HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
[ วันที่ 02/07/2556 ]
นาทีสำคัญปฐมพยาบาลโรคหัวใจ

 โรคที่ชื่อว่า โรคหัวใจนั้นดูจะเป็นหนึ่งในชื่อโรคที่คุ้นหูชาวไทยเป็นอย่างดี เช่นเดียวกับมะเร็ง โรคเบาหวานหรือความดัน
          โรคหัวใจสามารถแบ่งได้เป็น 3 ประเภทตามส่วนที่ผิดปกติคือ โรคลิ้นหัวใจ โรคหลอดเลือดหัวใจและโรคกล้ามเนื้อหัวใจ
          โรคลิ้นหัวใจ ที่เป็นปัญหามากที่สุดคือ ลิ้นหัวใจพิการรูมาติก ซึ่งเป็นผลจากการติดเชื้อคออักเสบ ลักษณะของการที่เกิด คือ เหนื่อยง่ายเวลาออกกำลัง อ่อนเพลีย ไอเรื้อรังและมักไอเวลากลางคืน ไอแห้ง มีอาการใจสั่น ไอเป็นเลือด เป็นลมไม่รู้สติ เจ็บหน้าอก หลอดเลือดที่คอเต้นแรง ผอมแห้ง มีอาการบวมหอบเหนื่อย นอนราบไม่ได้
          โรคหลอดเลือดหัวใจ เกิดได้จากหลายสาเหตุ แต่ที่พบได้บ่อยที่สุด เกิดจากการสะสมของไขมันที่ผนังหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดหัวใจตีบและตันในที่สุด
          โรคกล้ามเนื้อหัวใจ เกิดจากกล้ามเนื้อหัวใจทำงานผิดปกติไม่ว่าจะเป็นช่วงบีบหรือคลายตัว กล้ามเนื้อหัวใจหนากว่าปกติ เป็นต้น โรคที่พบบ่อยคือ โรคกล้ามเนื้อหัวใจเสีย เนื่องจากความดันโลหิตสูงที่ไม่ได้รับการรักษามานานกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หรือกล้ามเนื้อหัวใจตายบางส่วน เนื่องจากหลอดเลือดหัวใจตีบหรือตัน เป็นต้น
          หนึ่งในสาเหตุการเสียชีวิตจากโรคหัวใจคือ ภาวะหัวใจตายเฉียบพลัน ซึ่งแพทย์จากโรงพยาบาลรามคำแหงได้ให้คำแนะนำถึงวิธีการรับมือสำหรับผู้ใกล้ชิดกับผู้ป่วย
          น.พ.บัญชา ศันสนีย์วิทยกุล ที่ปรึกษาโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรงพยาบาลรามคำแหง กล่าวว่า ภาวะหัวใจตายเฉียบพลันถือเป็นภัยเงียบที่ควรต้องใส่ใจอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นภาวะที่มักไม่มีสัญญาณเตือนก่อนเหมือนโรคอื่นๆ ผู้ป่วยที่เผชิญสถานการณ์ดังกล่าวส่วนใหญ่จึงเสียชีวิตโดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
          ผู้ป่วยที่เกิดภาวะหัวใจตายเฉียบพลันมักมีอาการหัวใจเต้นเร็วกว่าปกติจนหัวใจล้มเหลวและหยุดเต้นในที่สุด เช่น ผู้ป่วยโรคไหลตายซึ่งหัวใจหยุดเต้นโดยไม่รู้ตัวขณะที่เจ้าตัวนอนหลับ ซึ่งภาวะดังกล่าวมีโอกาสเกิดขึ้นกับผู้ป่วยทุกเพศทุกวัยและมักเกิดกับผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจ หรือมีความผิดปกติเกี่ยวกับหัวใจ
          หากเกิดอาการหัวใจตายเฉียบพลันแล้วผู้ใกล้ชิดจะมีเวลาในการกู้ชีพเพียง 4 นาที ด้วยวิธีปั๊มหัวใจ และปฐมพยาบาลเบื้องต้น ซึ่งเมื่อผู้ป่วยกลับมาหายใจได้ใกล้เคียงกับปกติแล้ว จะต้องรีบนำตัวส่งโรงพยาบาลทันที
          สำหรับการป้องกันไม่ให้เกิดภาวะหัวใจตายเฉียบพลันนั้นปัจจุบันสามารถทำได้โดยการฝังอุปกรณ์บางชนิดเข้าไปใต้ผิวหนังช่วงหน้าอกซ้าย และเชื่อมสายไฟไปต่อเข้ากับหัวใจ ซึ่งเมื่อใดที่หัวใจเกิดอาการเต้นเร็วกว่าปกติ อุปกรณ์ดังกล่าวก็จะส่งกระแสไฟเข้าสู่หัวใจ ทำให้กลับมาเต้นเป็นปกติเหมือนเดิมก่อนที่จะเต้นผิดจังหวะมากจนเข้าสู่ภาวะวิกฤติ
          อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยในกลุ่มนี้มักมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตอย่างมาก เพราะหากเกิดอาการขึ้นแล้วจะต้องได้รับการปฐมพยาบาลอย่างถูกวิธีภายในเวลา 4 นาทีเท่านั้น
          ด้วยเหตุนี้ผู้ที่ป่วยด้วยโรคหัวใจ หรือมีอาการเข้าข่ายว่าจะมีความผิดปกติด้านหัวใจจึงควรต้องเข้ารับการตรวจอย่างละเอียด
          "ผู้ใกล้ชิดก็ต้องเรียนรู้วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยกลุ่มนี้ต้องเผชิญกับภาวะหัวใจตายและสูญเสียชีวิตอย่างน่าเสียดาย" น.พ.บัญชา กล่าว


pageview  1205870    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved