HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
[ วันที่ 25/05/2555 ]
โฟเบีย (Phobia)

 โฟเบีย (Phobia) เป็นพฤติกรรมอปกติอย่างหนึ่ง คือกลัวรุนแรงในสิ่งที่ไม่ควรจะกลัวหรือไม่น่าจะกลัว
          เช่น กลัวบุคคล วัตถุสิ่งของ สถานที่หรือเหตุการณ์บางอย่างเป็นการเฉพาะ โดยมีดีกรีความกลัวตั้งแต่มากจนถึงน่ารำคาญมาก หรือมากระดับโรคประสาทหรือเข้าขั้นผันแปรวิกลจริตเลยทีเดียวแต่อย่างหลังสุดนี้มีไม่มากนัก
          คำว่าโฟเบีย มีต้นตอมาจากภาษากรีกโบราณว่า โฟบอส (Phobos) มีความหมายว่ากลัวจัด และตื่นตระหนกถึงขั้นแตกกระเจิง
          โฟบอสเป็นพระนามของโอรสองค์หนึ่งของเทพแห่งสงครามมาร์ส กับเทวีแห่งความงามวีนัส โฟบอสมีความแยบยลในศึกสงครามเสมอด้วยพระบิดา คือสามารถทำให้คู่ต่อสู้เกิดความหวาดกลัวและตื่นเตลิด
          โฟบอสมีพระอนุชาร่วมสายโลหิตองค์หนึ่ง พระนามว่าไดมอส (Deimas) เก่งการสงครามพอกัน
          ใครก็ตามที่ถูกครอบงำด้วยโฟเบีย-กลัวจัด ก็จะเกิดการกลัวผู้คน วัตถุสิ่งของ หรือสถานการณ์บางอย่างโดยไม่มีเหตุผล จะพยายามหลีกหนีสิ่งที่ก่อให้เกิดความกลัวเหล่านั้นอย่างเต็มที่ ทำให้ขาดความสุข
          ชีวิตมีข้อยกเว้นมากและมีอิสรภาพที่จำกัด เมื่อไม่อาจปลดเปลื้องความกลัวจัดออกไปได้ ก็จะเกิดปฏิกิริยาทางสรีระร่วมด้วย เช่น มือสั่น หน้าซีด หายใจเร็ว อาเจียน และแน่นหน้าอก
          โฟเบียแบ่งออกได้เป็นสองประเภทใหญ่ๆ คือ โฟเบียเฉพาะเรื่อง (
          Specific Phobia ) กับโซเชียล โฟเบีย (Social  Phobia)
          โฟเบียเฉพาะเรื่อง ความกลัวจัดจะเกิดขึ้นต่อเมื่อเผชิญกับวัตถุหรือเหตุการณ์เฉพาะหน้าเท่านั้น เช่น กลัวบันไดเลื่อน กลัวการขึ้นเครื่องบิน ขึ้นลิฟต์หรือเข้าห้องแคบๆ หรือกลัวสัตว์ ม้า หรือหนู กลัวสภาพแวดล้อม ที่สูง น้ำ หรือไฟ เป็นต้น
          โฟเบียประเภทข้ามวัฒนธรรมก็มีเหมือนกัน เช่นในจีน มีโฟเบียชนิดหนึ่งเรียกว่า ปาเหล็ง (Pa-leng) คือกลัวสูญเสียความร้อนในร่างกายออกไปมากจนหนาวตาย ซึ่งคล้ายมีความสัมพันธ์กับปรัชญา หยิน-หยาง หยินคือ เย็น ลม และสร้างพลังชีวิตหยาง-ร้อน ได้ เหล่านี้เป็นความเชื่อของคนในวัฒนธรรมหนึ่งๆ ซึ่งเป็นช่องทางก่อให้เกิดความกลัวขึ้นได้
          บางทีก็มีโฟเบียเฉพาะเรื่องก็ค่อนข้างแปลกประหลาด เช่น กลัวคนอังกฤษ (Anglophobia) และกลัวจีน (Xenophobia) เป็นต้น ทั้งนี้ เด็กๆ ในบ้านเราอาจเคยโฟเบียคนแขกประเภทเจริญหนวด-เคราดกและตาดุ ก็ได้
          ความชุกชุมของโฟเบียเฉพาะเรื่อง มีอัตราร้อยละ 7 สำหรับเพศชาย และร้อยละ 16 สำหรับเพศหญิง
          ส่วนโซเชียลโฟเบีย คือกลัวสังคม กลัวการพบปะพบหาผู้คนและคบหมู่คณะ หรือหวั่นไหวเกินไปกับการใช้บริการสาธารณะ หวั่นไหวการพูดหรือปรากฏตัวท่ามกลางผู้คนต่างๆ เรื่องนี้มีความชุกชุมร้อยละ 11 สำหรับเพศชาย และร้อยละ 15 สำหรับเพศหญิง
          ผู้ป่วยมักเริ่มต้นตั้งแต่วัยรุ่นกับมีความแตกต่างเชิงวัฒนธรรมด้วยเหมือนกัน
          เช่น ในญี่ปุ่น การถูกประเมินจากสังคมเรื่องพฤติกรรมเชิงลบ ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญมาก
          ส่วนในอเมริกา ความกลัวว่าจะถูกประเมินจากสังคมในแง่ลบถือว่าธรรมดา
          สาเหตุของโฟเบียมีหลายอย่างต่างๆ กัน เช่น ฟรอยด์ (Sigmund Freud : 1856-1939) เชื่อว่าโฟเบียเป็นการทำงานของจิตหรือเป็นกลไกทางจิตอย่างหนึ่ง เพื่อช่วยให้ชีวิตไม่ยุ่งยากเกินไป
          เด็กที่มีพ่อดุ จำต้องเก็บกดความกลัว (Repression) ไว้ กระนั้นก็ตาม ชีวิตของเขาอาจยังยุ่งยากอย่างเดิม ตรงนี้กลไกทางจิตจะช่วยเปลี่ยนที่ความกลัว (Displacement) ไปที่ม้าหรือวัวที่น่ากลัวน้อยกว่า
          เมื่อเปลี่ยนที่ความกลัวไปแล้ว เด็กก็จะอยู่กับพ่อต่อไปได้
          การกลัวม้าเช่นนั้น ฟรอยด์ยืนยันคำอธิบายนี้ในกรณีของเด็กน้อยผู้หนึ่ง ซึ่งรู้จักกันดี
          ในวงการว่า ลิตเติ้ลฮันส์ (Litt le Hans) ม้าเป็นสัญลักษณ์ของพ่อที่ทรงอำนาจ ส่วนมีอะไรดำๆ ครอบปากม้าคล้ายหนวดและเครา กับมีอะไรบังตาม้าคล้ายแว่นตาดำของพ่อ เป็นต้น นักจิตวิทยาสำนักพฤติกรรมอย่าง วัตสัน (John B. Watson : 1878-1958) แจงเหตุของโฟเบียไปอีกอย่างหนึ่ง คือให้ความสำคัญกับการวางเงื่อนไขมากกว่า โดยสรุปก็คือว่า เด็กน้อยผู้หนึ่งซึ่งไม่เคยกลัวตุ๊กตาหนูตัวเล็กมาก่อนเลย หลังจากเด็กน้อยนั้นได้ยินเสียงชวนให้ตกใจทุกครั้งเมื่อตุ๊กตาหนูตัวเล็กปรากฏตัวขึ้นมาใกล้ๆ เขา
          ต่อมาแม้ไม่มีเสียงชวนให้ตกใจ เขาก็ยังกลัวตุ๊กตาหนูอยู่ดี
          ความกลัวที่ไม่ควรกลัวตุ๊กตาหนูตัวเล็กของเด็กชายน้อยเกิดจากการวางเงื่อนไขแท้ๆ
          ข้อนี้เป็นแบบหรือโมเดลของโฟเบียในชีวิตของคนบางคนที่ถูกวางเงื่อนไขไว้โดยไม่รู้ตัวให้กลัวนั่นกลัวนี่อย่างไม่ควรจะกลัว เรียกว่าเป็น The Avoidance Conditioning Model เด็กน้อยของวัตสันคนนั้น รู้จักกันดีว่า ลิตเติ้ล อัลเบิร์ต (Little Albert)
          โฟเบีย อาจเกิดจากบาดแผลใจ (Psychic Trauma) เช่น สตรีผู้หนึ่งไม่ขับรถยนต์อีกเลย เกิดอาการกลัวการขับรถรุนแรง เพราะเธอเคยประสบอุบัติเหตุสาหัสมาครั้งหนึ่ง
          หรือชายหนุ่มผู้หนึ่งจะไม่ยอมเยี่ยมกรายเข้าไปในสโมสรสำนักงานของเขาอีกเลย เพราะที่นั้นเขาเคยถูกสลัดรักหรืออกหักเต็มๆ อย่างไม่มีใครช่วยได้มาก่อน
          และบางทีคนเราก็โฟเบียตามๆ กันไปได้เหมือนกัน
          ส่วนการบำบัดเยียวยาโฟเบียนั้นมีหลายอย่าง ที่นิยมกันก็มักเป็นจิตบำบัดแบบประคับประคอง หรือไม่ก็จิตบำบัดชนิดที่ช่วยให้เห็นแจ้ง-insight ในปัญหาของตน
          ส่วนการบำบัดที่เรียกว่าพฤติกรรมบำบัดนั้นก็ช่วยได้มากไม่แพ้จิตบำบัดกลุ่มและการเยียวยาโดยการสะกดจิต
          ในมิติของบาดแผลใจที่เป็นเหตุให้เกิดโฟเบียนั้น ทักษิณ ชินวัตร ทำให้ฝ่ายตรงข้ามเกิดมีบาดแผลใจ อาจเพราะฉลาดกว่า (แยบยลกว่า มีเล่ห์เหลี่ยมมากกว่า หรือครีเอทีฟกว่า) จนเกิด ทักษิณโฟเบีย ดุจเดียวกับสตรีผู้กลัวการขับรถยนต์ หรือพ่อหนุ่มผู้หน่ายสโมสรหรูหราเพราะอกหักเคยถูกสลัดรักที่นั่น สโมสรหรูจึงเป็นที่หวาดกลัวแบบโฟเบียของเขา
          และพฤติกรรมทักษิณโฟเบียตามนัยของบาดแผลใจนี้ ฝ่ายตรงข้ามที่ฅโฟเบียน่าจะเยียวยายากอยู่!!
 


pageview  1205131    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved