HISO - สื่อข้อมูลสุขภาพ
เกิดข้อผิดพลาด ไม่สามารถติดต่อฐานข้อมูลได้
  



เยียวยาสภาพจิตใจหลังภัยพิบัติ



จากภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งแผ่นดินไหวขนาด 6.3 ริกเตอร์ที่กรุงไครสต์เชิร์ช ประเทศนิวซีแลนด์ คลื่นยักษ์สึนามิที่ถล่มชายฝั่งญี่ปุ่นเมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา หรือแม้กระทั่งอุทกภัยที่เกิดขึ้นในจังหวัดทางภาคใต้ของประเทศไทย ได้ส่งผลกระทบอย่างมหาศาลต่อสภาพแวดล้อมของโลก เกิดการบาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมาก และส่งผลกระทบต่อภาวะสุขภาพของผู้ประสบภัยพิบัติที่รอดชีวิต ประเด็นหนึ่งที่เป็นปัญหาสำคัญหลังภัยพิบัติ แต่ไม่สามารถสังเกตเห็นได้ชัดเจนและถูกมองข้ามไป คือ ภาวะสุขภาพจิตหลังภัยพิบัตินั่นเอง



ความเจ็บป่วยทางจิต: ภาวะที่หลีกเลี่ยงไม่ได้หลังเกิดภัยพิบัติ

ถึงแม้ว่าสุขภาพร่างกายของเราอาจจะแข็งแรงเป็นปกติดีหลังเกิดภัยพิบัติ แต่ไม่สามารถปฏิเสธได้เลยว่าปัญหาความเจ็บป่วยทางจิตหลังเกิดภัยพิบัตินั้น มักจะเกิดขึ้นโดยที่เราไม่รู้ตัวหรือไม่ทันสังเกต โดยอาการของความเจ็บป่วยทางจิตดังกล่าวแบ่งได้เป็น 4 กลุ่มใหญ่ ๆ ตามความรุนแรงและระยะเวลาที่แสดงดังภาพด้านล่าง คือ





1. ความกังวลหรือกระวนกระวาย (Anxiety Disorder) เป็นภาวะที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากความตื่นตกใจอย่างเฉียบพลันจากภัยพิบัติที่เกิดขึ้น โดยจะเกี่ยวข้องกับความสูญเสียเป็นหลัก

2. ความหดหู่ (Depression) เป็นความรู้สึกระยะสั้นประมาณหนึ่งเดือนหลังเกิดภัยพิบัติ ซึ่งต่อเนื่องจากความกังวล เกิดจากการสูญเสียทุกสิ่งทุกอย่างไปพร้อมกับภัยพิบัติ เช่น บ้าน รถยนต์ บุคคลที่รัก คนในครอบครัว เป็นต้น เหล่านี้ทำให้ผู้ประสบภัยจะต้องดิ้นรนหาทางรอดให้กับตัวเอง แต่จะรู้สึกว่าสิ้นหวัง ไม่สามารถเริ่มต้นอะไรใหม่ ๆ ได้เลย ทำให้เกิดความหดหู่ใจ

3. ภาวะติดสารเสพติด (Substance Abuse) เป็นภาวะหลังจากเกิดความหดหู่ เมื่อระดับความเครียด ความหดหู่เริ่มสะสมตัวมากขึ้น ผู้ประสบภัยบางรายจะพยายามใช้สารเสพติดหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มาเยียวยาความรู้สึกดังกล่าว ซึ่งถือเป็นภาวะที่มีความเสี่ยงสูงอย่างมากต่อสุขภาวะของผู้ประสบภัย

4. ความผิดปกติทางจิตใจภายหลังเผชิญเหตุการณ์รุนแรงในชีวิต (Post-Traumatic Stress Disorder: PTSD) เป็นภาวะที่เกิดขึ้นมากที่สุดในผู้ประสบภัยที่เคยมีประสบการณ์เกี่ยวกับภัยพิบัติมาก่อน เปรียบเสมือนการเกิดบาดแผลในจิตใจ โดยจะแสดงอาการระยะยาวแบบสะสมหลังจากช่วงสัปดาห์หรือเป็นเดือน ๆ ผ่านไป คนที่จะเกิดอาการเหมือนมี

ภาพหลอนจากเหตุการณ์ร้ายแรง (Flashback) ดังกล่าวเมื่อได้นึกถึง รู้สึกหวาดกลัว ส่งผลกระทบต่อภาวะทางด้านร่างกายอื่น ๆ เช่น นอนไม่หลับ ความสามารถในการทำงานลดลง มีปัญหาทะเลาะเบาะแว้งในครอบครัว ความจำถูกรบกวน เป็นต้น ทำให้ส่งผลกระทบทั้งทางกายภาพและจิตใจของผู้ประสบภัย ซึ่งอาการของโรคดังกล่าวมักจะพบทั้งในเด็กและผู้ใหญ่

จากความเจ็บป่วยทางจิตที่เกิดขึ้นดังกล่าว ไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อจิตใจเท่านั้น ถ้าอาการของความเครียดแสดงออกอย่างมากและชัดเจนยิ่งขึ้น จะส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อร่างกายด้วย ไม่ว่าจะเป็นอาการติดสิ่งเสพติด ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ความสามารถในการทำงาน ปัญหาในการเข้าสังคม การคิดและตัดสินใจบกพร่อง และอาจทวีความรุนแรงไปในระดับชุมชน สังคมได้ในที่สุด

ตัวอย่างของความเจ็บป่วยทางจิตที่เกิดขึ้น ได้แก่ หลังจากเกิดแผ่นดินไหวและสึนามิที่ญี่ปุ่น ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตและสูญหายมากกว่า 27,500 คนนั้น เกิดผลกระทบต่อสุขภาวะทางจิตอย่างรุนแรง ประชาชนจำนวนมากไม่สามารถนอนหลับได้ดี เนื่องจากเกิดความหวาดกลัวภาวะแผ่นดินไหว โดยผู้ประสบภัยที่พักอยู่ในโรงยิมเนเซียมของโรงเรียนเกิดภาวะความเครียด ตัวอย่างเช่นครูในโรงเรียนมัธยมวัย 55 ปีได้บอกว่า บางครั้งเขาก็รู้สึกมองโลกในแง่บวกและสมองปลอดโปร่ง แต่ในขณะเดียวกันก็เกิดความเศร้าโศรกเสียใจและความเครียด และเขาก็คิดว่าตัวเองได้ประสบกับภาวะความเจ็บป่วยทางจิตแล้ว ทั้งที่ร่างกายยังแข็งแรงดี


เข้าใจและยอมรับความเจ็บป่วยทางจิตหลังเกิดภัยพิบัติ

โดยปกติแล้ว ผู้ประสบภัยจะเกิดปฏิกิริยาทางจิตใจเพื่อตอบสนองในยามเกิดภัยพิบัติ และจะกลับสู่สภาวะปกติใน 6 เดือน ซึ่งร้อยละ 90 ของผู้ประสบภัยจะไม่ถือว่ามีปัญหาทางสุขภาพจิตในระยะยาว มีเพียงร้อยละ 10 เท่านั้นที่ต้องเข้ารับการรักษาโดยผู้เชี่ยวชาญ การรับมือต่อภาวะความเจ็บป่วยทางจิตที่เกิดขึ้น สามารถกระทำได้โดยช่วยกันสังเกตอาการของตัวเองรวมทั้งบุคคลรอบข้างว่ามีภาวะเหล่านี้หรือไม่





- ปฏิกิริยาทางอารมณ์ ได้แก่ เกรี้ยวกราดและรำคาญง่ายขึ้น เฉยเมย เกิดความกลัวและกระวนกระวายต่ออนาคต รู้สึกสิ้นหวัง พฤติกรรมสับสน เป็นต้น

- ปฏิกิริยาทางความคิด ได้แก่ ตัดสินใจได้ยากขึ้น เกิดความเศร้าและหดหู่ ความสามารถในการทำงานลดลง หมดกำลังใจอย่างถาวรเมื่อคิดถึงสิ่งที่สูญเสียไป เป็นต้น

- ปฏิกิริยาทางร่างกาย ได้แก่ รู้สึกหมดกำลังในการดำเนินชีวิตประจำวัน ปวดศีรษะ ปวดหลังและตัว และปัญหาเกี่ยวกับระบบย่อยอาหาร ร้องไห้โดยไร้สาเหตุ นอนไม่หลับหรือนอนหลับยาก ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และใช้สารเสพติดมากขึ้น รู้สึกเหนื่อยล้าอ่อนแรง หิวโหยตลอดเวลา เป็นต้น

- ปฏิกิริยาด้านสัมพันธภาพระหว่างบุคคล ได้แก่ การแยกตัวเอง เป็นต้น

นอกจากปัญหาเกี่ยวกับแต่ละตัวบุคคลแล้ว ยังมีปัญหาเกี่ยวกับชุมชน ครอบครัว และประชากรได้แก่ การทะเลาะเบาะแว้งภายในครอบครัว ความขัดแย้งระหว่างคู่สมรส เป็นต้น ปัจจัยทั้งในแต่ละตัวบุคคลหรือครอบครัวล้วนแล้วแต่ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาวะทางจิตทั้งสิ้น

อาการเหล่านี้เป็นสิ่งที่บอกได้ว่า เราจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาโดยผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตโดยด่วน หรือปรึกษากับผู้ให้ความช่วยเหลือพื้นฐานอย่างเร็วที่สุด เช่น หน่วยแพทย์เคลื่อนที่ อาสาสมัครสาธารณสุขหรืออาสาสมัครในเหตุการณ์ภัยพิบัติ


กันไว้ดีกว่าแก้: การป้องกันเบื้องต้น

การป้องกันเบื้องต้นในการปรับสภาพจิตใจก่อนเกิดเหตุการณ์ภัยพิบัติถือเป็นที่สิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง เพราะเปรียบเสมือนการสร้างเกราะป้องกันทางจิตใจให้แก่บุคคลก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์ การให้ความช่วยเหลือที่เกี่ยวข้องกับสุขภาวะทางจิต มีกุญแจสำคัญในทางจิตวิทยาไว้ 5 ประการคือ

- ส่งเสริมให้ประชาชนมีความรู้สึกปลอดภัยและสงบ
- ส่งเสริมการเชื่อมต่อของแต่ละบุคคลในสังคม
- ส่งเสริมความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นในแต่ละบุคคลและชุมชน
- เสริมสร้างพลังอำนาจของสังคม
- สร้างความหวังให้แต่ละบุคคล


การปรับสภาพจิตใจของผู้ประสบภัยภายหลังเกิดภัยพิบัติ ถือเป็นสิ่งที่จะช่วยให้ภาวะความเจ็บป่วยทางจิตที่เกิดขึ้นบรรเทาเบาบางลง โดยปล่อยให้ผู้ประสบภัยได้ระบายถึงความเครียด ความสิ้นหวังที่เกิดขึ้น และให้อาสาสมัครช่วยเยียวยาโดยการทำกิจกรรมสัมพันธ์กับบุคคลอื่น ๆ ที่ประสบภัย ส่งเสริมให้ผู้ประสบภัยได้พูดคุยกับคนในครอบครัวและเพื่อนให้มากขึ้น พยายามหลีกเลี่ยงไม่ให้ผู้ประสบภัยได้รับข่าวสารและภาพข่าวเกี่ยวกับภัยพิบัติมากเกินไปเพื่อลดความตึงเครียด ให้ผู้ประสบภัยได้นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ เชิญชวนผู้ประสบภัยร่วมกันฟื้นฟูชุมชนและสังคมของตนเอง ทำกิจวัตรประจำวันตามปกติและทำกิจกรรมผ่อนคลายต่าง ๆ เช่น อ่านหนังสือ ดูภาพยนตร์ เดินเล่น นันทนาการต่าง ๆ เป็นต้น ส่งเสริมการคิดบวก หลีกเลี่ยงการใช้สารเสพติด และให้ผู้ประสบภัยได้ร้องขอความช่วยเหลือในกรณีที่ต้องการ




