ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
คลิกที่รูปภาพเพื่อทำการดาวโหลดรายงาน

 

การสำรวจความครอบคลุมของการได้รับวัคซีนขั้นพื้นฐานและวัคซีนในนักเรียน

ความเป็นมา
  ความครอบคลุมของการได้รับวัคซีนเป็นเกณฑ์ชี้วัดที่สำคัญ ที่สะท้อนให้เห็นถึงความก้าวหน้าของงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ซึ่งในแต่ละปีใช้งบประมาณแผ่นดินสูงมากใน พ.ศ.2550 ที่ผ่านมา เฉพาะค่าวัคซีนประมาณ 700 ล้านบาท เพื่อให้มั่นใจว่ากลุ่มเป้าหมายได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ และมีระดับภูมิคุ้มกันโรคอย่างทั่วถึง กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข จึงมีการประเมินผลความครอบคลุมของการได้รับวัคซีน ตั้งแต่เริ่มแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค โดยใช้วิธีการประเมิน 2 วิธี คือ ประเมินจากรายงานผลการปฏิบัติงานจากเจ้าหน้าที่ระดับผู้ปฏิบัติ ตั้งแต่ระดับสถานีอนามัย โรงพยาบาลชุมชนขึ้นมา และประเมินด้วยวิธีการสำรวจ การประเมินผลจากรายงานมีข้อจำกัดคือ เป็นการประเมินผลโดยผู้ปฏิบัติเอง มีความล่าช้าในขั้นตอนอยู่มาก และยังไม่ครอบคลุมถึงสถานบริการเอกชน สถานบริการของรัฐบาลบางแห่งที่ไม่ได้สังกัดอยู่ในกระทรวงสาธารณสุข เช่น โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงกลาโหม เป็นต้น ทำให้ความครอบคลุมที่ได้จากการรายงานผลปฏิบัติงานนี้ไม่เป็นปัจจุบัน และไม่ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายทั้งหมด ดังนั้นงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค จึงนำข้อมูลจากการสำรวจ มาใช้ในการตรวจสอบและเปรียบเทียบกับข้อมูลจากรายงาน รวมทั้งใช้เป็นตัวเลขความครอบคลุมของการได้รับวัคซีนประเทศ
  กรมควบคุมโรคได้ดำเนินการสำรวจความครอบคลุมวัคซีนขั้นพื้นฐานสำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีและหญิงมีครรภ์มาตั้งแต่ พ.ศ.2523 และได้ดำเนินการต่อเนื่องทุกปีจนถึง พ.ศ.2539 หลังจากนั้นได้เว้นช่วงห่างออก โดยสำรวจซ้ำใน พ.ศ.2542 และ พ.ศ.2546 ทั้งนี้เนื่องจากความครอบคลุมของการได้รับวัคซีนของประเทศอยู่ในเกณฑ์สูง (ร้อยละ 85-90) สม่ำเสมอมาตั้งแต่ พ.ศ.2535 และการดำเนินงานไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก ส่วนความครอบคลุมของการได้รับวัคซีนในนักเรียนได้สำรวจเมื่อ พ.ศ.2547 พบว่า ส่วนใหญ่มากกว่าร้อยละ 90 แต่ในบางโรงเรียนไม่มีการบริการวัคซีนทำให้นักเรียนไม่ได้รับวัคซีนเลย
  ใน พ.ศ.2551 นี้ ซึ่งเป็นเวลา 5 ปี จากการสำรวจความครอบคลุมของการได้รับวัคซีนขั้นพื้นฐานครั้งหลังสุด กรมควบคุมโรคจึงเห็นควรให้ทำการสำรวจซ้ำ รวมทั้งผนวกการสำรวจความครอบคลุมของการได้รับวัคซีนในนักเรียนไว้ด้วยกัน เพื่อประเมินสถานการณ์ความก้าวหน้าของการดำเนินงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคในภาพรวมของประเทศ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาและเร่งรัดการดำเนินงานควบคุมโรคติดต่อที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีนต่อไป

 

 

จำนวนการเข้าชม 9220 ครั้ง
วันที่เข้าชมล่าสุด 0000-00-00