัญกับพื้นที่ที่เป็นจุดเสี่ยงอันตรายต่อการเกิดอุทกภัย ก็อาจจะเป็นหนทางหนึ่งที่จะช่วยทำให้การเตรียมต่อการป้องกันภัยพิบัติที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต เป็นไปได้อย่างทันท่วงทีมากยิ่งขึ้น



เรียบเรียงโดย :  สิริกร เค้าภูไทย สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ

แหล่งที่มา :

 - หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ. พบบาดเจ็บ 16 รายเหตุแผ่นดินไหว รพ.เชียงรายพัง 6 แห่ง– 5 เมษายน 2554 อ้างใน http://www.thairath.co.th/content/edu/158754

 - กรมอุตุนิยมวิทยา. ภัยธรรมชาติ หนังสืออุตุนิยมวิทยา อ้างในhttp://www.tmd.go.th/info/info.php

 - หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ 18 ตุลาคม 2553. สถิติเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ในประเทศไทย

 - กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย. รายงานสถานการณ์สาธารณภัย สภาวะอากาศ และปริมาณน้ำฝน วันที่ 6 ธันวาคม 2553 อ้างใน http://61.19.54.151/public/Group3/datagroup3/2553/dailyreportdec/evening06.pdf

 - หลวงสินธุกิจปรีชา. บรรยายต่อที่ประชุมสำนักวิทยาสาตร เมื่อ 11 กันยายน 2486 – กรมชลประทาน อุทกภัยในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา พ.ส. 2485 อ้างใน http://kromchol.rid.go.th/lproject/operation/index.php/th/-2485-/doc_download/153---2485-

 - ศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาสาธารณภัยด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีอุทกภัยภาคใต้. บทสรุปผู้บริหารประจำวันที่ 4 เมษายน 2554 อ้างใน http://emc.moph.go.th/index.php?option=com_phocadownload&view=category&id=5&Itemid=75

 - ศูนย์ปฏิบัติรองรับเหตุฉุกเฉิน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย. สรุปสถานการณ์อุทกภัยภาคใต้ ครั้งที่ 1/2554 ระหว่างวันที่ 23 มีนาคม 2554 ถึง ปัจจุบัน ข้อมูล ณ วันที่ 19 เมษายน 2554 อ้างใน http://61.19.54.151/public/Group3/datagroup3/2554/dailyreportapr/morning19.pdf

 - โครงการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การผลิตที่ยั่งยืน สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