HISO - สื่อข้อมูลสุขภาพ
เกิดข้อผิดพลาด ไม่สามารถติดต่อฐานข้อมูลได้
  



ขับรถปลอดภัยควรคาดเข็มขัดนิรภัยทุกครั้ง



เข็มขัดนิรภัยเป็นอุปกรณ์ความปลอดภัยทางรถยนต์ที่ถูกนำมาทดลองใช้เป็นครั้งแรกเมื่อ ค.ศ. 1960 (พ.ศ. 2503) ซึ่งหลังจากนำมาใช้ได้ระยะหนึ่งก็พิสูจน์ได้ว่าเข็มขัดนิรภัยช่วยลดการบาดเจ็บและเสียชีวิตได้จริง กระทั่งในปี ค.ศ. 1971 รัฐวิคตอเรีย ประเทศออสเตรเลีย เห็นว่า การใช้เข็มขัดนิรภัยมีความสำคัญจึงดำเนินการออกกฎหมายต่างๆ โดยกำหนดให้รถยนต์ทุกคันต้องติดตั้งเข็มขัดนิรภัย ออสเตรเลียนับเป็นประเทศแรกที่ดำเนินการในเรื่องนี้

ร้อยละ 80 บาดเจ็บรุนแรงเพราะไม่คาดเข็มขัดนิรภัย

สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ได้รายงานการเฝ้าระวังการบาดเจ็บในประเทศไทยไว้ว่า ในแต่ละปีจำนวนผู้ที่ประสบอุบัติเหตุซึ่งได้รับการบาดเจ็บอย่างรุนแรง โดยเฉพาะในหมู่ผู้ที่ขับรถและและผู้โดยสารที่ไม่นิยมคาดเข็มขัดนิรภัยมีถึงกว่าร้อยละ 80 (ดังรูปที่ 1)


ภาพที่ 1 อัตราการบาดเจ็บรุนแรงจากอุบัติเหตุจราจรของผู้ขับขี่และผู้โดยสารที่ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย
ระหว่างปี พ.ศ. 2543 – 2550


ที่มา : รายงานการเฝ้าระวังการบาดเจ็บในประเทศไทย, สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค อ้างใน รายงานการสาธารณสุขไทยปี 2551-2552

ร้อยละ 80 บาดเจ็บรุนแรงเพราะไม่คาดเข็มขัดนิรภัย

องค์การอนามัยโลก (2004) ได้รายงานคุณประโยชน์ของเข็มขัดนิรภัยสำหรับคนขับและผู้โดยสารเบาะหน้าไว้ว่า เข็มขัดนิรภัยสามารถลดความเสี่ยงจากการบาดเจ็บทั้งหมดลงได้ถึงร้อยละ 40-50 การบาดเจ็บสาหัสร้อยละ 43-65 และการบาดเจ็บถึงชีวิตร้อยละ 40-60 อย่างไรก็ตาม ทั้งนี้การใช้เข็มขัดนิรภัยจะมีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงไรก็ขึ้นอยู่กับลักษณะการชนของรถด้วย (ดังตารางที่ 1) เช่น หากเป็นการชนจากด้านหน้าประสิทธิภาพของเข็มขัดนิรภัยจะช่วยลดการบาดเจ็บและเสียชีวิตได้ร้อยละ 43 หรือในกรณีรถเกิดพลิกคว่ำเข็มขัดนิรภัยจะสามารถช่วยลดการบาดเจ็บและเสียเชีวิตได้ถึงร้อยละ 77 แต่ประสิทธิภาพของเข็มขัดนิรภัยจะลดลงหากผู้โดยสารด้านหลังไม่คาดเข็มขัดนิรภัย


ตารางที่ 1 แสดงผลในการลดการบาดเจ็บของเข็มขัดนิรภัย จากการชนกันของรถยนต์ในหลายลักษณะ

ชนิดของการชนกัน อัตราการชนกันทั้งหมด
(ร้อยละ)
ประสิทธิภาพของเข็มขัดนิรภัย
(ร้อยละ)
  ชนจากด้านหน้า 59 43
  ชนจากด้านข้าง 14 27
  ด้านที่ไม่ได้ถูกชน 9 39
  ด้านท้าย 5 49
  พลิกคว่ำ 14 77
ที่มา : World Report on Road Traffic Injury Prevention, 2004. World Health Report.


สำหรับประเทศไทย ศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย ได้ทำการศึกษาจากข้อมูลอุบัติเหตุของผู้ประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์จำนวน 2,138 ราย พบว่า การใช้เข็มขัดนิรภัยสามารถลดจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถยนต์ได้ถึงร้อยละ 34 เมื่อวิเคราะห์ความเสี่ยงระหว่างผู้ที่ใช้เข็มขัดกับผู้ที่ไม่ใช้เข็มขัดพบว่า ผู้ที่ไม่ใช้เข็มขัดนิรภัยมีอัตราเสี่ยงที่จะเสียชีวิตเนื่องมาจากอุบัติเหตุทางรถยนต์มากกว่าผู้ที่ไม่ใช้ถึง 1.52 เท่า

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเข็มขัดนิรภัยจะได้รับการยอมรับว่าช่วยรักษาชีวิตผู้ใช้รถได้ดี แต่จากการสำรวจของศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย กลับพบว่า การใช้เข็มขัดนิรภัยของผู้ขับขี่และผู้โดยสารจากรถยนต์จำนวน 10,098 คัน ซึ่งมีผู้ใช้รถยนต์จำนวน 15,609 คน ปรากฎว่า มีผู้ที่ใช้เข็มขัดนิรภัยเพียงครึ่งหนึ่งของผู้ที่ใช้รถ คือ 8,547 คน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 55 และเมื่อพิจารณาการใช้เข็มขัดนิรภัยตามตำแหน่งที่นั่ง ตำแหน่งของผู้โดยสารเบาะหลัง มีสัดส่วนการใช้เพียงร้อยละ 9 ซึ่งน้อยว่าตำแหน่งอื่นๆ




เรียบเรียงโดย :  สิริกร เค้าภูไทย สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ

แหล่งที่มา :

 - World Health Organization. World Report on Road Traffic Injury Prevention, 2004. http://www.who.int/violence_injury_prevention/publications/road_traffic/world_report/en/index.html
 - ศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย. เข็มขัดช่วยชีวิตได้จริงหรือ. จำนวน 1 หน้า.อ้างใน http://www.tarc.ait.ac.th/download/article/seatbelt_th.pdf