ในช่วงที่โลกของเรามีปรากฏการณ์ธรรมชาติและภัยพิบัติร้ายแรงเป็นจำนวนมากอย่างนี้ เราควรรับมืออย่างไรกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นซึ่งจะกระทบกระเทือนต่อจิตใจของทุกคน คงไม่ยากจนเกินไปถ้าได้ศึกษาและเข้าใจ สังเกต ป้องกัน เตรียมพร้อมรับมือ และรวมไปถึงช่วยเหลือกันในสังคม ปัญหาความเจ็บป่วยทางจิตที่เกิดขึ้นภายหลังภัยพิบัติก็จะบรรเทาเบาบางลงไปได้



เรียบเรียงโดย :  สิริกร เค้าภูไทย สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ

แหล่งที่มา :

 - ปัญหาทางด้านสุขภาพจิต ภายหลังเกิดภัยพิบัติและแนวทางการช่วยเหลือ (กิตติวรรณ เทียมแก้ว, โรงพยาบาลสวนปรุง – 1 มีนาคม 2548) http://www.suanprung.go.th/suanprung%20MCC/mccpdf/kittiwan.pdf

 - Coping with the Stress of Natural Disasters (Mental Health America, 2011) http://www.mentalhealthamerica.net/go/information/get-info/coping-with-disaster/coping-with-the-stress-of-natural-diasters

 - Dealing with Natural disasters from a mental health perspective (Jan 21st, 2010) http://www.bukisa.com/articles/232732_dealing-with-natural-disasters-from-a-mental-health-perspective

 - Disaster Survivors Face PTSD Risk (Medicinenet.com - Melissa Conrad Stoppler, MD, Sep 11th, 2006) http://www.medicinenet.com/script/main/art.asp?articlekey=53371

 - Floods and Natural Disasters: Offering Mental Health Support (Suzanna Dwyer – Jan 13th, 2011) http://www.suite101.com/content/floods-and-natural-disasters-offering-mental-health-support-a332262

 - Long-term mental health assistance after natural disasters (The Royal Australian & New Zealand College of Psychiatrists – Feb 7th, 2011) http://www.ranzcp.org/latest-news/long-term-mental-health-assistance-after-natural-disasters.html

 - Mental health concerns mount as Japan tsunami realities sink in (AlertNet – A Thomson Reuters Foundation Service - Mar 31st, 2011) http://www.trust.org/alertnet/news/mental-health-concerns-mount-as-japan-tsunami-realities-sink-in

 - Natural Disaster and Mental Health Issues (Alexander McFarlane – Dart Center for Journalism & Trauma – Feb 2nd, 2011) http://dartcenter.org/content/natural-disaster-and-mental-health-issues

 - Natural Disaster and the Impact on Mental Health (families.com – Mar 13th, 2011) http://mental-health.families.com/blog/natural-disaster-and-the-impact-on-mental-health

 - Natural Disasters and the Mental Health “Aftershock” (Global Crisis News - Justin Frewen – Sep 14th, 2010) http://www.globalcrisisnews.com/comments/natural-disasters-and-the-mental-health-aftershock/id=1814/

 - Post-tsunami mental health concerns mount in Japan (health24.com - Apr 1st, 2011) http://www.health24.com/news/Mind_Psychology/1-930,62087.asp