HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
[ วันที่ 16/10/2556 ]
เทคนิคใหม่ 'TLIF'รักษาอาการปวดหลัง

 

 การรักษาอาการปวดหลังในปัจจุบันแบ่งได้เป็น3 วิธีการหลัก คือ การให้ยาและทำกายภาพบำบัดการฉีดยาเข้าโพรงประสาท และการผ่าตัด โดยแพทย์จะให้ความสำคัญกับการเลือกใช้วิธีที่ทำให้คนไข้เจ็บปวดน้อยที่สุดเป็นลำดับแรก
          น.พ.วีระพันธ์ ควรทรงธรรม ผู้อำนวยการ สถาบันกระดูกสันหลัง ร.พ.บำรุงราษฎร์ กล่าวว่า การรักษาแบบไม่ผ่าตัดเราจะใช้กับผู้ป่วยที่มีอาการปวดหลังไม่รุนแรง แต่หากผู้ป่วยมาพร้อมอาการปวดหลังรุนแรง ซึ่งอาจมีสาเหตุจากหมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาท หรือโพรงประสาทตีบแคบ หรือปวดหลังร้าวลงขาจากการกดทับ หรืออักเสบของเส้นประสาท เนื่องจากกระดูกสันหลังเสื่อมหรือเคลื่อน คนไข้กลุ่มนี้จะมีข้อบ่งชี้ในการผ่าตัดสูง
          การผ่าตัดจะแบ่งออกเป็น 2 วิธี คือ การผ่าตัดแบบไม่ดามกระดูก และการผ่าตัดแบบที่ต้องดามเชื่อมข้อกระดูกในกรณีพบข้อต่อกระดูกเคลื่อน หรือทรุดตัว ในวิธีการผ่าตัดแบบมาตรฐานนั้นจะทำโดยการผ่าตัดเปิดแผลใหญ่โดยใช้กล้องจุลทรรศน์ ซึ่งศัลยแพทย์ต้องตัดเลาะเนื้อเยื่อส่วนที่ดีออกเพื่อเปิดทางเข้าไปเพื่อให้ได้ทัศนวิสัยที่ดีในการผ่าตัด
          ทั้งนี้ การผ่าตัดแบบไม่ต้องดามกระดูก โดยแพทย์จะสอดกล้องและอุปกรณ์การผ่าตัดผ่านทางแผลผ่าตัดขนาด 7.9 มิลลิเมตรเลนส์ที่ปลายกล้องสามารถทำให้แพทย์มองเห็นความความผิดปกติได้อย่างชัดเจน เลือกตัดออกเฉพาะส่วนที่มีปัญหาได้โดยไม่ต้องตัดเลาะกล้ามเนื้อส่วนที่ดีออก คนไข้จึงใช้เวลาพักฟื้นน้อยลงและลดความเสียหายต่อกล้ามเนื้อ
          แต่ในการใช้กล้องเอ็นโดสโคปที่ผ่านมา ยังมีข้อจำกัดบางอย่างเช่น ในกลุ่มคนไข้ที่มีปัญหาจากโพรงกระดูกสันหลังตีบแคบ จากการเกิดหินปูนเกาะจนทำให้เกิดการกดทับเส้นประสาท กรณีนี้จำเป็นต้องกรอกระดูก ทำให้ใช้เวลาเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในคนไข้ซึ่งต้องกรอกระดูกที่กดทับเส้นประสาททั้ง 2 ฝั่งของกระดูกสันหลังก็ต้องกรอกระดูกทั้งสองข้าง เวลาที่ใช้ก็เพิ่มขึ้นอีกเท่าหนึ่ง จึงจำเป็นต้องใช้เครื่องมือที่ใหญ่ขึ้น เพื่อลดขั้นตอนการทำงาน และร่นระยะเวลาในการผ่าตัดลง
          ส่วนการผ่าตัดแบบดามเหล็กเชื่อมข้อกระดูก ราว 10% จะเป็นผู้ป่วยที่มีปัญหาการปวดหลังรุนแรง แต่ไม่มีอาการร้าวลงขามีวิธีการผ่าตัด 3 วิธีที่จะเลือกนำมาใช้ตามข้อบ่งชี้ที่แตกต่างกัน ได้แก่1.การผ่าตัดเข้าทางด้านหน้า 2.การผ่าตัดเข้าด้านข้างค่อนไปทางด้านหน้า และ 3.การผ่าตัดเข้าทางด้านข้างของลำตัว ซึ่งทั้ง 3 วีธีดังกล่าว ทำได้โดยวิธีการผ่าตัดเปิดแบบมาตรฐาน และการผ่าตัดแผลเล็ก
          สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการปวดหลังรุนแรง และร้าวลงขาจากกระดูกที่เคลื่อนและเกิดการกดทับเส้นประสาท คิดเป็น 90% ของผู้ป่วยที่มีข้อบ่งชี้ในการผ่าตัดเชื่อมข้อกระดูก แพทย์ไม่สามารถใช้3 วิธีที่กล่าวมาได้ เนื่องจากแพทย์จะมองไม่เห็นกลุ่มเส้นประสาทที่อยู่ทางด้านหลัง การรักษาผู้ป่วยกลุ่มนี้ต้องใช้วิธีการผ่าตัดเปิดจากทางด้านหลัง ได้แก่วิธี TLIF (Transforaminal Lumbar Interbody Fusion) และ PLF (Posterior Lumbar Interbody Fusion)
          ปัจจุบัน โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ได้พัฒนาเทคนิคการผ่าตัดด้วยวิธี TLIF จนสามารถผ่าตัดด้วยกล้องจุลทรรศน์ผ่านอุโมงค์ขนาดเล็กเพื่อดามเหล็กผ่านผิวหนังโดยไม่ต้องเปิดแผลใหญ่ได้สำเร็จ ซึ่งไม่ต้องเปิดแผลใหญ่เพื่อแหวกเส้นประสาทเข้าไปดามเหล็ก เนื้อเยื่อบริเวณใกล้เคียงจึงได้รับความบอบช้ำน้อย ทั้งยังสามารถขยายช่องห่างระหว่างกระดูกและเส้นประสาทได้กว้างพอผู้ป่วยจึงลดอาการเจ็บปวดหลังการผ่าตัด และฟื้นตัวได้เร็ว
          "การทำ TLIF แพทย์จะทำการผ่าตัดผ่านอุโมงค์ขนาดเล็ก ซึ่งเข้าจากทางด้านหลังของคนไข้ นำเอากระดูกเทียมเข้าไปวางเชื่อมเป็นสะพานให้กระดูกสองอันติดเป็นชิ้นเดียวกัน และใส่สกรูยึดเพื่อความแข็งแรงผ่านแผลขนาดเล็กอีก 4 จุดทางผิวหนัง แพทย์สามารถมองเห็นเส้นประสาททั้งหมดผ่านกล้องจุลทรรศน์ ทำให้สามารถคลายส่วนที่ถูกกดทับได้ วิธีนี้จึงเป็นทั้งการเชื่อมกระดูกและคลายเส้นประสาทที่ถูกกดทับไปพร้อมกัน และด้วยแผลผ่าตัดที่มีขนาดเล็กจึงลดความบอบช้ำของคนไข้ และเสียเลือดไม่มาก ไม่ต้องรับผลข้างเคียงจากยาแก้ปวดหลังผ่าตัด และใช้เวลาพักฟื้นไม่เกิน3-4 วัน"
          นอกจากนี้ ยังได้นำเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ 3 มิติมาใช้ร่วมกับเครื่องผ่าตัดนำวิถี ที่สามารถสร้างภาพ 3 มิติบนมอนิเตอร์ มาใช้แทนเครื่องเอกซเรย์แบบเก่า เพื่อช่วยแสดงตำแหน่งต่างๆบริเวณที่ผ่าตัดอย่างละเอียด การผ่าตัดจึงเป็นไปด้วยความแม่นยำยิ่งขึ้น อีกทั้งช่วยลดปริมาณรังสีที่แพทย์และคนไข้จะได้รับอีกด้วย

pageview  1205847    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved